ทรัพย์สินทางปัญญา
  จำนวนคนเข้าชม  9367

ทรัพย์สินทางปัญญา 

  
 
โดย .. มุร็อด บินหะซัน


             ลิขสิทธิ์  นับเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เก่าแก่ประเภทหนึ่ง  เพราะมีการยอมรับให้คุ้มครองลิขสิทธิ์  โดยมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกในประเทศอังกฤษปี ค.ศ.1709  นอกจากนี้ประเทศต่างๆทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิระหว่างประเทศ จึงทำให้เกิดข้อตกลง ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์มากมาย ซึ่งมีทั้งรูปแบบของอนุสัญญาและการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา  เช่น wip [world  intellectual  property] โครงสร้างของกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2537   ได้แก่การคุ้มครองลิขสิทธิ์และการคุ้มครองสิทธิ์ของนักแสดง  ลิขสิทธิ์ทั้งสองประเภทนี้ได้กำหนดเรื่องการคุ้มครองที่แตกต่างกัน  ไม่ว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับการได้สิทธิหรือสิทธิของผู้ทรงสิทธิเป็นต้น  นอกจากนี้พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ฉบับ พ.ศ. 2537 ยังได้บัญญัติระบบการอนุญาตโดยกฎหมายบังคับมาใช้บังคับเกี่ยวกับการแปลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

          สิทธิทางปัญญา คือ สิทธิของบุคคลหนึ่งในการเอาประโยชน์จากสิ่งที่บุคคลนั้นคิดค้นขึ้นมา  เช่น การแต่งตำรา  การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เป็นต้น  หมายความว่าบุคคลนั้นมีสิทธิจะทำการใดๆแต่เพียงผู้เดียวในสิ่งนั้นๆและยังมีสิทธิ์ที่จะห้ามมิให้บุคคลอื่นกระทำการใดๆอันเป็นการละเมิดสิทธิของตน (นิวัฒน์  มีลาภ, 2546 : 7)
  
       ลิขสิทธิ์  หมายความว่าสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับ พ.ศ. 2537) เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

          การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แยกออกได้ดังนี้

• การได้ลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์

• การได้ลิขสิทธิ์โดยการจ้างทำของ

• การได้ลิขสิทธิ์โดยการจ้างแรงงาน

• การได้ลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ

• การได้ลิขสิทธิ์โดยการรับโอน

• การได้ลิขสิทธิ์โดยทางมรดก

• การได้ลิขสิทธิ์โดยการควบบริษัท

• การได้ลิขสิทธิ์โดยการรวบรวม

• การได้ลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลง
               


          ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 นี้ประการหนึ่งของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ได้แก่การได้ลิขสิทธิ์โดยการรับมรดก ซึ่งการรับโอนลิขสิทธิ์โดยทางมรดกนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งอาจจะรับมรดกลิขสิทธิ์ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมหรือรับโอนมาโดยทางพินัยกรรม  เพราะลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย (นิวัฒน์   มีลาภ,   2546 : 24)

          ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาในกฎหมายอิสลามในยุคก่อนนั้นไม่มีปรากฏว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่อที่เกิดขึ้นใหม่จากสาเหตุของระบบเศรษฐกิจและกฎระเบียบสมัยใหม่ ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองได้ให้การยอมรับก็เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่จากสาเหตุของระบบเศรษฐกิจและกฎระเบียบสมัยใหม่ ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองได้ให้การยอมรับก็เพื่อส่งเสริมให้บุคคลมีการคิดคันประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆและมีความมั่นใจในการที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เขาคิดคันได้อย่างเต็มที่โดยมีกฎหมายคุ้มครองผลงานของเขา  มิให้ผู้อื่นเอา ประโยชน์ในเชิงธุรกิจจากผลงานของเขา   

     
  ทัศนะของนักกฎหมายอิสลามสมัยใหม่เกี่ยวกับสิทธิทางปัญญา
  
            
          นักกฎหมายอิสลามสมัยใหม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานของบทบัญญัติของสิทธิประเภทนี้ในหลักการอิสลาม    บางท่านให้การยอมรับสิทธิประเภทนี้ว่าถูกต้อง  โดยอาศัยกฎเกณฑ์ของอัลมะศอลิหฺ อัลมุรสะละฮฺ (ผลประโยชน์ที่ไม่มีตัวบทพูดถึง) ซึ่งก็เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลาม สิทธิทางปัญญานั้นจัดอยู่ในสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งยังไม่พบว่ามีหลักฐานคัดค้านในบทบัญญัติของอัลอิสลาม การใช้กฎเกณฑ์ของผลประโยชน์ดังกล่าวจึงถือเป็นบทบัญญัติในเรื่องนี้

          บางทัศนะเห็นว่าการยอมรับสิทธิประเภทนี้ตรงตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติอิสลามที่ใช้ให้มีการปกป้องผลประโยชน์ของบุคคลและห้ามละเมิดกระทำอันตรายต่อบุคคลอื่นการลอบเอาผลประโยชน์ขอบผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นถือเป็นการกระทำความผิด
 
         บางทัศนะเห็นว่าเป็นไปได้ทีจะผนวกเอาสิทธิประเภทนี้เข้าอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์  เพราะจุดประสงค์ของคำว่าทรัพย์ในกฎหมายอิสลามไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นวัตถุเสมอไป  แต่สิทธิที่เป็นนามธรรมก็เข้าอยู่ในคำว่าทรัพย์สินในหลักการอิสลามเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นสิทธิที่มีค่ามีราคาและ อนุญาตให้เอาประโยชน์ได้ตามหลักการของอัลอิสลาม  ซึ่งเป็นที่รู้กันระหว่างบุคคลทั่วไป  ในเมื่อ เป็นสิทธิส่วนบุคคล  การมีกรรมสิทธิ์ของเขาในสิ่งนั้นย่อมถูกต้องชัดเจน

          บางทัศนะเห็นว่าสิทธิประเภทนี้ไม่เคยมีในสังคมอิสลามแม้จะมีการแต่งตำรากันอย่างมาก มายในสมัยก่อนตามที่ทัศนะนี้ได้อ้างมานั้นก็ไม่ได้เป็นหลักฐานที่ชี้ถึงว่าสิทธิประเภทนี้ไม่มี แต่การที่สิทธิประเภทนี้ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เป็นที่รู้จักกันในกฎหมายอิสลามมาก่อนนั้น  ก็เพราะนักวิชาการที่แต่งตำราในสมัยก่อนมิได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สิน  ผลประโยชน์ที่จะกลับมายังพวกเขา  แต่สิ่งที่เขาเหล่านั้นให้ความสำคัญกว่าก็คือการเผยแพร่วิชาความรู้เท่าที่จะทำได้  โดยอนุญาตให้บุคคลทั่วไปได้เอาประโยชน์จากตำราที่เขาเหล่านั้นแต่งขึ้นอย่างเต็มที่ (อิสมาแอ อาลี,  1985 : 72 )  

     
  สิทธิดังกล่าวเป็นมรดกหรือไม่ ?
  
            
         ผู้วิจัยมีความเห็นว่า  สิทธิทางปัญญาเป็นสิทธิที่สามารถรับมรดกได้  เพราะเป็นสิทธิที่สามารถเอาประโยชน์ได้   มีราคา  มีค่าตอบแทนและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งจากทรัพย์มรดก  ท่านเชค อิบรอฮีม  อิบนุ อับดุลลอฮฺ  อัลฟารอฎีย์ ได้ให้ความหมายของคำว่าทรัพย์มรดกเอาไว้ว่า  คือสิ่งที่เจ้ามรดกได้ทิ้งไว้จากทรัพย์สิน  ค่าชดเชยจากฆาตกร  สิทธิในการเลือกระหว่างการซื้อหรือยกเลิกการซื้อ  หรือสิทธิในการบังคับขายในของที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน  สิทธิในการครอบครองสิ่งที่มีประโยชน์แต่ไม่อนุญาตให้ขาย เช่น มูลสัตว์และของมึนเมา (al-Faradi, 1953 : 13)

          ในเมื่อสิทธิการครอบครองสิ่งที่มีประโยชน์แต่ไม่อนุญาตให้ขายได้ยังเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกแล้ว   สิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาย่อมเป็นสิทธิที่สามารถรับมรดกได้ยิ่งกว่าและในเมื่อกฎหมายอิสลามได้รักษาผลประโยชน์ของผู้ครอบครองสิทธิ  การรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ที่สร้างสรรค์ในสิทธิทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากความพยายามในด้านความคิดสร้างสรรค์จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ย่อมต้องได้รับการคุ้มครอง


ที่มา : มิฟตาฮุ่ลอุลูมิดดีนิยะห์ บ้านดอน