อัช-ชะริกะฮฺ (การลงหุ้นส่วน)
  จำนวนคนเข้าชม  19929

อัช-ชะริกะฮฺ (การลงหุ้นส่วน)

มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

หนังสือมุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮิล อิสลามีย์


          อัช-ชะริกะฮฺ คือการมีกรรมสิทธิ์หรือบริหารจัดการ(ในทรัพย์สิน)ร่วมกันระหว่างคนสองคนหรือมากกว่านั้น


เหตุผลของการบัญญัติการลงหุ้นส่วน

          การหุ้นส่วนเป็นความดีงามของอิสลามประเภทหนึ่ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะได้รับความบะเราะกะฮฺ(ความจำเริญ) และการเพิ่มพูนของทรัพย์สิน ตราบที่ดำเนินอยู่บนความเที่ยงธรรมและซื่อสัตย์ ประชาชาติจำเป็นการมีหุ้นส่วนกัน โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการเพียงคนเดียว เช่น โครงการการอุตสาหกรรม เคหะกรรม พาณิชยกรรม และเกษตรกรรม เป็นต้น


หุก่มของการลงหุ้นส่วน

           การหุ้นส่วนเป็นทำสัญญาข้อตกลงที่อนุญาตให้กระทำ ทั้งกับชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม อนุญาตให้มีหุ้นส่วนร่วมกับคนต่างศาสนิกโดยมีเงื่อนไขว่าชนต่างศาสนิกทีเป็นหุ้นส่วนต้องไม่บริหารจัดการเพียงลำพังโดยปราศจากหุ้นส่วนชาวมุสลิมร่วมบริหารอยู่เคียงข้าง เพราะอาจจะไปเกี่ยวพันกับสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม เช่น ดอกเบี้ย  การฉ้อโกง และทำธุรกรรมในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม เช่น เหล้า สุกร และเจว็ด เป็นต้น  อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

ความว่า "และแท้จริงส่วนมากของผู้มีหุ้นส่วนร่วมกัน บางคนในพวกเขามักละเมิดสิทธิของอีกคนหนึ่ง เว้นแต่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบความดีทั้งหลาย และพวกเขาเช่นนี้มีน้อย" (ศอด 24)


ประเภทของการหุ้นส่วน

     1. หุ้นส่วนในกรรมสิทธิ์ คือ การมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินใดๆ ตั้งแต่สองคนขึ้นไป เช่นการมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในอาคารที่พัก โรงงาน รถยนต์ เป็นต้น และไม่อนุญาตให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดำเนินการใดๆ นอกจากจะได้รับการยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อมีการดำเนินการ (ก่อนได้รับความเห็นชอบจากอีกฝ่าย) การดำเนินการนั้นจะมีผลเฉพาะในส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ยกเว้นเมื่ออีกฝ่ายยินยอมด้วยจึงจะถือว่ามีผลต่อทรัพย์ทั้งหมด

     2. การหุ้นส่วนโดยข้อตกลง คือ การหุ้นส่วนร่วมกันในการบริหารจัดการ เช่น ในการซื้อ การขาย การให้เช่า-จ้าง เป็นต้น ซึ่งมีหลายประเภทดังนี้

          2.1 การหุ้นส่วนแบบอินาน (ร่วมลงทุนและดำเนินการ) คือ การหุ้นส่วนกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้แรงและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายที่รู้แน่นอน แม้จะมีจำนวนที่ต่างกันก็ตาม เพื่อร่วมกันทำงานบริหารทรัพย์นั้น หรือทำงานเพียงคนใดคนหนึ่ง โดยจะได้รับส่วนแบ่งของกำไรที่มากกว่า  การหุ้นส่วนนี้มีเงื่อนไขว่า ต้นทุนนั้นต้องรู้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสินค้าที่มีการตีราคา กำไรและขาดทุนจะเกิดขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนทุนทรัพย์ของแต่ละคนตามที่ได้วางเงื่อนไขและตกลงกันไว้

          2.2 การหุ้นส่วนมุฎอรอบะฮฺ (ร่วมลงทุนอย่างเดียว) คือการที่หุ้นส่วนคนหนึ่งได้มอบต้นทุนให้แก่หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งเพื่อนำไปทำการค้าโดยกำหนดกำไรที่แน่นอนแต่ไม่กำหนดว่าจากส่วนไหน เช่น เศษหนึ่งส่วนสอง เศษหนึ่งส่วนสาม เป็นต้น และส่วนที่เหลือก็เป็นของอีกฝ่าย ถ้าหากมีการขาดทุนหลังจากดำเนินการแล้วก็เอาส่วนกำไรมาชดเชยต้นทุน ส่วนฝ่ายที่ดำเนินการไม่ต้องชดใช้ใดๆ และถ้าหากทรัพย์เกิดเสียหายโดยที่ไม่ได้ล่วงละเมิดหรือประมาทเลินเล่อ ฝ่ายที่ดำเนินการไม่ต้องชดใช้เช่นกัน ฝ่ายดำเนินการถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ (อะมานะฮฺ) ในการถือทรัพย์สิน เป็นตัวแทนในการบริหารจัดการ ได้รับค่าจ้างในการทำงาน และเป็นหุ้นส่วนในผลกำไร

          การล่วงละเมิด หมายถึง การกระทำใดๆที่ไม่เป็นที่อนุญาตให้กระทำในการบริหารจัดการ  ส่วน การประมาทเลินเล่อ หมายถึง การละเลยในสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ

     3. การหุ้นส่วนแบบวุญูฮฺ (เกียรติ) คือ การที่ทั้งสองฝ่ายซื้อสินค้าด้วยสินเชื่อ ด้วยเครดิตของทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายไม่มีเงินทุนแต่อย่างใด เพราะอาศัยความน่าเชื่อถือของบรรดาพ่อค้าที่มีต่อทั้งสอง ดังนั้น กำไรที่ได้จะถูกแบ่งระหว่างทั้งสองฝ่าย ทุกฝ่ายถือว่าเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่กัน  และกรรมสิทธิ์ก็เป็นของทั้งสองตามที่ทั้งสองได้วางเงื่อนไขไว้ การขาดทุนก็เป็นไปตามสัดส่วนของกรรมสิทธิ์ทั้งสอง และกำไรก็จะถูกแบ่งตามเงื่อนไขที่ทั้งสองได้ตกลงและความยินยอมกัน

     4. การหุ้นส่วนแบบอับดาน (ร่างกาย) คือ การหุ้นส่วนร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในสิ่งที่ทั้งสองแสวงหาด้วยแรงกายของทั้งสอง จากการงานที่ศาสนาอนุญาต เช่น การหาฟืน และงานหัตถกรรมและอาชีพทุกประเภท และสิ่งที่อัลลอฮฺประทานริสกีให้แก่ทั้งสองจะเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้งสองฝ่ายตามที่ได้ตกลงกันไว้และพอใจกัน

     5. การหุ้นส่วนแบบมุฟาวะเฎาะฮฺ (มอบอำนาจ) คือ การที่หุ้นส่วนทั้งหมดมอบหมายให้แก่หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งมีอำนาจบริหารจัดการทุกอย่าง ทั้งด้านทรัพย์สินและแรงงานจากการหุ้นส่วนแบบต่างๆ ด้านสิทธิการซื้อและขาย นั้นก็คือการรวมระหว่างการหุ้นส่วนทั้งสี่ประเภทที่ผ่านมา โดยกำไรจะเป็นของทั้งสองฝ่ายตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ และการขาดทุนก็จะเกิดขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนกรรมสิทธิ์ในหุ้นส่วนของแต่ฝ่าย


ประโยชน์ของการหุ้นส่วน

          การหุ้นแบบอีนาน มุฎอเราะบะฮฺ วุญูฮฺ และอับดาน ถือเป็นแนวทางการพัฒนาและเพิ่มพูนทรัพย์สินที่ดีที่สุด เกิดประโยชน์แก่ประชาชาติ และผดุงความยุติธรรม

          การหุ้นส่วนแบบอินานคือการหุ้นทั้งทรัพย์สินและแรงงานจากทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน มุฎอเราะบะฮฺคือการหุ้นที่ทรัพย์สินมาจากฝ่ายหนึ่งและการทำงานมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง และอับดานคือการหุ้นที่เป็นแรงงานจากทั้งสองฝ่าย (โดยไม่มีทรัพย์สินเป็นทุน) ส่วนอัลวุญูฮฺคือการหุ้นส่วนที่ทั้งสองได้มาโดยอาศัยเครดิตหรือความน่าเชื่อถือของผู้คน

          การหุ้นส่วนและการทำธุรกรรมเฉกเช่นประเภทต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ไม่ปลอดจากดอกเบี้ยที่เป็นความอยุติธรรมและกินทรัพย์สินผู้อื่นโดยมิชอบ  และเป็นการขยายกรอบแห่งการแสวงหารายได้ภายในขอบเขตที่ศาสนาอนุญาต ด้วยเหตุนี้ ศาสนาอิสลามจึงอนุญาตให้มนุษย์แสวงหารายได้โดยส่วนตัว หรือโดยการมีหุ้นส่วนกับผู้อื่นตามที่ศาสนากำหนด


หุก่มการใช้ชื่อบุคคลในธุรกิจการค้า

          เมื่อบริษัทต่างชาติได้ทำข้อตกลงกับพลเมืองของประเทศหนึ่ง ว่าจะใช้ชื่อและเครดิตของพลเมืองคนนั้น โดยบริษัทไม่ได้เรียกร้องทรัพย์สินหรือการทำงานใดๆ จากพวกเขา แต่บริษัทจะมอบเงินจำนวนหนึ่งหรือส่วนแบ่งในกำไรจำนวนเป็นการทดแทน การกระทำเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นที่อนุญาต และข้อตกลงที่ได้ทำไว้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยการโกหก ฉ้อฉล หลอกลวงและเสียหาย และการหุ้นส่วนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเขา


แปลโดย : อิสมาน จารง

Islam House