การบริจาคเพื่อสาธารณะกุศล
  จำนวนคนเข้าชม  30572

การบริจาคเพื่อสาธารณะกุศล

           การวะกัฟ คือ การจำกัดกรอบตัวทรัพย์(แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)และอุทิศผลประโยชน์ของมันให้โดยหวังผลบุญจากอัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่และเกรียงไกร.

วิทยปัญญาในการบัญญัติการวะกัฟ

           คนที่อัลลอฮฺได้ให้ความสะดวกสบายจากบรรดาคนที่ร่ำรวยหรือมีฐานะ อาจต้องการสะสมความดีต่างๆและทำบุญให้มาก พวกเขาก็สามารถนำเอาทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุที่คงทนถาวรและประโยชน์ของมันยืดยาวมาทำการวะกัฟ เพราะเกรงว่าหลังจากที่ตายไปแล้วมันจะตกไปอยู่กับผู้ที่ไม่ดูแลและรักษามันให้ดี ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงบัญญัติการวะกัฟ.

หุก่มของการวะกัฟ

           การวะกัฟถือเป็นสิ่งที่สุนัต และเป็นการบริจาคทานที่ดีที่สุดซึ่งอัลลอฮฺได้ให้การสนับสนุน และถือเป็นการงานที่สร้างความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ การงานที่ดี และกุศลกรรมที่สูงส่งที่สุด มีประโยชน์มากมายมหาศาลและครอบคลุมทั่วถึง เป็นการทำความดีที่มีความต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสายแม้หลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว.

 รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ  กล่าวว่า:

«إذَا مَاتَ الإنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْـهُ عَمَلُـهُ إلَّا مِنْ ثَلاثَةٍ إلَّا مِنْ صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْـمٍ يُنْتَفَعُ بِـهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِـحٍ يَدْعُو لَـهُ». أخرجه مسلم.

ความว่า "เมื่อมนุษย์ได้เสียชีวิต การงานต่างๆ ของเขาก็จะตัดขาด(สิ้นสุดลง) ยกเว้นจากสามสิ่ง(ที่จะไม่ขาด) คือจากการบริจาคทานที่คงถาวร ความรู้ที่ให้ประโยชน์   และจากลูกที่ศอลิหฺ(ที่ดี)ที่คอยขอพรให้แก่เขา" [บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1631]
 
เงื่อนไขที่จะทำให้การวะกัฟถูกต้องเป็นผล

1.  สิ่งที่วะกัฟต้องเป็นทรัพย์สินที่เป็นวัตถุที่รู้แน่นอน  สามรถใช้ประโยชน์ได้พร้อมกับคงรูปโดยไม่หมดสิ้นไป

2.  การวะกัฟต้องเป็นไปในหนทางที่ดี  เช่น  มัสญิด  สะพานหรือเขื่อน  ญาติมิตรและคนยากจน

3.  การวะกัฟจะต้องเจาะจงฝ่ายที่จะรับอย่างชัดเจนแน่นอน  เช่นให้แก่มัสญิดหลังนั้น  หรือเจาะจงตัวบุคคล  เช่น ให้แก่นายซัยดฺเป็นต้น  หรือเจาะจงประเภท  เช่นให้แก่คนยากจน.

4. การวะกัฟต้องเป็นผลทันทีโดยไม่มีการกำหนดเวลาหรือผูกขาดไว้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด(เช่นหากคนนั้นมาฉันจะวะกัฟ..)ยกเว้นการแขวนไว้กับความตายของตัวผู้วะกัฟเอง(คือจะวะกัฟหลังจากที่ตัวเขาตายไปแล้ว)ถือว่าใช้ได้.

5.  ตัวผู้วะกัฟจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำนิติกรรมได้ ( ผู้ที่วากัฟจะต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ )

          การวะกัฟสามารถทำได้ด้วยวาจา  เช่น  การกล่าวว่า : ฉันวะกัฟให้  ฉันยกให้เป็นสาธารณะกุศล , ฉันมอบให้ทาน เป็นต้น และสามารถทำได้ด้วยการกระทำ  เช่น  การก่อสร้างมัสยิดและอนุญาตให้คนเข้าไปละหมาดได้  หรือการสร้างสุสานและอนุญาตให้นำศพไปฝังได้

          จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้วะกัฟวางไว้ เช่นการรวม(ใครบ้าง)เข้าไป หรือ ให้(ใคร)ก่อนหลัง หรือเรียงลำดับ เป็นต้น ตราบใดที่เงื่อนไขนั้นไม่ขัดแย้งกับศาสนา และหากผู้วะกัฟไม่ได้วางเงื่อนใดๆถือว่าให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีหากไม่มันขัดกับหลักศาสนา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน.

          สิ่งที่วะกัฟมีเงื่อนไขว่าจะต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน อาทิเช่น ตึก สัตว์ สวน  อาวุธ  เครื่องใช้ เป็นต้น และสุนัตให้ทำการวะกัฟทรัพย์ที่ดีสุด หรืองามที่สุดในบรรดาทรัพย์ที่มีอยู่. 

วิธีการเขียนการวะกัฟ(จะวะกัฟอย่างไร ?)

รายงานจากท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า : อุมัรได้รับที่ดินที่ค็อยบัรฺ ดังนั้นเขาจึงไปหาท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และกล่าวว่า :

أَصَبْتُ أَرْضاً لَـمْ أُصِبْ مَالاً قَطُّ أَنْفَسَ مِنْـهُ فَكَيْفَ تَأْمُرُنِي بِـهِ؟ قَالَ: «إنْ شِئْتَ حَبَّسْتَ أَصْلَـهَا وَتَصَدَّقْتَ بِـهَا» فَتَصَدَّقَ عُمَرُ أَنَّـهُ لا يُبَاعُ أَصْلُـهَا وَلا يُوْهَبُ وَلا يُوْرَثُ، فِي الفُقَرَاءِ وَالقُرْبَى وَالرِّقَابِ وَفِي سَبِيلِ الله وَالضَّيْفِ وَابْنِ السَّبِيلِ، لا جُنَاحَ عَلَى مَنْ وَلِيَـهَا أَنْ يَأْكُلَ مِنْـهَا بِالمَعْرُوفِ أَوْ يُطْعِمَ صَدِيقاً غَيْرَ مُتَـمَوِّلٍ فِيهِ. متفق عليه

ความว่า ฉันได้ที่ดินหนึ่งที่ฉันไม่เคยได้ทรัพย์สินใดเลยที่มีค่ามากกว่ามัน  ท่านจะให้ฉันทำอย่างไรกับมันดี ? ท่านนบีกล่าวว่า

"ท่านอาจจะทำการเก็บกักตัวมันไว้แล้วทำการบริจาคผลประโยชน์ของมันเป็นทานกุศล”

ดังนั้นท่านอุมัรก็ได้ทำการบริจาค โดยที่ตัวที่ดินจะไม่ถูกขาย หรือยกให้ใคร หรือสืบทอดเป็นมรดก โดยยกประโยชน์ของมันให้แก่คนยากจน ญาติพี่น้อง ทาส และการสู่รบในหนทางของอัลลอฮฺ แขกผู้มาเยือน และคนเดินทางที่ขาดเสบียง และไม่มีปัญหาสำหรับผู้ที่รับผิดชอบดูแลมันที่จะรับประทานประโยชน์ของมันด้วย โดยความชอบธรรม หรือเขาอาจมอบให้แก่เพื่อนของเขาด้วยโดยไม่เป็นการสะสมมันเอามาเป็นทรัพย์สิน 

[บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 2772 ซึ่งคำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1632]

          หากทำการวะกัฟแก่กลุ่มบุคคลที่สามารถนับได้วายิบที่จะต้องมอบให้แก่ทั้งหมด(โดยไม่ยกเว้น) และให้สิทธิเท่าเทียมกัน แต่หากไม่สมารถจะทำอย่างนั้นได้(เพราะมีเหตุจำเป็น)ถือว่าอนุญาตให้แจกแจงรายละเอียด(ของบุคคล)และเจาะจงเฉพาะบางส่วนในกลุ่ม

         หากวะกัฟให้กับบรรดาลูกๆ แล้วหลังจากนั้นให้แก่คนยากจน  ถือว่าผลประโยชน์ของสิ่งนั้นเป็นของบรรดาลูกๆ ทั้งลูกชายและลูกผู้หญิง และลูกๆของพวกเขา(หลาน) รวมถึงแหลนๆและผู้สืบเชื่อสายรุ่นต่อๆไป โดยที่ลูกที่เป็นชายผู้จะได้รับส่วนแบ่งเป็นสองเท่าของลูกผู้หญิง และหากพวกเขาบางส่วนมีครอบครัวหรือมีความจำเป็นหรือไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ หรืออาจเจาะจงสำหรับผู้ที่มีความเครงครัดในศาสนาเป็นคนดีมีศิลธรรม การวะกัฟโดยเจาะจงคนเหล่านั้นก็ถือว่าใช้ได้.

          หากผู้วะกัฟกล่าวว่า “สิ่งนี้วะกัฟให้แก่ลูกๆของฉันที่เป็นชาย หรือบรรดาลูกชายของคนๆนั้น ถือว่าได้เฉพาะลูกที่เป็นชายเท่านั้นไม่รวมลูกหญิง ยกเว้นหากผู้ที่ถูกวะกัฟให้เป็นเผ่า เช่นเผ่า(บะนี)ฮาชิม เป็นต้น ถือว่าผู้หญิงก็ครอบคลุมเข้าไปกับผู้ชายด้วย(เพราะคำว่าบะนีในที่นี้ไม่ได้แปลว่าลูกชายเท่านั้นแต่แปลว่าเผ่า)

หุก่มเมื่อสิ่งที่วะกัฟมิอาจใช้ประโยชน์ได้

           การวะกัฟเป็นข้อตกลงที่ผูกมัดไม่อนุญาตให้มีการยกเลิก ขาย ยกให้ สืบทอดเป็นมรดก หรือนำไปจำนำจำนอง ดังนั้นหากผลประโยชน์ของมันเกิดขัดข้องอาจเป็นเพราะสิ่งวะกัฟเกิดชำรุดเสียหายเป็นต้น ถือว่าวายิบที่จะต้องขายมันไป แล้วนำราคาของมันไปบริจาคในสิ่งที่เหมือนกัน เช่นหากมัสยิดหนึ่งเกิดใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็ให้ขายแล้วนำเงินไปให้มัสยิดอื่นทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของการวะกัฟไว้ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวจะไม่เกิดผลเสีย หรืออันตรายแก่ใครๆ.

หุก่มการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของสิ่งที่วะกัฟ

           สุนัตให้มีการเปลี่ยนแปลงบูรณะรูปลักษณ์ของสิ่งวะกัฟเมื่อผลประโยชน์ของมันเกิดขัดข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ เช่นเปลี่ยนบ้านให้เป็นร้านค้า เปลี่ยนสวนให้เป็นบ้าน โดยค่าใช้จ่ายสิ่งวะกัฟให้เอามาจากผลประโยชน์ของมัน ยกเว้นหากมีการวางเงื่อนไขให้เอาจากแหล่งอื่น และอนุญาตให้ขัดกับเนื้อหาคำกล่าวของผู้วะกัฟเพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า ดีกว่า หรือตรงตามความประสงค์ของอัลลอฮฺมากกว่า.

ผู้จัดการและบริหารการวะกัฟ

          ถ้าหากผู้ที่วากัฟไม่ได้ระบุผู้ที่จะดูแลสิ่งวะกัฟ ถือว่าการดูแลนั้นจะตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกวะกัฟให้หากเป็นบุคคล แต่ถ้าหากวะกัฟให้กับองค์กร เช่นมัสญิด หรือเป็นบุคคลที่ไม่อาจจำกัดได้ เช่นคนยากจน ถือว่าการดูแลรักษาเป็นหน้าที่ของศาลหรือผู้มีอำนาจปกครอง.

สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในการวะกัฟ

          การวะกัฟที่ประเสริฐที่สุดคือสิ่งผลประโยชน์ของมันครอบคลุมบรรดาคนมุสลิมในทุกยุคทุกสมัยและสถานที่  เช่น  การวะกัฟให้แก่มัสญิด  สถานศึกษา  นักศึกษา ผู้ที่ทำการญิหาดในหนทางของอัลลอฮฺ  เครือญาติ  คนยากจน  และผู้อ่อนแอในหมู่มุสลิมเป็นต้น.

          การวะกัฟนั้นเป็นสิ่งถาวรที่อนุญาตให้มอบให้คนอื่นทำการทำนุบำรุงพัฒนา(นำไปบริหาร)โดยใช้ทุนทรัพย์ของคนๆ นั้นแล้วนำกำไรมาแบ่งกัน(ระหว่างผู้รับวะกัฟกับผู้ที่เอาไปบริหาร).


มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

ที่มา : มุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

แปลโดย : อิสมาน จารง