อายะฮ์มักกียยะฮ์ และ อายะฮ์มะดะนียะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  28850

 

ความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรอาน (2)

อายะฮ์มักกียยะฮ์ และ อายะฮ์มะดะนียะฮ์

 
โดย อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง

           มนุษย์ทุกชนชาติได้รักษาวัฒนธรรมด้านความคิดและวิชาการของตนเองเป็นอย่างดี ในขณะที่ประชาชาติอิสลามถือว่าเป็นชนชาติอันดับแรก ในการรักษาวัฒนธรรมด้านความคิดและวิชาการของตนเอง เหตุผลเพราะว่าบรรดาเศาะหาบะฮ์ (ผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับท่านเราะซูล ) บรรดาตาบิอีน(ผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับบรรดาเศาะหาบะฮ์) และบรรดาผู้ตามหลังทั้งหลายได้จดจำอายะฮ์ที่ประทานลงมายังท่านเราะซูล ว่าประทานมายังสถานที่ใด และในเวลาใดอย่างแม่นยำและละเอียดพอสมควร ทำให้ผู้ศึกษาได้รับประโยชน์และตระหนักถึงเทคนิคในการเผยแผ่คำสอนของอิสลามและขั้นตอนในการเผยแผ่

          ผู้ที่อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและเข้าใจความหมายจะรู้ว่าอายาต ที่ประทานลงมาในช่วงที่ท่านเราะซูล   ยังอาศัยอยู่ที่นครมักกะฮ์ มีจุดเด่นแบบหนึ่งและอายาตที่ประทานลงมาในช่วงท่านเราะซูล ได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์แล้ว มีจุดเด่นอีกแบบหนึ่ง ถึงแม้ว่าอายาตที่ประทานลงที่นครมะดีนะฮ์จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของอายะฮ์ที่ประทานลงมาที่นครมักกะฮ์ และระยะเวลาของอายาตที่ประทานลงที่นครมะดีนะฮ์ จะไม่ห่างไกลจากอายาตที่ประทานลงมาที่นครมักกะฮ์ก็ตาม

          ในยุคที่ท่านเราะซูล   ยังอยู่ที่นครมักกะฮ์ บรรดาชาวมักกะฮ์ยังยึดถือศาสนาของบรรพบุรุษอยู่ คือ ศาสนาบูชารูปปั้น บริเวณรอบๆ กะบะฮ์จะเต็มไปด้วยรูปปั้นที่เป็นที่เคารพบูชา  บรรดาชาวมักกะฮ์ในตอนนั้นปฏิเสธอยู่ 3 ประการคือ

1. ปฏิเสธโลกหน้า

2. ปฏิเสธการเป็นเราะซูลของศาสดามุหัมมัด

3. ปฏิเสธการประทานคัมภีร์อัลกุรอาน

          พระองค์อัลลอฮ์ ทรงได้แจ้งให้ทราบว่า ครั้งหนึ่งชาวมักกะฮ์ได้กล่าวในเชิงเยาะเย้ย

أئدا متْنا وكنَّا ترباً وعِظاماً أئنَّا لَمبْعوثون أوآباؤنا الأوَّلون قل نعم وأنتم داخِرون (الصافَّات/16-18)

เมื่อเราตายไปแล้วและเราได้กลายเป็นดินเผาและกระดูก เราจะถูกให้ฟื้นคืนชีพอีกแน่ละหรือ?

แล้วบรรพบุรุษของเราก่อน ๆนั้นด้วยหรือ ?

จงกล่าวเถิด(โอ้มุฮัมมัด) ใช่แล้ว แล้วพวกเจ้าจะเป็นผู้ อับอาย ขายหน้า(ในสภาพต่ำต้อยยอมจำนน) อีกด้วย”

และในอีกอายะฮ์บรรดาชาวมักกะฮ์กล่าวว่า

وقالوا ما هي إلا حياتثنا الدُّنيا نموتُ ونحْيا وما يهْلِكنا إلا الدهْرُ وما هم بدلك من علم إن هم إلا يظنُّون (الجاثية/24)

“และพวกเขาได้กล่าวว่า ไม่มีชีวิตอื่นใด นอกจากการมีชีวิตของเราในโลกนี้ เราจะตายไป และเราจะมีชีวิตอยู่

และไม่มีสิ่งใดจะมาทำลายเราได้(ให้เราตาย) นอกจากกาลเวลาเท่านั้น

สำหรับพวกเขาไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น นอกจากพวกเขาคาดเดาเอาเท่านั้น”

          เกี่ยวกับการปฏิเสธโลกหน้า พระองค์อัลลอฮ์ ทรงท้าทายพวกเขาในหลายสำนวนที่ทำให้พวกเขาต้องคิด ไตร่ตรองอย่างมาก เช่นในอายะฮ์ที่กล่าวว่า

أوَلم يرَ الإنسان أنَّا خلقناه من نطفةٍ فإدا هو خصيمٌ مبين وضرب لنا مثلاً ونسِيَ خلقَه  قال من يحْيِي العِظامَ وهي رميمٌ قل يحْيِيها الدي أنشأها أوَّلَ مرَّةٍ وهو بكلِّ خلقٍ عليم الدي جعل لكم من الشجر الأخضرِ ناراً فإدا أنتم منه توقِدون أوَليسَ الدي خلق السموات والأرض بقادرٍ على أن يخلق مثلهم بلى وهو الخلاق العليم (يس/77-81)

“มนุษย์มิได้พิจารณาดูดอกหรือว่า เราได้บังเกิดเขามาจากน้ำอสุจิ

แล้วจงดูซิ เขาได้กลายเป็นคู่ปรปักษ์ตัวฉกาจ(มนุษย์เนรคุณผู้นี้มิได้พิจารณาถึงอานุภาพของอัลลอฮ์ดอกหรือ?)

และเขาได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเทียบแก่เราและเขาได้ลืมต้นกำเนิดของเขา

เขากล่าวว่า ใครเล่าที่จะทำให้กระดูกมีชีวิตขึ้นมาอีก ในเมื่อมันเป็นผุยผงไปแล้ว

จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) พระผู้ทรงให้กำเนิดมันครั้งแรกนั้นย่อมจะทรงให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีก(หลังจากตายไปแล้ว)

และพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้การบังเกิดทุกสิ่ง"

 

          ชาวมักกะฮ์ในสมัยนั้นเป็นชนที่ดื้อรั้น นิสัยแข็งกระด้าง ไม่ยอมตามคำเชิญชวนของใครง่ายๆ เพราะฉะนั้นเราสังเกตได้ว่าอัลกุรอาน ที่ประทานลงมาในช่วงนั้นจะพูดด้วยภาษาที่แข็ง และ เด็ดขาด มีการยกตัวอย่างชนชาติก่อน ๆ ที่พระองค์ทรงทำลายพวกเขา เช่นเผ่าษะมูด  อ๊าด กษัตริย์ฟาโรห์และพรรคพวก เป็นต้น ด้วยวิธีการทำลายที่แตกต่างกัน พร้อมกับท้าทายพวกเขาด้วยบทลงโทษต่าง ๆ

          เมื่อมีชาวมักกะฮ์บางคนยอมรับคำสอนของอิสลาม พวกเขาได้ถูกทำร้าย ทรมานและต่อต้าน จนหมดความอดทน ท่านเราะซูลได้พาพวกเขาอพยพไปยังนครแห่งใหม่ นครมะดีนะฮ์ที่ ยินดีให้การต้อนรับกลุ่มชนที่ถูกรังแกมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อได้มาอาศัยอยู่ที่นครมะดีนะฮ์สภาพของพวกเขาได้เปลี่ยนไปในเชิงบวก สาเหตุกเพราะว่า

 

     ประการที่ 1 ได้มีอายะฮ์อัลกุรอาน ลงมาตักเตือนด้วยภาษาที่ไพเราะและน่าฟัง อายะฮ์อัลกุรอานจะเน้นถึงการศรัทธา การสร้างสังคม ครอบครัว เศรษฐกิจและระบบการปกครอง แตกต่างจากอายะฮ์ที่เคยประทานลงมาช่วงที่อยู่ที่นครมักกะฮ์ ที่เน้น 3 เรื่องเท่านั้น คือเรื่องโลกหน้า การเป็นศาสดาของ  นะบีมุฮัมมัด และการประทานคัมภีร์อัล-กุอาน 

 

     ประการที่ 2 เพราะว่าพวกเขามีท่านเราะซูล   คอยอบรมสั่งสอน บ่มนิสัย ทำให้พวกเขามีจิตใจที่อ่อนโยน นอบน้อม ถ่อมตน สงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สังคมของพวกเขาจึงมีแต่ความสมานฉัน กลมเกลียวกัน มีความรักในรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

          บรรดาเศาะหาบะฮ์ได้รับเกียรติเนื่องจากได้มีชีวิตร่วมสมัยกับท่านเราะซูล พวกเขารู้เรื่องราวเกี่ยวกับการประทานบทบัญญัติมากกว่าคนอื่น พวกเขารู้เกี่ยวกับอายาตอัลกุรอานอย่างละเอียดว่าประทานมาที่ใด เวลาใด และเพราะเหตุใด ในช่วงฤดูใด ในช่วงท่านเราะซูล   กำลังเดินทางหรือไม่ พวกเขาได้เห็นเหตุการณ์การประทานอายาตอัลกุรอานให้แก่ท่านเราะซูล   ด้วยสายตาของพวกเขาเอง

 

          ประเด็นนี้สรุปได้ว่า อายะฮ์มักกียะฮ์ คืออายะฮ์อัลกุรอานที่ประทานลงมาในช่วงที่ท่านเราะซูล อาศัยอยู่ที่มักกะฮ์ ก่อนที่ท่านจะอพยพไปสู่นครมะดีนะฮ์ ในขณะที่อายาตมะดะนียะฮ์ คืออายะฮ์อัลกุรอานที่ประทานลงมาหลังจากที่ท่านเราะซูล   ได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ ถึงแม้จะประทานในขณะที่ท่านเราะซูล   กำลังเดินทางอยู่ก็ตาม