อิสลามกับสิทธิในการดำรงชีวิต
  จำนวนคนเข้าชม  15278

 

อิสลามกับสิทธิในการดำรงชีวิต

โดย อ.อิมรอน มะกูดี

 

สิทธิในการดำรงชีวิต

          ชีวิต เป็นพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮ์ ทรงให้แก่มนุษย์ ไม่มีใครจะถอดถอนมันออกไปได้ โดยปราศจากพระประสงค์ของอัลลอฮ์

"และแท้จริง เรานั้นเป็นผู้ให้เป็น และเราเป็นผู้ให้ตาย และเราเป็นผู้ให้ถ่ายทอด"

(23/15)

"แท้จริงเราให้เป็น และเราให้ตาย และจะต้องกลับมายังเรา"

(50/43)

         พระองค์อัลลอฮ์ ทรงให้สิทธิการถอดถอนชีวิต จากผู้คนแก่รัฐเท่านั้น ซึ่งหมายความถึงว่า จะใช้สิทธินั้นได้ตามกฏหมายอาญาเท่านั้น ที่พระองค์ทรงให้สิทธิ์แก่รัฐไว้เช่นนี้ ก็เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคม ในการคุมกันชีวิตของแต่ละบุคคลไว้ อัลกุรอานกล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"ในการให้ตายตามกันไปนั้น เป็นการธำรงชีวิตไว้สำหรับพวกท่าน"

(179/2)

          การประทุษร้ายต่อชีวิตของบุคคลใด ย่อมเป็นการประทุษร้ายต่อสังคมทั้งมวล และการแก้แค้นด้วยให้ผู้ร้ายได้รับการลงโทษ ทำนองเดียวกับผู้ถูกทำร้าย เป็นการักษาไว้ซึ่งชีวิตของส่วนรวมทั้งหมด

"ผู้ใดสังหารชีวิตคนใด โดยไม่สมควรที่จะถูกสังหาร หรือ (คนนั้น) มิได้ก่อความเสื่อมเสียบนพื้นพิภพ ก็เท่ากับว่า เขาได้สังหารประชาชนทั้งมวล

และผู้ใดไว้ชีวิตคนใด ก็เท่ากับว่าเขาใช้ชีวิตประชาชนทั้งผอง"

(32/5)

          และถ้าหากผู้ปกครองทรราช ทำร้ายชีวิตของบุคคลธรรมดา ก็เท่ากับพวกผู้ปกครองส่งเสริมให้ทำการฆ่าฟันผู้บริสุทธิ์ และสร้างความหวาดหวั่น พรั่นพรึงแก่จิตใจของชุมชนการกระทำเช่นนี้ ย่อมเป็นการอธรรมอย่างใหญ่หลวง อันจะทำให้ผู้กระทำเช่นนั้นห่างไกลจากความดีงาม และจะประสบกับการลงโทษ ของอัลลอฮ์ผู้ทรงเกรียงไกร

"เจ้า (มุฮัมมัด)มิได้มองดู ผู้ที่โต้แย้งกับอิบรอฮีมในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าของเขาบ้างหรือ อัลลอฮ์ทรงประทานอำนาจแก่เขา

เมื่ออิบรอฮีมได้กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าของฉันเป็นผู้ที่ทรงให้เป็น และทรงให้ตาย เขา(ชายคนนั้น)กล่าวว่า ฉันก็ให้เป็นและให้ตายได้

อิบรอฮีม กล่าวว่า ที่แท้จริงนั้นอัลลอฮ์ทรงให้ดวงอาทิตย์(โผล่) ขึ้นทางทิศตะวันออก ดังนั้นเจ้าจงเอามัน(ให้ขึ้น) มาทางทิศตะวันตก(เมื่อได้ยินเช่นนั้น)

ผู้ปฏิเสธ(การศรัทธา) จึงตะลึงงัน และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงนำทางแก่หมู่ชนที่อธรรม"

(258/2)

           ในเรื่องเล่าของฟาโรห์ ผู้ทำการสังหารชีวิตผู้ชาย และเด็กๆผู้ชาย ไว้ชีวิตผู้หญิง และเด็กผู้หญิง แต่ในบั้นปลายชีวิตของเขา อัลลอฮ์ ก็ได้ทรงให้เขาและสมุนของเขาจมน้ำตายในทะเล เรื่องนี้ได้ปรากฏซ้ำๆกันอยู่ในอัลกุรอานถึง 27 ซูเราะฮ์ นั้นย่อมเป็นการเตือน หรือสำทับพวกทรราชที่ชอบผลาญชีวิตของชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีความผิดใดๆ ให้ตระหนักถึงการลงโทษว่า จะได้รับการลงโทษทำนองเดียวกันกับฟาโรห์ได้รับ ซึ่งเขาผู้นี้ได้โต้แย้งกับอัลลอฮ์ ในการอ้างตนว่าเป็นพระเจ้า เขากล่าวว่า

"สำหรับพวกเจ้าแล้ว เขาไม่เคยรู้ว่ามีพระเจ้าอื่นจากข้า"

 (28/38)

         อิสลาม มิเพียงแต่จะประกาศอุดมการณ์นี้ เท่านั้น(อุดมการณ์สิทธิของการดำรงชีวิต) หากแต่ยังประกาศพร้อมกันนั้นว่า จำเป็นจะต้องทำนุบำรง รักษาไว้ให้พ้นจากทุกสิ่งที่ทำให้มันสูญสลาย หรืออ่อนแอลง เพราะฉะนั้น อิสลามจึงประกาศว่าจำเป็นต้องเอาใจใส่กับสุขภาพ พลานามัย ขจัดปัดเป่าโรคภัย และโรคระบาดทั้งหลายให้พ้นไปจากสังคม

          ดังเรื่องอหิวาตกโรค ที่เกิดขึ้นในสมัยท่านคอลีฟะฮ์ อุมัร ท่านได้ห้ามกองทัพเข้าไปยังดินแดนที่มีโรคระบาด ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติตามวจนะของท่านเราะซูล ที่กล่าวว่า

"หากเกิดโรคอหิวาระบาด ณ ดินแดนใด และท่านมิได้อยู่ในดินแดนนั้น ท่านก็จงอย่าเข้าไป

แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นในดินแดนนั้นด้วย ท่านก็จงอย่าออกมา"

(รายงานโดย บุคอรีย์ มุสลิม และอบูดาวูด)

         ดูเหมือนว่าประกาศดังกล่าว จะเป็นประกาศตั้งด่านกักกันโรคเป็นครั้งแรกในโลก

         ส่วนอิสลามใช้ให้แต่ละคนรักษาสุขภาพของร่างกาย และห้ามทำให้มันอ่อนแอนั้น เราจะพบคำสั่งห้ามเช่นนั้นได้จากอัลกุรอาน เป็นต้นว่า

"สูเจ้าทั้งหลายจงกิน จงดื่ม แต่อย่าสุรุ่ย สุร่าย"

 (7/31)

         เพราะการกิน การดื่ม เป็นสาเหตุให้มีชีวิตอยู่ต่อไป และการสุรุ่ยสุร่าย ในการกิน การดื่มนั้น เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

          ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

"แท้จริง อัลลอฮ์มิได้ทรงให้มีโรคขึ้นมา เว้นแต่จะมีการรักษาให้หาย พึงรู้เถิด โอ้ปวงบ่าวของอัลลอฮ์ ท่านทั้งหลายจงเยียวยารักษาโรคกันเถิด"

          ท่านเราะซูล ได้ห้ามการทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า แม้การนั้นจะเป็นการทำอิบาดะฮ์ก็ตาม ท่านได้กล่าวแก่สาวกของท่านบางคนว่า

"ฉันมิได้แจ้งให้ทราบข่าวดอกหรือว่า ท่านนั้นได้ทำการละหมาดในตอนกลางคืน ถือบวชในตอนกลางวัน และสมสู่กับภรรยาของท่าน

เพราะแท้จริงนั้น สำหรับร่างกายก็มีสิทธิเหนือท่าน และสำหรับจิตใจของท่านก็มีสิทธิเหนือท่าน และสำหรับภรรยาก็มีสิทธิเหนือท่าน"

 (รายงานโดย บุคอรีย์ และคนอื่นๆ)

         จากนี้ก็พอจะได้ทราบว่า การที่พวกซูฟีบางคนทำการอดอาหาร จนกระทั่งร่างกายอ่อนเพลีย จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น เป็นเรื่องที่ตัวบทบัญญัติ หรืออุดมการณ์ใหญ่ไม่ยอมรับเลย

         บทบัญญัติอิสลาม ในพระคัมภีร์อัลกุรอาน อัซซุนนะฮ์ และอิญติฮาดของนักปราชญ์ชั้นนำ ล้วนแต่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของการมีชีวิต และเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัย 

 

สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาชีวิต

1. ห้ามการเอาชีวิตโดยไม่ชอบธรรม

"และจงอย่าได้ฆ่าเอาชีวิต ซึ่งอัลลอฮ์ทรงห้ามไว้ เว้นแต่ด้วยสิทธิอันชอบธรรม"

(151/6)

2. ลงโทษประหารชีวิต แก่ผู้เอาชีวิตโดยไม่มีสิทธิอันชอบธรรม

3. การเอาชีวิตโดยมีสิทธิอันชอบธรรม ได้แก่ การประหารชีวิตฆาตกร การเอาชีวิตผู้ทรยศต่อส่วนรวม

4. ห้ามการฆ่าตัวตาย แม้ว่าจะด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม

"และพวกเจ้าทั้งหลาย อย่าได้ฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง"

 (29/4)

5. ห้ามการใช้ชีวิต ด้วยการเสี่ยงภัย

6. สิทธิในการป้องกันตนเอง ฉะนั้น หากใครคนใดคนหนึ่งกระโจนเข้ามาฆ่าฟันคนๆหนึ่ง ก็เป็นการอนุมัติแก่ผู้ถูกจู่โจมจะป้องกันตนเอง แม่จะด้วยการฆ่าผู้จู่โจมก็ตาม เพราะผู้จู่โจมเป็นผู้รุกรานต่อชีวิต โดยไม่มีสิทธิอันชอบธรรม และไม่มีสาเหตุพอเพียง ก็อนุญาตให้ทำการสังหารผู้รุกรานได้

7. ผู้ใดถูกบังคับให้ฆ่าคนโดยไม่ชอบธรรม ก็ไม่อนุมัติให้เขาฆ่าบุคคลอื่น แม้ว่าการไม่ยอมปฏิบัติตามคำขู่บังคับนั้น จะต้องสูญเสียชีวิตเองก็ตาม

8. ส่วนหนึ่งจากเป้าหมายของการบัญญัติเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนนั้น ก็เพื่อรักษาสิทธิของการมีชีวิตอยู่ เพราะการสงครามรุกรานจากฝ่ายศัตรู จะทำให้ชีวิตประชาชาติ และวิญญาณประชาชน ประสบกับภยันตราย

9. ในเมื่อชนกลุ่มหนึ่งทำการทรยศแยกตัวออกจากชนกลุ่มใหญ่ และเมื่อเข้าประจันหน้ากับชนส่วนใหญ่ ก็จำเป็นต้องสู้รบกับชนกลุ่มน้อยที่แยกตัวออกไป จนกระทั่งกลับคืนสู่สภาพเดิม

"และถ้าหากชนสองกลุ่มจากบรรดาผู้ศรัทธาต่อสู้กัน พวกเจ้าทั้งหลายก็จงหาทางให้ปรองดองกันระหว่างกลุ่มนั้น

แต่ถ้าหากว่ากลุ่มหนึ่งละเมิดอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเจ้าทั้งหลายก็จงสู้รบกับฝ่ายที่ละเมิด จนกว่า ฝ่ายนั้นจะคืนมาสู่พระบัญชาของอัลลอฮ์"

(49/9)

10. ถ้าหากพวกก่อกวนบางคนจะรวมหัวกันตั้งตนเป็นกลุ่มโจร ปล้นสดมภ์ สังหารชีวิต และก่อความหวาดหวั่นแก่ผู้รักสงบ ก็จำเป็นที่จะลงโทษคนเหล่านั้น ด้วยโทษทัณฑ์ต่างๆกัน

          ในการอธิบายโองการนี้ ได้มีทัศนะแตกต่างกันไปหลายทัศนะ แต่ทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าหากโจรเหล่านั้นก่ออาชญากรรม ถึงขั้นทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ ก็จำเป็นต้องลงโทษตามที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน

 

สิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ

1. ห้ามดื่มสุรา เพื่อรักษาสุขภาพของร่างกาย และรักษาไว้ซึ่งคำสั่งของบัญญัติอิสลาม

2. ห้ามทำซินา(มีชู้) ประพฤติชั่ว เพราะเป็นการทำลายสุขภาพ และทำลายความประพฤติอันดีงาม

3. ห้ามการบริโภคอาหารที่ให้โทษ แม้ว่าอาหารนั้นจะมีประโยชน์กับบุคคลอื่นก็ตาม เช่น ผู้ใดที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแจ้งให้ทราบถึงการรับประทานอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขา ก็ไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารนั้น และถือว่าเป็นบทห้ามทางศาสนาด้วย

4. ห้ามบริโภคสัตว์ที่ตายเอง เลือด และเนื้อสุกร สิ่งเหล่านี้แพทย์แผนปัจจุบันได้บอกถึงโทษของมันไว้ด้วย

5. ห้ามจุ่มมือลงในภาชนะ ก่อนที่จะล้างมือให้สะอาด

6. อาบน้ำ(ละหมาด)ทุกครั้งเมื่อมีการขับถ่ายทางทวารเบา และทวารหนัก

7. อาบน้ำ(ยกฮะดัษ)ภายหลังมีประจำเดือน ตกเลือด คลอดบุตร อสุจิเคลื่อน และร่วมประเวณี และเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการอาบน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกาย

8. ละหมาดวันละ 5 ครั้ง การละหมาดเป็นการบริหารส่วนต่างๆของร่างกายอย่างแท้จริง

9. ถือศีลอดหนึ่งเดือนทุกปี ตั้งแต่เวลารุ่งสาง ถึงเวลาตะวันลับขอบฟ้า แพทย์แผนปัจจุบันได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก และได้บรรยายถึงคุณประโยชน์ของการถือศีลอด

10. ประกอบพิธีฮัจญ์ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้ การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง และเคยชินต่อความยากลำบากในการเดินทาง

11. ปิดภาชนะ เมื่อภาชนะนั้นมีอาหารหรือน้ำ

12. ห้ามดื่มจากปากคนโท ปากขวด ปากภาชนะเครื่องดื่มอื่นๆ

13. ควรดื่มน้ำโดยหยุดหายใจหลายๆครั้ง ไม่ควรดื่มรวดเดียว

14. ล้างมือก่อน และหลังรับประทานอาหาร

15. ควรแปรงฟันเสมอ โดยเฉพาะเวลาอาบน้ำหมาด ก่อนการละหมาด

16. ควรอาบน้ำ(ยกฮะดัษ)ในวันศุกร์ วันอีดทั้งสอง และเวลาอื่นๆ

17. ไม่ควรฟุ่มเฟือยในเรื่องอาหาร และเครื่องดื่ม

18. ควรบริหารร่างกายด้วยการขี่ม้า ว่ายน้ำ ฝึกยิงธนู และการต่อสู้ ในทางซุนนะฮ์ จากคำแนะนำของท่านอุมัร อิบนุ คอฏฏอบ กล่าวว่า

 

"ท่านทั้งหลาย จงฝึกสอนบุตรหลานของท่านให้ว่ายน้ำ ยิงธนู และขี่ม้า"