ตลาดหลักทรัพย์ในทัศนะอิสลาม
ความเห็นของสถาบันวินิจฉัยนิติศาสตร์อิสลามเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์สถาบันวินิจฉัยนิติศาสตร์อิสลาม (Islamic Fiqh Academy)¹ ได้จัดการประชุมครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 14-20 / 03 / 1990 ณ นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อพิจารณางานค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ที่เคยจัดขึ้นในปี ค.ศ.1989 อาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า กฎหมายอิสลามส่งเสริมการทำมาหากิน การดำเนินธุรกิจ การลงทุนด้วยทรัพย์สิน และการลงทุนด้านอื่นๆที่อยู่บนพื้นฐานอัลอิสลาม โดยจะต้องร่วมกันแบกรับความเสี่ยงและภาระต่างๆ และเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์เป็นตลาดเงินหมุนเวียน สร้างผลกำไร และกำลังได้รับความสนใจ การค้นคว้าหาข้อชี้ขาดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจถึงหลักศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องดังกล่าวและพร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นักนิติศาสตร์อิสลามและนักกฎหมายอิสลาม ได้พยายามอธิบายหลักการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและการลงทุน โดยเฉพาะการตลาดและการดูแลตลาด หลังสถาบันวินิจฉัยนิติศาสตร์อิสลามพิจารณางานวิจัยเกี่ยวกับระบบและเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์ที่เสนอมาแล้วสถาบันวินิจฉัยฯได้มติเอกฉันท์ดังนี้
1. การให้ความสำคัญต่อ ตลาดหลักทรัพย์ คือส่วนหนึ่งจากการทำหน้าที่จำเป็นเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาทรัพย์สินก่อนจะนำไปใช้พัฒนา ช่วยเหลือ และสนองตอบความต้องการทางสังคม ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกนี้และโลกหน้า
2. ตลาดหลักทรัพย์ (แม้ว่าจะมีความต้องการ) ตามทัศนะอัลอิสลามมิใช่รูปแบบและเป้าหมายทางการลงทุนและการพัฒนาด้านทรัพย์สินที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้นักนิติศาสตร์อิสลามและนักเศรษฐศาสตร์อิสลามต่างใช้ความพยายาม ทุ่มเท เสียสละเวลา เพื่อตรวจสอบระบบ เครื่องมือ และการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ พร้อมแก้ไขสิ่งที่สมควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม
3. แนวคิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ยึดถือการบริหารและการดำเนินงานเป็นหลัก ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการอ้างอิงถึงการบริหารและการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถนำมาปฏิบัติและเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ ตลอดจนอยู่ภายใต้หลักบัญญัติศาสนาโดยรวม โดยจะต้องไม่ขัดต่อตัวบทหลักฐานหรือหลักเกณฑ์ทางศาสนา ที่กล่าวมาจึงเป็นเป็นหน้าที่ของนักปกครองที่จะต้องดูแลฝ่ายบริหารและจัดระบบตลาดหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม
นอกจากนั้นสถาบันวินิจฉัยอิสลามนิติศาสตร์ยังได้ทำการพิจารณาประโยชน์เชิงบวกและเชิงลบตามทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบตลาดหุ้นได้แก่
ก ประโยชน์เชิงบวกของตลาดหลักทรัพย์ข้อแรก : ทำให้เกิดความสะดวกในตลาดหุ้นอย่างถาวร ไม่ว่าจะเป็นการพบปะระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ หรือการทำสัญญาประเภทต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และสินค้า
ข้อสอง : ทำให้เกิดความสะดวกในการดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆตลอดจนรัฐวิสาหกิจที่สามารถซื้อขายผ่านหุ้นและพันธบัตร ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม
ข้อสาม : ทำให้การซื้อขายหุ้น พันธบัตรสินเชื่อ และสินค้ากับบุคลอื่นๆตลอดจนการแสวงหาประโยชน์จากราคาเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมา เพราะบริษัทที่ออกหุ้นมานั้นจะไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของมูลค่าหุ้นให้แก่เจ้าของได้
ข้อสี่ : ทำให้ง่ายแก่การทราบมาตรฐานหรือความสมดุลของราคาหุ้น พันธบัตรสินเชื่อและสินค้า ตลอดจนความเคลื่อนไหวของอุปสงค์และอุปทาน
ข ประโยชน์เชิงลบของตลาดหลักทรัพย์ข้อแรก : สัญญาผ่อนชำระในตลาดหุ้นไม่ใช่การซื้อขายจริง เพราะไม่มีการรับเงินส่งสินค้ากันจริงระหว่างสองฝ่ายขณะทำสัญญา ซึ่งตามกฎหมายอิสลามแล้วกำหนดให้มีการรับเงินส่งสินค้าจากสองฝ่าย หรืออย่างหนึ่งอย่างใด
ข้อสอง : ผู้ขายส่วนใหญ่มักจะขายในสิ่งที่ตนเองมิได้ครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหุ้น ผลิตภัณฑ์ และสินค้า แต่ผู้ขายหวังว่าจะซื้อคืนจากตลาดหรือรับสินค้าคืนตามวันเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องจ่ายเงินขณะทำสัญญาซื้อขายเหมือนการซื้อขายแบบสะลัม²
ข้อสาม : ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะขายสิ่งที่เขาซื้อมาก่อนเขาจะได้รับสิ่งนั้น ขณะที่ผู้ขายจะซื้อสิ่งนั้นไปก่อนจะได้รับมา ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อขายซ้ำไปซ้ำมาก่อนจะได้รับ จนกว่าจะจบลงที่ผู้ซื้อคนสุดท้าย (อาจจะ) ต้องการรับสินค้าจากผู้ขายคนแรกที่ขายในสิ่งที่เขามิได้ครอบครอง หรือคิดราคาแตกต่างจากวันที่ส่งมอบ นอกจากนั้นยังมีการลดบทบาทหน้าที่ของกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขาย (ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้าย) จากการรับราคาที่แตกต่างกันไปหากต้องการกำไร หรืออาจจะจ่ายอีกราคาหากเกิดความขาดทุนตามวันเวลาที่กล่าวมา โดยลักษณะดังกล่าวคล้ายกับการพนันและมีความเสี่ยง
ข้อสี่ : นักลงทุนจะกักตุนหุ้น พันธบัตร และสินค้าในตลาด เพื่อควบคุมกลุ่มผู้ขายที่จะขายในสิ่งที่มิได้ครองครอบจริง โดยหวังจะซื้อกลับก่อนถึงกำหนดรับส่งด้วยราคาที่ถูกกว่าและส่งมอบ ณ เวลานั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มผู้ขายตกอยู่ในความผิด
ข้อห้า : ความเสี่ยงเกิดขึ้นจากสื่อกลางทางการตลาดโดยรวม เนื่องจากราคาไม่เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด ตลอดจนผู้ที่ต้องการซื้อขายจริงๆ แต่ได้รับผลกระทบมาจากหลายประการด้วยกัน บางส่วนมาจากกลุ่มบุคคลที่หวังครอบครองตลาด บางส่วนมาจากกลุ่มบุคคลนิยมกักตุนสินค้าจึงปล่อยข่าวโกหก หลอกลวง และอื่นๆ ตามกฎหมายอิสลามถือว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยง เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างไม่เป็นตามธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักเศรษฐศาสตร์อย่างรุนแรงในตลาดหุ้น และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินมากมายในระยะเวลาอันสั้น แต่ในเวลาเดียวกันทำให้คนอื่นร่ำรวยขึ้นมาภายในพริบตา โดยไม่ต้องลงทุนและใช้ความพยายามแต่ประการใด
(โปรดติดตามตอนที่ 2 )
นิพล แสงศรี
1 Islamic Fiqh Academy : IFA (อยู่ภายใต้การดูแลของ Organization of Islamic Conferences : OIC) ก่อตั้งในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปี ค.ศ.1981 โดยได้คัดเลือกคณะกรรมการมาจากผู้รู้ด้านศาสนา นักกฎหมายอิสลาม นักคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาขาวิชาต่างๆ
2 สะลัมหรือสะลัฟ คือ การซื้อขายแบบสินเชื่อโดยวางเงินล่วงหน้า-รับสินค้าภายหลัง หรือชำระเงินภายหลังแต่รับสินค้าไปก่อน แต่ต้องอยู่ในวงเงินที่แน่นอนพร้อมระบุชนิด ปริมาณ และจำนวนสินค้าอย่างชัดเจน โดยใช้กฎเกณฑ์เดียวกับการซื้อขายเงินสด การทำสัญญาควรทำสัญญาซื้อขายเช่นเดียวกับการจ่ายเงินล่วงหน้า ธุรกิจประเภทนี้มักเรียกว่า Salam or Salaf เพราะนบีมุฮัมมัดเคยซื้ออาหารมาจากชาวยิวคนหนึ่ง โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่จะจ่ายเงินให้เขา โดยท่านได้เอาเสื้อเกราะที่ทำมาจากเหล็กวางเป็นสิ่งค้ำประกันไว้ (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 1926)