การสนองรับพินัยกรรม
โดย .. มุร็อด บินหะซัน
การสนองรับพินัยกรรมนั้นนักกฎหมายอิสลามมีความเห็นเป็นสองทัศนะด้วยกัน
ทัศนะที่หนึ่ง เป็นทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ ถือว่าการสนองรับนั้นก็คือการไม่ปฏิเสธด้วยการกล่าวรับด้วยคำพูดท ี่ ชัดเจน เช่น ฉันรับพินัยกรรมนี้ หรือ ฉันพอใจในพินัยกรรมนี้ หรือการแสดงถึงการสนองรับ โดยการดำเนินการในทรัพย์พินัยกรรมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์
ทัศนะที่สอง เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการกฎหมายอิสลาม ถือว่าจำเป็นจะต้องมีการสนองรับพินัยกรรมด้วยวาจา หรือสิ่งที่ทดแทนการสนองรับด้วยวาจา คือการดำเนินการในทรัพย์พินัยกรรมที่ชี้ถึงการยินยอมและถือว่าการไม่ปฏิเสธพินัยกรรมนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเป็นการสนองรับพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่การสนองรับที่ต้อง การ
การสนองรับพินัยกรรมจะต้องกระทำโดยเร็วหรือไม่ ?
บรรดานักกฎหมายอิสลามมีความเห็นสอดคล้องกันว่าไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการสนอง รับพินัยกรรมในเวลาที่แน่นอน และไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องสนองรับหรือปฏิเสธพินัยกรรมอย่างรวด เร็ว แต่อนุญาตให้ล่าช้าฉะนั้นจึงอนุญาตให้สนองรับพินัยกรรมภายหลังการตายของผู้ทำพินัยกรรม ถึงแม้จะเป็นเวลานานก็ตาม แต่ทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์มีความเห็นว่า ทายาทมีสิทธิ์ในการท้าวทวงผู้รับพินัยกรรมในการสนองรับหรือปฏิเสธพินัยกรรม หากเขาไม่ยอมระบุว่าจะเลือกทางใดภายหลังจากมีการท้าวทวงแล้วให้ถือว่าเขาปฏิเสธพินัยกรรม การท้าวทวงนี้ถือว่าเหมาะสม เพราะเป็นการป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับทายาท (al-Zuhaili, 1987 : 18)
ประเภทของพินัยกรรม
พินัยกรรมนั้นมี 4 ประเภทด้วยกันการทำพินัยกรรมที่จำเป็นต้องกระทำ (วายิบ) เช่น การทำพินัยกรรมให้ส่งคืนทรัพย์สินที่รับฝากไว้ หนี้ที่ไม่มีเอกสารบอกจำนวน สิ่งที่เป็นหน้าที่ต้องกระทำเองการจ่ายซะกาต การบำเพ็ญหัจญ์ ค่าปรับในการขาดการถือศีลอด การละหมาดและสิทธิของผู้อื่นที่จะต้องชดใช้
พินัยกรรมที่ควรกระทำ (มุสตะหับบะฮฺ) เช่น การทำพินัยกรรมให้กับเครือญาติ ใกล้ชิด ที่ไม่มีสิทธิรับมรดก บุคคลที่มีความต้องการและขัดสน บุคคลที่มีหนี้สาธารณะประโยชน์
พินัยกรรมที่อนุญาตให้กระทำได้ (มุบาฮฺ) เช่น การทำพินัยกรรมให้กับทายาทและบุคคลอื่นที่ร่ำรวย
พินัยกรรมที่ไม่ควรกระทำ (มักรูฮะฮฺ) เช่น การทำพินัยกรรมให้บุคคลกระทำความ ชั่ว และ การทำพินัยกรรมของผู้ยากจนที่มีทายาทรับมรดก บางครั้งการทำพินัยกรรมเป็นสิ่งต้องห้ามหาก พินัยกรรมนั้นนำไปสู่การสร้างความเสื่อมเสียและเดือดร้อนแก่ทายาทและสังคม เช่น การทำพินัยกรรมในสิ่งที่ผิดหลักการอิสลาม (al-Jaziri, n.d. :126)
ผลของพินัยกรรม
พินัยกรรมเริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอิสลามทันทีเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลงและไม่มีผู้ใดสามารถที่จะเพิกถอนพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ทำพินัยกรรมก็ตาม ดังนั้นหากเป็นพินัยกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์หรือกลุ่มคนที่มีจำนวนไม่จำกัดเช่นนักศึกษา ก็จะมีผลอย่างามบูรณทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้รับพินัยกรรมสนองรับพินัยกรรมแต่อย่างใด ทรัพย์พินัยกรรมจะตกเป็นของผู้รับพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ทำพินัยกรรมจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์พินัยกรรมในฐานะผู้ดูแลและส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้กับผู้รับพินัยกรรมเท่านั้นส่วนพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมให้แก่บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่แน่นอน ทรัพย์พินัยกรรมจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับพินัยกรรมเมื่อใดนั้น นักกฎหมายอิสลามมีทัศนะที่แตกต่างกันเป็นสองทัศนะด้วยกัน
ทัศนะที่หนึ่ง ผู้รับพินัยกรรมเมื่อสนองพินัยกรรมแล้ว เขาก็มีสิทธิในการครอบครองทรัพย์พินัยกรรมนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
ทัศนะที่สอง ผู้รับพินัยกรรมเมื่อสนองพินัยกรรมแล้ว เขาก็มีสิทธิในการครอบครองทรัพย์พินัยกรรมตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลง (Ibn Qudamah, n.d. : 25)
การสิ้นสุดของพินัยกรรม
พินัยกรรมจะสิ้นสุดหรือหมดสภาพการมีผลบังคับใช้ด้วยสาเหตุหนึ่งสาเหตุใดดังต่อไปนี้
ก. การถอนหรือยกเลิกพินัยกรรมโดยผู้ทำพินัยกรรมเอง การถอนหรือยกเลิกพินัยกรรมนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ทำพินัยกรรมที่จะกระทำเมื่อใดก็ได้ การถอนนั้นอาจจะกระทำได้ด้วยวาจา เช่น ผู้ทำพินัยกรรมกล่าวว่า ฉันยกเลิกพินัยกรรม ที่ฉันได้ทำไว้ ให้กับนาย ก. หรือ ฉันทำให้พินัยกรรมของฉันที่ทำให้นาย ก. เป็นโมฆะ เป็นต้น หรือด้วยการกระทำ ที่แสดงถึงการถอนหรือยกเลิกพินัยกรรม เช่น ผู้ทำพินัยกรรมยกส่วนหนึ่งให้กับนาย ก. ต่อมาผู้ทำพินัยกรรมได้ขายสิ่งนั้นไป หรือทำทานหรือให้ผู้อื่นไปข. การเสียชีวิตของผู้รับพินัยกรรมก่อนการเสียชีวิตของผู้ทำพินัยกรรม เพราะพินัยกรรมเป็นการยกให้ แต่ผู้รับพินัยกรรมนั้นเสียชีวิตไปก่อนการให้ จึงใช้ไม่ได้เช่นเดียวกับการให้สิ่งของกับคนตาย และเพราะพินัยกรรมจะไม่มีผลบังคับนอกจากด้วยการเสียชีวิตของผู้ทำพินัยกรรมและการสนองรับของผู้รับพินัยกรรม
ค. ทรัพย์พินัยกรรมสูญหายหรือเสียหาย ในกรณีที่ทรัพย์พินัยกรรมเป็นทรัพย์เฉพาะ หากทรัพย์พินัยกรรมเสียหายไปก่อนการรับสนองของผู้รับพินัยกรรม เพราะทรัพย์สินพินัยกรรมนั้นคือสิ่งที่ทำให้การทำพินัยกรรมมีผลบังคับ หากขาดสิ่งนี้แล้วพินัยกรรมก็ย่อมสิ้นสุดลง เช่น ทรัพย์สินพินัยกรรมเป็นแกะตัวหนึ่ง แต่แกะตัวนั้นได้ตายลง พินัยกรรมก็หมดสภาพไปด้วย (Ibn Qudamah, n.d. : 67-68)
เอกลักษณ์ของกฎหมายพินัยกรรม
กฎหมายพินัยกรรมอิสลามมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกับกฎหมายพินัยกรรมทั่วไปดังต่อไปนี้ก. ทรัพย์ที่ทำพินัยกรรมนั้นจะต้องไม่เกินหนึ่งในสามของทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ทำ พินัยกรรม ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิของทายาทโดยธรรมของผู้ทำพินัยกรรม หากการทำ พินัยกรรมเกินหนึ่งในสามของทรัพย์สินทั้งหมด ส่วนที่เกินถือว่าเป็นโมฆะ เว้นแต่ ทายาทโดยธรรมจะยินยอม
ข. ผู้รับพินัยกรรมจะต้องไม่เป็น ทายาทโดยชอบธรรม ซึ่งมีสิทธิในกองมรดกอยู่แล้ว หากทำพินัยกรรมให้แก่ทายาทโดยธรรมก็ถือว่าเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน นอกจากทายาทคนอื่นๆ จะยินยอม และหากเป็นการทำพินัยกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ จะต้องไม่กำหนดให้ใช้ในทางที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม
ค. นิติกรรมยกให้ตลอดจนนิติกรรมอย่างอื่นที่มีผลกระทบในทางลบต่อทรัพย์สินของ ผู้กระทำ หากการกระทำในช่วงที่ผู้ทำกำลังเจ็บป่วยที่นำไปสู่การเสียชีวิต ก็ให้ยึดเอากฎเกณฑ์ของการทำพินัยกรรมมาใช้ เช่น ยกให้แก่ทายาทโดยธรรมคนใดคนหนึ่ง ถือว่าไม่มีผล หรือยกให้แก่บุคคลที่มิได้เป็นทายาท หากเกินหนึ่งในสามของทรัพย์สินของผู้ให้ก็จะมีผลไม่เกินหนึ่งในสามเท่านั้นเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของทายาท ซึ่งสิทธิของทายาทเริ่มเกี่ยวข้องกับทรัพย์ของผู้ตายตั้งแต่วันเจ็บป่วยที่นำไปสู่การตาย (อิสมาแอ อาลี, 2546 : 130 -131)
บทสรุปที่เกี่ยวกับพินัยกรรม
กฎหมายอิสลามว่าด้วยเรื่องพินัยกรรมนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถทำความดีได้ภายหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว ด้วยการกำหนดทรัพย์สินของเขาเผื่อตายได้ ในขณะที่เขาไม่สามารถที่จะยกทรัพย์สินให้คนอื่นได้ในขณะที่เขา มีชีวิตอยู่ โดยที่กฎหมายอิสลามได้กำหนดรายละเอียด เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆในการทำพินัยกรรมไว้ หากผู้ตายต้องการทำพินัยกรรมขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว จะทำให้เกิด ปัญหาขึ้นในระหว่างเครือญาติ และเป็นผลภัยกับผู้ทำพินัยกรรมเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำพินัยกรรมให้กับทายาทที่รับมรดกได้และการทำพินัยกรรมที่เกินหนึ่งในสามของทรัพย์มรดก โดยที่ทายาทบุคคลอื่นไม่ยินยอม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาในสังคมมุสลิม มีหลายกรณีที่ผู้รับพินัยกรรมนำเรื่องของเขาขึ้นฟ้องศาล เพื่อให้ศาลตัดสินความด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำไว้ โดยละทิ้งกฎหมายอิสลามอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับคำสั่งของพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาอย่างแท้จริง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่มุสลิมจะต้องให้การศึกษากฎหมายพินัยกรรมอิสลามแก่บรรดามุสลิมโดยทั่วไป เพื่อที่จะให้ผู้ที่ต้องการทำพินัยกรรมได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ และสามารถทำพินัยกรรมได้อย่างถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลาม อันเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ทำพินัยกรรมเอง คือผลบุญที่เขาจะได้รับหลังจากเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว
ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน