สังคมในความคิด
อะไรเป็นสาเหตุทำให้ต้องพูดถึงเรื่องนี้ การถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนรุ่นใหม่ที่โตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและความทันสมัยของวิทยาศาสตร์อันที่จริงการพูดถึงสังคมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะแต่ละคนคือหน่วยหนึ่งในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของเราเอง บทบาท และกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราล้วนแล้วถูกกำหนดขึ้นโดยมีภาวะสังคมที่แวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ การพูดถึงสังคมจึงน่าจะเป็นการพูดถึงวิถีชีวิตของตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการย้อนดูตัวเองเพื่อพัฒนาข้อบกพร่องให้ดีขึ้น มากกว่าที่จะดูเหมือนเป็นเรื่องหนักหัวของนักวิชาการในแขนงนี้
ในเมื่อสังคมมีความสำคัญต่อบุคคลทุกคน ณ ที่นี้จึงอยากจะถามว่า เราเคยมองดูสังคมบ้างไหม ? เรามีความรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ? สังคมของเราเป็นสังคมคุณภาพตามที่เราวาดหวังและต้องการหรือไม่ ? เราพอใจแค่ไหนกับสังคมที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ ?
การหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ ไม่ได้ยากจนเกินไป เหตุการณ์ และภาวะสังคมในปัจจุบัน ดูออกได้อย่างชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายให้มากความ
ถ้าหากจะพูดตามความเป็นจริง ผู้ที่สร้างรูปแบบให้กับสังคมก็คือตัวมนุษย์นั่นเอง ภัยคุกคามและปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือผลงานของมนุษย์ทั้งนั้น การฆาตกรรม การโจรกรรม โรคร้าย ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาเศรษฐกิจ การระบาดของยาเสพติด ที่ก่อกวนความสงบและความยั่งยืนของสังคมอันสันติ มีจุดเริ่มต้นที่มนุษย์หรือหน่วยหลักในสังคมนั่นเอง
โลกปัจจุบัน ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยิ่งยวด แต่การมองหาสังคมคุณภาพที่สามารถรับประกันความสงบสุขในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ กลับได้รับการให้ความสนใจและมีความสำคัญมากขึ้นจากเดิม เพราะที่ผ่านมา การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มองถึงผลกระทบของเทคโนโลยีอันทันสมัยที่มีต่อสังคมมนุษย์ ในขณะที่ปัจจุบันกลับมีนักวิชาการหลายกลุ่ม ออกมาเสนอความคิดให้วิทยาศาสตร์มองสังคมเป็นหลักในการสร้างอารยธรรมความเจริญ หรือผูกจริยธรรมของสังคมเข้ากับวิทยาศาสตร์ ให้วิทยาศาสตร์เป็นของสังคม ไม่ใช่สังคมเป็นสนามทดลองของวิทยาศาสตร์
ตามแนวคิดที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ในเมื่อจุดเริ่มต้นของความเสื่อมโทรมในสังคมมาจากมนุษย์ การแก้ไขปัญหาจึงควรต้องเริ่มที่ตัวมนุษย์ การหาหนทางที่จะฟื้นฟูสังคมให้เป็นสังคมในความคิด ถือเป็นหน้าที่ที่มนุษย์ทุกคนต้องรับผิดชอบ
ต่อไปนี้คือแนวทางที่ขอเสนอไว้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมคุณภาพ
1. การสร้างตัวเองด้วยการที่เรามองว่า สังคมมีองค์ประกอบคือมนุษย์เป็นหน่วยหลัก อันที่จริงความหมายของคำว่าสังคมที่ดี ก็คือคนในสังคมที่ดี การสร้างตัวเองให้มีคุณภาพจึงหมายถึงการสร้างสังคมของเราให้เป็นสังคมในความคิดที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่อยากจะเห็นสังคมของตนเป็นไปตามที่วาดภาพไว้ จึงพึงต้องมองดูตัวเองเพื่อสร้างบุคลิกภาพนั้นให้เกิดขึ้น
หลักสองประการที่อยากให้เราได้ใช้ในการการสร้างตัวเองคือ
ก. การสร้างจิตวิญญาณให้เข้มแข็ง สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุขที่เย้ายวน เป็นความหายนะที่ใส่กล่องให้สวยงามแล้วนำออกมาวางขาย การขาดความยั้งคิด และความอ่อนแอของจิตใจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไหลตามกระแสสังคมและสื่อต่างๆ ที่นำเสนอความทันสมัยซึ่งใช้หลักมองเพียงด้านเดียวคือ ตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ที่มีต่อชีวิตและความยั่งยืนของสังคมอันสันติ
ในอัลกุรอาน เราพบว่าอัลลอฮ์ได้อธิบายนิสัยของมนุษย์อยู่ประการหนึ่งคือ หลีกเลี่ยงจากการพูดถึงความตายและโลกหน้า ทั้งนี้เพราะติดพันอยู่กับชีวิตโลกนี้และต้องการเสพสุขโดยไม่คำนึงถึงชีวิตในอาคิเราะฮ์ อัลลอฮ์ตรัสว่า
«قُلْ إِنَّ الْمَوْتَ الَّذِي تَفِرُّونَ مِنْهُ فَإِنَّهُ مُلَاقِيكُمْ ثُمَّ تُرَدُّونَ إِلَى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمْ تَعْمَلُونَ» (الجمعة : 8 )
ความว่า "จงกล่าวเถิดว่า แท้จริงแล้วความตายที่พวกเจ้าหนีมันนั้น แน่นอนทีเดียวว่ามันต้องพานพบกับพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็จะถูกนำกลับคืนสู่อัลลอฮฺพระองค์ผู้ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับและสิ่งที่เปิดเผย แล้วพระองค์ก็จะแจ้งให้พวกเจ้าทราบถึงสิ่งที่พวกเจ้าได้เคยก่อกรรมไว้" (อัล-ญุมุอะฮฺ : 8)
อีกที่หนึ่งที่พระองค์ได้ตรัสว่า
«أَيَحْسَبُ الْإِنسَانُ أَلَّن نَجْمَعَ عِظَامَهُ (3) بَلَى قَادِرِينَ عَلَى أَن نُّسَوِّيَ بَنَانَهُ (4) بَلْ يُرِيدُ الْإِنسَانُ لِيَفْجُرَ أَمَامَهُ (5) يَسْأَلُ أَيَّانَ يَوْمُ الْقِيَامَةِ ( 6 ) » [القيامة]
ความว่า "หรือมนุษย์นั้นคาดคิดไปว่าเราจะไม่รวบรวมกระดูกของเขา ทว่า แน่นอนทีเดียวเราสามารถที่จะรวบรวมและทำให้ปลายนิ้วมือของเขาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ขึ้นใหม่ได้(บ่งบอกว่าไม่มีอะไรที่พระองค์จะทรงทำไม่ได้) แต่ว่ามนุษย์นั้นประสงค์ที่จะทำความชั่วตลอดเวลา และเขาก็ตั้งคำถามว่า เมื่อใดเล่าวันกิยามะฮฺจะเกิดขึ้น? (เป็นการตั้งคำถามเชิงเย้ยหยันด้วยการปฏิเสธและไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น) (อัล-กิยามะฮฺ : 3-6)
สิ่งเดียวที่เราเชื่อว่าสามารถต้านทานความแรงของกระแสสังคมที่เชี่ยวกรากได้คือจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง เพราะที่สุดในชีวิตของมนุษย์ มีจิตใจเป็นเครื่องควบคุมความรู้สึกและความต้องการทั้งหมด เมื่อจิตอ่อน จึงไหลตามการชักนำของกระแสสังคมได้โดยง่าย เพราะตกเป็นเหยื่อของความอยาก และไม่สามารถเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าอะไรคือความเป็นจริงของชีวิต
แนวทางที่นำไปสู่ความเข้มแข็งของจิตใจคือ การสร้างความผูกพันกับอัลลอฮ์องค์อภิบาลผู้ทรงอำนาจ เช่นการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด การอ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ การศึกษาความรู้ศาสนาที่ถูกต้อง การเข้าร่วมฟังการบรรยายธรรมเพื่อการบ่มเพาะจิตใจให้สะอาด เหล่านี้ควรจะเป็นกิจกรรมประจำวันของทุกคน เพื่อเป็นการสร้างตัวเองให้เป็นคนที่มีจิตใจดีงามและเป็นหน่วยหนึ่งที่มีคุณภาพในสังคม
ข. ศึกษาความรู้ให้ทันโลกอย่างพอเพียง ตามการคาดการณ์ของนักวิจัย ในอีกไม่ช้าสังคมโลกจะกลายเป็นสังคมที่ความรู้ที่เปิดกว้าง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างอินเตอร์เน็ตเป็นตัวแปรสำคัญในการแพร่กระจาย นี่หมายความว่า ต่อไปอารยธรรมต่างๆ ของมวลมนุษย์ทั้งที่ดีและเลว จะไม่มีขอบเขตในการขยายตัว ความซับซ้อนของระบบสังคมจะทำให้การแยกแยะสิ่งถูกผิดเป็นสิ่งที่ลำบากขึ้น ในขณะที่ความเสรีทางจริยธรรมและการเลือกทำความดีความชั่วจะเปิดกว้างจนหาอะไรมาบังคับไม่ได้ ส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านี้ได้ผุดขึ้นให้เห็นแล้วในสังคมทั่วไป
โลกของข่าวสารและการติดต่อที่รวดเร็วในปัจจุบัน มีอิทธิพลอย่างมากในสังคม ผู้คนที่ทึ่งกับความทันสมัยของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะตกเป็นเหยื่ออารยธรรมต่างๆ ที่ส่งผ่านมากับดาวเทียมโดยไม่รู้ตัว คนที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษาหรือชาวบ้านธรรมดาๆ มักจะเป็นผู้บริโภคที่เป็นแต่รับจากสื่อเพียงฝ่ายเดียว ไม่แต่ชาวบ้านทั่วๆไปเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่รักชอบแต่ของใหม่ๆ ยังอาจไม่สามารถแยกแยะเบื้องหน้าเบื้องหลังของสิ่งที่ได้รับการป้อนจากสื่อข้อมูล
การเป็นแต่เพียงผู้รับอย่างไม่แยกแยะ ทำให้เราตกอยู่ภายใต้อาณานิคมความรู้ของผู้อื่น หรือที่เราเรียกว่า สงครามทางปัญญา
การใฝ่ความรู้และการศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการเลือกใช้สื่อต่างๆ ในการเพิ่มทักษะเพื่อเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก จึงมีความจำเป็นที่จะใช้สร้างตัวเองให้สามารถแยกแยะและเลือกเอาแต่สิ่งที่ไม่มีพิษภัยจากสื่อมาใช้
วิธีการที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันโลก คือต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากการเรียนการสอนตามหลักสูตร การอ่านหนังสือทั่วไป การค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่นห้องสมุด อินเตอร์เน็ต วารสารทางวิชาการ เป็นต้น เพื่อวิถีชีวิตที่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เราต้องเอาจริงเอาจังกับการศึกษาหาความรู้ โดยใช้หลักว่า หาความรู้เพื่อสร้างความคิดและชีวิตที่ดีที่สุด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสสังคม
เมื่อบวกการสร้างความรู้โลกให้ตัวเองกับการสร้างจิตวิญญาณให้เข้มแข็งได้ จะทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างชัดเจนขึ้น ในขณะที่เรายังมีกรอบในการเลือกวิถีทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและปลอดภัย ด้วยบุคลิกภาพของมุสลิมที่ไม่ตกเป็นทาสอารยธรรมของสื่อที่คุกคามในสังคมปัจจุบัน
2. การอุทิศตนความสำคัญในการฟื้นฟูสังคม คือคนทุกหน่วยในสังคมต้องมีความเข้าในอย่างลึกซึ้งว่า ตนมีความสำคัญต่อสังคมและโลก การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งของเราไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือชั่ว มักจะมีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะกับผู้กระทำผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อสังคมส่วนรวมด้วยเสมอ
โดยเฉพาะในโลกที่ไร้ขอบเขตเช่นปัจจุบัน การเข้าถึงกันของปัญหาและผลกระทบจะยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจ เราจะพบว่ามิใช่ประเทศนั้นประเทศเดียวที่ต้องย่ำแย่ ผลกระทบของปัญหาอาจจะลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค หรืออาจจะแผ่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในโลกอีกด้วย
ตัวอย่างในกรอบที่แคบลงเช่น ถ้าหมู่บ้านใดเจอปัญหาการขาดจริยธรรมของกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน คนที่ได้รับผลกระทบอาจจะไม่ใช่เพียงคนในหมู่บ้านเท่านั้น เยาวชนในหมู่บ้านข้างเคียงอาจจะถูกกลืนให้เป็นพวกเดียวกันกับ กลุ่มเด็กวัยรุ่นข้างต้น เมื่อนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัญหาของหมู่บ้านใดหมู่บ้านอีกต่อไป แต่มันเป็นปัญหาสังคมที่ทุกคนต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไขให้ได้
จิตสำนึกร่วมในการแก้ปัญหาสังคม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมในความคิด การอุทิศตนเพื่อสังคมด้วยการสนับสนุนความดีและยับยั้งความชั่ว เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้สังคมเราดีขึ้น การนิ่งเฉยและการมองว่า ปัญหาสังคมไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตน จะทำให้การลุกลามของความเสื่อมโทรมระบาดเร็วขึ้น และมีผลกระทบต่อตัวเองในที่สุดด้วย การแบ่งส่วนหนึ่งของชีวิตให้สังคม จึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม
ตัวอย่างการอุทิศตนที่สามารถทำได้เช่น การมีส่วนร่วมในกลุ่มหรือชมรมที่ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคม การนำเสนอและเป็นตัวอย่างบทบาทที่ถูกต้อง การจัดโครงการต่างๆ เพื่ออบรมจริยธรรมสังคมและสร้างจริยธรรมในคนรุ่นใหม่ ความพยายามเหล่านี้สามารถที่จะทำได้ โดยเฉพาะถ้าหากมีการร่วมมือจากหลายๆ คน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือกิจกรรมเหล่านี้มักจะมีผู้สนับสนุนและคอยให้โอกาสอยู่เสมอ
สรุป ความเสื่อมโทรมของสังคมปัจจุบัน ได้บังคับให้เราทุกคนต้องมองหาสังคมในความคิดที่เป็นสังคมคุณภาพ ภาระหน้าที่ในการสร้างสังคมในความคิดควรต้องอยู่ในจิตสำนึกของทุกคน เพราะสังคมมีผู้คนทุกหน่วยเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน แนวทางหลักที่สามารถทำได้ คือการสร้างตัวเองให้มีคุณค่า ด้วยการพัฒนาจิตวิญญาณให้เข้มแข็งและการศึกษาความรู้ให้ทันโลกอย่างต่อเนื่องและพอเพียง ที่สำคัญที่สุดคือการอุทิศตนแบ่งส่วนหนึ่งของชีวิตเพื่อสังคม ด้วยความจริงใจและตั้งใจที่จะสร้างสังคมในความคิดให้เกิดขึ้นแนวทางสองประการนี้ เป็นการหยิบยกมาจากอัลกุรอาน ซึ่งอัลลอฮได้ตรัสว่า
«كُنتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ تَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَتُؤْمِنُونَ بِاللّهِ» (آل عمران : 110 )
ความว่า "สูเจ้าเป็นประชาชาติที่ดีที่สุดสำหรับมวลมนุษย์ ด้วยการที่สูเจ้าได้สั่งเสียในสิ่งที่ดี ห้ามปรามในสิ่งที่ผิด และด้วยการที่สูเจ้าศรัทธาในอัลลอฮฺ" (อาละอิมรอน อายะห์ที่ 110 )
การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ อยู่ในข่ายของการสร้างตัวเองให้มีศักยภาพทางจิตที่เข้มแข็ง ส่วนการสั่งเสียในความดีและการยับยั้งความชั่ว เป็นการอุทิศตนเพื่อสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่เราจะใช้ในการสร้างสังคมในความคิดที่มีความสันติยั่งยืนขึ้นมาให้ได้.
อ.ซุฟอัม อุษมานIslam House