บทว่าด้วยการขอดุอาอ์
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
ประเภทของดุอาอ์
ดุอาอ์มีสองประเภท คือ ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ และ ดุอาอ์ มัสอะละฮฺ แต่ละประเภทมีนัยที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันด้วย
1. ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ คือ การ ตะวัสสุล (พึ่งปัจจัย)ต่ออัลลอฮฺให้ได้สิ่งที่ต้องการ หรือป้องกันจากสิ่งที่ไม่ชอบ หรือขจัดโทษภัย ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮฺ(อะมัลความดีต่างๆ) ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์เพียงผู้เดียว
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
"และจงรำลึกถึงเรื่องราวของซันนูน (นบี ยูนุส) เมื่อเขาจากไปด้วยความโกรธพรรคพวกของเขา
แล้วเขาคิดว่าเราจะไม่ทำให้เขาได้รับความลำบาก แล้วเขาก็ร้องเรียนท่ามกลางความมืดทึบทะมึนว่า
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ท่าน มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ท่าน
แท้จริงข้าพระองค์เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้อธรรมทั้งหลาย
ดังนั้นเราได้ตอบรับการร้องเรียนของเขา และเราได้ช่วยให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ระทม
และเช่นเดียวกันนี้แหละที่เราช่วยบรรดาผู้ศรัทธา"
(อัล-อันบิยาอ์ 87-88)
2. ดุอาอ์ มัสอะละฮฺ คือ การร้องขอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขอ ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ได้รับผลประโยชน์ หรือ ขอให้ขจัดโทษภัยให้หมดไป
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
"คือบรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระเจ้าแห่งพวกข้าพระองค์ แท้จริงพวกข้าพระองค์ศรัทธากันแล้ว
โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดของพวกข้าพระองค์
และโปรดได้ทรงป้องกันพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วย"
(อาล อิมรอน 16)
พลังของดุอาอ์
ดุอาอ์ (การขอพร) และ ตะเอาวุซ (การขอความคุ้มครอง) เป็นเหมือนอาวุธ และพลังของอาวุธนั้นเกี่ยวข้องกับผู้ที่ใช้มันด้วย ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับความคมของมันเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าหากอาวุธใดมีความสมบูรณ์พร้อม ไม่หักไม่บิ่น และมือที่ใช้อาวุธก็เปี่ยมไปด้วยพลัง อีกทั้งไม่มีสิ่งใดๆ มากีดขวางการใช้อาวุธนั้น แน่นอนว่ามันย่อมต้องใช้ได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพกับคู่ต่อสู้ แต่ถ้าเมื่อใดที่หนึ่งในสามประการดังกล่าวไม่พร้อม ผลของมันก็จะไม่ปรากฏ
ดุอาอ์นั้นเป็นอาวุธของผู้ศรัทธา ซึ่งมันเป็นประโยชน์ทั้งกับกำหนดลิขิตของอัลลอฮฺที่เกิดขึ้นแล้วและที่ยังไม่เกิดขึ้น และด้วยแรงแห่งความมั่นใจที่เข้มข้นต่อพระองค์อัลลอฮฺ การยืนหยัดบนคำสั่งใช้ของพระองค์ และความมุ่งมั่นที่จะเชิดชูพระพจนารถของพระองค์ ก็จะเกิดการตอบรับดุอาอ์และสมความปรารถนาตามที่ต้องการ
การตอบรับดุอาอ์
เมื่อการขอดุอาอ์เป็นไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของมันอย่างครบถ้วน เมื่อนั้นอัลลอฮฺก็จะทรงกำหนดให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดในประการต่างๆ เหล่านี้ คือ
1) พระองค์จะทรงตอบรับดุอาอ์นั้นทันที หรือ
2) พระองค์จะทรงไม่ตอบรับทันที แต่จะทรงให้มันล่าช้า เพื่อให้บ่าวของพระองค์ได้วอนขอต่อพระองค์ให้มากขึ้นด้วยการร้องไห้และนอบน้อม หรือ
3) จะทรงประทานสิ่งอื่นให้ที่เป็นประโยชน์ต่อเขามากกว่าสิ่งที่เขาขอ หรือ
4) จะทรงขจัดภัยอย่างอื่นให้เขาแทนสิ่งที่เขาขอ หรือ
5) จะทรงเก็บไว้เพื่อประทานให้เขาในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดีว่าอันไหนเป็นประโยชน์ต่อบ่าวของพระองค์มากที่สุด ดังนั้น เราจึงไม่ควรรีบร้อนต้องการเห็นผลของดุอาอ์ทันทีทันใด
อัลลอฮฺตรัสความว่า
"แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์
โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว"
(อัฏ-เฏาะลาก 3)
"และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วละก็ (จงตอบเถิดว่า)แท้จริงและข้าอยู่ใกล้
ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อข้า
ดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิดและจงศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง"
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 186)
ปัจจัยที่กีดขวางการตอบรับดุอาอ์
ดุอาอ์เป็นเหตุปัจจัยที่มีพลังมากที่สุดในการขจัดเพทภัยและการขอให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา แต่ผลของมันอาจจะไม่ปรากฏให้เห็น เนื่องจากความอ่อนของตัวดุอาอ์เอง เช่น เป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮฺไม่ชอบเนื่องจากแฝงด้วยถ้อยคำที่ละเมิดขอบเขต หรืออาจจะเป็นเพราะหัวใจที่อ่อนแอและไม่มุ่งมั่นจิตใจไปยังอัลลอฮ์ ขณะที่เขาขอดุอาอ์
หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่กีดขวางการตอบรับดุอาอ์ เช่น การกินสิ่งที่หะรอม การหลงลืมและเผลอเรออย่างชัดเจน บาปที่ทับถมในหัวใจ การรีบร้อนอยากเห็นผลของดุอาอ์จนละทิ้งไม่ขอดุอาอ์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งอัลลอฮฺอาจจะไม่ให้เห็นผลของดุอาอ์บนโลกนี้เพราะพระองค์ได้เตรียมสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าให้เขาในอาคิเราะฮฺ
บางทีพระองค์ไม่ประทานสิ่งที่เขาขอเพราะพระองค์ได้ขจัดสิ่งที่เป็นภัยต่อเขาแทน หรือบางที การให้สิ่งที่เขาขออาจจะเป็นเหตุให้เขาทำบาปมากขึ้น ดังนั้นการไม่ให้สมปรารถนาจึงมีคุณต่อตัวเขามากกว่า และบางที พระองค์ไม่ให้เขาสมปรารถนาตามที่เขาขอ เพื่อไม่ให้เขาลืมพระองค์ แล้วเขาก็จะหยุดการวิงวอนขอต่อพระองค์อีก
สภาพของดุอาอ์กับบททดสอบในชีวิต
ดุอาอ์เป็นยาที่ดีสุด เป็นศัตรูกับบททดสอบ เพราะมันจะคอยยับยั้งไม่ให้บททดสอบลงมาโดนกับตัวของมนุษย์ คอยขจัดมันถ้าหากมันลงมาแล้ว หรือบรรเทาให้มันทุเลาลง สภาพของดุอาอ์กับบททดสอบมีอยู่สามกรณีดังนี้
กรณีที่หนึ่ง ดุอาอ์มีพลังเหนือกว่าบททดสอบ และมันก็สามารถต้านทานและขจัดมันได้
กรณีที่สอง ดุอาอ์มีพลังน้อยกว่าแรงของบททดสอบ ดังนั้นมันก็จะไม่เป็นผลและแพ้ต่อบททดสอบที่มีความเข้มข้นกว่ามัน
กรณีที่สาม ทั้งสองอย่างมีพลังเท่าๆ กัน และจะคอยต่อสู้เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้
คุณค่าของดุอาอ์
1. อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
"และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วละก็ (จงตอบเถิดว่า)แท้จริงแล้วข้าอยู่ใกล้
ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อข้า
ดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิดและจงศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง"
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 186)
2. อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
"และพระเจ้าของพวกเจ้าตรัสว่า จงวิงวอนขอต่อข้า ข้าจะตอบรับแก่พวกเจ้า
ส่วนบรรดาผู้โอหังต่อการเคารพภักดีข้านั้น จะเข้าไปอยู่ในนรกอย่างต่ำต้อย"
(ฆอฟิรฺ 60)
มารยาทในการขอดุอาอ์ และสาเหตุแห่งการตอบรับ
ส่วนหนึ่งของสิ่งดังกล่าวก็คือ อิคลาศ การบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง เริ่มต้นด้วยการกล่าวสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺ จากนั้นก็กล่าวเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ทั้งในตอนเริ่มต้นขอและตอนปิดท้าย
ต้องให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวขณะที่ขอดุอาอ์ ใช้เสียงเบา ยอมรับในความผิดบาปและขออภัยโทษ ยอมรับต่อนิอฺมัตของอัลลอฮฺ การทวนดุอาอ์สามครั้ง การขออย่างจริงจัง ไม่แสดงความรู้สึกว่าดุอาอ์เกิดผลช้า การขอด้วยความมั่นใจว่าดุอาอ์จะได้รับการตอบรับ ต้องไม่ขอในสิ่งที่เป็นบาปหรือตัดสัมพันธ์กับเครือญาติ และต้องไม่ละเมิดขอบเขตในการขอ
ไม่ขอให้เกิดภัยต่อตัวเอง ครอบครัว ทรัพย์สิน และลูกหลาน อาหารการกินและเสื้อผ้าต้องไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ต้องคืนสิทธิที่เคยละเมิดแก่ผู้เป็นเจ้าของ ขอด้วยความนอบน้อมและสงบเสงี่ยม อยู่ในสภาพที่สะอาดจากญุนุบและสิ่งสกปรก
ยกมือขณะขอดุอาอ์ให้สูงระดับไหล่ด้วยการประกบมือทั้งสองข้างแบมือสู่ท้องฟ้า หรือถ้าต้องการให้ฝ่ามือทั้งสองข้างหันเข้าสู่ใบหน้าและให้หลังมือหันไปทางกิบละฮฺก็ได้ การผิดหน้าไปสู่กิบละฮฺตอนขอดุอาอ์ ขอดุอาอ์ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ และการขอดุอาอ์ด้วยดุอาอ์ที่คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับเนื่องจากมีระบุในสายรายงาน
ดุอาอ์ที่อนุญาตให้ขอและที่ไม่อนุญาต
ดุอาอ์มีหลายประเภท
1. ประเภทที่ถูกใช้ให้ขอ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงบังคับหรือเชิงสนับสนุน เช่นดุอาอ์ต่างๆ ในละหมาด และอื่นๆ ที่มีในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ประเภทนี้เป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮฺชอบและโปรดปราน
2. ประเภทที่ถูกห้ามไม่ให้ขอ เช่นการละเมิดในการขอดุอาอ์ ตัวอย่างเช่นการขอสิ่งที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของพระเจ้า อย่างการขอให้ตัวเองรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หรือขอให้มีพลังเหนือทุกสรรพสิ่ง หรือขอให้มีความรู้ในสิ่งที่เร้นลับ เป็นต้น ประเภทนี้เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ชอบและไม่โปรดปราน
3. สิ่งที่อนุญาตให้ขอได้ เช่น การขอสิ่งที่อยู่นอกเหนือความจำเป็นที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือมะอฺศิยัต
เวลา สถานที่ และสภาพที่ ดีที่สุดในการขอดุอาอ์
1. เวลาที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์
กลางดึกช่วงสุดท้ายของคืน, คืนลัยละตุลก็อดรฺ, หลังละหมาดห้าเวลา, ระหว่างอะซานและอิกอมะฮฺ, ช่วงเวลาเฉพาะเวลาหนึ่งในกลางคืน(ไม่มีระบุว่าช่วงไหน), ช่วงเวลาเฉพาะเวลาหนึ่งในวันศุกร์นั่นคือช่วงเวลาสุดท้ายหลังอัศร์, ช่วงเวลาอะซานเรียกสู่การละหมาดห้าเวลา, เมื่อนอนในสภาพที่มีวุฎูอ์(น้ำละหมาด)จากนั้นตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืนและขอดุอาอ์, การขอดุอาอ์ในเดือนเราะมะฎอน เป็นต้น
2. สถานที่ที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์
ดุอาอ์วันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ, ดุอาอ์บนเนินเศาะฟาและมัรวะฮฺ, ดุอาอ์ ณ อัล-มัชอัร อัล-หะรอม, ดุอาอ์หลังจากขว้างเสาหินอันที่หนึ่งและอันที่สองในวันตัชรีก เป็นต้น
3. สภาพที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์
หลังจากที่กล่าวขอว่า "ลาอิลาฮะ อิลลา อันตะ, สุบหานะกะ, อินนี กุนตุ มินัซ ซอลิมีน", ดุอาอ์ในขณะที่จิตใจรำลึกถึงและมุ่งมั่นอยู่กับอัลลอฮฺ, ดุอาอ์หลังจากอาบน้ำละหมาด, ดุอาอ์ของผู้เดินทาง, ดุอาอ์ของผู้ป่วย, ดุอาอ์ของผู้ที่ถูกอธรรม, ดุอาอ์ของบุพการีแก่ลูกหลาน, ดุอาอ์ของผู้ที่อยู่ในภาวะคับขัน, ดุอาอ์ขณะสุญูด, ดุอาอ์ของบรรดามุสลิมเมื่อมีการนั่งรวมกันเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ, ดุอาอ์เมื่อได้ยินไก่ขัน, ดุอาอ์เมื่อตกใจตื่นเวลากลางคืนแล้วกล่าวว่า "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะห์ดะฮู..." จนจบ จากนั้นก็กล่าวอิสติฆฟารและขอดุอาอ์ เป็นต้น
.
.
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์
แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน / Islam House