ทรัพย์สินพินัยกรรม
  จำนวนคนเข้าชม  8103

ทรัพย์สินพินัยกรรม 

 ทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

          ก. ทรัพย์สินพินัยกรรมจะต้องเป็นทรัพย์เปลี่ยนการปกครองได้  เพราะการทำพินัยกรรมนั้นเป็น การให้ปกครองกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินพินัยกรรมครอบคลุมถึงเงินตรา  วัตถุ  อาคาร  บ้าน  ต้นไม้  สินค้า  สัตว์และสิ่งอื่นๆรวมถึงหนี้สิน สิทธิต่างๆ ของผู้ทำพินัยกรรมที่มีอยู่ที่ผู้อื่นและผลประโยชน์ต่างๆ    เพราะผลประ โยชน์ต่างๆก็เหมือนกับวัตถุในเรื่องของกรรมสิทธิ์โดยการทำสัญญาหรือการรับมรดก    ฉะนั้นผลประ โยชน์ก็เหมือนวัตถุในการทำพินัยกรรมเช่น เดียวกัน

          ข.  เป็นสิ่งที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ตามหลักการของอัลอิสลาม   การทำพินัยกรรมด้วยกับ  สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์   เช่นสุรา  สุกร  สุนัขและเสือที่ไม่ได้ฝึกไว้ใช้สำหรับล่า สัตว์    ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะเพราะเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในทัศนะของอิสลามและไม่อนุญาตให้ ทำพินัยกรรมในสิ่งที่ไม่สามารถโยกย้ายสิทธิได้  เช่น การฆ่าใช้ชาติ  การลงโทษในการกล่าวหาและสิทธิในการบังคับขายในสิ่งที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

          ค.  เป็นทรัพย์ที่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้  ครอบครองได้  ถึงแม้ทรัพย์นั้นจะยังไม่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมก็ตาม  หมายถึงเป็นสิ่งที่ได้กรรมสิทธิ์มาด้วยการทำนิติกรรมตอบแทน  ได้จากการทำสัญญาต่างๆหรือเพราะรับมรดก  เพราะการทำพินัยกรรมเป็นการโอนสิทธิให้ครอบครอง  สิ่งใดที่ไม่สามารถโอนสิทธิให้ครอบครองได้  ก็ไม่สามรถทำพินัยกรรมได้ ฉะนั้นการทำพินัยกรรมด้วยทรัพย์สินที่เป็นเงินตราหรือสินค้าก็ตามถือว่ามีผลใช้ได้   เพราะได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งดังกล่าวมา ด้วยการให้หรือด้วยการขาย  การทำพินัยกรรมด้วยกับผลประโยชน์ของทรัพย์สิน เช่น การอาศัยอยู่ในบ้าน  การขี่สัตว์พาหนะ เพราะได้กรรมสิทธิ์มาด้วยการเช่าและการทำพินัยกรรมด้วยหนี้สินที่อยู่ที่ชายคนหนึ่ง  เพราะในความเป็นจริงแล้วก็คือการทำพินัยกรรมด้วยสิ่งที่เป็นวัตถุนั่นเอง หมายถึงการทำพินัยกรรมด้วยกับเงินตราที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ที่เป็นหนี้  (al-Zuhaili, 1987 : 46)   

          ง.  เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ทำพินัยกรรมในการทำพินัยกรรมเฉพาะสิ่งในขณะที่ทำพินัยกรรม  เพราะการทำพินัยกรรมเฉพาะสิ่งนั้น  จะทำให้มีผลในการปกครองกรรมสิทธิ์ในสิ่งนั้น    จึงจำเป็นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ทำพินัยกรรมขณะที่ทำพินัยกรรม     ฉะนั้นการทำพินัยกรรมในสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นจึงเป็นโมฆะ

          บุคคลที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าทำ พินัยกรรมด้วยกับทรัพย์ของนาย ก.” ถือว่าการทำพินัยกรรมเป็นโมฆะตามทัศนะของนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่  ถึงแม้ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ครอบครองทรัพย์ของนาย ก.ภายหลังจากการทำพินัยกรรมก็ตาม  เพราะถ้อยคำที่แสดงเจตนาในการทำพินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้    เนื่องจากการกล่าวพาดพิงถึงพินัยกรรมด้วยทรัพย์ของ
บุคคลอื่น

           จ.  สิ่งที่ทำพินัยกรรมจะต้องอยู่ในขอบเขตหนึ่งในสามของทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ทำพินัยกรรม ในขณะที่เขาตายและชำระหนี้ประเภทต่างๆ ของผู้ทำพินัยกรรมทั้งหมดแล้ว  การกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อการรักษาไว้ซึ่งสิทธิของทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกตามสิทธิของแต่ละคนตามที่กฎหมายอิสลามได้ให้ความคุ้มครองไว้ กล่าวคือจะคุ้มครองไว้ภายในขอบเขตสองในสามจากกองมรดกทั้งหมดหลังจากหักค่าทำศพและชำระหนี้ (อิสมาแอ  อาลี,  2546  :  205)
  
           ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องทำพินัยกรรมในทรัพย์พินัยกรรมมิให้เกินหนึ่งในสามของทรัพย์สิน  หากผู้ทำพินัยกรรมนั้นมีทายาทอยู่    เพราะบรรดานักกฎหมายอิสลามมีมติว่าจำเป็นที่พินัยกรรมนั้นจะต้องไม่เกินหนึ่งในสามตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในหะดีษของท่านสะอัด  บุตร อบีวักก็อศ ที่รายงานว่า
    
  ท่านสะอัด  บุตรอบีวักก็อศ ได้กล่าวว่า
 

“ท่านนบี  ได้มาเยี่ยมฉันในขณะที่ฉันป่วยใกล้จะตาย”  ฉันได้กล่าวว่า “ โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺฉันเจ็บป่วยมากดังที่ท่านเห็นและฉันมีทรัพย์มาก  ไม่มีใครรับมรดกของฉันนอกจากบุตรสาวของฉันคนเดียว  ฉันจะทำทานด้วยกับสองในสามของทรัพย์ของฉันได้ไหม?”  

ท่านเราะซูลได้กล่าวว่า “ไม่ได้”

ฉันกล่าวว่า “แล้วครึ่งหนึ่งของทรัพย์ของฉันเล่า ?”

ท่านเราะซูลได้กล่าวว่า “ไม่ได้  หนึ่งในสาม และหนึ่งในสามก็มากแล้ว แท้จริงการที่เจ้าทอดทิ้งบรรดาทายาทของเจ้าในสภาพร่ำรวยนั้นดีกว่าการที่เจ้าทอดทิ้งพวกเขาไว้ในสภาพที่ยากจนโดยเขาเหล่านั้นจะยื่นมือขอมนุษย์”  

(หะดีษบันทึกโดยมุสลิม หะดีษหมายเลข 1628) 
 
          ทำพินัยกรรมเกินหนึ่งในสาม จะมีผลนั้น ต้องอาศัยการอนุญาตของทายาท หากทายาทยินยอมพินัยกรรมนั้นก็มีผลบังคับ    แต่หากเขา เหล่านั้นไม่ยินยอมพินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะ การอนุญาตของทายาทนั้นมีเงื่อนไขสองประการคือ

         1.  จะต้องเป็นการอนุญาตของทายาทภายหลังจากผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต

         2. ผู้ที่อนุญาตนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอิสลาม มีสติปัญญาสมบูรณ์ และรู้ถึงทรัพย์ที่ถูกระบุในพินัยกรรม หากทายาทบางคนอนุญาตและบางคนไม่อนุญาตก็ถือว่าพินัยกรรมมีผลเฉพาะส่วนของผู้ที่อนุญาตและเป็นโมฆะในส่วนของผู้ที่ไม่อนุญาต  (al-Zuhaili, 1987 : 52)
     
       นักกฎหมายอิสลามบางท่านชอบการทำพินัยกรรมที่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทรัพย์  เพราะมีรายงานจากท่านอบูบักรฺ อัลศิดดีก  ท่านอาลี บุตร อบีตฏอลิบ   และท่านอับดุลลอฮฺ บุตรอับบาส  ( เราะฏิยัลลอฮุอันฮุม )  (al-Fawzan,  2001 : 217)

ท่านอบูบักรฺ ได้กล่าวว่า
  
  “ฉันได้ทำพินัยกรรมด้วยกับสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงพอพระทัยสำหรับพระองค์เอง”    
 
  หมายถึงคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
  

  “เจ้าทั้งหลายพึงทราบเถิดว่า แท้จริงสิ่งที่เจ้าทั้งหลายได้มาจากการทำสงคราม  แท้จริงสำหรับพระองค์อัลลอฮฺนั้นหนึ่งในห้า”   (สูเราะฮฺอัลอัมฟาล อายะฮฺที่ 41)

  ท่านอาลี  กล่าวว่า
  
  “ให้ฉันทำพินัยกรรมหนึ่งในสี่เป็นที่ชอบของฉันมากกว่าการที่ฉันทำพินัยกรรมหนึ่งในสามเสียอีก”

(หะดีษบันทึกโดยอัลบัยหะกีย์  กิตาบอัลวะศอยา  บาบ สุนัตให้ทำพินัยกรรมน้อยกว่าหนึ่งในสาม หน้าที่  170)  
 
 ท่านอิบนุอับบาส    ได้กล่าวว่า  

 “ผู้ที่ทำพินัยกรรมหนึ่งส่วนห้าดีกว่าผู้ที่ทำพินัยกรรมหนึ่งส่วนสี่   และผู้ที่ทำพินัยกรรมหนึ่งส่วนสี่ดีกว่าผู้ที่ทำพินัยกรรมหนึ่งส่วนสาม”

(บันทึกโดยอัลบัยหะกีย์  กิตาบ อัลวะศอยา   บาบ  สุนัตให้ทำพินัยกรรมน้อยกว่าหนึ่งในสาม หน้าที่  270)  
 
          การทำพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมตั้งใจสร้างความเดือดร้อนและทุกยากให้กับทายาท  ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามและมีบาป  เพราะพระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
   
     
  “หลังจากพินัยกรรมที่ถูกสั่งเสียไว้  หรือหลังจากหนี้สินโดยมิใช่สิ่งที่นำมาซึ่งผลร้ายใดๆ”
(สูเราะฮฺอันนิสาอฺ อายะฮฺที่ 12)
  
  และในหะดีษที่ว่า 
  
 
“แท้จริงชายคนหนึ่งปฏิบัติตนอยู่ในการภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ 60 ปี  ต่อมาเขาใกล้จะตาย    เขาได้สร้างความเดือดร้อนในการทำพินัยกรรมของเขา   เขาต้องเข้าขุมนรก"

(หะดีษบันทึกโดยอบูดาวุด  หะดีษหมายเลข2867)   

  ท่านอาลี  บุตรอบีฏอลิบ ได้ไปเยี่ยมชายคนหนึ่งที่กำลังป่วย  ชายผู้นั้นได้กล่าวกับท่านอาลีว่า  ฉันต้องการทำพินัยกรรม  ท่านอาลีได้กล่าวว่า 

“ไม่ได้  ท่านไม่ได้ทิ้งทรัพย์ไว้มากมาย  จงทิ้งทรัพย์ที่ท่านมีไว้ให้บุตรของท่าน”

(หะดีษบันทึกโดยอัดดารีมีย์  หะดีษหมายเลข 3192) 
  
     


  ศีเฆาะฮฺ 

          พินัยกรรมตามกฎหมายอิสลามเป็นนิติกรรมสองฝ่าย  ซึ่งต้องมีการเสนอให้และการสนองรับ การเสนอ คือ การแสดงเจตนาทำพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรม  โดยใช้ถ้อยคำ  เช่น  “ฉันได้ทำพินัยกรรมยกสิ่งนี้ให้กับเขา”  หรือ “เจ้าทั้งหลายจงให้สิ่งนี้แก่เขาภายหลังจากฉันตายไปแล้ว”
         
          การสนองรับจากผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่ง  การสนองรับหรือการปฏิเสธในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ถือว่าไม่มีผล      และมิได้มีเงื่อนไขในการสนองรับโดยทันทีภายหลังจากผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต  ส่วนการทำพินัยกรรมให้กับองค์กร เช่น มัสยิดหรือสิ่งที่มิได้เจาะจง เช่น บรรดาคนที่ยากจน  พินัยกรรมจะมีผลทันทีภายหลังจากการตายของผู้ทำพินัยกรม  โดยมิต้องมีการสนองรับ  (al-Zuhaili,  1987 : 15)
 
 
 
การแสดงเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมทำได้ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดจากสามวิธีต่อไปนี้   

ก.  การใช้ถ้อยคำ

          การใช้ถ้อยคำในการแสดงเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมในการทำพินัยกรรมนั้น  ไม่ขัดแย้งระหว่างนักกฎหมายอิสลามในการที่ทำให้พินัยกรรมนั้นมีผลบังคับใช้ จะเป็นการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน เช่น “ฉันได้ทำพินัยกรรมยกสิ่งนี้ให้กับนาย ก. คนนั้น” หรือการใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน แต่มีความหมายที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการทำพินัยกรรมโดยสภาพแวด ล้อม เช่น“ฉันทำให้สิ่งนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาภายหลังฉันตายแล้ว” หรือ “เจ้าทั้งหลายจงเป็นพยานว่า   แท้จริงฉันนี้ได้ทำพินัยกรรมยกสิ่งนี้ให้กับนาย ก.”


ข.  การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร 

         การเขียนถ้อยคำในการแสดงเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมนั้นไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างนักกฎหมายอิสลามอีกเช่นกัน  หากผู้เขียนนั้นเป็นผู้ที่ไม่สามารถพูดได้ เช่นคนเป็นใบ้
        
          ส่วนมัซฮับชาฟิอีย์ถือว่าการแสดงเจตนาทำพินัยกรรมโดยการเขียนหรือการทำสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการทำพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมนั้นใช้ได้เช่นเดียวกับการขาย (al-Sharbini, 1958 : 53) การแสดงเจตนาในการทำพินัยกรรมด้วยการเขียนสำหรับผู้ที่พูดได้นักกฎหมาย อิสลามมีความเห็นแบ่งออกเป็นสองทัศนะด้วยกัน คือ

        ทัศนะที่หนึ่ง  หากยืนยันได้ว่าเป็นลายมือของผู้ทำพินัยกรรมจริง  โดยการยอมรับของทายาทหรือมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นลายมือของเขาถึงแม้จะเป็นเวลานานแล้วก็ตาม  ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่มีน้ำหนักของมัซฮับหัมบะลีย์    มัซฮับหะนะฟีย์  และ มัซฮับ    มาลิกีย์     หากผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยมือตนเองและให้พยานรับรู้ด้วย     โดยกล่าวว่า “เจ้าทั้งหลายจงเป็นพยานต่อสิ่งที่มีในหนังสือนี้”

         ส่วนทัศนะที่สอง  คือมัซฮับชาฟิอีย์  ถือว่าการเขียนเป็นกีนายะฮฺ (คือการใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน)  จึงต้องมีการตั้งใจพร้อมทั้งจะต้องมีพยานรู้เห็นการเขียน  โดยที่ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเอาหนังสือที่เขียนให้บรรดาพยานรู้เห็น  หากผู้เขียนมิได้ไห ้พยานรู้เห็นสิ่งที่เขียน    ถือว่าการทำพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ


ค.  การแสดงสัญลักษณ์สื่อความหมายที่เข้าใจได้

          การทำพินัยกรรมด้วยการทำสัญลักษณ์เพื่อแสดงเจตนาในการทำพินัยกรรมของคนใบ้หรือคนที่พูดไม่ได้  โดยมัซฮับหะนะฟีย์และมัซฮับหัมบะลีย์ได้ตั้งเงื่อนไขว่า  จะต้องหมดความหวังที่จะพูดได้และตายในสภาพนั้น  และเมื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถพูดได้  แต่สามารถเขียนได้  พินัยกรรมจะไม่มีผล  นอกจากต้องทำด้วยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร    เพราะเป็นการชี้ถึงจุดประสงค์ได้ละเอียดอ่อนกว่า มัซฮับมาลีกีย์ถือว่าการทำพินัยกรรมด้วยการทำสัญลักษณ์ที่เข้าใจความหมายนั้น  ใช้ได้สำหรับผู้ที่สามารถพูดได้ ส่วนมัซฮับชาฟิอีย์ถือว่า  การทำพินัยกรรมด้วยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยการทำสัญลักษณ์สำหรับบุคคลที่ไม่สามารถพูดได้นั้นใช้ได้

.
 .

โดย .. มุร็อด บินหะซัน

ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน