ผู้ทำพินัยกรรม
โดย .. มุร็อด บินหะซัน
ผู้ทำพินัยกรรมมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ก. จะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอิสลาม มีสติปัญญาที่สมบูรณ์ เป็นอิสระชนจะเป็นเพศชายหรือหญิง มุสลิมหรือมิใช่มุสลิมก็ตาม นักกฎหมายอิสลามมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ และจะต้องเป็นอิสระชน ฉะนั้นการทำพินัยกรรมของบุคคลที่มีสติปัญญาฟั่นเฟือน วิกลจริตและผู้ที่เป็นทาสจึงไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนการทำพินัยกรรมของผู้เยาว์ที่มีความรู้สึกรับผิดชอบแล้ว (المميز ) นั้น ตามทัศนะของ มัซฮับมาลิกีย์ มัซฮับหัมบะลีย์และทัศนะหนึ่งของอิหม่ามชาฟิอีย์มีความเห็นว่า พวกเขาสามารถทำพินัยกรรมได้ เพราะพินัยกรรมมิได้ทำให้กรรมสิทธิ์ของเขาหมดไปในขณะนั้นทันที และพินัยกรรมยังทำให้เขาได้รับผลบุญภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้งอีกด้วย (al-Sharbini, 1958 : 39)
โดยอาศัยทัศนะหนึ่งของท่านอุมัรตามรายงานดังต่อไปนี้
จากอบีบักรฺ บุตรมุฮัมมัด บุตรอัมรฺ บุตรหัซมฺว่า มีเด็กชายคนหนึ่งกำลังจะตายที่มะดีนะฮฺ ขณะที่ทายาทโดยชอบธรรมของเขาอยู่ที่ประเทศซาม (ซีเรีย) จึงได้มีการเล่าเรื่องของเขาแก่ท่านอุมัร บุตรค็อฏฏ็อบ และได้มีการถามท่านว่า เด็กคนหนึ่งกำลังจะตาย เขาทำพินัยกรรมได้หรือไม่ ?
ท่านอุมัรตอบว่า ให้เขาทำพินัยกรรมเถิด เด็กคนนั้นจึงได้ทำพินัยกรรมด้วยกับบ่อใบหนึ่งเรียกว่าบ่อญัชม์และทายาทของเขาได้ขายบ่อด้วยกับราคาสามหมื่น ท่านอบูบักรฺได้เล่าอีกว่า เด็กชายคนนั้นมีอายุสิบปีหรือสิบสองปี (หะดีษบันทึกโดยอัดดาริมีย์ หะดีษหมายเลข 3290)
การผ่อนปรนในเรื่องอายุของผู้ทำพินัยกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะการทำพินัยกรรมนั้นเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งที่ไม่มีผลเสียต่อผู้กระทำแต่อย่างใด เพราะพินัย กรรมจะมีผลหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตไปแล้ว การห้ามผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำพินัยกรรมนั้นก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ทำนิติกรรมเองซึ่งในการทำพินัยกรรมนั้นผลประโยชน์ของผู้ทำนิติกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีที่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์แก่ผู้มีบุญคุณต่อผู้เยาว์ที่มิได้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้เยาว์ และทายาทโดยธรรมนั้นไม่มีบุญคุณต่อผู้เยาว์ในช่วงเจ็บ ป่วยก่อนจะตายแต่อย่างใด (อิสมาแอ อาลี, 2546 : 100)ข. ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องทำด้วยความสมัครใจ เพราะการทำพินัยกรรมเป็นการโอนกรรม สิทธิ์จึงจำเป็นต้องทำโดยสมัครใจ ฉะนั้นการทำพินัยกรรมเพราะถูกบังคับ จากความผิด พลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือหลงลืมจึงไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนเงื่อนไขของการจัดการตามพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีหนี้สินเท่ากับจำนวนของทรัพย์มรดก เพราะการจัดการใช้หนี้นั้นต้องกระทำก่อนการจัดการพินัยกรรมโดยมติของนักกฎหมายอิสลาม และหากทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมนั้นไปเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้อื่น คือหนี้สินดังกล่าว การทำพินัยกรรมในลักษณะนี้จึงขึ้นอยู่กับการอนุญาตของเจ้าหนี้ทั้งหลาย หากเขาเหล่านั้นอนุญาตก็ถือว่าพินัยกรรมนั้นมีผลใช้ได้และสามารถจัดการให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรมได้ แต่หากเขาเหล่านั้นไม่ยินยอมก็ถือว่าพินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้ (al-Zuhaili, 1987 : 28)
ผู้รับพินัยกรรมผู้รับพินัยกรรมแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
ก. ประเภทที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงาน
ประเภทที่เป็นองค์กร หรือหน่วยงานนั้นมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่กระทำความผิดต่อหลักการศาสนาหรือสร้างความเสียหายให้กับสังคม หากผู้รับพินัยกรรมเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่กระทำความผิดต่อหลักการศาสนาหรือสร้างความเสียหายให้กับสังคมก็ถือว่าการทำพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะโดยความเห็นของนักนักกฎหมายอิสลามที่สอดคล้องกัน เช่นการทำพินัยกรรมให้สโมสรการพนัน สโมสรการบันเทิง การสร้างโดมครอบสุสาน การร้องให้โอดครวญกับผู้ตาย การสร้างหรือการซ่อมแซมโบสถ์ การเขียนคัมภีร์เตารอฮฺและอินญีล การเขียนหนังสือไสยศาสตร์และหนังสือที่ต้องห้ามทั้งหลาย การทำพินัยกรรมให้กับคู่สงครามและการจัดซื้อเครื่องดนตรีต่าง ๆ เพราะการทำพินัยกรรมนั้นถูกบัญญัติขึ้นเพื่อการสร้างความสัมพันธ์และการทำความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า จึงไม่อนุญาตให้ทำพินัยกรรมในสิ่งที่เป็นความชั่ว (al-Zuhaili, 1987 : 29)
ข. ประเภทบุคคลผู้รับพินัยกรรมประเภทบุคคลนั้นมีเงื่อนดังต่อไปนี้
(1) จะต้องเป็นบุคคลที่มีสภาพเป็นบุคคลในขณะทำพินัยกรรม คือจะต้องมีชีวิตอยู่แล้ว แม้ว่าจะยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์ก็ตาม ทั้งนี้หากคลอดออกมาอยู่รอดเป็นทารกภายในกำหนดเวลาของการตั้งครรภ์ที่สั้นที่สุดสำหรับหญิงผู้เป็นมารดาที่ร่วมหลับนอนตามปกติกับสามี หรือไม่เกินช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ที่ยาวที่สุด หากหญิงผู้เป็นมารดาขาดจากการสมรสแล้วหรือมีสามีแต่มิได้ร่วมหลับนอนกับสามี
(2) เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในขณะที่ทำพินัยกรรม หากผู้ทำพินัยกรรมให้กับผู้รับพินัยกรรมที่ไม่ถูกรู้จักแล้ว ก็ไม่สามารถจัดการทรัพย์พินัยกรรมให้กับผู้รับพินัยกรรมได้ เพราะพินัยกรรมคือการโอนกรรมสิทธิ์ให้ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมสิ้นชีวิต ตามทัศนะส่วนใหญ่ของนักกฎหมายอิสลาม หากบุคคลหนึ่งใดทำพินัยกรรมให้กับนาย มุฮัมมัดหรือนายคอลิด 1/3 ของทรัพย์หรือให้กับกลุ่มบุคคลที่เป็นมุสลิม โดยที่ไม่ได้ระบุจำนวนและไม่ได้กล่าวลักษณะที่มีความรู้สึกว่าเขาเหล่านั้นมีความต้องการ เช่น กลุ่มคนมุสลิมที่ยากจน ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะในทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ เพราะผู้รับพินัยกรรมไม่เป็นที่รู้จัก จึงไม่สามารถส่งทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมให้กับเขาได้ เช่นกับการทำพินัยกรรมของบุคคลหนึ่งให้กับชายคนหนึ่งจากชายสองคน ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะในทัศนะของมัซฮับทั้งสี่ เพราะไม่ได้เจาะจงผู้รับพินัยกรรม (al-Zuhaili, 1987 : 34)
(3) เป็นบุคคลที่มีสิทธิ์ในการปกครองกรรมสิทธิ์ได้ การทำพินัยกรรมเป็นการโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ทำพินัยกรรมให้กับผู้รับพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมจึงต้องเป็นบุคคลที่ปกครองกรรมสิทธิ์ได้ เงื่อนไขข้อนี้เป็นความเห็นที่สอดคล้องกันระหว่างบรรดานักกฎหมายอิสลาม ฉะนั้นการทำพินัยกรรมให้กับสัตว์ต่างๆ โดยมี เจตนาให้ปกครองสิทธิ์หรือการทำพินัยกรรมให้โดยมิได้ตั้งใจให้ปกครองสิทธิ ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นพินัยกรรมให้กับผู้ที่ไม่สามรถปกครองสิทธิได้ในทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ ชาฟิอีย์และมาลิกีย์ ส่วนการที่ผู้ทำพินัยกรรมกล่าวว่า เพื่อใช้เป็นอาหารแก่สัตว์ตัวนี้ถือว่าพินัยกรรมนั้นมีผลบังคับใช้ โดยพิจารณาตามคำพูดของเขามิได้พิจารณาถึงเจตนาของเขา ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องมีการสนองรับ เพราะเหมือนกับมรดกจึงไม่จำเป็นต้องมีการสนองรับ เนื่องจากอุปสรรค และเช่นเดียวกับการวักฟฺ( الوقف ) ให้กับบรรดาคนยากจน แต่สำหรับทัศนะของมัซฮับซาฟิอีย์แล้วมีเงื่อนไขว่า เจ้าของสัตว์จะต้องสนองรับพินัยกรรม พินัยกรรมนั้น จึงจะมีผลบังคับใช้ (al-Zuhaili, 1987 : 36)
(4) ไม่เป็นบุคคลที่ฆ่าผู้ทำพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมจะต้องไม่เป็นผู้ที่ฆ่าผู้ทำพินัยกรรมตามทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์และ มัซฮับหัมบะลีย์หากผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมให้หลังจากการทำร้ายของผู้รับพินัยกรรม ต่อมาเขาก็เสียชีวิต ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ หรือผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนการทำร้าย ผู้รับพินัยกรรมก็ไม่มีสิทธิ์รับพินัยกรรมนั้นได้ เพราะการฆ่านั้นเป็นสิ่งทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ ดังมีหะดีษของท่านนบีเล่าว่า
ผู้ที่ฆ่านั้นไม่มีสิทธิในสิ่งหนึ่งสิ่งใด (หะดีษบันทึกโดยอัดดารุกุฎนีย์ หะดีษหมายเลข 84)
ท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺได้กล่าวว่า หากทายาททั้งหลายยินยอมหรือไม่มีทายาทอื่นเลยก็ถือว่าพินัยกรรมนั้นมีผลบังคับใช้ (al-Zuhaili, 1987 : 37)
ส่วนมัซฮับชาฟีอีย์ถือว่า การทำพินัยกรรมให้กับผู้ที่ฆ่านั้นมีผลบังคับใช้ ถึงแม้จะเป็นการฆ่าโดยการละเมิดก็ตาม หากผู้รับพินัยกรรมฆ่าผู้ทำพินัยกรรมโดยการละเมิด ผู้รับพินัยกรรมก็ยังมีสิทธิในการรับพินัยกรรมนั้น เพราะการทำพินัยกรรมเป็นการปกครองกรรมสิทธิ์ด้วยการสัญญา จึงเหมือนกับการให้ ซึ่งต่างกับการรับมรดก (al-Nawawi, 1985 : 107)
สำหรับมัซฮับมาลีกีย์นั้น มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การทำพินัยกรรมให้กับผู้ที่ฆ่านั้นมีผลบังคับใช้ จะเป็นฆ่าโดยเจตนาหรือผิดพลาดก็ตาม เมื่อผู้ทำพินัยกรรมทราบว่าผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้ฆ่าเขา และเขาก็มิได้เปลี่ยนแปลงพินัยกรรมของเขา เพราะสิ่งที่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะก็คือ การรีบเร่งของผู้รับพินัยกรรมในสิ่งหนึ่งก่อนที่จะถึงเวลาของมัน เขาจึงถูกลงโทษโดยการห้ามสิทธิในสิ่งนั้น การลงโทษผู้รับพินัยกรรมโดยการห้ามสิทธินี้ จะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการฆ่า ที่อยู่ถัดจากการทำพินัยกรรมในทันที แต่ถ้าหากผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่ามีการทำร้าย และเขาก็ยังทำพินัยกรรมให้กับผู้ทำร้ายหรือผู้ที่ฆ่า ก็แสดงว่าเขาได้ให้อภัยและต้องการทำความดีกับผู้นั้นอีกด้วย (al-Jaziri, n.d. : 321)
สรุปได้ว่าทัศนะของมัซฮับต่างๆ เกี่ยวกับการฆ่าทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะนั้นมีสองทัศนะด้วยกันคือทัศนะที่หนึ่ง การที่ผู้รับพินัยกรรมฆ่าผู้ทำพินัยกรรม ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ ได้แก่ทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์และมัซฮับหัมบะลีย์
ทัศนะที่สอง ผู้รับพินัยกรรมฆ่าผู้ทำพินัยกรรมไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ ได้แก่ทัศนะของมัซฮับมาลิกีย์และมัซฮับซาฟิอีย์ (al-Zuhaili, 1987 : 38)
(5) ผู้รับพินัยกรรมมิได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งมีสิทธิ์รับมรดกอยู่ แล้ว ผู้รับพินัยกรรมจะต้องไม่เป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ทำพินัยกรรมที่มีสิทธิ์รับมรดกอยู่ แล้ว ขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตหากมีทายาทผู้อื่นไม่ยินยอม แต่ถ้าหากทายาทผู้อื่นยินยอมก็ถือว่าพินัยกรรมนั้นใช้ได้ เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า
ไม่มีการทำพินัยกรรมให้กับทายาท นอกจากได้รับอนุญาตจากทายาทบุคคลอื่น" (หะดีษบันทึกโดยอัลดารุกุฎนีย์ หะดีษหมายเลข 89)
และการที่ทายาทบุคคลอื่นไม่ยินยอม จะทำให้เกิดความแตกแยก ทะเลาะวิวาท การตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ ทำให้เกิดความโกรธแค้นและการอิจฉาริษยากันในระหว่างทายาททั้งหลาย เงื่อนไขนี้เป็นความเห็นที่สอดคล้องกันของมัซฮับต่าง ๆ โดยที่เขาทั้งหลายได้กำหนดกฎเกณฑ์ว่า ไม่อนุญาตให้ทำพินัยกรรมให้กับทายาทผู้หนึ่งผู้ใดที่มีสิทธิรับมรดกได้ เมื่อมีทายาทบุคคลอื่นไม่อนุญาต (al-Fawzani, 2001 : 218)ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน