จริงหรือที่ ฐานะ-การศึกษา เป็นปัญหาของการเลี้ยงดูเด็ก
ในภาวะที่ครอบครัวยุคใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียดสะสม ฐานะความเป็นอยู่ ความคาดหวังกับลูก การประสานความขัดแย้งของคนในครอบครัวเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ข้อจำกัดด้านเวลา ภาระหน้าที่รับผิดชอบทั้งในบ้าน นอกบ้าน ความกดดันที่ถูกคาดหวังไว้จากสังคม อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านสติปัญญา ระดับการศึกษา ประสบการณ์ที่ถูกเลี้ยงดูมาของตัวผู้ปกครองเองเป็นตัวแปร ส่งผลให้เกิดเรื่องราวที่สะท้อนความผิดพลาดในการเลี้ยงดูเด็กบ่อยครั้ง และสองข้อแก้ตัวที่พบมากจากปากของผู้ปกครองหนีไม่พ้น การต้องเร่งทำงานสร้างฐานะ และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง
ในมุมมองของนายแพทย์อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัว ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า "ผมยังเชื่อว่าความจนไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการเลี้ยงลูกให้ได้ดี เพราะต่อให้คุณเป็นพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวย แต่คุณยังเลี้ยงลูกด้วยการตวาด ตบตี เด็กก็ไม่มีทางเป็นคนดีได้ พ่อแม่ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน พ่อแม่ส่วนมากมักจะอ้างความจน ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังโยนภาระมาให้ครูที่โรงเรียน ฝากความหวังไว้กับครู แต่พอหลังเลิกเรียน พ่อแม่มารับลูกกลับบ้านไป มีเวลาอยู่กับลูก แล้วก็แสดงพฤติกรรมไม่ดีกับเด็กแบบเดิม มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ความจนไม่ใช่อุปสรรค การไม่มีเวลาก็ต้องทำให้มี หลายคนบอกก็ผมต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลา คุณก็ต้องทำให้มีเวลา แค่นั้น"
"ข้อที่สองคือพ่อแม่ต้องมีความรักความเมตตาให้กับลูก เข้าใจว่าธรรมชาติเด็กเป็นอย่างไร ถ้าลูกทำผิด มุมมองของพ่อแม่ที่เข้าใจลูกกับพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจลูกจะแตกต่างกัน พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจจะใช้วิธีดุด่าว่ากล่าว ด่าหยาบ ๆ คาย ๆ แต่นั่นจะทำให้เด็กจดจำพฤติกรรมของพ่อแม่ไปหมด พอโตขึ้น เขาก็ทำแบบนี้สืบต่อกันไปเรื่อย ๆ "
นอกจากนั้นแล้ว คุณหมออุดมยังได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานที่ได้พบครอบครัวน่าประทับใจครอบครัวหนึ่ง ที่แม้คุณพ่อจะมีอาชีพเป็นคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่ก็รักลูกมาก และจะแบ่งเวลามาอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังทุกเย็น
"จริง ๆ การทำมาหากินกับการเลี้ยงลูกมันสำคัญเท่า ๆ กัน ถ้ามีเวลาแล้วต้องทำให้เวลามันมีคุณภาพ การเข้าใจลูก การเล่นกับลูก การพาลูกออกไปเปิดหูเปิดตา ทำกิจกรรม พูดคุยหยอกล้อ เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง อะไรที่มันเป็นแบบอย่างที่ดีก็ต้องทำ อยากให้ลูกเป็นแบบไหนพ่อแม่ต้องเป็นแบบนั้น เพราะเด็กเล็ก ๆ เลียนแบบเท่านั้น"
"เรามักจะเอาเรื่องเศรษฐกิจ ฐานะมาอ้าง แต่เราพบว่า คนจนก็เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้ ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจ มีความรู้เรื่องนี้ ที่สำคัญคือพ่อแม่ยุคใหม่ในสังคมไทยตอนนี้ ขาดทักษะในการเป็นพ่อแม่ เพราะเราเร่งรัดทำมาหากิน ในช่วง 20 ปีตั้งแต่พัฒนาเศรษฐกิจ เราลืมเรื่องนี้ไปเลย มองข้ามมิตินี้ไป แม้แต่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็สอนแต่เรื่องทำมาหากิน ไม่ได้สอนเรื่องเลี้ยงลูก ขณะที่คนรุ่นเก่าจะถ่ายทอดวิชาการเลี้ยงลูกจากรุ่นสู่รุ่น แต่เดี๋ยวนี้คนมาอยู่หอพัก เรียนมหาลัย ปู่ย่าตายายก็อยู่บ้านนอก ทักษะในส่วนนี้จึงขาดการสืบทอดไปในที่สุด"
Life & Family