ความประเสริฐของการอาบน้ำละหมาด
จากอุสมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า«مَنْ تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الوُضُوءَ خَرَجَتْ خَطَايَاهُ مِنْ جَسَدِهِ حَتَّى تَـخْرُجَ مِنْ تَـحْتِ أَظْفَارِهِ».
ความว่า :ผู้ใดที่อาบน้ำละหมาด ด้วยลักษณะที่ดีที่สุด มวลบาปของเขาจะหลุดออกจากตัวเขา จนแม้กระทั่งบาปที่อยู่ใต้เล็บของเขา
(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 245)
ความประเสริฐของการเริ่มต้นด้วยทางขวาในการวุฎูอ์(อาบน้ำละหมาด)และอื่นๆ
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา ได้กล่าวว่า
«كَانَ النَّبِيُّ يُـعْجِبُـهُ التَّيَـمُّنُ فِي تَنَعُّلِـهِ، وَتَرَجُّلِـهِ، وَطُهُورِهِ، وَفِي شَأْنِـهِ كُلِّهِ».
ความว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมพอใจในการเริ่มต้น(การงาน)ด้วยข้างขวาก่อน ไม่ว่าในเรื่องสวมใส่ร้องเท้า การหวีผม การทำความสะอาดร่างกาย (อาบน้ำละหมาดและอาบน้ำญะนาบะฮฺ) และการกระทำของท่านทุกอย่าง(เริ่มด้วยทางขวาก่อน)
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 168 และมุสลิมหะดีษที่ 268 สำนวนหะดีษเป็นของท่านอัลบุคอรีย์)
ความประเสริฐของการละหมาดซุนนะฮฺหลังจากอาบน้ำละหมาด
จากอุกบะฮฺ บิน อามิร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ท่านได้ยินท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
«مَا مِنْ مُسْلِـمٍ يَتَوَضَّأُ فَيُـحْسِنُ وُضُوءَهُ، ثُمَّ يَـقُومُ فَيُصَلِّي رَكْعَتَينِ مُقْبِلٌ عَلَيْـهِـمَا بِقَلْبِـهِ وَوَجْهِهِ، إلَّا وَجَبَتْ لَـهُ الجَنَّةُ».
ความว่า ไม่มีมุสลิมคนใดที่ได้อาบน้ำละหมาดอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุด แล้วเขาผู้นั้นได้ลุกขึ้นมาละหมาดสองร็อกอะฮฺอย่างมีสมาธิที่สุด เช่นนี้แล้วเขาจะถูกตอบแทนด้วยสวนสวรรค์
(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 234)
ความประเสริฐของการอะซาน
1. จากอับดุลลอฮฺ บิน อับดุรฺเราะฮฺมาน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า อบูสะอีด อัลคุฎรีย์ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวแก่ท่านว่าإنِّي أَرَاكَ تُـحِبُّ الغَنَمَ وَالبَادِيَةَ، فَإذَا كُنْتَ فِي غَنَمِكَ أَوْ بَادِيَتِكَ فَأَذَّنْتَ لِلصَّلاةِ فَارْفَعْ صَوتَـكَ بِالنِّدَاءِ، فَإنَّهُ «لا يَسْمَعُ مَدَى صَوْتِ المُؤَذِّنِ جِنٌّ وَلا إنْسٌ وَلا شَيْءٌ إلا شَهِدَ لَـهُ يَومَ القِيَامَةِ». قَالَ أَبُو سَعِيدٍ: سَمِعْتُـهُ مِنْ رَسُولِ الله .
ความว่า แท้จริงฉันเห็นว่าท่านชอบเลี้ยงแกะตามชนบท หากว่าท่านอยู่กับแกะหรืออยู่ที่ชนบทห่างไกลท่านก็จงอะซานเพื่อทำการละหมาดด้วยเสียงที่ดัง เพราะไม่มีญินหรือมนุษย์คนใด หรือสิ่งใดๆที่ได้ยินเสียงของผู้ที่อะซานนอกจากจะเป็นพยานแก่เขาในวันกิยามะฮฺ
อบูสะอีดได้กล่าวว่า ฉันได้ยินคำกล่าวนี้จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 607)
2. จากอะบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ (ได้กล่าวว่า) ท่านรอซูลลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
«لَوْ يَـعْلَـمُ النَّاسُ مَا فِي النِّدَاءِ وَالصَّفِّ الأَوَّلِ ثُمَّ لَـمْ يَـجِدُوا إلَّا أَنْ يَسْتَـهِـمُوا عَلَيْـهِ لاسْتَـهَـمُوا..».
ความหมาย ถ้าหากว่ามนุษย์รู้ถึงสิ่งที่มีอยู่(ความประเสริฐ)ในการอะซานและยืนละหมาดในแถวแรก หลังจากนั้นหากพวกเขาไม่สามารถที่จะกระทำสิ่งดังกล่าวได้ นอกจากพวกเขาจะต้องจับฉลาก แน่นอนพวกเขายอมที่จะจับฉลาก"
(บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 615 และมุสลิม หะดีษที่ 437)
3. จากมุอาวิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านรอซูลลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
«المُؤَذِّنُونَ أَطْوَلُ النَّاسِ أَعْنَاقاً يَومَ القِيَامَةِ».
ความว่า ผู้ที่อะซานเป็นผู้มีลำคอที่ยาวที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งหลายในวันกิยามะฮฺ
(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 387)
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์จากหนังสือ: มุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์
แปลโดย: อันวา สะอุ
Islam House