อัลกุรอานปัญหาก่อการร้ายจริงหรือ?
  จำนวนคนเข้าชม  7036

คัมภีร์อัลกุรอาน : ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้และโลก      

อ. อับดุลสุโก ดินอะ

          ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีกรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

          ปัจจุบันมีการพูดและแสดงความคิดเห็นกันมากเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงที่นำไปสู่ ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้และโลก   เพราะมีมุสลิมหลายกลุ่มนำคำสอนในคัมภีร์ไปตีความอย่างผิดๆหรือใช้เพื่อบิดเบือนเพื่อเป้าหมายของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่จะต้องชี้แจงเพื่อความกระจ่าง และขจัดความสับสนของสังคม

           คัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมวจนะของอัลลอฮ์ ที่ทรงมีต่อมนุษย์โดยผ่านศาสดามุฮัมมัด ทั้งนี้โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ คัมภีร์นี้มิใช่คัมภีร์ที่มีไว้เพื่อสักการะบูชาและมิใช่เป็นคัมภีร์ที่มีวัตถุประสงค์ทางไสยศาสตร์ หากแต่เป็นคัมภีร์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้านและมิติทีเกี่ยวข้องกับมนุษย์

          สำหรับมุสลิมแล้วบทบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์ คือ บทบัญญัติที่ทุกคนต้องปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ทุกคนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะนำมาใช้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของอัลกุรอาน

         คัมภีร์อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบททั้งหมด 114 บท แต่ละบทเรียกว่าซูเราะห์ซึ่งมีความยาวไม่เท่ากันโดยจำนวนวรรคมากบ้างน้อยบ้างต่างกัน แต่ละวรรคเรียกว่าอายะห์ โดยมีทั้งหมด 6666 วรรคถึงแม้คัมภีร์อัลกุอานจะแบ่งเป็นบทเป็นวรรค แต่ละบทของอัลกุอานจะต่างกับหนังสือทั่วไปที่แบ่งแยกหัวข้อเรื่องต่างๆไว้ตามลำดับ ในทางกลับกันแต่ละบทของคัมภีร์อัลกุรอานจะมีเรื่องต่างๆปะปนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักศรัทธา ศีลธรรม กฎหมาย ประวัติศาสตร์ ในบางแห่งเรื่องเดียวกันจะถูกนำมากล่าวทวนในลักษณะต่างๆกัน และเรื่องหนึ่งจะตามอีกเรื่องหนึ่งโดยไม่มีการเกี่ยวเนื่องกันให้เห็นได้ชัด ในขณะที่มีการนำเสนอเรื่องหนึ่งอยู่บางครั้งมีการนำเสนออีกเรื่องหนึ่งในบทหรือตอนเดียวกัน โดยไม่มีเครื่องหมายหรือการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  การนำเสนอประวัติศาสตร์ในคัมภีร์อัลกรุอานต่างกับหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป การกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ในอัลกรุอานจะใช้สำนวนต่างจากภาษาทางวิทยาศาสตร์ ในทำนองเดียวกันคัมภีร์อัลกรุอานก็จะมีวิธีของตัวเองในการแก้ปัญหาทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและสังคม และที่สำคัญคัมภีร์อัลกรุอานมิใช่คัมภีร์ว่าด้วยศาสนา ในความเข้าใจของคนทั่วไป  ด้วยเหตุนี้ทำให้ ผู้เริ่มศึกษาอัลกุรอานหรืออ่านคำแปลอัลกรุอาน  อาจทำให้รู้สึกงงและไม่เข้าใจ ได้

          ศ.ด.ร.อับดุลลอฮ. บิน อับดุลมุห์ซิน อัตตุรกีย์ รมว. ศาสนสมบัติของซาอุดิอารเบีย ผู้จัดทำโครงการแปลอัลกุรอานเป็นภาษาต่างๆทั่วโลกร่วมถึงประเทศไทย กล่าวว่า

"ข้าพเจ้าทราบดีว่าการแปลความหมายอัลกุรอานนั้น แม้จะใช้ความละเอียดถี่ถ้วนอย่างไร ก็ยังไม่สามารถสื่อถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของตัวบท ที่มีความมหัศจรรย์ได้ความหมายต่างๆที่แปลออกมาจึงเป็นเพียงผลของความรู้และความเข้าใจ ของผู้แปลที่มีต่ออัลกรุอานแน่นอนย่อมมีความผิดพลาด และขาดตกบกพร่องได้เหมือนงานอื่นๆของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป"

           การจะเข้าใจความหมายอัลกุรอานได้นั้นผู้รู้จะต้องเข้าใจมูลเหตุหรือภูมิหลังแห่งการประทานโองการต่างๆในคัมภีร์อัลกุรอานด้วย

          ผู้อ่านคัมภีร์อัลกุรอานจะไม่สามารถเข้าใจความหมายเรื่องราวและบทบัญญัติที่แท้จริงและถูกต้องหากผู้อ่านขาดความรู้เกี่ยวมูลเหตุหรือภูมิหลังของการประทานคัมภีร์ ซึ่งศัพท์ทางวิชาการศาสนาเรียกว่า "อัซบาบุนนุซูล" ทั้งนี้เพราะคัมภีร์อัลกุรอานมิได้ถูกประทานลงมาเป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ในที่เดียวเวลาเดียว แต่ถูกประทานมาแต่ละโองการล้วนแล้วแต่มีสาเหตุและความเหมาะสม

ท่านอีหม่ามอัลวาฮิดีย์ปราชญ์ด้านวิชาการการอธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า  

"ไม่เป็นที่อนุญาตให้อธิบายอัลกุรอาน สำหรับผู้ที่ไม่ทราบมูลเหตุแห่งการประทานอัลกุรอาน"

เช่นมีโองการหนึ่งอัลลอฮ์ ได้ดำรัสความว่า

"ทั้งทิศตะวันออกและตะวันตกนั้นเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮ์ดังนั้นไม่ว่าท่านทั้งหลายจะผินหน้าไปทางทิศไหนท่านก็จะพบกับพระพักตร์แห่งอัลลอฮ์"

         ตามความหมายของโองการนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ละหมาดไม่จำเป็นต้องผินหน้าไปทางบัยตุลลอฮ  เมืองมักกะฮ์ประเทศซาอุดิอารเบีย แต่เมื่อพิจารณาถึงมูลเหตุและภูมิหลังของการประทานโองการนี้จะพบว่ามีชนกลุ่มหนึ่งไม่รู้แน่ชัดว่าทางไหนหรือทิศไหนคือตำแหน่งบัยตุลลอฮ์ ดังนั้นต่างคนต่างหันไปยังทิศที่ต่างได้วินิจฉัยด้วยสติปัญญาว่าน่าจะเป็นตำแหน่งของบัยตุลลอฮ เพราะช่วงเวลานั้นเป็นเวลากลางคืนท้องฟ้ามืดมิดและไม่มีเข็มทิศด้วยในสมัยนั้น พอรุ่งเช้าก็เป็นที่แน่ชัดว่าบางคนนั้นวินิฉัยผิด ซึ่งในโองการนี้อัลลอฮ์ได้แจ้งแก่ศาสดามูฮัมมัดให้ทราบว่าอัลลอฮ์ทรงผ่อนปรนในการหันไปทางบัยตุลลอฮ เมื่อมีเหตุการณ์ความจำเป็น นี่เป็นเพียงหนื่งตัวอย่างจากอัลกุรอานทั้งเล่มว่าการเข้าใจและสามารถอธิบายอัลกุรอานซึ่งเป็นภาษาอาหรับ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย

          ข้อแตกต่างระหว่างหนังสือศาสนาและวิชาการหรือบทความเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จากเหตุผลที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าใจอัลกรุอานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้อง ในขณะที่อัลกรุอานเป็นบทบัญญัติที่มุสลิมทุกคนจะ ต้องนำมาปฏิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของปราชญ์มุสลิมสาขาต่างๆ จะต้องแต่งตำราโดยดึงโองการบางโองการที่มีความเกี่ยวข้องมาเป็นหลักฐาน ดังนั้น เราจะพบตำราทางวิชาการหรือบทความซึ่งเขียนโดยผู้รู้มากมายจะมีหลักฐานอัลกรุอานประกอบเพื่อความหนักแน่น ส่วนความถูกต้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพทางวิชาการของผู้รู้แต่ละท่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

 

ที่มา : ศูนย์ข่าวอิศรา