เพราะอะไร ทำให้"เด็กกลัวโรงเรียน"
อาการ "กลัวโรงเรียน" พบได้เมื่อใดบ้าง
1. เกิดขึ้นตอนเข้าโรงเรียนใหม่ ๆ ทั้งนี้เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน เร็วบ้างช้าบ้าง ซึ่งอาการไม่อยากไปโรงเรียนของเด็กถือเป็นเพียงปัญหาในการปรับตัวของเด็กเท่านั้น
2. เกิดขึ้นเมื่อเด็กไปโรงเรียนได้ระยะหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ถือเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ในเด็ก อาจเกิดจากความกังวลที่ต้องแยกจากบุคคลใกล้ชิด เช่น มารดา ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเช่นนั้นเพราะ
- เด็กได้รับการเลี้ยงดูแบบทนุถนอมเกินไป พ่อแม่เป็นห่วงเด็กมาก ไม่ยอมให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง เด็กจะได้รับความรู้สึกพึ่งพา มีพ่อแม่เข้ามาอยู่ในจิตใจ และมีความกังวลต่อการแยกจากสูง
- ได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจมาก เด็กจะกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ชอบสบายในบ้านมากกว่าจะยอมมาลำบากที่โรงเรียน
- ครอบครัวมีปัญหา เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย ครอบครัวหย่าร้าง
- เผชิญกับความเครียดบางอย่างจากโรงเรียน เช่น ถูกครูดุ การบ้านเยอะ เพื่อนแกล้ง
- เกิดเรื่องราวที่ไปกระตุ้นความรู้สึกว่าจะถูกแยกจาก เช่น ถูกขู่ว่าพ่อแม่จะไม่รัก มีน้องใหม่ พ่อแม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ
สำหรับพฤติกรรมที่แสดงออกให้ทราบว่าเด็กเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียนนั้น มีทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างเช่น ร้องไห้งอแง โอ้เอ้ ลุกจากที่นอนช้า แต่งตัวช้า ในตอนเช้า โดยเฉพาะเช้าวันจันทร์ หรือมีอาการทางกายร่วมด้วยเช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน
หากยอมให้เด็กอยู่บ้าน อาการเหล่านี้มักจะรุนแรงขึ้น เพราะเด็กจะได้รับความพอใจ และยิ่งปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนได้ยากขึ้นอีก ดังนั้นต้องให้เด็กกลับไปเรียนโดยเร็ว
แนวทางการแก้ไขก็คือ พ่อแม่ต้องใจแข็งต่อเสียงร้องไห้ หรือน้ำตาของลูก ยืนยันให้ลูกไปโรงเรียน แต่ไม่ควรเปรียบกับเด็กคนอื่น ๆ งดการขู่ การหลอกล่อ หรือให้รางวัล
ครูเองก็มีความสำคัญที่จะบรรเทาการกลัวให้ลดลงได้ ครูควรไปรับเด็กจากแม่ พร้อมแนะนำให้แม่กลับบ้านทันที จากนั้นก็ปลอบใจเด็ก และอาจลดความเข้มงวดบางเรื่องลง แต่ไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์กับเด็ก และไม่ควรปล่อยให้เพื่อนล้อเลียนเด็กคนนั้นด้วย
ส่วนการแก้ไขระยะยาวนั้น พ่อแม่อาจต้องสนับสนุนให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ บ้าง เช่น เข้าค่ายฤดูร้อน พาไปเล่นกับกับเพื่อนคนอื่น ๆ และควรหัดให้เด็กมีความรับผิดชอบภายในบ้าน เช่น ทำความสะอาดบ้าน เก็บข้าวของ และชมเชยเมื่อลูกทำได้ ก็จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตนเอง และเลิกกลัวโรงเรียนได้ในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี