ข้อห้ามและข้ออนุมัติในการสู้รบ 2
  จำนวนคนเข้าชม  15934

 

ข้อห้ามและข้ออนุมัติในการสู้รบ 2


โดย : إجلالى


6.ห้ามทำการทารุณกรรมหรือทำเกินกว่าเหตุ

 

อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

“ดังนั้น ผู้ใดละเมิดต่อพวกเจ้าก็จงละเมิดต่อเขาเยี่ยงที่เขาละเมิดต่อพวกเจ้า และพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด

และจงรู้ไว้ด้วยว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลาย

อัล-บะกอเราะฮฺ 2 :194   
                               

           ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ สมมุติว่าศัตรูไม่คำนึงถึงศีลธรรมหรือจริยธรรมใดๆทั้งสิ้น มุสลิมจะถือสิทธิละเมิดเป็นการโต้ตอบเยี่ยงกันได้เช่นกันหรือไม่ ?

         คำตอบคือ ไม่ได้ มุสลิมจะต้องไม่ประพฤตผิดศีลธรรมต่อในกรณีดังกล่าวเป็นอันขาด ทั้งนี้ก็เนื่องจากคำกำชับจากอัลกุรอานอย่างชัดเจนที่ว่า   “จงยำเกรงอัลลอฮเถิด”  นั่นเองที่พาดพิงเกี่ยวกับสิทธิของมุสลิมในการตอบโต้ศัตรู การยำเกรงอัลลอฮ  ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อใจยึดมั่นในคุณธรรมเท่านั้น ฉะนั้น การตอบโต้ให้เสมอกันกับที่ศัตรูกระทำต่อมุสลิมนั้นจะต้องไม่ให้เกินขอบเขตแห่งมนุษยธรรมเป็นอันขาด เช่น หากฝ่ายศัตรูได้ทารุณกรรมด้วยการเชือดหั่นร่างมุสลิมจนยับเยิน โดยให้แขนขาหลุดไปคนละทางสองทางจนจำไม่ได้ หรือนำร่างผู้ตายมาประจาน มุสลิมก็ไม่มีสิทธิ์ใช้วิธีเยี่ยงกันนั้นเป็นการตอบแทนได้

ในเรื่องนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยเตือนว่า

“ ระวัง อย่าตัดแขนขา เชือดหั่น หรือทำลายโฉมหน้าศัตรู ”
 

        จะเห็นได้ว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม   ได้สั่งห้ามการตัดแขนตัดขา หั่นร่างและศีรษะศัตรูที่เสียชีวิต ห้ามทุบตีทำลายโฉมหน้าจนจำไม่ได้  ห้ามทรมานศัตรูผู้บาดเจ็บ และห้ามฆ่าเขาแต่ให้กักตัวไว้เป็นเชลยเพื่อเรียกค่าไถ่ตัวจากฝ่ายตรงข้าม หรือไม่ก็ให้ปลดปล่อยไปเสีย และห้ามการใช้ไฟเผา ดังที่ท่านกล่าวว่า

“ ไม่เป็นการบังควรในการลงทัณฑ์ด้วยไฟ นอกเสียจากพระผู้เป็นเจ้าของไฟเท่านั้น ”

  (บันทึกโดย อบูดาวูด และ อัดดาริมียฺ)

          นอกจากนี้ แม้ศัตรูจะฆ่าคนชรา ทรมานเชลยศึกมุสลิม หรือประหารชีวิต กองทัพของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ตอบโต้ด้วยการกระทำเลวทรามเช่นนั้น  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำชับว่า

“ อย่าได้ให้มีพวกเจ้าคนใดที่แก้แค้นแทนพี่น้องของตน ด้วยการประหารเชลยสงครามที่เราจับมาได้ โดยไม่เลือกหน้าเป็นอันขาด”

 

7.ห้ามกระทำต่อเชลยศึกเยี่ยงทาส

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เกี่ยวกับเชลยไว้ ความว่า  “ท่านทั้งหลายจงสั่งเสียกันให้ปฏิบัติดีต่อเชลยศึก”

           อิสลามให้อารีอารอบต่อเชลยสงคราม ดังปรากฎหลายตอนจากอัลกุรอานได้กำหนดให้การเลี้ยงดูเชลยสงครามเป็นคุณธรรมที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการทดสอบน้ำใจซื่อตรงของมุสลิม และกำหนดให้เชลยสงครามจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ประหนึ่งว่าเป็นแขกผู้มาหา มิใช่เยี่ยงผู้ถูกล่ามโซ่กุมตัวที่กำลังจะไปสู่สภาพความเป็นทาส

          อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงอธิบายลักษณะหนึ่งของผู้มีศรัทธาว่าเป็นบุคคลต่อไปนี้
 
“ และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก

(พวกเขากล่าวว่า)แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮ

เรามิได้หวังการตอบแทน และการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด”   

อัลอินซาน 76 : 8-9 

          อิสลามใช้ให้ปฏิบัติดีต่อผู้เป็นเชลยสงคราม ไม่อนุมัติให้ทารุณกรรม หรือนำมาเป็นทาสแรงงาน เป้าหมายในการวางข้อปฏิบัติที่พึงมีต่อเชลยก็เพื่อเป็นการให้เกียรติ รักษาศักดิศรีเชลย และยังเป็นการคุ้มครองชีวิตเชลยด้วย
 
          อัลกุรอานได้บอกวิธีปฏิบัติต่อเชลยไว้ว่า หากศัตรูไม่สามารถทำการไถ่ตัวได้ก็ให้ปล่อยเป็นไท ไม่ว่าจะเป็นการไถ่ตัวด้วยทรัพย์สิน หรือด้วยเชลยมุสลิม

          “และเมื่อพวกเจ้าพบบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาก็จงฟันที่คอ (ฆ่าเขาเสีย) จนกระทั่งเมื่อพวกเจ้าปราบพวกเขาจนแพ้แล้ว ก็จงจับพวกเขาเป็นเชลย หลังจากนั้นจะปล่อยเป็นไทหรือเรียกค่าไถ่ก็ได้ จนกระทั่งการทำสงครามได้สิ้นสุดลงด้วยการวางอาวุธ  เช่นนั้นแหละหากอัลลอฮทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทรงตอบแทนการลงโทษพวกเขา แต่ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบบางคนในหมู่พวกเจ้ากับอีกบางคน ส่วนบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าตายในทางของอัลลอฮ์ พระองค์จะไม่ทรงทำให้การงานของพวกเขาไร้ผลเป็นอันขาด” 

  มุฮัมมัด  47 : 4

          ดังนั้น สำหรับผู้ตกเป็นเชลยของฝ่ายมุสลิม เขาจะต้องได้รับการปฏิบัติจากมุสลิมด้วยความเมตตา ไม่มีการนำพวกเขามาทำอนาจารดังเช่นที่ชนชาติอื่นเคยกระทำกันมาแล้วในสงครามต่างๆ

          เป็นที่น่าสังเกตว่า อัลกุรอานไม่ได้บอกทางเลือกที่สาม คือ การกักตัวเชลยไว้เป็นทาส จริงอยู่แม้ไม่ได้มีบัญญัติห้ามการมีทาสไว้ตรงๆ แต่การที่ได้แนะไว้สองทาง คือ ให้เรียกค่าไถ่ตัว หรือ ปล่อยเป็นไทก็เท่ากับเป็นการห้ามการกักตัวเชลยเป็นทาสอยู่โดยปริยายนั่นเอง

          การที่ไม่ได้บัญญัติเรื่องการมีทาสไว้ จึงเป็นการเปิดช่องให้มุสลิมมีทางที่จะตอบสนองต่อศัตรูได้ด้วยความเที่ยงตรงอย่างชัดเจน  ผิดกับธรรมเนียมการทำสงครามของชนอื่นๆในสมัยนี้ ถึงแม้การซื้อขายตัวบุคคลเป็นทาสจะเป็นที่รังเกียจของอารยชนก็ดี  แต่ในระหว่างสงครามฝ่ายศัตรูที่ถูกจับตัวเป็นเชลยมักถูกใช้งานหนัก และตัดอิสรภาพ ไม่ผิดอะไรกับทาส   แม้กระทั่งการรบได้สิ้นสุดลง และฝ่ายที่ชนะก็ได้ช่วยพรรคพวกของตนให้หลุดพ้นจากการจองจำได้แล้วก็ดี ทุกวันนี้ยังคงมีนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ไม่น้อยที่ยังถือเป็นเชลยสงคราม และได้รับการทารุณกรรมยิ่งกว่าทาส

          ณ ที่นี้ขอยกตัวอย่างจากหน้าประวัติศาสตร์ที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และฝ่ายมุสลิมได้เคยปฏิบัติต่อเชลยและฝ่ายตรงข้าม

 

ตัวอย่างที่ 1   ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กับ ซุมามะฮฺ อิบนิ อะซาล ( หัวหน้าเผ่าบนีฮะนีฟะฮฺ )

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามเชลยว่า “ซุมามะฮฺ ท่านมีอะไรบ้าง?”

       ซุมามะฮฺตอบ “ มุฮัมมัด สิ่งที่ฉันมีล้วนเป็นสิ่งดี ,หากท่านจะฆ่า ท่านก็ได้ฆ่าเจ้าของเลือด ( หมายถึง ฉันก็สมควรถูกฆ่าเพราะฉันฆ่าพวกมุสลิม ) , หากท่านจะกรุณาท่านก็ได้กรุณาต่อผู้รู้คุณแล้ว , และหากท่านต้องการเงินทอง ก็ขอมาเถิดท่านจะได้รับเท่าที่ท่านต้องการ”

        ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงปล่อยเขาไว้เช่นนั้น 3 วันโดยที่ทุกวันท่านจะถามคำถามเดิม และเขาก็ยังคงตอบคำตอบเดิม , หลังวันที่สามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งให้แก้มัดเขา  จากนั้นเขาก็ออกไปที่ต้นอินทผาลัมใกล้ๆและอาบน้ำ และกลับมาหาท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พร้อมกับกล่าวว่า ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ และฉันขอปฏิญาณว่า มุฮัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮและเป็นศาสนทูตแห่งพระองค์

           เขากล่าวอีกว่า ท่านร่อซูลลุลลอฮครับ 

ขอสาบานต่ออัลลอฮ ในโลกนี้ไม่เคยมีใบหน้าใดที่ฉันจะโกรธแค้นยิ่งเสียกว่าใบหน้าของท่าน ,  แต่บัดนี้ใบหน้าของท่านได้กลายเป็นใบหน้าที่ฉันรักมากที่สุด,

ขอสาบานต่ออัลลอฮ ไม่เคยมีศาสนาใดที่ฉันโกรธแค้นยิ่งเสียกว่าศาสนาของท่าน , แต่บัดนี้ศาสนาของท่านได้กลายเป็นศาสนาที่ฉันรักมากที่สุด,

ขอสาบานต่ออัลลอฮ ไม่เคยมีเมืองใดที่ฉันโกรธแค้นยิ่งเสียกว่าเมืองของท่าน , แต่บัดนี้เมืองของท่านได้กลายเป็นเมืองที่ฉันรักมากที่สุด .


    

ตัวอย่างที่ 2    ท่านศ่อลาฮุดดีน ( ซาลาดิน ) กับริชาร์ดใจสิงห์

          ในการรบครั้งหนึ่งท่านศ่อลาฮุดดีนได้ตัวเชลยสงครามไว้เป็นจำนวนมาก แต่รู้ตัวว่ามีอาหารไม่พอที่จะเลี้ยงได้ทั่ว ท่านแม่ทัพก็สั่งปล่อยเชลยเหล่านั้นไปสิ้น ครั้นต่อมาเชลยเหล่านั้นตั้งตัวได้ และวกกลับมาสู้รบกับท่านศ่อลาฮุดดีนอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้รังเกียจการกระทำเช่นนั้น โดยเห็นว่าการตายในระหว่างการสู้รบ ดีกว่าการตายเพราะอดอาหารในระหว่างที่ถูกคุมตัวเป็นเชลย ดังกล่าวนี้คือตัวอย่างหนึ่งจากแม่ทัพผู้ทรงเกรียงไกรแห่งโลกอิสลาม

          ซึ่งผิดกับฝ่ายครูเสด ( ริชาร์ด ใจสิงห์ ) ที่เคยรับปากกับพวกมุสลิมว่าจะไม่ประหารหากมุสลิมยอมมอบตัว แต่เมื่อมุสลิมตกลงมอบตัวเขาก็จับทั้งหมดประหาร และยึดทรัพย์สินเชลยเป็นของตัว

          นักสังคมจิตวิทยาอย่าง กุสตาฟ เลอ บอง ( Gustave Le Bon )  ได้ยอมรับถึงการประนีประนอม ความมีคุณธรรม ความยุติธรรมและจิตใจที่ใฝ่หาสันติภาพของจอมทัพมุสลิม  ท่านศ่อลาฮุดดีน อัล-อัยยูบียฺ เมื่อครั้งที่ท่านได้ยินข่าวว่าริชาร์ดใจสิงห์ล้มป่วยและอยากกินผลไม้บางขนิดกับน้ำแข็ง ท่านกลับให้จัดหาอาหารเหล่านั้นไปให้ริชาร์ดพร้อมกับยาและเครื่องดื่ม แต่ครั้นเมื่อเขาหายป่วยก็ได้ยกทัพมาทำสงครามกับท่านศ่อลาฮุดดีนและชาวมุสลิมอีกอย่างไม่ยอมเลิกรา

 

 ตัวอย่างที่ 3   ท่านศ่อลาฮุดดีน ( ซาลาดิน ) กับนโปเลียน

           เป็นเรื่องที่เทียบไม่ได้เลยระหว่างความมีน้ำใจของท่านศ่อลาฮุดดีน กับความประพฤติของนโปเลียน เมื่อนโปเลียนจับเชลยสงครามชาวซีเรียได้จำนวนหนึ่ง ณ เมือง อัครฺ เขาได้สั่งยิงเป้าเสียสิ้น ด้วยข้ออ้างที่ว่า กองทัพนโปเลียนไม่มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูเชลยเหล่านั้นได้

นี่ละหรือคือการกระทำของผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัฉริยะบุรุษแห่งการทหารในศตวรรษที่ 19

 

 8. ดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่รักษาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์แก่ศัตรู

 

          อิสลามถือว่า มนุษย์มีฐานะอันทรงเกียรติยิ่งและประเสริฐสุดในบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย ถึงแม้จะมีความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา แต่ความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่งถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะได้รับฐานะอันทรงเกียรตินี้

อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสไว้ความว่า

“แน่แท้ เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัมและเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งหลายทั้งทางบกและทางทะเล

และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดเป็นส่วนใหญ่” 

อัล- อิสรออฺ 17 : 70

         บนพื้นฐานแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว อิสลามจึงประกาศเป็นศาสนาสากลที่ตระหนักและให้ความสำคัญแก่มนุษย์  โดยไม่ได้จำกัดกลุ่ม ชนชาติ เผ่าพันธุ์หรือลักษณะภูมิประเทศใดเป็นการเฉพาะ และด้วยความเป็นสากลของอิสลาม ไม่ว่าในมิติของการเชิญชวน การเรียกร้อง หรือในมิติของการตอบรับของประชาคมโลก อิสลามจึงปฏิเสธแนวคิดชาตินิยม รัฐนิยมหรือการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ของตนเอง

 

9. ต้องยุติการสู้รบทันทีเมื่อตกลงทำสัญญาสงบศึก

 

          ถ้าคู่สงครามทั้งสองตกลงทำสนธิสัญญาสงบศึกต่อกันได้ การรบก็ต้องยุติลงทันที ไม่มีการหลอกลวงหรือหักหลัง มุสลิมจะฆ่าหลั่งเลือดศัตรูอีกไม่ได้ แต่กลับจะถูกกำชับให้เป็นผู้รักษาสัญญาที่ให้ไว้ในการสงบศึกนั้นอย่างเคร่งครัด


 
จากอัลกุรอาน กำชับในเรื่องนี้ ความว่า

“และพวกเจ้าจงปฏิบัติให้ครบตามพันธะสัญญาของอัลลอฮ เมื่อพวกเจ้าได้ให้สัญญาไว้ และพวกเจ้าอย่าได้ทำลายคำสาบานหลังจากได้ยืนยันมัน

และแน่นอนพวกเจ้าได้ตั้งอัลลอฮฺเป็นพยานแก่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” 

อันนะหฺลุ  16 : 91 

“สูเจ้าจงซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญา แท้จริงคำมั่นสัญญานั้น จะต้องมีการรับผิดชอบ”    

อัล-อิสรออฺ 17: 34

          สิ่งที่ต้องคำนึงในการเขียนสนธิสัญญาสงบศึกคือความยุติธรรม อิสลามหวังจะให้ได้รับผลดีสองประการจากการทำสนธิสัญญา คือ

9.1 การยุติการฆ่าฟัน

9.2 การปราบปรามอำนาจที่รุกรานและเป็นพาลนั้นๆได้สำเร็จ

          ในทำนองเดียวกัน สนธิสัญญาสงบศึกนั้น ไม่ควรที่จะใช้ถ้อยคำลบหลู่ ไม่เรียกค่าปฏิกรรมสงคราม ไม่ควรมีเงื่อนไขหรือข้อความที่ก่อให้เกิดความอัปยศอดสูแก่ผู้แพ้ เพราะการเย้ยหยันกันนั้น อิสลามถือว่าเป็นการรุกรานเยี่ยงอันธพาลอย่างหนึ่ง อิสลามได้ห้ามการรุกรานทุกชนิดอย่างเด็ดขาด

 

10. ให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมต่อศัตรู

 

       อิสลามไม่ได้สอนให้รบเพื่อแสดงอำนาจ แต่ได้ใช้การรบเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบรรลุจุดหมายอันสูงส่งยิ่งกว่านั้น อิสลามกำชับให้มีความเป็นธรรมต่อศัตรูเท่าๆ กับที่เรามีหน้าที่รักษาความเป็นธรรมระหว่างพันธมิตรด้วยกัน ดังที่ได้ย้ำถึงประเด็นนี้ไว้ในอัลกุรอาน ความว่า

          “ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม

         จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรงอัลลอฮเถิด แท้จริงอัลลอฮนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” 

อัล-มาอิดะฮ. 5 : 8 

 อัลบัยฏอวีย์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอานท่านหนึ่งได้ให้ความหมายของบัญญัติข้างต้นไว้ดังนี้ว่า 

       “ อย่าได้ปล่อยให้ความโกรธที่รุมเร้าอยู่ในใจพวกเจ้าต่อชาวมุชริกีน (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) เป็นเหตุให้ละทิ้งความยุติธรรมกับพวกเขา ด้วยการละเมิดและการกระทำใดที่ไม่อนุญาต เช่นการกล่าวหาใส่ร้ายหรือฆ่าสตรีและเด็ก หรือทำลายสัญญาเพื่อเป็นความสะใจให้หายแค้น ถ้าหากนี่คือความยุติธรรมที่พึงกระทำต่อผู้ปฏิเสธศรัทธา ให้ท่านลองใคร่ครวญดูว่าจะต้องยุติธรรมมากกว่าอีกเพียงใดกับบรดาผู้ศรัทธาด้วยกัน”

( อัลบัยฏอวียฺ อันวารุต ตันซีล 3/223 )

           อัลกุรฏุบียฺ  นักอรรถาธิบายอัลกุรอานอีกท่านหนึ่งได้กล่าวว่า อายะฮฺนี้ได้ชี้อีกว่า การไม่นับถืออิสลามของผู้ปฏิเสธศรัทธา ไม่ได้ขัดขวางเราเพื่อให้ความยุติธรรมแก่เขา”  ( อัลกุรฏุบียฺ อัลญามิอฺ ลิอะฮฺกามิล กุรอาน 6/110 )

          ณ ที่นี่ใคร่ขอยกตัวอย่างบางคำพูดของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่สั่งใช้ให้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมดังต่อไปนี้

       “ท่านทั้งหลายพึงปลีกตัวให้ห่างไกลจากการอธรรม เพราะแท้จริงการก่ออธรรมเป็นความมืดมนในวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก) และพึงระวังการตระหนี่ เพราะการตระหนี่ได้ทำให้บุคคลก่อนหน้าพวกท่านพินาศมาแล้ว มันนำพาพวกเขาสู่การนองเลือด และ อนุมัติในสิ่งที่ต้องห้ามของพวกเขา”    

บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า

“เมื่อมุสลิมสองคนเผชิญหน้ากันด้วยดาบแล้ว ทั้งผู้สังหารและผู้ถูกสังหารนั้นอยู่ในนรก"

      มีผู้ถามขึ้นว่า ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ ครับ นี่คือสภาพของผู้สังหาร แล้วผู้ถูกสังหารเป็นไปได้อย่างไรเล่าครับ ? (คือจะอยู่ในนรกได้อย่างไรทั้งที่เขาถูกสังหาร )

ท่านกล่าวตอบว่า “เพราะเขาก็เฝ้าจะสังหารคู่กรณีเช่นกัน”

  บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรี อิหม่ามมุสลิมและอิหม่ามอะฮฺหมัด


สรุป


           อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ และเป็นศาสนาแห่งธรรมชาติที่เป็นจริง มุ่งหมายที่จะให้มนุษย์อยู่ในโลกอันมีความโลภและความพาลโดยทั่วได้อย่างสันติ อิสลามยอมให้ทำสงครามก็เพื่อต่อสู้ปราบปราม หรือยับยั้งคนพาลที่เที่ยวรุกรานคนอื่นเท่านั้น อิสลามจึงเป็นระบบที่สงวนชีวิตมนุษย์ได้อย่างมากที่สุด และเป็นระบบที่ให้หลักประกันสันติภาพอีกด้วย

           อิสลามไม่ได้ประกาศสงครามและไม่ได้ยาตราทัพสู้รบกับกลุ่มบุคคลผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ ถ้าหากบุคคลผู้ตั้งภาคีเหล่านั้นมิได้อยู่ภายใต้ระบอบผู้นำ หรือขบวนการใดที่ประกาศตนเป็นศัตรูต่ออิสลาม และมีเป้าหมายทำลายมุสลิมด้วยวิธีการต่างๆทุกวิถีทาง แต่การประกาศสงครามในอิสลามมุ่งประกาศสงครามกับบรรดาหัวหน้าผู้ตั้งภาคีและทรราชของพวกเขา ซึ่งทำการขัดขวางผู้อื่นไม่ให้ดำเนินตามแนวทางของอัลลอฮ

           ดาบในอิสลามจึงไม่ได้มีไว้เพื่อรุกรานบุคคล หรือกลุ่มชนที่มิได้ชุมนุมกันเพื่อมุ่งหมายต่อต้านอิสลาม แต่หน้าที่ของดาบ คือ การขจัดสิ่งกีดกั้นที่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นอุปสรรคระหว่างอิสลามกับมหาชนโลก ดังนั้นภาระของดาบ ณ ที่นี่ คือการให้ความคุ้มครองแก่มหาชน คืนความปลอดภัยสู่ชีวิตและหลักเชื่อมั่นที่พวกเขาเลือกด้วยตนเอง ดาบมิได้ข่มขู่คุกคาม หรือหักหลังพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับแนวทางอิสลามก็ตาม ดังดำรัสของอัลลอฮ ที่ว่า

 

“ ศาสนาของพวกท่านก็สำหรับพวกท่าน และศาสนาของฉันก็สำหรับฉัน” 

อัลกาฟิรูน 6 : 109

           เป็นหลักฐานเพียงพอแล้วที่อัลกุรอาน 6,666 อายะฮฺ ได้กล่าวยืนยันถึงความสันติไว้จำนวนถึง 133 ครั้ง ขณะที่กล่าวถึงการทำสงครามไว้เพียง 6 ครั้งเท่านั้น ดังกล่าวเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าการต่อสู้นั้นอนุญาตเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

           ในทุกมิติของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการ เจตคติและประวัติศาสตร์ ถือว่าการละเมิดรุกราน การใช้ความรุนแรง และการกระทำที่ไม่ชอบธรรมเป็นความผิดมหันต์ การกระทำบางประการของมุสลิมส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จริงในแก่นแห่งศาสนา การแอบอ้างศาสนา การใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือการใช้สติที่วู่วามและโกรธแค้น เป็นสิ่งที่อิสลามประณามและปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และอิสลามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย


“ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเข้าอยู่ในความสันติโดยทั่วกัน 

 และจงอย่าทำตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน ( มารร้าย ) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” 

อัล-บะกอเราะฮฺ 2 : 208

 

 

 

 

Part 3 >>>> Click

Next 5 >>>>Click