ผู้นำมุสลิมกับการแก้ปัญหา
  จำนวนคนเข้าชม  10918

บทบาทของผู้นำมุสลิมกับการแก้ปัญหา

อ.อับดุลสุโก  ดินอะ


          ผู้นำทางการศึกษาศาสนาและผู้นำทางศาสนา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นผู้นำทางธรรมชาติในสังคมมุสลิม ความสำคัญของผู้นำมุสลิมตามทัศนะอิสลาม ในสังคมมุสลิมผู้นำศาสนาหรือตามภาษาพื้นบ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โต๊ะครู ซึ่งมาจากภาษามลายูกลางว่า ตวนฆูรู หรืออาจมาจากคำว่า 'คุรุ' หรือ 'ครู' นั้นเอง 

             แต่ในภาษาอาหรับ หรือในภาษาที่ชาวมุสลิมทั่วไปอาจเรียกอย่างยกย่องว่าอาลิม(ผู้รู้ 1 คนเป็นเอกพจน์)หรืออุละมาอฺ(ผู้รู้ หลายคนเป็นพหูพจน์) โดยมีรากศัพท์ ผันมาจาก อิลมฺ คือความรู้ โต๊ะครูหรือ อาลิมและอุลามาอฺ จึงให้ความหมายถึง ผู้รู้และบรรดาผู้รู้ ในที่นี้คือ รู้ในศาสตร์ของอิสลาม หรืออิสลามศึกษา

            ในขณะผู้รู้หลายคน มีความรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรู้ในเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่หมายถึงรู้เรื่องอิสลามที่เกี่ยวข้องศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย การแพทย์  ดาราศาสตร์ การเมือง และสังคม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวถึงความประเสริฐของบรรดาอุลามะอฺว่า เปรียบเสมือนผู้รับมรดกของบรรดานบี (ศาสดาทั้งหลาย) หรือได้กล่าวเปรียบเทียบสถานภาพของอุลามะอฺ ที่สูงส่งกว่า นักพรต นักบำเพ็ญตน ปลีกวิเวก อุปมาดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญที่ทอแสงเจิดจ้าโดดเด่นกว่าดวงดาวทั้งหลาย 

             ท่านอาลี บินอบีฎอลิบ (รอฏิยัลลอฮุอันฮุ)คอลีฟะห์ (คาหลิบ) ท่านที่ ๔ แห่งอิสลาม ได้ถูกตั้งคำถามจากสหายคนหนึ่งว่า

             "ใครคือผู้ที่ดีที่สุดในงานสร้างของอัลลอฮฺภายหลังท่านศาสดา" ท่านอาลีได้ตอบว่า "อุละมาอฺหรือบรรดาผู้รู้ทางศาสนาเมื่อเขามีความเที่ยงธรรม" และเมื่อถูกถามต่อ "แล้วใครเลวที่สุดในงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากฟิรเอาว์ (ฟาโรห์)" ท่านตอบว่า "อุละมาอฺหรือผู้รู้ศาสนาเมื่อเขาประพฤติชั่ว" 

             จากวจนะท่านอาลี บินอบีฎอลิบดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบว่ามุสลิมได้แบ่งประเภท ผู้รู้หรือโต๊ะครูเป็น 2 จำพวก คือ ผู้รู้ที่ดี กับผู้รู้ที่ไม่ดีหรือเลวนั้นเอง เช่นเดียวกัน

             บุคลิกภาพของผู้รู้จะต้องมีภาพสะท้อนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศสรรเสริญ จะต้องไม่เป็นตัวบั่นทอนการนำเสนอสัจธรรมสู่มวลชน หรือสู่สังคม การสงบเสงี่ยมและเจียมตัว และอยู่อย่างพอเพียง พึงใจต่อความเมตตาปรานีของพระเจ้า และที่สำคัญที่สุดของภาระหน้าที่ของอุลามาอฺ หรือโต๊ะครู นั้นคือ การรับใช้มนุษย์และสังคม ตลอดจนรับผิดชอบสังคม ในความดี ความชั่วที่เกิดขึ้น

             ที่สำคัญต้องสามารถแสดงจุดยืนด้านธรรมะและหลักการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาเรื่องราวเหล่านี้เป็นการแสดงบทบาทที่ตรงกับเป้าหมายของอิสลามมากที่สุด


             ทำไม?

             เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะศรัทธาหรือยอมรับแนวทางการดำเนินชีวิตของใครสักคน โดยที่ใช้แบบอย่างจากคำพูดของเขา แต่ไม่สามารถเห็นได้จากการกระทำของเขา ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา อุละมาอฺในภาคใต้มีบทบาทในสังคมมาก  ในการชี้นำความถูกต้องให้กับสังคม นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 ถึงบัดนี้

             ปรากฏการณ์ความรุนแรงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สังเวยชีวิตคนไทย  ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ศพ และยังไม่มีวี่แววความรุนแรงจะลดลง ตรงกันข้าม เหตุการณ์รุนแรงที่ได้ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์มาตลอด เป็นสิ่งยืนยันบ่งบอกให้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าวิกฤตการณ์ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

             ดังนั้นปัจจุบัน อุละมาอฺซึ่งเป็นทั้งผู้นำการศึกษาและศาสนาสมควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายเพื่อชี้นำความถูกต้องให้กับสังคม

             ทัศนะการก่อการร้ายที่อุละมาอฺควรแสดงจุดยืนตามกรอบของหลักการศาสนา การก่อการร้ายหมายถึง การทำร้ายที่เกิดขึ้นโดยบุคคล กลุ่มหรือประเทศชาติด้วยการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นทั้งในด้านศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน สติปัญญา เกียรติยศและศักดิ์ศรี

             ลักษณะของการก่อการร้ายนั้นมีหลาก หลาย ไม่ว่าการทำให้รู้สึกกลัว สร้างความเดือดร้อน ข่มขู่ คุกคาม เข่นฆ่า โดยมิชอบและลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม ปิดเส้นทางและปล้น กดขี่ ข่มเหง ทุกการกระทำที่มีลักษณะบ้าระห่ำ และการขู่กรรโชกเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการก่ออาชญา กรรมด้วยบุคคล หรือกลุ่มเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในสังคมมนุษย์ เพื่อให้เข็ดหลาบด้วยการสร้างความเดือดร้อนและนำพาชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ ความมั่นคงปลอดภัยและสภาพของพวกเขาสู่ภาวะอันตรายในจำนวนนี้ยังรวมถึงรูปแบบของการสร้างความพินาศให้กับสภาพแวดล้อม อาคารและทรัพย์สินสาธารณะและบุคคล

             การผลาญและทำลายทรัพยากรของประเทศและระบบนิเวศต่างๆ ทั้งหมดนี้คือ การความหายนะ   

             หลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานกับการก่อการร้าย

         1.บัญญัติห้ามการสร้างความหายนะกับสังคมโลก เอกองค์อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า

"และท่านจงอย่าแสวงหาความหายนะบนพื้นพิภพนี้เพราะแท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (อัลเกาะศอด. โองการที่ 77)

         2.ห้ามการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นและความอยุติธรรม พระองค์ได้บัญญัติอีกความว่า

"จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามสิ่งชั่วช้าและน่ารังเกียจต่างๆ ทั้งที่เปิดเผยและที่ลับ และพระองค์ทรงห้ามกระทำบาปและการข่มเหงรังแกผู้อื่นโดยความอยุติธรรม"(อัลอะรอฟ โองการที่ 33)

         3.ห้ามอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่สร้างความหายนะและกำหนดบทลงโทษหนักในนรก อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า

"และเมื่อเขาหันหลังไปแล้ว เขาพยายามก่อความเสียหายบนพื้นพิภพ ด้วยการทำลายพืชผลการเกษตรและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ และอัลลอฮฺทรงรังเกียจการก่อความเสียหาย  และเมื่อมีผู้ถามแก่เขาว่า เจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ความเย่อหยิ่งของเขากลับทำให้เขาทำบาปต่อไป ดังนั้นนรกญฮันนัม (นรกชั้นต่ำสุด) เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับเขาและมันเป็นที่พำนักอันเลวร้ายยิ่งสำหรับเขา"(อัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 205-206)   

          4.การฆ่าผู้อื่นโดยมิชอบเปรียบเสมือนการฆ่ามนุษย์ทั้งมวลอัลลอฮฺ ได้ดำรัสความว่า

"ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิชอบหรือสร้างความหายนะบนพื้นพิภพประหนึ่งว่า เขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล" (อัลมาอิดฮฺ โองการที่ 8)

          5.ความหายนะนั้นจะไม่ประสบแก่บรรดาผู้อธรรมเท่านั้น แต่จะประสบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นด้วยพระองค์ดำรัสอีกความว่า

"และพวกท่านจงระวังความหายนะ ซึ่งมันจะไม่ประสบแก่บรรดาผู้อธรรมในหมู่พวกท่านเท่านั้น และพึงทราบเถิดว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงลงโทษอย่างรุนแรง" (อัลอันฟาล โองการที่25)

         เพราะฉะนั้นมนุษย์ทั้งมวลจะต้องช่วยกันส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว ในขณะเดียวกันจะต้องร่วมปรึกษาหารืออย่างสันติในการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง(ซึ่งผู้นำมุสลิมภาคใต้ทำมาตลอด)

 

ที่มา   ศูนย์ข่าวอิศรา