หลักการและทฤษฎีของซูฟียฺ
  จำนวนคนเข้าชม  24597

 

 

หลักการและทฤษฎีของซูฟียฺ

อ.ซอและห์ มีสุวรรณ 

                
          หลังจากศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจเราะห์ศักราช (ศตวรรษที่ 9 แห่งคริสต์ศักราช) สำนักคิดซูฟียแตกออกเป็นสาขาต่างๆ มากมาย มีระบบคำสอนและทฤษฎีที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่สามารถแยกแยะลงไปได้ว่าสำนักคิดใดมีแนวทางที่ถูกต้องที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถนำหลักการสำคัญๆ และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมารวมกล่าวไว้ดังต่อไปนี้


        1. หลักการเรื่องพระผู้เป็นเจ้า

          แนวคิดของนักปรัชญาซูฟียฺในเรื่องพระผู้เป็นเจ้า จะมีความแตกต่างจากฝ่ายจารีตนิยมซูฟียฺ (ซูฟียฺที่ปฏิบัติตนตามหลักการของศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง) เช่นคำปฏิญาณตนในส่วนแรกที่ว่า “ลาอิลาฮ่า อิ้ลลั้ลลอฮฺ” ฝ่ายจารีตนิยมจะให้ความหมายว่า “ไม่มีสิ่งใดคู่ควรจะถวายราชสักการะนอกจากอัลลอฮฺ” แต่นักปรัชญาซูฟียฺจะให้ความหมายว่า “ไม่มีสิ่งใดอยู่นอกจากอัลลอฮฺ” (อิมรอน มะลูลีม, 2534:164) ดังนั้นซูฟียฺจึงถือว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ (Ultimate Reality) เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น สิ่งอื่นเป็นเพียงมารยาทหรือสิ่งหลอกลวง ชาวซูฟียฺจึงถือว่าจุดหมายของชีวิตคือการกลับเข้าไปรวมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจึงตั้งทฤษฎี “ฟะนาอฺ” ขึ้นมา

          ทฤษฎี “ฟะนาอฺ” ตามคำนิยามของอิบนุ้ลฟาริฎ (เสียชีวิตปี ค.ศ.1235) และนักซูฟียฺส่วนใหญ่หมายถึง สภาพของชีวิตที่ปราศจากความปรารถนาแห่งอารมณ์และความต้องการใดๆ โดยทำให้สิ่งเหล่านั้นสูญสิ้นไป เมื่อนั้นชีวิตก็จะมีแต่ความปรารถนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า (ชะกียฺมุบาร็อก, อ้างถึงในอับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข, 1987:47)

          ฟะนาอฺคือเป้าหมายสูงสุดของซูฟียฺชน เป็นขั้นสุดท้ายของการตรากตรำ ฝึกฝน เป็นจุดหมายปลายทางของการพากเพียร ผู้ใดก็ตามที่ต้องการบรรลุถึงขั้นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “มะอฺริฟะฮฺ” นั่นคือความรู้ที่ไม่ต้องอาศัยสื่อใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากญาณวิสัยและความประจักษ์ อันเป็นคุณลักษณะพิเศษของนักซูฟียฺชั้นแนวหน้า (อัลฮัจวีรียฺ อ้างถึงในอับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข, 1987:474) เพื่อที่จะขจัดความรู้สึกผูกพันกับวัตถุนิยม จนเกิดสภาพการแลเห็นพระผู้เป็นเจ้าและเข้าไปรวมกับพระองค์ จนเกิดสภาวะ “บะกออฺ” อันหมายถึงการดำรงอยู่ของตัวตนในพระผู้เป็นเจ้า (อัลกาซานียฺ, มปป:367)

 

          บรรดานักซูฟียฺได้กล่าวถึงสภาพของ “ฟะนาอฺ” ไว้ดังนี้คือ

1. ไม่ปกครองสิ่งใดและไม่มีสิ่งใดมาปกครอง

2. คุณลักษณะความเป็นมนุษย์สูญสิ้นไป

3. ไม่มีความปรารถนาในสิ่งที่เป็นคุณและโทษ

4. มีความสามารถพิเศษกว่าคนทั่วไป เช่น การเดินบนน้ำ การเหาะเหินเดินอากาศ การพูดภาษาสัตว์ หรือ หายตัวได้ (อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข, 1987:478)

          นอกจากนี้ขั้นตอนของสภาวะ “ฟะนาอฺ” เป็นหนทางไปสู่การ “อิตติฮาด” หมายถึงการเข้าไปรวมอยู่ของทุกๆ สิ่งในสิ่งสูงสุด (อัลกาซานียฺ, มปป:49) นั่นก็คือการเข้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวในระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า เป็นการนำจิตขึ้นไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ นักซูฟียฺบางท่านจึงตั้งทฤษฎีใหม่ขึ้นมา นั่นคือ “ฮุลู้ล” และ “เวียะฮฺดะตุ้ลวุญูด” ซึ่งทั้งสองทฤษฎีนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เพราะผู้ที่อยู่ในแนวทางนี้จะต้องพาตนเองให้ไปถึงบรรลุจุดหมายสูงสุดนั่นเอง

          ทฤษฎี “ฮุลู้ล” เป็นทฤษฎีที่ซูฟียฺบางคนได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อัลฮัลล้าจ (เสียชีวิตปี ค.ศ.921) ได้อธิบายถึงทฤษฎีนี้ไว้ว่า “บุคคลใดที่ขัดเกลาจิตใจของเขาด้วยความภักดีมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า และอดทนต่อแรงปรารถนาในโลกนี้ เขาจะได้รับการยกฐานันดรศักดิ์แห่งซูฟียฺให้เป็นผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า ต่อมาเขาก็เข้าสู่ภาวะความบริสุทธิ์จากความเป็นมนุษย์ หลังจากนั้นวิญญาณแห่งพระผู้เป็นเจ้าจะลงมาสิงสถิตย์อยู่ในตัวเขาผู้นั้น เสมือนกับที่พระผู้เป็นเจ้าได้สิงสถิตย์อยู่ในร่างของศาสดาอีซา (เยซู) บุตรมัรยัม เขาจะทำตามใจปรารถนาได้ และการกระทำของเขาทุกอิริยาบทคือการกระทำของพระผู้เป็นเจ้า” อัลบุฆดาดียฺ, มปป:281) อัลฮัลล้าจได้ประกาศว่า “ทุกคนมีสิทธิยกระดับตัวเองด้วยการฝึกฝนพากเพียร เพื่อเข้าสู่ระดับมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังเช่นตัวเขาเองได้อ้างความเป็นพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า “อะนัลฮักกฺ” (ฉันคือพระผู้เป็นเจ้า) มาแล้ว” (อัชเชน, 1985:323)

          ด้วยอิทธิพลของอัลฮัลล้าจนี้เอง ทำให้นักซูฟียฺรุ่นหลังบางคนได้ยึดเอาแนวคิดของเขาและนำมาสร้างทฤษฎีใหม่ เช่นอิบนุอะรอบียฺ (เสียชีวิต ค.ศ.1240) ได้สร้างทฤษฎี “เวียะฮฺดะตุ้ลวุญูด” (เอกภาพของการมีอยู่) ซึ่งหมายถึงการไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากอัลลอฮฺ สิ่งที่เราเห็นอยู่มิใช่สิ่งใดเลยนอกจากความเป็นจริงแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อับดุรเราะฮฺมาน, 1986:69) ทฤษฎีดังกล่าวนี้อิบรุอะรอบียฺได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญากรีก ซึ่งกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าคือธรรมชาติ และธรรมชาติคือพระผู้เป็นเจ้า ลัทธิดังกล่าวนี้เรียกว่า “สรรพเทวนิยม” (Pantheism) ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวได้แพร่หลายอยู่ในกลุ่มนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ โดยเฉพาะสปิโนซ่า (ค.ศ.1632-1677) ได้นำทฤษฎีดังกล่าวนี้มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง โดยกล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้ากับธรรมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้” (อดิศักดิ์ ทองบุญ, 2533:237)

 

            2. หลักการเรื่องแหล่งความรู้

          ซูฟียฺชนมีความเชื่อว่าการบรรลุถึงความรู้ของพระผู้เป็นเจ้านั้น จะต้องอาศัย “กัชฟฺ” หมายถึงการยกม่านกั้นออกจากใจและดวงตา เพื่อจะได้รับรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในหน้าพื้นแผ่นดินและแผ่นฟ้าทั้งหมด (อับดุรเราะฮฺมาน, 1986:146) นักซูฟียฺทั้งหลายจะต้องมีความคิดในขั้นแรกว่า พวกเขาสามารถหยั่งรู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวบทของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและอัลหะดีษ ซึ่งเรียกว่า “หะกีเกาะฮฺ” หรือความรู้ภายใน ส่วนนักวิชาการทั่วไปจะรับรู้ความหมายภายนอกหรือที่เรียกว่า “ชะรีอะฮฺ” เท่านั้น (อับดุรเราะฮฺมาน อับดุลคอลิก, 1986:147)

          ดร.อับดุลฮะลีม มะฮฺมูด ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ในสมามของวิชาการแล้ว กลุ่มซูฟียฺ คือ ผู้ที่มีการแอบอ้างและเบี่ยงเบนมากที่สุด พวกเขาคิดว่าศาสนาและความรู้มีหลักการเฉพาะ ซึ่งพวกเขาเท่านั้นที่มีความสามารถรับรู้ได้ นี้คือความอุตริอันชั่วร้ายของกลุ่มบุคคลที่อ้างตนว่าอยู่ในระดับความรู้ระดับหนึ่งที่เรียกว่า “ญาณวิสัย” กฎข้อบังคับทางศาสนาไม่เป็นที่จำเป็นสำหรับเขาแล้ว การละหมาด การถือศีลอด การการบริจาคทานและการทำฮัจญ์ ถือเป็นข้อบังคับเฉพาะมุสลิมทั่วไปเท่านั้น" (อับดุลฮะมีด มะฮฺมูด, มปป:127)

 

            3. หลักความเชื่อเรื่องครูกับศิษย์

          ส่วนหนึ่งจากประเพณีของซูฟียฺคือ การยึด “ชัยคฺ” หรือครูที่จะนำพาไปสู่หนทางของซูฟียฺ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกสำหรับผู้ยึดมั่นในแนวทางนี้ ท่านอัลกุชัยรียฺได้กล่าวว่า “จำเป็นสำหรับผู้ที่อยู่ในแนวทางซูฟียฺจะต้องมีครู บุคคลใดก็ตามไม่มีครู จงรู้ไว้เถิดว่าผู้นำทางของเขาคือมารร้าย” (อัลกุชัยรียฺ อ้างถึงในอับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข, 1987:583) ดังนั้นผู้ที่จะเป็นซูฟียฺจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับครูอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะครูก็คือตัวแทนของท่านศาสดามูฮัมมัด  ซึ่งมีรายงานจากนักซูฟียฺอาวุโสบางท่านได้กล่าวว่า “แท้จริง(ชัยคฺ) ครูในหมู่พวกเรา เสมือนท่านศาสดามูฮัมมัดในหมู่ประชาชาติของท่าน”

              คุณลักษณะของครู        

           ชัยค์หรือครูทุกคนมิใช่จะเป็นผู้นำทางได้ ผู้นำทางนั้นจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ขั้นแรกถึงขั้นสุดท้าย หรือว่าอย่างน้อยต้องได้รับการสั่งเสียและการถ่ายทอดที่ถูกต้อง ในการเป็นครูผู้นำทางเสียก่อน ท่านเคาะลีฟะฮฺอลี (เสียชีวิต ค.ศ.661) ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านศาสนดามูฮัมมัด และท่านอลีก็สั่งสอนแก่อัลฮะซัน อัลบะศ่อรียฺ (เสียชีวิตปี ค.ศ.728) ต่อมาอัลฮะซัน ก็ถ่ายทอดให้แก่นักซูฟียฺรุ่นหลังเรื่อยมา (อับดุรเราะฮฺมาน อับดุลคอลิก, 1986:318)

 

          มารยาทของลูกศิษย์

1. ต้องไม่ขัดแย้งกับครูโดยเด็ดขาด และต้องเห็นชอบในทุกสิ่งด้วยหัวใจและร่างกาย

2. ไม่อนุญาติให้ปฏิเสธคำพูดขอครูอย่างเด็ดขาด   แม้จะมีหลักฐานหรือเหตุผลยืนยันการปฏิเสธดังกล่าว

3. ต้องเคารพและเชื่อฟังในคำสั่งของครูแม้จะไร้สาระ   หรือไม่ประเทืองปัญญาก็ตาม และต้องยึดมั่นว่าคำสั่งของครูถือเป็นบทบัญญัติเฉพาะทาง

4. จะต้องไม่เคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่ง นอกจากขออนุญาติครูเสียก่อน

5. ต้องไม่ปกปิดความลับใดๆ กับครู (อับดุรเราะฮฺมาน อัลคอลิก, 1986:319-344)

 


            4. หลักการเรื่องการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า (ซิกรฺ)   

          การรำลึกและการควบคุมตน ถือเป็นขั้นสุดท้ายในหนทางของซูฟียฺ ก่อนที่จะบรรลุถึงขั้น “ฟะนาอฺ” ชาวซูฟียฺอาศัยการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีกล่าวไว้ในอัลกุรอานมีใจความว่า


        
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اذْكُرُوا اللَّهَ ذِكْرًا كَثِير

“จงรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอ”

(33:41)

          เพื่อให้บรรลุถึงความดื่มด่ำและเป็นการกรุยทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ท่านฆ่อซาลียฺ (เสียชีวิตปี ค.ศ.1111) ได้กล่าวไว้ว่า “แท้จริงแนวทางการมูญาฮะดะฮฺ (ความเพียรพยายาม) นั้น สามารถต่อต้านกระแสอารมณ์ใฝ่ต่ำที่มีอยู่ในจิตใจของผู้อยู่ในแนวทางซูฟียฺ และเมื่อรู้สึกว่าพอเพียงแล้ว หัวใจของเขาจะไม่มีพันธะใดๆ ต่อจากนั้นให้เขารำลึกด้วยใจอยู่เสมอ (อัลฆ่อซาลียฺ, 1992:378)

          ซูฟียฺทุกคนมีความปรารถนาที่จะเข้าไปสู่ภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับอัลลอฮฺ ดังนั้นการรำลึกถึงพระองค์คือความรู้สึกว่าได้ปรากฏกายต่อเบื้องหน้าของพระองค์อยู่ตลอดเวลา แต่ทว่าแนวทางการรำลึกนั้นมีอยู่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามระดับของผู้สนใจด้านนี้ ดังนั้นครูผู้นำทางจึงได้วางกฏเกณฑ์และระเบียบการปฏิบัติกันโดยเฉพาะ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป เช่น การขอความช่วยเหลือจากครู การปรากฏตัวของครูขณะกล่าวรำลึก หรือการรวมกลุ่มกล่าวรำลึกพร้อมๆกันด้วยเสียงที่ดัง พร้อมโยกตัวและโคลงศีรษะไปมา

          ซึ่งในความเป็นจริงแล้วซูฟียฺมีรูปแบบการรำลึกมากมาย เช่น การเต้น การร้องตะโกน การใช้เครื่องดนตรี และการย่อคำกล่าวให้สั้นด้วยคำว่า ฮา, ฮู, ฮัย (เป็นคำย่อของคำว่า “ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮฺ”) พร้อมการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรุนแรง ในหนังสือของอัลฮิลวานียฺ ภายใต้เรื่องมารยาทของการรำลึก (ซิกรฺ) ได้กล่าวไว้ว่า“ให้ผู้รำลึกสั่นศีรษะจนถึงเท้าของเขา และให้โยกตัวไปทางขวาด้วยการกล่าวคำว่า (ลา) ต่อจากนั้นให้กลับมาอยู่ตรงกลางด้วยการกล่าวคำว่า (อิลาฮ่า) และไปสุดทางด้านซ้ายด้วยคำว่า (อิ้ลลั้ลลอฮฺ) บางครั้งการรำลึกจะกล่าวคำสั้นๆ ว่า อัลลอฮฺ หรือ ฮูวฺ พร้อมเอาคางที่มีเคราตีที่หน้าอก” (อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข, 1987:550)

 

5. หลักการเรื่อง “อุซละฮฺ” และ “คุ้ลวะฮฺ”

         “อุซละฮฺ” คือการปลีกออกจากการปะปนกับผู้คน ส่วน “คุ้ลวะฮฺ” คือการสนทนาอย่างลับๆ กับพระผู้เป็นเจ้า(อัลฮักกฺ)โดยไม่มีใครเห็น (อัลกาซานียฺ, มปป:180) ตามแนวทางซูฟีย์แล้วถือว่าทั้งสองสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของหลักปฏิบัติ เพื่อผู้ที่อยู่ในแนวทางนี้ได้บรรลุถึงภาวะ “ฟะนาอฺ”และ “กัชฟฺ” และเข้าไปรวมกับพระผู้เป็นเจ้า ท่านอัลกุชัยรียฺ (เสียชีวิต ค.ศ.1072) กล่าวว่า “คุ้ลวะฮฺคือลักษณะของผู้บริสุทธิ์ ส่วนอุซละฮฺคือสัญลักษณ์ของการเข้าถึงอัลลอฮฺ” (อัลกุชัยรียฺ, อ้างถึงในอับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข, 1987:532)ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักซูฟียฺจะต้องเริ่มตรากตรำฝึกฝนโดยเข้าสู่ภาวะของอุซละฮฺเสียก่อนและให้จบลงด้วยสภาพคุ้ลวะฮฺ

          การถือสันโดษหรือการปลีกตัวออกจากสังคมของซูฟียฺข้างต้น ทำให้พวกเขามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในทฤษฎีอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิเช่น ทฤษฎี “ตะวักกุ้ล” ซึ่งหมายถึงการมอบกายถวายตนต่ออัลลอฮฺ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาสนา ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายหลังจากการขวนขวายและการปฏิบัติอย่างเต็มที่ มันคือเคล็ดลับแห่งพลังความสำเร็จจากพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวสรรเสริญบุคคลเหล่านั้นมีใจความว่า

“แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มอบหมายตนต่อพระองค์”

(2:159)

          แต่สำหรับชาวซูฟียฺแล้ว พวกเขาปฏิเสธจุดมุ่งหมายของการ “ตะวักกุ้ล” ที่ถูกต้อง และเชื่อว่าการมอบกายถวายตนที่สมบูรณ์นั้น คือการนิ่งเงียบและทิ้งการขวนขวาย เพราะผู้ที่ขวนขวายหาปัจจัยยังชีพ (ริซกฺ) จากอัลลอฮฺนั้น เป็นคนไม่น่าเชื่อถือ และแท้จริงแล้วอัลลอฮฺจะประทานความโปรดปรานให้เอง ดังนั้นพวกเขาจึงละทิ้งหน้าที่การงาน รอคอยปัจจัยยังชีพจากพระผู้เป็นเจ้า แม้จะต้องตายเพราะความหิวหรือเพราะความเจ็บป่วย ก็ถือเป็นริซกีอย่างหนึ่งจากพระองค์ (อับดุรเราะฮฺมาน ดิมัชกียฺ, 1986:377)

          นอกจากนี้การละทิ้งการแต่งงานถือเป็นแนวทางของซูฟียฺบางกลุ่มเช่นกัน อิบรอฮีมบุตรอัดฮัม (เสียชีวิตปี ฮ.ศ.161) ซูฟียฺผู้หนึ่งได้กล่าวว่า “บุคคลใดที่ยึดมั่นอยู่บนขาอ่อนของอิสตรี เขาผู้นั้นจะไม่พบกับชัยชนะ(ตามแนวทางของซูฟียฺ)” พวกเขาจึงปฏิเสธการมีคู่ครอง โดยคิดว่าอุปสรรคที่ปิดกั้นการบรรลุขั้นสุดยอดนั้น คือ การแต่งงาน

          ส่วนเรื่องการวางเฉยต่อการทำ “ญิฮาด” (การต่อสู้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของอิสลามนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งของซูฟียฺเช่นกัน พวกเขามีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามกางเขนเหล็ก(ซ่อลีบียีน) ในปี ค.ศ.1099 โดยที่นครบัยตุ้ลมักดิสได้ตกอยู่ในมือของฝ่ายศัตรู แต่พวกเขากลับไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆเลย ไม่จับปากกาเขียนหนังสือปลุกระดมให้มุสลิมเข้าต่อต้านผู้รุกรานด้วยใจที่ฮึกเหิม และไม่มีใครเคยเห็นหรือได้ยินว่า คนเหล่านี้ได้เข้าร่วมศึกสงครามครั้งนี้เลย (อับดุรเราะฮฺมาน อัลวะกี้ล, มปป:170)


 

 

 

ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน

.

ปรัชญา ซูฟียฺ >>>> Click

        
 

ประวัติและพัฒนาการของปรัชญาซูฟียฺ  >>>> Click