ประวัติปัตตานีดารุสสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  78131

ประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุสสลาม

โดย...อาลี เสือสมิง

            คำว่า  “ปัตตานี ดารุสสลาม”  (فطانى د ارالسلام)   ซึ่งมีความหมายว่า  “ปัตตานี  นครรัฐแห่งสันติภาพ”  ได้ถูกเรียกขานภายหลังการเข้ารับอิสลามของสุลต่าน  อิสมาอีล  ชาห์  ซิลลุลลอฮฺ  ฟิลอาลัม  (เดิมคือ  พญา ตู  นักปา  อินทิรา  มหาวังสา)  ในราวปีค.ศ.1457  (Cheman 1990 p.34)  โดยมีชีค  ซาอีด  ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามเข้าสู่ราชสำนักของปัตตานีเป็นผู้ตั้งชื่อ  (อารีฟีน บินจิและคณะ ;  “ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู”  (2550)  หน้า  63)  ในชั้นหลังมีการเรียกดินแดนปัตตานีว่า  “ปัตตานี  ดารุ้ลมะอาริฟ”  หมายถึง  “ปัตตานี  นครรัฐแห่งสรรพวิทยา”  อีกเช่นกัน

                    ประวัติศาสตร์  “ปัตตานี  ดารุสสลาม”  ถือเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นการเฉพาะและถือเป็นส่วนหนึ่งจากประวัติศาสตร์ของชาติสำหรับพลเมืองของประเทศโดยรวม  ในช่วงหลัง ๆ มานี้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของปัตตานี  ดารุสสลามกันอย่างคึกคักโดยเฉพาะในแวดวงนักวิชาการผู้สันทัดกรณีและผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาสถานการณ์ใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในบทความนี้จะมุ่งวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตต่อข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุสสลามในเชิงรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อิสลามเป็นหลัก

                   เนื่องจากมีการนำเอาเหตุการณ์ในอดีตซึ่งโดยมากจะเกี่ยวพันกับสงครามประเพณีระหว่างสยาม-ปัตตานีมาอ้างเพื่อปลุกระดมผู้คนในท้องที่ให้เกิดความรู้สึกร่วมในการฟื้นฟูปัตตานีดารุสสลามในฐานะรัฐเอกราชที่เคยรุ่งเรืองและเป็นเกียรติภูมิสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู และตอกย้ำความทารุณโหดร้ายที่ชาวมุสลิมมลายูได้รับจากสยามในฐานะผู้รุกรานและผู้ทำลายนครรัฐที่รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในคาบสมุทรมลายู  มัสยิดปินตูกืรบัง  (กรือแซะ)  พระราชวังอิสตานะฮฺนีลัม  และบ้านเรือนของราษฎรถูกเผาทำลาย  ลูกหลานสุลต่าน  วงศานุวงศ์  ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และประชาชนหลายพันคนถูกกวาดต้อนเป็นเชลย  (อ้างแล้ว  หน้า  150) 

                    สงครามและความพ่ายแพ้ที่ชาวมลายูปัตตานีประสบได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวด  เคียดแค้นและชิงชังสยามตราบจนทุกวันนี้  การปลุกความรู้สึก  (สมางัต)  โดยอ้างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และความเจ็บปวดที่บรรพบุรุษของชาวมลายูปัตตานีได้รับจึงสอดรับกับคติชาติพันธุ์นิยมอย่างลงตัวและมีผลทำให้ความคิด  ความเชื่อ  และความเข้าใจของผู้ที่ถูกปลุกระดมมีความซับซ้อนและฝังลึกมากยิ่งขึ้น  ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมิใช่สิ่งที่ผู้คนรับรู้กันโดยผิวเผิน  หากแต่เป็นมายาคติที่ถูกตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น  ทั้งในรูปของมุขปาฐะที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นและการเขียนตำรับตำราอิงประวัติศาสตร์ตลอดจนการถ่ายทอดผ่านการบรรยาย  อภิปราย  หรือแม้กระทั่งการสัมมนาในหลาย ๆ โอกาส 

                    อย่างไรก็ตาม  เรื่องราวข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นั้นย่อมเป็นข้อมูลดิบที่ผู้คนในยุคหลังสามารถวิเคราะห์และสืบค้นเพื่อเพิ่มเติมมิติและแง่มุมต่าง ๆ ที่อาจจะถูกละเอาไว้ได้เสมอ

 

                    ปัตตานีเป็นรัฐอิสลาม 


          ก่อนหน้าที่ศาสนาอิสลามจะเผยแผ่เข้ามายังปัตตานีนั้นพลเมืองและราชสำนักของปัตตานีถือในศาสนาฮินดู-พราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมหายาน  (ตารีคปาตานี  น.4-5)  โดยมีชาวอินเดียเป็นผู้นำเข้ามาเผยแผ่  ต่อมาภายหลังเมื่อศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้ามายังปัตตานี  พลเมืองมลายูจึงเข้ารับอิสลาม ทำให้ในดินแดนปัตตานีมีทั้งมลายูมุสลิม  และมลายูพุทธ  ศาสนาอิสลามเป็นที่ยอมรับของชาวมลายู  มาก่อนหน้าการเข้ารับอิสลามของราชสำนักปัตตานีเป็นเวลาหลายร้อยปี  ครั้นถึงราวปีค.ศ.1457  พญาตู  นักปา  อินทิรา  มหาวังสาและเหล่าบรรดาอำมาตย์มนตรี  แม่ทัพนายกอง  รวมถึงพระโอรสและพระธิดาก็เข้ารับอิสลามอย่างเป็นทางการด้วยการเชิญชวนของชัยค์  ซาอีด

                     ปัตตานีจึงกลายเป็นรัฐอิสลามนับแต่บัดนั้น  โดยถูกเรียกขานว่า  “ปาตานี  ดารุสสลาม”  มีการรับรูปแบบการปกครองของอิสลามมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง  โดยถือเอาคัมภีร์อัลกุรอ่าน  เป็นธรรมนูญการปกครอง  และอัลฮะดีษ  เป็นแนวปฏิบัติในวิถีชีวิต  มีผู้รู้ในศาสนาอิสลามเป็นที่ปรึกษาทางศาสนาและกฎหมายชะรีอะฮฺ  ในส่วนของชัยค์  ซาอีดนั้นนักวิชาการบางท่านเรียกตำแหน่งของท่านว่า  “ชัยคุลอิสลาม”  ทำหน้าที่ตีความ  (FATWA)  ปัญหาทางศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรปาตานีอีกด้วย  (ปาตานี  ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู  ;  อารีฟีน  บินจิและคณะ  หน้า  63,64,66)

 

                    การที่ปัตตานีเปลี่ยนสภาพจากรัฐพราหมณ์-พุทธมาเป็นรัฐอิสลามนี้คงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการเปลี่ยนสภาพของรัฐมลายูอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้  อาทิเช่น  รัฐมลายูในอาเจะห์ ,  สุมาตรา ,  ชวา ,  กลันตัน ,  ตรังกานู ,  มะละกาและปาหัง  เป็นต้น  ทั้งนี้รัฐมลายูเหล่านี้ได้เปลี่ยนสภาพจากรัฐพราหมณ์-พุทธมาเป็นรัฐอิสลามด้วยลักษณะและวิธีการคล้าย ๆ กัน  หากรัฐปัตตานีเป็นรัฐอิสลามด้วยการเผยแผ่ของผู้รู้ทางศาสนาอิสลามและการยอมรับของพลเมืองมลายูและราชสำนัก  รัฐมลายูอื่น ๆ ก็เช่นกัน แต่ทว่าทั้งหมดได้เปลี่ยนสภาพเป็นรัฐอิสลาม  บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงเลยหรือไม่? 

                    กล่าวคือ  เป็นรัฐอิสลามทั้งภาพลักษณ์ภายนอก  โครงสร้างระบอบการปกครอง  และจิตวิญญาณ  หรือเป็นรัฐของชาวมลายูมุสลิมที่ยังคงมีอิทธิพลของวัฒนธรรมและความเชื่อแบบมลายูโบราณฝังรากหยั่งลึกอยู่ ซึ่งบางทีวัฒนธรรมและความเชื่อดังกล่าว อาจจะเป็นผลพวงจากการรับเอาคติความเชื่อฝ่ายพราหมณ์-พุทธที่มีอิทธิพลเข้มข้นมาก่อนในภูมิภาคนี้  ทั้งในส่วนของนุสันตารา  (อินโดนีเซีย)  และคาบสมุทรมลายู  ถึงแม้ว่าศาสนาอิสลามได้เข้าไปแทนที่ศาสนาพุทธในราชสำนักแล้ว  และมีผลทำให้โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของปัตตานีโดยภาพรวม ๆ ค่อย ๆ กลายสภาพจากความเป็นสังคมมลายูที่แฝงด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมผสมชวาและฮินดู-พุทธ  มาเป็นสังคมมลายูที่ยึดเกาะกับวัฒนธรรมอิสลามมากขึ้นก็ตาม  (รัฐปัตตานีในศรีวิชัย  ;  สุจิตต์  วงษ์เทศ  บรรณาธิการ  ,  สำนักพิมพ์มติชน  (2547)  หน้า  243) 

                    และในรัชสมัยของสุลต่านอิสมาอีล  ชาห์ซึ่งศาสนาอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองและแผ่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรของพระองค์และอาณาจักรอื่น ๆ ในแหลมมลายู  ชัยค์  ซาอีดซึ่งเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามเข้าสู่ราชสำนักและเรียกขานดินแดนนี้ว่า  ปัตตานี  ดารุสสลาม  ก็ยังคงพักอาศัยอยู่ใน  “เบียรอ”  (วิหาร)  เพราะขณะนั้นคนที่นับถือศาสนาอิสลามยังมีไม่มากนัก  คนทั่วไปยังคงนับถือศาสนาฮินดู-พุทธและยังไม่มีการสร้างมัสยิดขึ้นแต่อย่างใด  (ดูรายละเอียดใน “ปาตานีประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู”  อ้างแล้ว  หน้า  66,73)  การสร้างมัสยิดแห่งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัย  สุลต่านมุศ็อฟฟัร  ชาห์  ตามคำแนะนำของเชค  ซอฟียุดดีน  ซึ่งระบุว่า  :  “รัฐอิสลามนั้น  ต้องมีมัสยิดสักแห่งหนึ่ง  เพื่อให้ราษฎรใช้เป็นสถานที่สักการะพระผู้เป็นเจ้า  อัลลอฮฺ  ตะอาลา  หากไม่มีมัสยิดก็จะไม่เห็นความเป็นรัฐอิสลาม”  (อ้างแล้ว  หน้า  73, และ A.Teeuw &  D.K.Wyat  p.78) 

                    การเป็นรัฐอิสลามของปัตตานีดารุสสลามจึงมิได้เกิดขึ้นแบบเบ็ดเสร็จและสมบูรณ์นับแต่การเข้ารับอิสลามของปฐมกษัตริย์แห่งศรีมหาวังสา  (ซุลต่าน  อิสมาอีล  ชาฮฺ)  อย่างที่เข้าใจ  แต่ค่อย ๆ มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นรัฐอิสลามอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เรื่องราวของพ่อค้าชาวเมืองมินังกาเบาจากเกาะสุมาตรา  คือ  ชีค  ก็อมบ็อก  กับลูกศิษย์ที่ชื่อ  อับดุลมุบีน  ลักลอบขายทองเหลืองให้กับพ่อค้าชาวมะละกา  จนเป็นเหตุให้ถูกประหารชีวิต  เนื่องจากกระทำผิดต่อคำประกาศของสุลต่าน  อิสมาอีล  ชาห์  และถูกนำศพไปทิ้งในแม่น้ำยะหริ่ง  โดยห้ามมิให้ฝังศพบุคคลทั้งสองบนแผ่นดินปัตตานี  (อ้างแล้ว  หน้า  70/รัฐปัตตานีในศรีวิชัย  หน้า  340)  ก็ถือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความน่ากังขาว่า  

                    ปัตตานีดารุสสลาม  เมื่อแรกเป็นรัฐอิสลามนั้น  ถือรูปแบบการปกครองของอิสลามมาใช้ในการปกครองบ้านเมืองและตัดสินคดีความตามกฎหมายชะรีอะฮฺจริงจังหรือไม่?  เพราะบุคคลทั้งสองที่ถูกประหารชีวิตนั้นถึงแม้จะกระทำผิดต่อคำประกาศของสุลต่าน  แต่ก็เป็นมุสลิม  เมื่อถูกประหารชีวิตแล้วก็น่าจะจัดการศพของบุคคลทั้งสองตามกฎหมายชะรีอะฮฺและที่สำคัญในเวลานั้น  ชัยค์ ชะอีด  ซึ่งมีตำแหน่ง “ชัยคุลอิสลาม”  ตามที่มีนักวิชาการบางท่านระบุ  (พีรยศ  ราฮีมมูลา  “อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ”  บรรยายที่มอ.ปัตตานี  16  สิงหาคม  2546)  ก็ยังคงมีชีวิตอยู่และมีตำแหน่งรับผิดชอบในการตีความ  ฟัตวา  ปัญหาทางศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรปัตตานี  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ขัดกับข้อความที่ระบุในทำนองว่า  ปัตตานี  ดารุสสลามเป็นรัฐอิสลามที่บังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮฺ  และมีนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษาทางศาสนาแก่สุลต่านโดยมีตำแหน่งเป็นถึง  “ชัยคุลอิสลาม”  เลยทีเดียว  (อ้างแล้ว  หน้า  66)

 

                    ในรัชสมัยสุลต่าน  มันโซร  ชาห์  แห่งราชวงศ์ศรีมหาวังสา  พระองค์ทรงสูญเสียพระธิดาองค์เล็ก  ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ  5  พระชันษาเท่านั้น  พระองค์รับสั่งให้ฝังพระศพของพระธิดาไว้ใกล้กับพระราชวัง  เสาหลักที่หลุมศพประดับด้วยทองคำ  และมีโองการมิให้ประชาชนพลเมืองใช้ครกตำข้าวเป็นเวลานาน  40  วัน  เนื่องจากพระองค์มีความเชื่อว่าการใช้ครกตำข้าวจะทำให้พื้นดินสั่นสะเทือน  รบกวนพระศพของพระธิดาอันเป็นที่รักของพระองค์ทำให้ประชาชนต้องหยุดตำข้าว  หากมีความจำเป็นก็ต้องไปให้ห่างจากวังหลวงจนไปถึงบ้านสุไหงปาแน  (บริเวณบ้านบานาในปัจจุบัน) (อ้างแล้ว  หน้า  77)  ความเชื่อเช่นนี้ตลอดจนการประดับเสาหลักที่คลุมศพด้วยทองคำเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักคำสอนของอิสลาม ทั้ง ๆ ที่ในรัชสมัยของสุลต่านมุศอฟฟัร  ชาห์  ท่านดาโต๊ะ  ราชาศรี  ฟากิฮฺ  (Raja Seri Faqih)  หรือชัยค์  ซอฟียุดดีน  เป็นผู้ทำหน้าที่ปรึกษาศาสนาอิสลามในราชสำนัก  (อ้างแล้ว  หน้า  73) 

                    ซึ่งถ้าหากท่านชัยค์  ซ่อฟียุดดีนสิ้นชีวิตไปแล้ว  ก็ยังมีบุตรชายของท่านนามว่า  วันมุฮำหมัด  ทำหน้าที่เป็นครูสอนศาสนาให้แก่ราชา  มันโซร  พระอนุชาของสุลต่าน  (A.Malek p.38)  รวมถึงท่านวัน  ญาฮารุลลอฮฺซึ่งเป็นหลานของดาโต๊ะ  ราชา  ศรีฟากิฮฺ  และเป็นพระพี่เลี้ยงของพระโอรสและธิดาของสุลต่านมันโซร ชาห์  (อ้างแล้ว  หน้า  77)  จริงอยู่ที่ความผิดเพี้ยนในเรื่องความเชื่อเดิมอาจจะยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ในปัตตานีดารุสสลาม  เพราะในขณะนั้นยังถือว่าปัตตานีดารุสสลามเป็นรัฐอิสลามที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในคาบสมุทรมลายู  แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าปัตตานีดารุสสลามในเวลานั้นยังคงมีอิทธิพลของความเชื่อเดิมผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมของชาวมลายู

 

                    ประเด็นของการขึ้นครองอำนาจในปัตตานีดารุสสลามของบรรดาสุลตอนะฮฺ  (กษัตริยา)  นับแต่รัชสมัยราชินีฮิเยา  (1584-1616)  ,  ราชินีบีรู  (1616-1624)  ,  ราชีนีอูงู  (1624-1635)  และราชินีกูนิง  (1635-1686)  ในราชวงศ์ศรีมหาวังสา  รวม  4  พระองค์  และราชินีมัสกลันตัน  (1960-1707),  ราชินี  มัสชายัม  (1707-1710)  และราชินีเดวี  (1710-1719)  ในรัชสมัยหลังรวมปัตตานีดารุสสลามมีราชินีเป็นผู้ปกครองสูงสุด  7  พระองค์ ก็ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับประเด็นที่ว่า  ปัตตานีดารุสสลามใช้ระบอบอิสลามและกฎหมายชะรีอะฮฺในการปกครองตามที่ระบุข้างต้น  ทั้งนี้นักวิชาการได้กำหนดเงื่อนไขของประมุขสูงสุด   (إمام أعظم)   ของรัฐอิสลามว่าต้องเป็นเพศชาย  (الذكورة)   โดยมติเอกฉันท์  (الإجماع)   (อัลฟิกฮุ้ลอิสลามีย์  ว่า  อะดิลละตุฮฺ  ;  ดร.วะฮะบะฮฺ  อัซซุฮัยลีย์  ;  สำนักพิมพ์  ดารุ้ลฟิกรี่  ดามัสกัส  (1984)  เล่มที่  6  หน้า  693)

                    เหตุที่มีราชินีหลายองค์ปกครองปัตตานีดารุสสลามนั้นเนื่องจากมีการฆาตรกรรมระหว่างพี่น้องที่เกิดขึ้นภายในพระราชวังปัตตานีถึง  2  ครั้งทำให้พระโอรสสิ้นพระชนม์ถึง  4  พระองค์  คือ  สุลต่านปาติกสยาม,  ราชาบัมบัง ,  สุลต่านบะฮาดุรและราชาบีมา  ดังนั้นบรรดาขุนนางจึงได้ประชุมหารือเพื่อเลือกสรรผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ปกครองปัตตานีต่อไป  เมื่อไม่มีพระโอรสจึงพิจารณาเลือกพระธิดา  คือ  ราชินีฮิเยา  ปัตตานีดารุสสลามจึงเป็นอาณาจักรแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ผู้ปกครองเป็นสตรี  ก่อนจะมีขึ้นในเมืองอาเจะห์  (ปาตานี  ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู  หน้า  84)

 

                    การปกครองรัฐที่มีสตรีเป็นประมุขสูงสุดในฐานะกษัตริยาของปัตตานีดารุสสลาม  อาจจะเป็นเรื่องที่อนุโลมได้ในกรณีจำเป็น  (الضرورة)   เนื่องจากรัฐจำเป็นต้องมีประมุขเป็นผู้ปกครองสูงสุด    รูปแบบการปกครองอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ  ตราบใดที่หลักศาสนบัญญัติยังถูกบังคับใช้  (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์  ว่า  อะดิลละตุฮู  ;  ดร.วะฮฺบะฮฺ  อัซซุฮัยลีย์  เล่มที่  6/664-665)  และการมีประมุขในสภาวะเช่นนี้เป็นกรณียกเว้น  (حالة استثناﺌﻴﺔ)   และเป็นการป้องกันการหลั่งเลือด  (อ้างแล้ว  หน้า  682) 

                    อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ของปัตตานีดารุสสลาม  กรณีมีประมุขเป็นสตรีหรือกษัตริยาหลายพระองค์ติดต่อกัน  ก็ดูจะยาวนานจนเกินความจำเป็นอีกทั้งนักวิชาการก็ระบุว่า  นักนิติศาสตร์อิสลามทั้งหมดต่างก็มีมติเป็นเอกฉันท์  (อิจฺญมาอฺ)  ว่า  ตำแหน่งประมุขสูงสุด  (อิมามะฮฺ)  จะไม่มีการสืบทอดเป็นมรดก  (إن الأمامة لاتورث)   (อัลฟัซฺล์  ฟิลมิลัล  วันนิฮัล ; อิบนุ  ฮัซฺมิน  4/167)  ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขของประมุขสูงสุดในรัฐอิสลามอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงก็ได้  หากผู้นั้นสามารถชิงอำนาจในการปกครองเหนือผู้คนทั้งหลายได้สำเร็จ  และการปฏิบัติตามเชื่อฟังประมุขที่ได้อำนาจมาด้วยวิถีทางนี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นตามมา  (อ้างแล้ว  6/683)  ซึ่งก็พอจะรับฟังได้ในกรณีที่เกิดขึ้นในรัฐปัตตานีดารุสสลาม  ทั้งนี้โดยพิจารณาว่าบรรดาเหล่ามนตรี ขุนนาง และแม่ทัพมีสถานะเทียบได้กับสภาที่ปรึกษา  (أهل الشورى)   ซึ่งมีการประชุมหารือและมีมติในการยกเอาสตรีขึ้นเป็นประมุขสูงสุดในการปกครอง กระนั้นนักวิชาการอิสลามก็ยังกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของสภาที่ปรึกษานี้เอาไว้หลายประเด็นอีกเช่นกัน (ดูรายละเอียดในอัลฟิกฮุลอิสลามีย์  ฯ  อ้างแล้ว  6/684-687) 

 

                    การเป็นรัฐอิสลามที่สมบูรณ์ตามระบอบรัฐศาสตร์อิสลามสำหรับกรณีของปัตตานีดารุสสลามจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงรายละเอียดกันต่อไป  และทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นรัฐอิสลามในเชิงรัฐศาสตร์อิสลามเท่านั้น  มิได้มุ่งหักล้างและปฏิเสธข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด  อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะน้อยนักที่จะพูดถึงกันในประเด็นนี้  ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญอยู่มิใช่น้อยในการยืนยันความเชื่อ  ความเข้าใจและความเป็นจริง ที่ระบุถึงปัตตานีดารุสสลามว่าเป็นรัฐอิสลามตามที่เล่าและเขียนสืบกันมาว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด 


วัลลอฮุอะอฺลัม

.

.

.

ที่มา : http://www.alisuasaming.com