การซื้อขายที่ต้องห้าม
  จำนวนคนเข้าชม  41517


สิ่งต้องห้ามในบัญญัติศาสนามี 2 ประเภท


1. สิ่งต้องห้ามที่เป็นวัตถุ เช่น ซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร สิ่งที่น่ารังเกียจ และสิ่งที่สกปรกต่างๆ

2. สิ่งต้องห้ามที่เป็นการกระทำ เช่น ริบา (ดอกเบี้ย) การพนัน การกักตุนสินค้า การทุจริต การค้าขายที่เสี่ยงต่อความหายนะ และอื่นๆ ที่เป็นการอธรรม และกินทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ 

        สิ่งต้องห้ามประเภทแรก เป็นสิ่งที่ขยะแขยงของจิตใจ ส่วนประเภทที่สองเป็นสิ่งที่ชื่นชอบของจิตใจ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่มาสกัดกั้น ห้ามปราม และลงโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำในสิ่งดังกล่าว


การซื้อขายที่ต้องห้าม

          อิสลามได้อนุญาตทุกกิจการที่จะนำมาซึ่งความดี ความเป็นมงคล และเป็นประโยชน์ที่เป็นที่อนุมัติ ขณะเดียวกัน อิสลามได้ห้ามการซื้อขายบางประเภทที่ไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจนและเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือสร้างความสูญเสียต่อพ่อค้าตามท้องตลาด หรือทำให้เกิดความอาฆาตแค้น หรือทุจริตและโกหก หรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสติปัญญา และอื่นๆ ที่เป็นต้นเหตุของความอาฆาตบาดหมางใจ  การโต้เถียง การทิ่มแทงกัน และอันตรายต่างๆ.

          ดังนั้น การซื้อขายดังกล่าวจึงถูกห้ามและถือว่าไม่ถูกต้อง (เป็นโมฆะ) ส่วนหนึ่งของประเภทการซื้อขายที่ต้องห้าม คือการซื้อขายต่อไปนี้

         1- การซื้อขายด้วยการสัมผัสและจับต้อง (มุลามะซะฮฺ) เช่น ผู้ขายกล่าวแก่ผู้ซื้อว่า “ผ้าผืนใดที่ท่านได้จับต้อง มันก็จะเป็นของท่านด้วยราคา 100 บาท” การซื้อขายประเภทนี้ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะมีความไม่ชัดเจนและเสี่ยงต่อความเสียหาย (แฝงอยู่)

          2-  การซื้อขายด้วยการโยน (มุนาบะซะฮฺ) เช่นผู้ซื้อกล่าวแก่ผู้ขายว่า “ผ้าผืนใดที่ท่านโยนมาให้ฉัน มันก็จะเป็นของฉันด้วยราคาเท่านั้นเท่านี้” การซื้อขายประเภทนี้ก็ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะมีความไม่ชัดเจนและเสี่ยงต่อความเสียหาย (แฝงอยู่)

          3- การซื้อขายด้วยการขว้างก้อนกรวด (ฮะศอต) เช่นผู้ขายกล่าวว่า “ท่านจงขว้างด้วยก้อนกรวดนี้ ถ้ามันตกลงบนสินค้าชิ้นใด สินค้านั้นก็จะเป็นของท่านด้วยราคาเท่านั้นเท่านี้” การซื้อขายประเภทนี้ก็ถือว่าเป็นโมฆะเพราะมีความไม่ชัดเจนและเสี่ยงต่อความเสียหาย (แฝงอยู่)

          4- การซื้อขายด้วยการปั่นราคา (นะญัช) คือ การขึ้นราคาสินค้า (การประมูล) โดยผู้ที่ไม่ประสงค์จะซื้อสินค้า การซื้อขายประเภทนนี้ก็ถือว่าต้องห้ามเช่นกัน  เพราะจะทำให้ผู้ซื้อคนอื่นๆได้รับความเสียหาย (จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า) และเป็นการฉ้อโกงพวกเขา

          5- การขายของคนเมืองให้แก่คนชนบท (บัยอุหาฎิร ลิ บาดิน) คือการที่นายหน้า (ซึ่งเป็นชาวเมืองรับสินค้ามาจากชาวชนบท แล้ว) ขายสินค้านั้นด้วยราคาที่สูงกว่าราคารายวัน การขายประเภทนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ผู้ซื้อและสร้างความลำบากแก่พวกเขา แต่ถ้าหากคนชนบทมาหานายหน้าเอง แล้วขอให้นายหน้าช่วยขายหรือซื้อสินค้าให้แก่เขา ถือว่าไม่เป็นไร

          6- การขายสินค้าก่อนที่จะครอบครองอย่างสมบูรณ์ ถือว่าไม่อนุญาต เพราะมันจะนำไปสู่การโต้เถียง ทะเลาะวิวาท และยกเลิกการซื้อขาย โดยเฉพาะเมื่อผู้ขายเห็นว่าผู้ซื้อจะได้กำไรจากสินค้านั้น

         7- การซื้อขายแบบอีนะฮฺ คือ การขายสินค้าหนึ่ง ด้วยการร่นเวลาการจ่ายค่าสินค้าไว้ระยะหนึ่ง (ขายแบบสินเชื่อ) แล้วผู้ขายก็ซื้อสินค้านั้นคืนกลับจากผู้ซื้อด้วยราคาที่ต่ำกว่าด้วยเงินสด ดังนั้นจึงกลายเป็นการซื้อขายสองครั้งให้การตกลงซื้อขายเดียว ซึ่งการซื้อขายประเภทนี้ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามและเป็นโมฆะ เพราะมันจะนำไปสู่ริบา แต่ถ้าหากซื้อกลับหลังจากได้รับเงินค่าสินค้าเรียบร้อยแล้ว หรือหลังจากที่สภาพของสินค้าได้เปลี่ยนไปแล้ว หรือซื้อจากคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ซื้อสินค้าจากตนถือว่าเป็นที่อนุญาต.

         8- การแย่งซื้อแย่งขาย (ซื้อขายตัดหน้ากัน) เช่น การที่บุคคลหนึ่งซื้อสินค้าหนึ่งด้วยราคา 10 บาท และก่อนการซื้อขายจะสมบูรณ์ก็มีอีกคนหนึ่งมาบอกว่า ฉันจะขายสินค้าเหมือนกันนั้นแก่ท่านด้วยราคาเพียง 9 บาท หรือน้อยกว่าที่ท่านซื้อ การซื้อก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งกล่าวแก่ผู้ที่ขายสินค้าหนึ่งด้วยราคา 10 บาทว่า ฉันจะซื้อจากท่านด้วยราคา15 บาทเพื่อที่จะให้เขายกเลิกการขายให้กับคนแรก และขายให้กับเขาแทน การซื้อการขายแบบนี้ถือว่าหะรอม(ต้องห้าม) เพราะมันทำให้เกิดผลเสียหายแก่บรรดามุสลิม และสร้างความโกรธแค้นระหว่างกัน

          9- การซื้อขายหลังจากมีการอะซานครั้งที่สองเพี่อละหมาดวันศุกร์สำหรับคนที่ต้องละหมาดวันศุกร์ ถือว่าเป็นการซื้อขายที่ต้องห้าม(หะรอม) และไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการทำข้อตกลงอื่นๆ (เช่นการ เช่า-จ้าง จำนำจำนอง เป็นต้น)

         10- การซื้อทุกสิ่งที่เป็นสิ่งหะรอม เช่น เหล้า สุกร เจว็ด หรือสิ่งที่นำไปสู่สิ่งต้องห้าม เช่น อุปกรณ์การบันเทิงต่างๆ (เช่น กีตาร์ ฉาบ ฉิ่งเป็นต้น) ถือว่าการซื้อและการขายสิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องห้ามและหะรอม


         ส่วนหนึ่งของการซื้อขายที่ต้องห้ามคือ การซื้อขายแบบ ฮะบะลุล ฮะบะละฮฺ (ขายลูกสัตว์ของลูกสัตว์ที่อยู่ในท้อง)  และการซื้อขายแบบ อัลมะลากีฮฺ หมายถึงขายลูกสัตว์ที่ยังอยู่ในท้องแม่ การซื้อขาย อัลมะฎอมีน หมายถึงสิ่ง(น้ำเชื้อ) ที่ยังอยู่ในสัตว์ตัวผู้ และซื้อขายด้วยการให้อูฐหรือสัตว์ตัวผู้ผสมพันธุ์   เช่นเดียวกับทรัพย์สินที่ได้จากการขายสุนัข แมว ค้าประเวณี ค่าหมอดู การขายสิ่งที่ไม่ชัดเจน การหลอกลวง การขายสิ่งที่ไม่สามารถส่งมอบได้ เช่นขายนกในอากาศ และขายผลไม้ก่อนใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น ทั้งหมดถือว่าเป็นการซื้อขายที่หะรอม

• ถ้าหากบุคคลหนึ่งขายส่วนของตนในสิ่งหนึ่งที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นถือว่าใช้ได้ในส่วนของตน แต่ผู้ซื้อมีสิทธิ์ยกเลิกหากเขาไม่รู้มาก่อน (ว่าเป็นสิ่งที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย)

• บรรดามุสลิมมีสิทธิ์ร่วมกันในสามสิ่งคือ น้ำ หญ้า และไฟ ดังนั้นน้ำฝน น้ำจากตาน้ำ ไม่อาจถือครอง และซื้อขายได้ ตราบใดที่ยังมิได้เอามาครอบครองโดยใส่ในถุงหนัง หรือถังน้ำ เป็นต้น หญ้าก็เช่นกันไม่ว่าจะสดหรือแห้งตราบใดที่มันยังอยู่บนผืนดินเดิมของมันไม่อนุญาตให้ขาย เพราะนี้คือสิ่งที่อัลลอฮฺได้กระจายให้แก่บรรดามัคลูก(สิ่งถูกสร้างทั้งมวล)ของพระองค์ จึงต้องทุ่มเทให้แก่ผู้ที่มีความต้องการมัน และถือว่าหะรอมที่จะกีดกันผู้ใด(จากการใช้ประโยชน์)จากมัน

• ถ้าหากบุคคลหนึ่งได้ขายบ้านของตนถือว่าขายรวมทั้งที่ดินของบ้านทั้งส่วนบนและด้านล้างลึกลงไปและสิ่งที่อยู่ในบ้าน(องค์ประกอบของบ้าน)  และถ้าหากสิ่งที่ขายคือที่ดินถือว่าสิ่งที่อยู่กับมันทั้งหมดรวมเข้าในการขายด้วยยกเว้นเมื่อมีการบอกยกเว้นไว้แล้ว

• ถ้าหากบุคคลหนึ่งขายบ้านโดยคิดว่ามันกว้าง 100เมตร แต่ความจริงปรากฏว่ามันกว้างกว่าหรือแคบกว่านั้นถือว่าการขายถูกต้อง โดยส่วนเกินถือว่าเป็นของผู้ขาย และส่วนที่ไม่ครบผู้ขายต้องรับผิดชอบ  และสำหรับฝ่ายที่ไม่รู้หรือมันทำให้ความต้องการของเขาเสียหายมีสิทธิที่จะยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น

• ถ้าหากมีการรวมระหว่างการขายและการเช่า โดยกล่าวว่า “ฉันขายบ้านหลังนี้ด้วยราคาหนึ่งแสน และฉันให้ท่านเช่ามันด้วยราคาหนึ่งหมื่น” เมื่ออีกฝ่ายตอบว่า “ฉันรับ” ถือว่าการซื้อขายและการเช่าถูกต้องใช้ได้  เช่นเดียวกันถ้าหากเขากล่าวว่า “ฉันขายบ้านหลังนี้ให้แก่ท่าน และฉันให้ท่านเช่ามัน ด้วยราคาหนึ่งพัน ถือว่าใช้ได้ และให้มีการแบ่งราคาระหว่างทั้งสอง(เช่าและซื้อ)ถ้าหากมีความจำเป็น


หุกมการเอาของกำนัล(ของแถม)จากร้านค้าต่างๆ

          ของแถมและรางวัลต่างๆที่บรรดาร้านค้ามอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าของตนที่วางขายถือว่าหะรอม(ต้องห้าม)เพราะมันเป็นการพนัน และยั่วยวนให้คนซื้อสินค้าจากตนมากกว่าผู้อื่นและซื้อสิ่งเขาที่ไม่ได้มีความต้องการ(จำเป็น) หรือหะรอมเพราะมีการซื้อเพียงเพราะหวังในของแถมและทำให้พ่อค้าคนอื่นเดือดร้อน  ของแถมที่เอาก็ถือว่าหะรอมเพราะมันเป็นการพนันที่ศาสนาห้าม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ» 

 ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของซัยฎอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (อัล-มาอิดะห์ อายะฮฺที่ 90)


การซื้อขายวารสารและหนังสือลามกต่างๆ

          วารสารและหนังสือลามก(เผยเอาเราะห์) ที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียและความชั่วต่างๆ รวมทั้งม้วนวิดีโอและเทปที่บันทึกเสียงเพลง เสียงดนตรีและมีรูปภาพผู้หญิงที่ไม่ปกปิดอวัยวะส่วนที่อิสลามห้ามไม่ว่าจะเป็นการร้องรำหรือการแสดง รวมทั้งมีคำที่หยาบคาย คำที่เกี่ยวกับความรักที่เกินขอบเขตที่จะนำพาไปสู่ความตกต่ำ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งหะรอมทั้งการซื้อและการขาย รวมถึงการฟัง การดู การทำการค้าด้วย ซึ่งทรัพย์สินที่ได้มาจะด้วยการขาย ซื้อ หรือเช่าทั้งหมดถือว่าเป็นสิ่งน่าขยะแขยงหะรอมไม่อนุญาตให้เจ้าของใช้ประโยชน์.


หุกุมการทำประกัน การค้า (อัต ตะมีน อัต ติญารีย์)

          อัตตะมีน อัต-ตีญารีย์ เป็นเป็นข้อตกลงที่บริษัทผู้ประกันจำเป็นจะต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ทำประกันตามจำนวนที่ตกลงกันไว้เมื่อเกิดความเสียหายหรือการขาดทุน แลกกับการจ่ายค่าประกันที่ผู้ทำประกันจะต้องจ่าย ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่ต้องห้าม(หะรอม) เพราะเป็นข้อตกลงที่ไม่กระจางชัดและเป็นการโกหหลอกลวง เป็นการพนันประเภทหนึ่ง อีกทั้งเป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิต สินค้า อุปกรณ์ หรืออื่นๆ


          ไม่อนุญาตให้ทำการขายน้ำผลไม้แก่คนที่จะนำไปผลิตเหล้า และไม่อนุมัติให้ทำการขายอาวุธในช่วงสงคราม และไม่อนุมัติขายสัตว์ที่ยังมีชีวิตกับสัตว์ที่ตาย(เชือด)แล้ว


          ทุกการซื้อขายที่มีการผูกกับเงื่อนไขที่ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เป็นหะลาลกลายเป็นหะรอม และสิ่งที่หะรอมกลายเป็นหะลาล ถือว่าเป็นการซื้อขายที่ถูกต้องเป็นผล เช่นคนขายวางเงื่อนไขว่าจะต้องให้ตนได้อาศัยอยู่ในบ้าน(ต่ออีก)หนึ่งเดือน หรือคนซื้อวางเงื่อนไขว่าให้(ผู้ขาย)แบกฟืน(ไปส่ง)หรือผ่าฟืนให้ เป็นต้น.


           ที่ดินที่ทุ่งมินา(มุนา) มุซดะลิฟะฮฺ และอารอฟะห์ เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาเช่นเดียวกับมัสยิดที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมุสลิมทุกคน จึงไม่สามารถที่จะซื้อขายหรือเช่าได้ ใครที่ทำเรื่องเช่นนั้นเขาจะได้เป็นคนทรยศต่อลอัลลอฮฺ เป็นบาป อธรรม และค่าเช่าค่าจ้างที่ได้จากสิ่งเหล่านั้นถือว่าหะรอม


หุกุมการซื้อขายแบบตักซีฏ (การขายผ่อนชำระ)

          การซื้อขายแบบผ่อนชำระเป็นการซื้อขายลักษณะหนึ่งของการซื้อขายแบบเงินเชื่อ (บัยอ. นะสีอะฮฺ) ซึ่งเป็นที่อนุญาต   การซื้อขายเงินเชื่อจะมีกำหนดเวลาในการชำระครั้งเดียว ส่วนการซื้อขายแบบตักซีฏจะมีกำหนดเวลาชำระหลายครั้ง

• อนุญาตให้เพิ่มราคาสินค้าเนื่องจากการยืดเวลาในการชำระหรือการผ่อนชำระ เช่นขายสินค้าหนึ่งด้วยราคาหนึ่งร้อยบาทเมื่อจ่ายเงินสดทันที และขายด้วยราคาหนึ่งร้อยยี่สิบบาทเมื่อจ่ายแบบเงินเชื่อหรือผ่อนชำระ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เพิ่มมากจนเกินควรหรือฉวยโอกาสจากผู้ที่มีความจำเป็น

• การขายแบบเงินเชื่อหรือผ่อนชำระถือว่าเป็นซุนัต หากมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ผู้ซื้อ โดยไม่มีการเพิ่มราคาแทนการยืดเวลาในการชำระ ด้วยเหตุนี้ผู้ขายจะได้รับผลบุญในความดีอันนี้ของเขา  และจะถือว่าเป็นสิ่งมุบาฮฺ (อนุญาต) หากผู้ขายมีเจตนาเพียงต้องการกำไรและการซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น    เขาจึงได้เพิ่มราคาแลกกับการยืดเวลาชำระและให้มีการผ่อนจ่ายตามเวลาที่ได้กำหนด

• ไม่อนุญาตให้ผู้ขายเอาเพิ่มราคาเมื่อผู้ซื้อชำระหนี้ที่เป็นการผ่อนราคาสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด เพราะนั้นถือว่าเป็นริบา(ดอกเบี้ย)ที่ต้องห้าม แต่เขาสามารถทำสินค้าให้เป็นสิ่งจำนำในมือเขาจนกว่าผู้ซื้อจะชำระหนี้ที่เป็นราคาสินค้าทั้งหมดก่อนได้

• เมื่อบุคคลหนึ่งขายที่ดินที่มีต้นอินทผาลัมหรือต้นไม้อยู่ ถ้าหากต้นอินทผาลัมนั้นได้มีการผสมเกสรแล้วหรือต้นไม้นั้นออกผลแล้วถือว่า(ผลไม้นั้น)เป็นของผู้ขาย นอกเสียจากว่าผู้ซื้อวางเงื่อนไขว่าต้องเป็นของตนก็จะเป็นของเขา และถ้าหากต้นอินทผาลัมยังไม่ได้มีการผสมเกสรหรือต้นไม้ยังไม่ได้ออกช่อดอก(ขณะที่ขาย) ก็ให้ถือว่าเป็นของผู้ซื้อ(หากออกดอกหลังจากนั้น)

• การซื้อขายผลอินทผาลัมหรือผลไม้อื่น ๆ ถือว่าการซื้อขายเป็นโมฆะ(ไม่ถูกต้อง) จนกว่าผลของมันจะใช้ประโยชน์ได้(เริ่มสุก) และไม่เป็นที่อนุมัติการซื้อขายพืชพันธุ์ธันยาหาร(ที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นเช่นข้าวเป็นต้น)ก่อนที่เม็ดของมันจะโตเต็มที่ และถ้าหากมีการขายผลไม้ที่ยังไม่แก่เต็มที่พร้อมกันต้นของมันด้วย หรือพืชล้มลุกพร้อมที่ดินก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต หรือมีการขายผลไม้ด้วยมีเงื่อนไขว่าต้องเก็บเกี่ยวทันทีก็ถือว่าเป็นที่อนุญาตเช่นกัน

• หากบุคคลหนึ่งได้ทำการซื้อผลไม้โดยเก็บไว้ที่ต้นจนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวโดยไม่มีชักช้าหรือเกินเลยเมื่อถึงเวลานั้น แต่แล้วมันเกิดมีภัยธรรมชาติ เช่น ลมแรง อากาศหนาวเป็นต้น เป็นเหตุให้ผลไม้นั้นเสียหาย ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกราคาคืนจากผู้ขายได้

• และถ้าหากความเสียหายของผลไม้นั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์ ให้ถือว่าเป็นสิทธิของผู้ซื้อว่า เขาจะให้การซื้อขายนั้นเป็นโมฆะหรือดำเนินต่อไป โดยมีการเรียกร้องค่าความเสียหายจากผู้กระทำผิดแทน


หุกม(บทบัญญัติ)ของการซื้อขายแบบมุฮากอละฮฺ

         คือ การซื้อขายเมล็ดพืชที่แก่แล้วที่ยังอยู่กับต้นโดยการแลกเปลี่ยนกับเมล็ดพืชชนิดเดียวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ถือว่าไม่เป็นที่อนุญาตให้กระทำ เพราะมีการรวมสาเหตุของการต้องห้ามสองประการคือ ความไม่ชัดเจนในปริมาณและคุณภาพ และเกิดดอกเบี้ยเพราะปริมาณของทั้งสองไม่เท่ากันอย่างชัดเจน


หุกมของการซื้อขายแบบมุซาบานะฮฺ

         อัล-มุซาบานะฮฺคือการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลอินทผลัมที่เริ่มสด(ที่ยังอยู่บนต้น)กับผลอินทผลัมแห้ง(ที่เก็บเกี่ยวแล้ว)โดยการตวง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อนุมัติเช่นเดียวกับการซื้อขายแบบมุฮากอละฮฺ(ที่กล่าวมาแล้ว) ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายผลอินทผลัมแห้งด้วยผลอินทผลัมสด(รุฎ็อบ)ที่ยังอยู่บนต้นเพราะมันแฝงด้วยการหลอกลวงและดอกเบี้ย แต่มีการยกเว้นการซื้อขายแบบอะรอยาเพราะเป็นสิ่งจำเป็นโดยการประมาณจำนวนผลอินทผาลัมสดที่อยู่บนต้นแล้วส่งมอบผลอินทผัมแห้งที่เท่ากันโดยมีเงื่อนไขว่าปริมาณของการแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกินห้าเอาซุก(หรือประมาณเจ็ดร้อยกิโลกรัม)  และจะต้องทำการส่งมอบกันทันทีโดยต่างฝ่ายต่างรับกันไปในสถานที่ที่ตกลงซื้อขาย.

• ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายอวัยวะหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ทั้งขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว  แต่ถ้าหากผู้ที่อยู่ในภาวะที่จำเป็น(เช่นผู้ป่วย)ไม่สามารถทำหามันได้(โดยการรับบริจาค)ก็อนุญาตให้เขาซื้อมันได้เพราะความจำเป็นแต่ก็ถือว่าหะรอมสำหรับคนขาย แต่ถ้าหากว่าเขาได้ทำการบริจาคอวัยวะโดยสั่งเสียไว้ให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น(ต้องใช้อวัยวะ)ให้รับไปหลังจากเขาเสียชีวิต แล้วผู้ที่จะรับบริจาคดังกล่าวได้มอบค่าตอบแทนก่อนที่ผู้บริจาคจะเสียชีวิตถืออนุญาตให้เขารับค่าตอบแทนนั้นได้.

• ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายเลือดเพื่อการรักษาและอื่นๆ  แต่ถ้าหากว่ามีจำเป็นเพื่อการรักษาโดยไม่สามารถหาเลือดได้ยกเว้นด้วยการมีสิ่งแลกเปลี่ยน(ซื้อ) ก็ถือว่าอนุญาตให้เอามันมาโดยการแลกเปลี่ยน แต่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับคนขายที่จะรับสิ่งแลกเปลี่ยน(เช่นเงิน)นั้น.

• อัลเฆาะร็อร (การหลอกลวง) คือสิ่งที่มนุษย์ไม่ทราบอย่างชัดเจนและเป็นสิ่งที่ภายของมันเป็นสิ่งแอบแฝงเช่นไม่ทราบว่ามีอยู่หรือไม่ หรือไม่ทราบปริมาณ หรือไม่อาจทราบรายละเอียด หรือไม่อาจส่งมอบได้


หุกมการซื้อขายที่มีการหลอกลวงและการพนันแฝง

          การหลอกลวงและการพนันเป็นการทำธุรกรรมที่เป็นอันตรายนำมาซึ่งความหายนะและเป็นสิ่งต้องห้าม มันทำให้ครอบครัวธุรกิจใหญ่ๆยากจนลง ทำให้คนบางกลุ่มร่ำรวยโดยไม่ต้องออกแรงและอีกกลุ่มยากจนลงโดยไม่ถูกต้อง นำมาซึ่งการฆ่าตัวตาย เป็นสัตรูกัน เกลียดชังกัน และทั้งหมดนี้ก็คือการงานของมารซัยฏอน.

อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า

«إِنَّمَا يُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَن يُوقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاء فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَن ذِكْرِ اللّهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ»

ความว่า “แท้จริงนั้นซัยฎอนเพียงต้องการที่จะทำให้เกิดการเป็นศัตรูกันและการเกลียดชังระหว่างพวกเจ้าในสุรา และการพนัน และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺและการละหมาด และพวกเจ้าจะยุติไหม (ซูเราะห์:อัลมาอีดะฮฺ  อายะฮฺที่: 91)


การขายแบบฉ้อโกง หลอกลวงจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียที่ยิ่งใหญ่ 2 ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก คือการกินทรัพย์สินของผู้อื่นโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง โดยที่ฝ่ายหนึ่งขาดทุนโดยไม่ได้อะไรเลย และอีกฝ่ายได้กำไรโดยไม่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุนเลย พูดอีกในหนึ่งก็คือเพราะมันเป็นสิ่งค้ำประกันและเป็นการพนันนั้นเอง

ประการที่สอง คือการสร้างความเป็นศัตรู และความเกลียดชังกันระหว่างคู่ตกลงซื้อขายทั้งสองฝ่าย พร้อมกับการสร้างความอาฆาตแค้นและการเผชิญหน้ากัน

 มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

สำนักงานเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

ผู้แปล : อิสมาน จารง

Islam House