อยากเป็นผู้นำจังเลย
  จำนวนคนเข้าชม  6206

 

อยากเป็นผู้นำจังเลย

 

          วารสารพับบลิกโพสต์รายเดือนพาดหัวข่าวใหญ่โตว่า "จุฬาฯยังไม่ตาย" และท่านก็ยังไม่ตาย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป(ปัจจุบันจุฬาเสียชีวิตแล้ว) แต่มาเข้าใจกับข่าวตัวเล็กด้านล่างที่อธิบายว่า ทำไมถึงมีบางกลุ่มที่จะเสนอตัวเองเป็นจุฬาราชมตรี คนต่อไป โดยทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง และดูเหมือนอยากจะให้ท่านจุฬาฯตายวันตายพรุ่ง

        แม้ว่าพวกเขาจะมีความรู้ด้านศาสนา แต่ก็ลืมคำพูดของท่านนะบี ที่ไม่สนับสนุนคนที่กระสันอยากมีตำแหน่ง ตั้งแต่ล่างสุดจนถึงสูงสุด และก็รู้ว่าการอยู่ในตำแหน่งจะต้องถูกด่า เสียใจ ถูกสอบสวนความรับผิดชอบ

         แต่ท่านนะบี ก็ยกเว้นให้กับคนที่มีความยุติธรรมเท่านั้น ผู้นำศาสนา ต้องอยู่ในแนวตรง ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ คนพูดอย่างทำอย่างย่อมมิใช่ผู้นำของมุสลิม หากจะเป็นผู้นำของพวกล่อลวงก็ไม่เป็นไร ผู้นำจะต้องถ่ายทอดลักษณะที่ดี 4 ประการ ของท่านนะบี มาไว้ในตัวเองให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะมีความยากลำบากแค่ไหนก็ตาม

คุณสมบัติ 4 ประการ คือ มีความซื่อสัตย์ , มีความรับผิดชอบ , มีเชาว์ปัญญา (มีไหวพริบ) , เปิดเผยโปร่งใส

ความซื่อสัตย์มิใช่ หมายถึง ความโง่เขลาเบาปัญญา ความซื่อบ้อง

          ความซื่อสัตย์ คือ การไม่คิดโกง ทั้งๆที่มีโอกาสโกง นั่นคือการไม่คิดฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากตำแหน่งเพื่อตัวเอง การเป็นผู้ซื่อสัตย์เพียงคนเดียวยังไม่เพียงพอ คนร่วมงานต้องซื่อสัตย์ เพราะจะถูกกล่าวหาว่า "ปากว่าตาขยิบ" ทำตัวเป็นคนวางฟอร์มที่ถูกเรียกว่า "อาเหล่มนกกระยาง" ทำเป็นเชื่องเวลาไม่มีเหยื่อ แต่พอเห็นเหยื่อ แล้วคอยาวตะครุบทันที หรือ การสร้างภาพของการเป็นผู้นำสมถะ จากภายนอก แต่ภายในครุกกรุ่นด้วยความอยาก คามโลภ ผู้นำแบบนี้มีเยอะ ดังที่ท่านนะบี ได้พูดไว้ว่า ในยุคสุดท้ายของโลก จะมีผู้นำที่อาภรณ์ภายนอกเป็นแพะ แต่ภายในคือ สุนัขจิ้งจอก

 

        ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบสูง และเป็นที่ไว้วางใจต่อมวลชน ไม่ใช่ดีแต่พูด ดีแต่มีโครงการ แต่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เมื่อรับปากกับประชาชนก็ไม่ทำตามที่พูดไว้ ซึ่งมีลักษณะของพวกสับปลับ สองหน้า คือ เมื่อพูดแล้วก็โกหก , เมื่อสัญญาก็บิดพลิ้ว , เมื่อได้รับความไว้วางใจแล้วก็หักหลัง (หะดิษบุคอรีย์)

         การมีตำแหน่งสูงเท่าใด ความรับผิดชอบก็มากเป็นเงาตามตัว พวกกระหายอำนาจมักจะต้องการตำแหน่ง แต่ไม่ต้องการหน้าที่ นั่นคือ การมีตำแหน่งโดยไม่ต้องทำงาน ไม่ดูแลความเดือดร้อนของประชาชน เพราะไม่ชอบยุ่งยาก คนเหล่านนี้ถ้าหลุดจากเก้าอี้จะร้องโวยวาย ซึ่งท่านนะบี  เปรียบเทียบเหมือนเด็กที่ถูกหย่านม มันจะร้องโวยวาย เพราะนม คือ รสชาดแห่งชีวิต เช่นเดียวกับการครองตำแหน่ง อำนาจคือ ความหอมหวานที่สุด และเสียดายที่จะต้องจากมันไป

         ผู้นำจะขาดความเฉลียวฉลาดไม่ได้ หาผู้นำโง่คนในชาติก็จะพลอยโง่ตามไปด้วย  ความฉลาดไม่ได้หมายถึงการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น แต่จะต้องรู้ทันปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ถูกหลอกใช้ง่ายๆ  ผู้นำจะต้องแก้ไขสถานะการณ์เลวร้ายให้เป็นดีได้

         ผู้นำต้องมีเชาว์ปัญญาที่ดี เพราะจะต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาต่างๆของส่วนรวม และเป็นผู้ตัดสินปัญหาต่างๆด้วยความยุติธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะความยุติธรรมจะไม่อยู่กับคนโง่ ดังที่ท่านนะบีได้กล่าวว่า ผู้ตัดสินมีสามจำพวก สองพวกเข้านรก และพวกเดียวที่เข้าสรรค์ คือ พวกที่รู้ความจริงแต่ไม่ตัดสินตามที่รู้ พวกที่ไม่มีความรู้แล้วไปตัดสิน (สองพวกนี้เข้านรก) ส่วนผู้ที่ได้เข้าสวรรค์ คือ คนที่ตัดสินตามความรู้ที่เขามี

         ผู้นำจะต้องเปิดเผยโปร่งใส ผู้นำประเภทนี้คงหายากในบ้านเมืองเรา ตอนเป็นรัฐมนตรีใหม่ๆมีแต่ความยากจน พอได้เป็นรัฐมนตรีเพียงปีเดียว ฐานะถูกขยับขึ้นเป็นเศรษฐี นักการเมืองบ้านเราจะพัฒนาความร่ำรวยได้เร็วมากกวาประเทศเพื่อนบ้าน

         ผู้นำการเมืองมาจากความสกปรกสู่ความสกปรก คงไม่ถูกวิจารณ์มากนัก แต่ถ้าเป็นผู้นำศาสนา เป็นแล้วรวยแสดงให้เห็นว่า เขาเปิดเผยแต่ปาก ทำตัวโปร่งใสภายนอก แต่ไม่สดใสภายใน

เมื่อถูกตรวจสอบก็ไม่อะไร ? เพราะฉันไม่ได้ทำเอง หน้าห้องเขาจัดการให้ หะล้าลทั้งนันแหละครับ .

 


ที่มา : วารสารมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

วันที่ 27 กันยายน 2551