การต่อสู้กับจิตใจและอารมณ์ของตัวเอง
  จำนวนคนเข้าชม  10824

การต่อสู้กับจิตใจและอารมณ์ของตัวเอง

มีรายงานจากท่านชัดด๊าด บุตรของเอาส์(อบูยะอฺลา)ว่า : ท่านรอซูล กล่าวว่า :


          “ผู้ที่มีสติปัญญานั้นคือผู้ที่สอบสวนตัวของเขาเอง และกระทำความดีเพื่อชีวิตหลังจากความตาย(อาคิเราะห์) และผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญานั้น คือผู้ที่คล้อยตามอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำของตนเอง และหวังที่จะได้สิ่งต่างๆจากอัลเลาะห์”

บันทึกโดยอิมามอัตติรมิซีย์

ประวัติผู้รายงานฮะดีษ

          ผู้รายงานฮะดีษบทนี้คือ ท่าน ชัดด๊าด บินเอาสฺ ผู้มีฉายาว่า “อบูยะอฺลา” ท่านเป็นซอฮาบะห์ผู้สูงส่ง เป็นชาวอันศอร และเป็นหนึ่งในบรรดาวีรบุรุษอิสลามที่กล้าหาญชาญชัย ท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ นครมาดีนะห์

          ท่านชัดด๊าด บิน เอาวสฺ เป็นผู้ที่มีความรู้ และแคร่งครัดในการทำอิบาดะห์ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความสุขุมรอบคอบ และเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวาง มีอัธยาศัยดี เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ท่านเป็นหลานชายนักกวีผู้หนึ่งที่มื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น คือ ท่าน ฮัซซาน บุตร ซาบิต

          ท่านชัดด๊าด บิน เอาสฺ เสียชีวิต ณ บัยตุลมักดิส(เมืองเยรูซาเล็ม) ปีฮิจเราะหฺศักราชที่ 58 ด้วยวัย 75 ปี หลุมฝังศพของท่านยังคงอยู่ที่หน้าประตูอัรเราะห์มะห์จนกระทั่งปัจจุบัน

          ขออัลเลาะห์ทรงพอพระทัยท่านด้วยเถิด

คำอธิบายฮะดีษ

          ในฮะดีษบทนี้ ท่านรอซูล ได้ให้โอวาทและคำชี้นำอันสูงส่ง ด้วยสำนวนที่แสดงออกซึ่งการอบรมบ่มนิสัยอันดีงาม ท่านได้วางแนวทางของการที่จะเป็นบุคคลที่ดีเลิศ และได้วางรากฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิดสังคมที่มีความสูงส่ง และประเสริฐ มีแต่ความสงบสุข ความสบาย และความรักใคร่ปรองดองกันและกัน

          และจากคำพูดของท่านรอซูล สั้นๆตรงนี้เอง ท่านได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ :

1.       ประเภทที่รู้ถึงเป้าหมาย และจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตในโลกดุนยา บุคคลประเภทนี้จะมีความขยัน หมั่นเพียร และต่อสู้กับสิ่งต่างๆ อีกทั้งยังคอยสอบสวนตัวเขาเองจากการงาน(อามั้ล) ที่เขาได้กระทำไป เขาจะเตือนตนเองอยู่เสมอให้ออกห่างจากความชั่ว และพยายามผลักดันตนเองให้ปฏิบัติแต่คุณงามความดี เพื่อให้ฐานะของตนเองสูงส่งและสมบูรณ์ กลุ่มชนเหล่านี้แหละ คือกลุ่มชนที่ดีเลิศ และมีความประเสริฐที่สุด
 

         ผู้มีสติปัญญาเหล่านี้รู้ถึงเคล็ดลับของการมีชีวิตในโลกดุนยา จึงตระเตรียมเสบียงต่างๆในดุนยาเพื่อโลกอาคิเราะห์ของพวกเขา พวกเขาจะยืนหยัดในสิ่งที่อัลเลาะห์ได้กำหนดไว้ และจะหักห้ามอวัยวะต่างๆของเขาจากสิ่งที่เป็นบาป และจากสิ่งที่จะทำให้ประสบกับความหายนะ พวกเขาจะออกห่างจากสิ่งที่อัลเลาะห์ ทรงห้าม และไม่ปฏิบัติตามอารมณ์ความต้องการของตัวเอง พวกเขาจะมองดูโลกดุนยาอย่างผู้ที่มีสายตาอันเฉียบคมด้วยสติปัญญา และด้วยการไตร่ตรอง พวกเขามั่นคงไม่มีสิ่งใดทำให้ความมุ่งมั่นของพวกเขาสั่นคลอน

          พวกเขาเหล่านี้ตระหนักดีถึงความต่ำต้อยและไม่จีรังยั่งยืนของโลกดุนยานี้ จึงมุ่งหน้าสู่โลกอาคิเราะห์ด้วยความซื่อสัตย์ และด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความศรัทธา(อีมาน) อันแรงกล้า และความเชื่อมั่นอย่างจริงจัง พวกเขาทุ่มเทตัวของพวกเขาในการภักดี(ฏออะห์)ต่ออัลเลาะห์ แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุนี้เองเขาเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่มีความสุข และความสบายในโลกอาคิเราะห์

2.        ประเภทที่ตีความผิดไม่เข้าใจถึงสาเหตุการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาในโลกดุนยา จึงทำให้พวกเขาเหล่านั้นคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ และความปรารถนาของพวกเขา ใช้ชีวิตในดุนยาเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง โดยคิดไปว่าดุนยาคือชีวิตที่แท้จริง และยั่งยืน พวกเขาเอาแต่ตักตวงหาความสุข ความสบาย มีชีวิตอยู่เพื่อกิน ดื่ม และตอบสนองความใคร่ของตนเท่านั้น

มีกวีบทหนึ่งกล่าวว่า :

          “แท้จริงดุนยานั้นคือ อาหาร เครื่องดื่ม และที่หลับนอน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ขอกล่าวสลาม(อำลา)โลกนี้ดีกว่า”

          พวกเขาเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำ และเป็นทาสของตัณหาราคะ เหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน

ดังที่อัลเลาะห์ ตรัสไว้ว่า :

          แท้จริงอัลลอฮ.จะทรงให้บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายเข้าสู่สวนสวรรค์หลากหลาย ณ เบื้องล่างสวนสวรรค์มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นพวกเขาจะหลงระเริงและกินเยี่ยงปศุสัตว์กัน และไฟนรกคือที่พำนักของพวกเขา
(มุฮัมหมัด 47 : 12)

และดังที่อัลเลาะห์ตรัสไว้ว่า :

          หรือเจ้าจะคิดว่า ส่วนใหญ่ของพวกเขาจะได้ยินหรือใช้สติปัญญา พวกเขามิใช่อื่นใดดอก นอกจากเป็นเช่นปศุสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังจะหลงทางเสียอีก

(อัลฟุกอน 25 :44)

          บุคคลประเภทนี้ยังมีความหวัง และความปรารถนาที่จะได้รับความเมตตาจากอัลเลาะห์ ทั้งๆที่พวกเขามิได้ปฏิบัติอะไรไว้เพื่อโลกอาคิเราะห์เลย พวกเขามิได้คำนึงถึงอนาคตหรือบั้นปลายชีวิตของพวกเขา พวกเขาเหล่านี้ได้ทำเกินเลยขอบเขตที่อัลเลาะห์ทรงกำหนด พวกเขาทำร้ายตัวของพวกเขาเอง และทำให้ตัวของพวกเขาต้องประสบกับความหายนะ ชนเหล่านี้แหละ คือผู้ที่ขาดทุนอย่างใหญ่หลวง

สาระที่ได้รับจากฮะดีษนี้

1. ฮะดีษนี้ส่งเสริมให้ทบทวน และสอบสวนตัวเองอยู่เสมอ
2. ผู้ที่มีสติปัญญา คือผู้ที่สามารถควบคุมตนเองมิให้คล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ
3. ผู้ที่คล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ คือผู้ที่ขาดทุนอย่างแท้จริง
4. ส่งเสริมให้กระทำความดีเพื่อโลกอาคิเราะห์
5. อย่างหวังแต่เพียงลมๆแล้งๆโดยไม่ขวนขวาย และแสวงหาด้วยตนเอง
6. โลกดุนยามิได้เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้าย หากแต่เป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงควรสะสมความดีเอาไว้ให้มากๆ


โดย : อาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์