การประกันภัย
โดย .. มุร็อด บินหะซัน
การประกันภัยเป็นสิทธิอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการทำธุระกรรมที่นักกฎหมายอิสลาม ในปัจจุบันมีความเห็นแตกต่างกันมากมาย ทั้งที่หลายประเทศที่เป็นประเทศอิสลามได้พยายามหาข้อสรุปในเรื่องนี้ โดยจัดประชุมสัมมนาหลายครั้ง แต่บรรดานักกฎหมายอิสลามก็ยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน และยังเป็นที่สับสนกันอยู่ในสังคมมุสลิมว่าการประกันชีวิตนั้นถูกต้องตามหลักการอิสลามหรือไม่ ค่างวดและเบี้ยประกันภัยจะเป็นมรดกหรือไม่ หรือให้กับบุคคลที่ถูกระบุไว้ ทั้งนี้เพราะการประกันภัยนั้นเพิ่งจะแพร่หลายได้ไม่กี่ปีนี้ จึงไม่มีคำชี้ขาดของบรรดานักกฎหมายอิสลามยุคก่อนในเรื่องนี้ ผู้วิจัยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมในปัจจุบัน จึงอยากจะนำเอาเรื่องนี้มานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลาม
ประวัติการประกันภัย (โดยสังเขป)
ก. มีเรื่องปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเกี่ยว กับโจเซฟและความอดอยากในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือกันว่าเป็นโครงการประกันภัยอันดับแรก เท่าที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์เล่ากันว่า คืนวันหนึ่ง ฟาโรห์ได้ฝันว่า มีวัวตัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวซูบผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟทำนายฝันว่า ประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็น เวลาเจ็ดปี ดังนั้นจึงเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือเก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้ (สุภาพ เสรีพิมพ์, 2548 : 4) ดังปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า
ยูซุฟผู้ซื่อสัตย์เอ๋ย จงอธิบายแก่เราเรื่องวัวตัวเมียอ้วนเจ็ดตัวถูกวัวผอมเจ็ดตัวกินมัน และรวงข้าวเขียวเจ็ดรวงถูกรวงข้างแห้งเจ็ดรวงรัดกินมัน หวังว่าฉันจะกลับไปหามวลชนเพื่อพวกเขาจะได้รู้เรื่อง เขากล่าวว่า พวกท่านจะเพราะปลูกเจ็ดปีต่อเนื่องกัน สิ่งที่พวกท่านเก็บเกี่ยวได้จงปล่อยไว้ในรวงของมัน เว้นแต่ส่วนน้อยที่ท่านจะกินมัน หลังจากนั้นเจ็ดปีแห่งความแร้นแค้นจะติดตามมา มันจะกินสิ่งที่พวกท่านสะสมไว้สำหรับมัน นอกจากส่วนน้อยที่พวกท่านจะเก็บไว้ทำพันธุ์ (ซูเราะฮฺยูซุฟ อายะอฺที่ 46-48)
ข. ประเทศจีนประมาณ 1300 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวจีนได้พัฒนาวิธีการประกันภัยขึ้นมาสำหรับการขนส่งสินค้าตามลำน้ำแยงซีเกียง ซึ่งมีสายน้ำที่เชี่ยวกราก และเรือ บรรทุกสินค้าอับปางเสมอ เนื่องจากมีหินใต้น้ำและเกาะแก่งที่คดเคี้ยวอันตรายต่อการเดินเรือ มีปรากฏเสมอว่าพ่อค้าบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะสินค้าได้รับความเสียหายหมด ดังนั้นด้วยความกลัว พ่อค้าเหล่านั้นจึงหาวิธีกระจายความเสี่ยงภัยออกไปโดยนำสินค้าของตนบรรทุกไว้ในเรือลำอื่นหลายลำเฉลี่ยกันไปจนครบจำนวนหีบห่อสินค้าซึ่งถ้าเรือลำใดลำหนึ่งจมลงก็หมายความว่าสินค้าของพ่อค้าแต่ละคนสูญเสียเพียงคนละ 1 หีบห่อเท่านั้น ซึ่งวิธการ่นนี้เป็นที่มาของการประกันภัยในปัจจุบัน
ค. ส่วนกรมธรรม์ประกันชีวิตดังที่เรารู้จักกันในขณะนี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1583 ปรากฏเป็นหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตของนายวิลเลี่ยม กิบบอนด์โดยมีนายริชาร์ด มาร์ติน เป็นผู้รับประโยชน์วงเงินที่เอาประกัน 400 ปอนด์สเตอร์ลิง และเบี้ยประกัน 1 ปีเท่ากับ 32 ปอนด์สเตอร์ลิง มีผู้ลงชื่อรับประกันชีวิตนายกิบบอนด์ 16 คน และทั้งๆที่นายกิบบอนด์มีสุขภาพดี และในกรมธรรม์มีคำภาวนาว่า ขอให้พระผู้เป็นเจ้าจงคุ้มครองนายวิลเลี่ยม กิบบอนด์ ให้มีสุขภาพดีและอายุยืนยาว แต่ปรากฏว่าเขาตายในปีนั้นเอง
ง. ประวัติการประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยการประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด อย่างไรก็ตามปรากฏตามประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาว่าได้มีพ่อค้าชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาติดต่อทำการค้าขาย และได้นำเอาระบบการประกันภัยเข้ามาด้วยคือ การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ซึ่งถือว่าเป็นการประกันวินาศภัยประเภทแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่การประกันภัยในสมัยนั้นเป็นการร่วมมือดำเนินธุรกิจระหว่างพ่อค้าชาวต่างประเทศด้วยกันเอง โดยมิได้มีการจดทะเบียนการค้าหรือแจ้งขออนุญาตจากรัฐบาลสยามในสมัยนั้นเป็นทางการแต่อย่างใด จนกระทั่ง ร.ศ.130 (พ.ศ.2451) ได้มีการประกาศกฎหมายที่กล่าวถึงการประกันภัยเป็นครั้งแรก คือ พระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัท ร.ศ.130 และต่อมาในปี พ.ศ.2471 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขาย อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนขึ้น กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจประกันภัยต้องได้รับพระบรมราชานุญาติก่อน ต่อจากนั้นก็มีการประกันภัยประเภทอื่นๆเกิดขึ้น
สำหรับธุรกิจประกันชีวิตเริ่มดำเนินการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบริษัทตัวแทนของบริษัทประกันภัยต่างประเทศในระยะแรกๆไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ธุรกิจประกันภัยในยุโรปและอเมริกาขยายตัวกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการติดต่อขออนุญาตเข้ามาประกอบธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย รัฐบาลในสมัยนั้นยังไม่พร้อมที่จะให้มีการจด ทะเบียนประกอบธุรกิจประกันชีวิตขึ้นในทันที เพราะได้เล็งเห็นว่าการประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่เกี่ยวพันในด้านความผาสุกและปลอดภัยของสาธารณชน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขาย อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธรณชน พ.ศ. 2471 ขึ้น กระทรวงเศรษฐการในสมัยนั้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขประกาศกฎกระทรวง โดยเฉพาะสำหรับผู้ขออนุญาตประกอบ
ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกัน วินาศภัยขึ้นประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2472 และต่อมาในปี พ.ศ.2510 รัฐบาลก็ได้ตราพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2510 ออกใช้บังคับเพื่อควบคุมและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและเป็นที่เชื่อถือของประชาชน โดยทั่วไปในปี พ.ศ. 2532 ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับขึ้นใหม่เพื่อความเหมาะสมเป็นพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (สุภาพ สารีพิมพ์, 2548: 4-8)
ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน