การตักเตือนและความรักใคร่ซึ่งกัน
  จำนวนคนเข้าชม  18187

การตักเตือนและความรักใคร่ซึ่งกัน กับวิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิม

 

พี่น้องในหนทางแห่งอัลลอฮฺทุกท่าน ... ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน

 

          มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ, ประชาชาติอิสลามต่างเห็นพ้องว่า แบบอย่างแห่งวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดของมนุษย์คือแบบฉบับการดำเนินชีวิตของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะสัลลัม และผู้ที่ปฏิบัติตามวิถีการดำเนินชีวิตของเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ดีที่สุดคือ บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม 


          มาเถิด! เรามาย้อนกลับไปดูสังคมในสมัยของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  แล้วเราจะพบกับคุณธรรมแห่งวิถีการดำเนินชีวิต นั่นคือ

عَنْ جَرِيْرِ بنِ عَبْدِاللهِ قَالَ : بَايَعْتُ رَسُولَ الله صلى الله عليه وسلم عَلىَ إِقَامِ الصَّلاَةِ وَإِيْتَاءِ الزَكَاةِ (وَعَلىَ السَّمْعِ وَالطَّاعَةِ) وَالنُّصْحِ لِكُلِّ مُسْلِمٍ

ความว่า “จากญะรีร บุตร อับดุลลอฮฺ ท่านกล่าวว่า ฉันได้ให้สัตยาบันกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า

1.  จงดำรงการละหมาด (พื้นฐานแห่งความสัมพันธ์อันดีกับอัลลอฮฺ)

2.  บริจาคทาน (พื้นฐานแห่งความสัมพันธ์อันดีกับบ่าวของอัลลอฮฺ)

3.  เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งผู้นำ (พื้นฐานแห่งการยึดเหนี่ยวกับกลุ่ม/องค์กร)

4.  ให้ความช่วยเหลือ ตักเตือน และเชิญชวนมุสลิมทุกคนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดี

(พื้นฐานแห่งการดะวะฮฺและการให้ความร่วมมือกับมุสลิมทุกคน สังคม และประเทศชาติ)” [บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม]

 

 พื้นฐานการให้คำตักเตือนต้องประกอบด้วย

1.   ความบริสุทธิ์ใจจากมลทินทั้งปวง

2.   ความบริสุทธิ์ของเนื้อหาและวิธีการจากความจอมปลอม การตั้งภาคี และอุตริกรรมทั้งปวง

3.  การแสดงออก  ภาษา  และวิธีการที่เหมาะสมและถูกกาลเทศะ สามารถโน้มน้าวและผูกมัดจิตใจให้คล้อยตาม มิใช่สร้างความแตกแยกและความกระด้างกระเดื่องของจิตใจ

4.    อาศัยโอกาส สถานการณ์และเวลาที่เหมาะสม

 

พึงทราบเถิดว่า

         แก่นแท้ของการให้คำตักเตือนคือความบริสุทธิ์ใจและการผูกมัดจิตใจ มิใช่เพียงคำพูด แต่จะครอบคลุมทุกๆอิริยาบถ ทั้งการแสดงออกภายนอกและความรู้สึกภายใน  มีจุดยืนและเป้าประสงค์ที่บริสุทธิ์ต่อผู้ที่ถูกตักเตือน

          การตักเตือนเป็นรากฐานของความสำเร็จในโลกของการดะวะฮฺ และความสำเร็จของทุกๆโครงการและกิจการยิ่งกว่านั้น การตักเตือนยังเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตที่ยึดมั่นในศาสนา

 

عَنْ تَمِيْمِ الدَّارِيِّ أَنَّ النَّبِي صلى الله عليه وسلم قَالَ: الدِّيْنُ النَّصِيْحَةُ. قُلْنَا لِمَنْ؟ قَالَ: لِلَّهِ وَلِكِتَابِهِ وَلِرَسُوْلِهِ وَلأَئِمَّةِ المُسْلِمِيْنَ وَعَامَّتِهِمْ

ความว่า  ‘จากตะมีม อัด-ดารีย์ ท่านเล่าว่า  ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า  พื้นฐานของศาสนาอิสลามคือ  การให้คำตักเตือน (นั่นคือ ส่งมอบส่วนที่ดีงามแก่ผู้ที่ถูกตักเตือน)  พวกเราถามท่านว่า  “สำหรับผู้ใดหรือ?”   ท่านตอบว่า  “(คำตักเตือนนั้น) สำหรับอัลลอฮฺ สำหรับคัมภีร์ของพระองค์  สำหรับเราะสูลของของพระองค์ สำหรับบรรดาผู้นำมุสลิม  และสำหรับประชาชาติมุสลิมทั้งปวง”  [บันทึกโดยมุสลิม หะดีษลำดับที่ 55]

 

ความหมายคือ :

- การตักเตือนสำหรับอัลลอฮฺ หมายถึง การศรัทธามั่นในความเป็นเอกะของพระองค์ ไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์  พร้อมกับตั้งมั่นในอิบาดะฮฺ มีความยำเกรง (ตักวา)  และมอบหมาย (ตะวักกัล) แด่พระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น

- การตักเตือนสำหรับคัมภีร์ของพระองค์ หมายถึง การศรัทธามั่นต่อคัมภีร์อัลกุรอานของอัลลอฮฺด้วยการพากเพียรศึกษา ใช้สอนสั่ง และอ่านทวนด้วยความตั้งใจ บันทึกอายะฮฺอัลกุรอานไว้ในสมุดบันทึก นำเนื้อหาและบทเรียนที่ได้รับไปปฏิบัติ ยึดปฏิบัติตามคำชี้ขาด (หุก่ม) ของอัลกุรอาน พร้อมกับดูแลรักษาและปกป้องอัลกุรอานมิให้ถูกทำลายและเบี่ยงเบน

-   การตักเตือนสำหรับเราะสูลของพระองค์ หมายถึง การศรัทธามั่นต่อนบีมุหัมมัด ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมในฐานะบ่าวและศาสนทูตของพระองค์  ยอมมอบตนเป็นประชาชาติของท่าน ด้วยการปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่าน หลังจากที่ได้ศึกษาและนำไปใช้สั่งสอนแล้ว นำไปปฏิบัติในวิถีแห่งการดำเนินชีวิต พร้อมๆกับการเผยแผ่สุนนะฮฺของท่าน รักและชอบท่าน สุนนะฮฺของท่าน และประชาชาติของท่าน พร้อมกับปกป้องท่าน ปกป้องสุนนะฮฺของท่าน และปกป้องประชาชาติของท่าน และกล่าวสรรเสริญสดุดีท่านมากให้มาก

-   การตักเตือนสำหรับผู้นำมุสลิม หมายถึง ยอมรับและรักชอบต่อการเป็นผู้นำของเขา  ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือและปกป้องเขาในทุกๆสัจธรรมที่มาจากคำสอนของอิสลาม  ชี้แนะต่อความผิดพลาดของเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด  และสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชาติให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้การปกครองของเขา

-   การตักเตือนสำหรับประชาชาติมุสลิม หมายถึง มีความรักใคร่และผูกพันในฐานะพี่น้องเพื่อ (แสวงหาความพึงพอใจจาก) อัลลอฮฺ  ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เกียรติยกย่องผู้ที่อาวุโสกว่า และเมตตาเอ็นดูผู้ที่อ่อนเยาว์กว่า อดทนต่อความอ่อนแอของเขา ปกป้องเขา และเป็นต้นเหตุต่อการเป็นคนดีของเขา พร้อมกับรักชอบเขาเสมือนกับที่เรารักชอบตัวเอง 

 

عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم: لاَ تَدْخُلُوْنَ الجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوْا. وَلاَ تُؤْمِنُوْا حَتَّّى تَحَابُّوْا. أَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوْهُ تَحَابَبْتُمْ . أَفْشُوْا السَّلاَمَ بَيْنَكُمْ.

ความว่า  ‘จากอบูฮุร็อยเราะฮฺ ท่านเล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

“พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวนสวรรค์จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา และพวกท่านยังไม่มีศรัทธา (ที่แท้จริง) จนกว่าพวกท่านจะรักใคร่ปรองดองกัน พวกท่านต้องการไหม! ถ้าฉันจะชี้แนะพวกท่านถึงบางสิ่ง เมื่อพวกท่านปฏิบัติมันแล้วจะทำให้พวกท่านเกิดความรักใคร่ต่อกัน (นั้นคือ)  พวกท่านจงเผยแผ่สลามให้แก่กันในหมู่พวกท่าน” [บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม]

 

          นั่นแหละ คือความเกี่ยวพันระหว่างสวนสวรรค์กับการศรัทธา  และความเกี่ยวพันระหว่างการศรัทธากับความรู้สึกรักใคร่กันในหมู่พวกเขาที่วางอยู่บนพื้นฐานของความศานติ อันเป็นกุญแจดอกสำคัญ  ดังนั้น จงฟื้นฟูสลามให้มีชีวิตชีวา แล้วพวกท่านก็จะรักใคร่กัน

 

สามดุอาอ์มะษูรฺ (จากท่านนบี) เกี่ยวกับความรัก

          การรักอัลลอฮฺและรักต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่ออัลลอฮฺ คือสุนนะตุลลอฮฺ (กฎแห่งอัลลอฮฺ) ที่สอดคล้องกับฟิฏเราะฮฺธรรมชาติแห่งการสร้าง) ของมนุษย์ที่ได้รับการโอบอุ้มโดยบัญญัติแห่งอัลลอฮฺและแบบฉบับของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (

         เรามาร่วมกันฟื้นฟูธรรมชาติแห่งการรักใคร่เพื่ออัลลอฮฺ และฟูมฟักให้งอกเงยภายในจิตใจของแต่ละคนกันเถิดโดยผ่านสุนนะฮฺการเผยแผ่สลาม สุนนะฮฺการขอดุอาอ์ การโต้ตอบ และการปฏิบัติตนดังต่อไปนี้คือ

1. ดุอาอ์นบีดาวูด อะลัยฮิสสลาม

اللَّهُمَّ إِنِّيْ أَسْأَلُكَ حُبَّكَ، وَحُبَّ مَنْ يُحِبُّكَ، وَالعَمَلَ الَّذِيْ يُبَلِّغُنِيْ حُبَّكَ. اللَّهُمَّ اجْعَلْ حُبَّكَ أَحَبَّ إِلَيَّ مِنْ نَفْسِي وَأَهْلِي وَمِنَ المَاءِ البَارِدِ 

ความว่า ‘โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้า แท้จริง ข้าขอโปรดประทานความรู้สึกรักต่อพระองค์   และรักต่อผู้ที่รักพระองค์ และรักต่อการงานที่ทำให้ข้าเกิดความรู้สึกรักต่อพระองค์  

โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าโปรดบันดาลให้ความรักที่ข้ามีต่อพระองค์ มากยิ่งกว่าความรักที่ข้ามีต่อตัวข้าเอง ลูกเมียของข้า และต่อน้ำ (ดื่มที่) เย็น (จับใจ)”

[บันทึกโดยอัต-ตัรมิซี ลำดับหะดีษที่ 3552, เป็นหะดีษที่หะสัน]
 

2. ดุอาอฺท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลัลัม 

اللَّهُمَّ ارْزُقْنِي حُبَّكَ، وَحُبَّ مَنْ يَنْفَعُنِي حُبُّهُ عِنْدَكَ

ความว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้า โปรดประทานความรักต่อพระองค์แก่ข้า และ(โปรดประทาน) ความรัก (แก่ข้า) ต่อผู้ที่ความรักที่ข้ามีต่อเขายังประโยชน์ต่อข้า ณ พระองค์ "

[บันทึกโดยอัต-ตัรมิซี ลำดับหะดีษที่ 3557, เป็นหะดีษที่หะสัน]
 

3. ดุอาอ์นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 

اللَّهُمَّ مَا رَزَقْتَنِيْ مِمَّا أُحِبُّ فَاجْعَلْهُ قُوَّةً لِيْ فِيْمَا تُحِبُّ . اللَّهُمَّ مَا زَوَيْتَ عَنِّيْ مِمَّا أُحِبُّ فَاجْعَلْهُ فَرَاغًا لِيْ فِيْمَا تُحِبُّ

ความว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้า สิ่งใดที่พระองค์ได้ประทานแก่ข้าจากบางสิ่งที่ข้าโปรดปรานและรักใคร่

 ขอพระองค์โปรดบันดาลให้สิ่งนั้นเป็นพลังขับเคลื่อนให้ข้า (ปฏิบัติ) ในสิ่งที่พระองค์ทรงรักและโปรดปราน

โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้า สิ่งใดที่พระองค์ทรงถอนกลับจากข้าจากบางสิ่งที่ข้ารักใคร่และโปรดปราน

ขอพระองค์ทรงโปรดบันดาลให้สิ่งนั้นเป็นโอกาสให้ข้า (ปฏิบัติ) ในสิ่งที่พระองค์ทรงรักและโปรดปรานด้วยเถิด”

[บันทึกโดยอัต-ตัรมิซี ลำดับหะดีษที่ 3552, เป็นหะดีษที่หะสัน]


ข้อสังเกต

          เมื่อท่านเกิดรักชอบพี่น้องท่านใดสักคนเพื่ออัลลอฮฺ ท่านจงยึดปฏิบัติตามแบบอย่าง (สุนนะฮฺ) ของท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังต่อไปนี้

1. จงบอกให้เขาทราบว่าท่านรักชอบเขา โดยกล่าวว่า (إِنِّيْ أُحِبُّكَ فِيْ اللهِ) อ่านว่า “อินนี อุหิบบุกะ ฟิลลาฮฺ” หมายความว่า “แท้จริง ฉันรักท่านเพื่ออัลลอฮฺ”

          และเมื่อมีคนกล่าวแก่ท่านว่า  (إِنِّيْ أُحِبُّكَ فِيْ اللهِ) ท่านก็จงตอบเขาว่า (أَحَبَّكَ اللهُ الَّذِيْ أَحْبَبْتَنِيْ لَهِ) อ่านว่า “อะหับบะกัลลอฮุลละซี อะหฺบับตะนี ละฮุ” หมายความว่า “ขออัลลอฮฺทรงรักท่านที่ท่านรักฉันเพื่อพระองค์” [บันทึกโดยอบูดาวูดลำดับหะดีษที่ 2125, เป็นหะดีษที่หะสัน] ส่วนพี่น้องมุสลิมะฮฺให้ใช้คำว่า ((أَحْبَبْتِنِيْ - أَحَبَّكِ -أُحِبُّكِ อ่านว่า “อุหิบบุกิ – อะหับบะกิ – อะหฺบับตินี” แทนคำที่ขีดเส้นใต้

2. จงพยายามคลุกคลีและอยู่ร่วมกันกับผู้ที่ท่านรักให้มากที่สุด เพราะว่าท่านเราะสูล ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า 

الْمَرْءُ مَعَ مَنْ أَحَبَّ

ความว่า “แต่ละคนนั้นจะอยู่ร่วมกันกับผู้ที่เขารัก” [บันทึกโดยอัต-ติรฺมิซีย์ ลำดับหะดีษที่ 2385, เป็นหะดีษที่ถูกต้อง]

 

         สุดท้ายนี้ หวังว่าอัลลอฮฺจะจัดให้พวกเราอยู่ในกลุ่มของบรรดาผู้ที่มีความรักใคร่ให้แก่กัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่ออัลลอฮฺ  ขออัลลอฮฺทรงตอบรับด้วยเถิด.

 

وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه، سبحان ربك رب العزة عما يصفون ، وسلام على المرسلين والحمد لله رب العالمين

 
ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา

Islam House