พัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์
พัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ก่อนการจัดตั้งเป็นจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2476 ดินแดนแห่งนี้ผ่านอารยธรรมมาหลายยุคสมัยตามลำดับดังนี้
1. ) สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลักฐานการอยู่อาศัยของคนพื้นเมืองมาแต่ก่อน 3000 ปีที่ผ่านมา โดยเรียกรวมว่า พวกโอรัง อัสลี ( Orang Asli ) ซึ่งได้แก่ กลุ่มนิกริโต ( Nigrito ) เช่น ซาไกและเซมัง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มซีนอย ( Senoi ) เผ่ามองโกลอยด์ได้แก่ บรรพบุรุษของชาวสยามอยู่อาศัยมานานนับพันพันปีเช่นกัน หลักฐานที่สำคัญในสมัยนี้ได้แก่ ภาพเขียนสี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหิน ซึ่งพบหลายแห่งตามถ้ำและที่ราบ
2.) สมัยเริ่มประวัติศาสตร์ ประมาณ 2000 ปี ที่ผ่านมาถึงราว พ.ศ. 700 มีชาวอินเดีย และชาวอาหรับบางกลุ่มเดินทางมายังแถบนี้ พร้อมทั้งนำศาสนาและวัฒนธรรมมาเผยแพร่ ทำให้ศาสนาฮินดูเริ่มเข้ามาในระยะนี้ ชนพื้นเมืองเริ่มค้าขายกับชนต่างถิ่น เริ่มตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มมากขึ้นบริเวณปากแม่น้ำและบริเวณที่มีการติดต่อค้าขายสะดวก แถบนี้กลายเป็นที่พบกันของพ่อค้านักเดินเรือ ชุมชนบางแห่งขยายตัวเป็นเมืองในเวลาต่อมา
3.) สมัยอาณาจักรโบราณลังยาซูหรือลังกาสุกะ ราว พ.ศ. 700 1400 ปรากฏในบันทึกการเดินทางของชาวจีนว่ามีรัฐต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายแห่งบนคาบสมุทรมลายู โดยอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนัน ( Funan ) ในจำนวนนั้นมีรัฐลังยาซู ( Lang Ya Shiu ) รวมอยู่ด้วย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ลังยาซูเป็นอิสระ มีหลักฐานการส่งทูตไปเยือนจีนเมื่อ พ.ศ. 1058 , 1066 , 1074 และ1111 ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 14 ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของลังยาซูหรือลังกาสุกะ แหล่งโบราณสถานแถบท่าสาบ จังหวัดยะลา และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ยังคงปรากฏร่องรอยอยู่เป็นจำนวนมากถูกสร้างขึ้นในระยะนี้ โดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา
4.) สมัยลังกาสุกะภายใต้การปกครองของศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 14 15 ลังกาสุกะตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีกำลังกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้รับความนิยมมาก ชาวลังกาสุกะยอมรับนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างแพร่หลาย ศาสนสถานหลายแห่งและศิลปวัตถุในพุทธศาสนาถูกสร้างขึ้นมากในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ในถ้ำคูหามุข จังหวัดยะลา และพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวนมากก็ถูกสร้างขึ้นในสมัยนั้น
5. ) สมัยลังกาสุกะภายใต้อำนาจของโจฬะ ตั้งแต่ พ.ศ. 1535 เป็นต้นมา กองทัพโจฬะแห่งอินเดียเข้าโจมตีเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรศรีวิชัย เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าในช่องแคบมะละกาและเมืองหลายแห่ง รวมทั้งลังกาสุกะซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของโจฬะในปี พ.ศ. 1567 แต่หลังจากนั้นชาวเมืองลังกาสุกะก็ได้ต่อสู้ยึดคืนมาได้ในปี พ.ศ. 1587 แม้ว่าหลังจากนั้นศรีวิชัยจะกลับมามีอำนาจ แต่ก็พ่ายแพ้ต่ออาณาจักรที่ตั้งขึ้นมาใหม่ คือ มัชปาหิต ในปี พ.ศ. 1836 ในระยะนี้ศาสนาอิสลามแผ่เข้ามามากขึ้นโดยพ่อค้าและนักเผยแพร่ศาสนาชาวอาหรับและชาติต่าง ๆ
6.) สมัยลังกาสุกะภายใต้อำนาจของสุโขทัย-อยุธยาและมัชปาหิต ในปี พ.ศ. 1838 กองทัพสุโขทัยซึ่งลงมาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชตั้ง แต่ต้นรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ร่วมกับกองทัพเรือนครศรีธรรมราชลงไปทำสงครามเพื่อปกครองเมืองต่าง ๆ บริเวณปลายแหลมมลายูไปจนถึงเตมาสิก ( สิงคโปร์ในปัจจุบัน ) ไปจนถึงเมืองปาโซ บนเกาะสุมาตรา ตำนานนครศรีธรรมราชบันทึกไว้ว่า ไทยได้ส่งเจ้าเมืองไปปกครองหัวเมืองมลายู ได้แก่เมืองปัตตานี ( ลังกาสุกะ ) เมืองสาย ( สายบุรี ) เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทร ( ไทรบุรี ) เมืองอะเจ ( อาเจห์ ) แต่ครองอำนาจได้ไม่นาน อาณาจักรมัชปาหิตก็ขยายอำนาจมาปกครองหัวเมืองดังกล่าว โดยลังกาสุกะอยู่ภายใต้อิทธิพลของมัชปาหิตในปี พ.ศ. 1884-1907 ขณะเดียวกันศาสนาอิสลามก็แผ่ขยายเข้ามามากขึ้นในหมู่ประชาชนหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะแถบเมืองปาไซและมะละกา7. ) สมัยลังกาสุกะล่มสลายและกำเนิดเมืองปตานี ในช่วงต้นสมัยอยุธยา มะละกามีอำนาจมากขึ้น ต่อมาได้ปฏิเสธอำนาจของมัชปาหิตของสยาม ทำให้สยามต้องยกทัพไปปราบปรามมะละกาแต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ในปี พ.ศ. 1998 กองทัพมะละกาได้บุกเข้าโจมตีเมืองโกตามหลิฆัยของลังกาสุกะ และขยายอำนาจเข้าปกครองเมืองต่างๆแถบปลายแหลมมาลายู ทำให้ชาวเมืองหันมานับถือศาสนาอิสลามตามแบบอย่างมะละกามากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับปัตตานีนั้นพญาอินทิราโอรสของราชาศรีวังสาแห่งโกตามหลิฆัย ได้สร้างเมือง ปตานี ขึ้นใหม่ที่ริมทะเลบ้านกรือเซะบานา ราว พ.ศ. 2000 ต่อมาทรงเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามและเปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ ปกครองเมืองปัตตานีระหว่างปี พ.ศ. 2043-2073 นับแต่นั้นมาเมืองปัตตานีเข้าสู่ยุคอิสลามโดยสมบูรณ์ มีความรุ่งเรื่องมากทั้งในด้านการผลิตนักเผยแพร่อิสลามและเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม จนได้รับยกย่องว่า ปตานีเป็นกระจกเงาและเป็นระเบียงแห่งเมกกะ ปัตตานีมีสุลต่านหรือยาราเป็นเจ้าเมืองปกครองต่อเนื่องมาถึง 23 พระองค์ ในปี พ.ศ. 2351 จึงมีการปรับปรุงการปกครองเป็นระบบ 7 หัวเมือง
8. ) สมัยปกครอง 7 หัวเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2351 เป็นต้นมา มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 7 เมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา รามันห์ ระแงะ และสายบุรี แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสยามที่กรุงเทพเป็นผู้ปกครอง โดยมีหลักว่าเมืองใดมีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากก็ให้มีเจ้าเมืองที่นับถือ ศาสนาอิสลาม เมืองใดที่มีการนับถือศาสนาพุทธมากก็ให้มีเจ้าเมืองที่นับถือพุทธศาสนา แต่ในทางปฏิบัติประสบปัญหาอยู่เนือง ๆ เจ้าเมืองกับรัฐสยามรวมทั้งประชาชนในเมืองต่าง ๆ มีข้อขัดแย้งอันเนื่องจากการปกครองอยู่บ่อยครั้ง จึงต้องยกเลิกการปกครองรูปแบบนี้ไปในปี 2445 ปัจจุบันยังคงมีวังที่เคยเป็นที่พำนักของเจ้าเมือง เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน แต่บางแห่ก็ทรุดโทรมและถูกทิ้งล้างไปตามกาลเวลา
9. ) สมัยมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2449 รัฐสยามประกาศตั้งมณฑลปัตตานี มีสมุหเทศาภิบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากสยามเป็นผู้ปกครอง มีเมืองเข้ารวมอยู่ในมณฑลปัตตานี 4 เมือง คือ เมืองปัตตานี ( รวมเมืองหนองจิก ยะหริ่ง และปัตตานี ) เมืองยะลา ( รวมเมืองรามันห์และยะลา ) เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้ยกฐานะเมืองทั้ง 4 เป็นจังหวัด ทำให้ปัตตานี ยะลา สายบุรี และนราธิวาส มีฐานะเป็นจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา ในสมัยมณฑลเทศาภิบาลอำนาจและบทบาทของเจ้าเมืองในระบบเดิมซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2043 สิ้นสุดลง ทำให้มีข้อขัดแย้งหลายกรณีเกิดขึ้น นำไปสู่การเคลื่อนไหวการจัดตั้งองค์กร เพื่อเรียกร้องอิสรภาพปัตตานีในเวลาต่อมา
10. ) สมัยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2474 รัฐบาลประกาศยกเลิกมณฑลปัตตานี และยุบจังหวัดสายบุรี ลดฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี โดยรวมจังหวัดทั้งสามไว้ในการปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคแบ่งการปกครองออกเป็น จังหวัดและอำเภอ ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีฐานะเป็นจังหวัดในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาคและมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารการปกครอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
จากลำดับพัฒนาการดังกล่าวทำให้เห็นว่าดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเจริญรุ่งเรืองถึงระดับที่เรียกขานกันว่าเป็นอาณาจักรมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรไทย ต่อมาอำนาจของเมืองหลวงคือ สุโขทัย ได้แผ่ขยายลงมาทางใต้ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ โดยแต่ละช่วงสมัย ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัฐไทย กับปัตตานีหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างกันไปตามพลังอำนาจทางการเมือง และความเข้มแข็งของแต่ละฝ่าย ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวกับปัตตานีและประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เกี่ยวกับรัฐไทยมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ดังนั้นการนำเสนอตามลำดับพัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่คนไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยทั่วไปความภาคภูมิใจประการหนึ่ง ได้แก่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย ที่บ่งบอกถึงพัฒนาการทางสังคมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าการอธิบายความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตเป็นเรื่องยากที่จะหมิ่นเหม่ต่อความรู้สึกขัดแย้งเกลียดชัง แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้เข้าใจตรงกัน อารยประเทศทั้งหลายจึงเลือกที่จะให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ไม่ขัดแย้งกันอีก กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน น่าจะถึงเวลาที่ทุกฝ่ายหันมาศึกษาเรียนรู้และเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ร่วมกัน ความรุนแรงบาดหมางต่าง ๆ ที่เคยมีมาและกำลังเป็นอยู่อาจบรรเทาเบาบางลงได้หากได้เข้าใจซึ่งกันและกัน ดีกว่าต่างฝ่ายต่างเข้าใจและถือประวัติศาสตร์กันคนละฉบับแล้วลาดน้ำมันจุดไฟโยนใส่กันและกัน ดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ดร.ครองชัย หัตถารองศ. ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ที่มา : ศูนย์ข่าวอิศรา