บทลงโทษในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  52608

 

 

บทลงโทษในอิสลาม


           กฏหมายอิสลามได้แบ่งความผิดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ความผิดหุดู๊ด ความผิดกิศ๊อศและความผิดตะอ์ซีร

          ความผิดหุดู๊ด หมายถึงความผิดที่มีบทลงโทษกำหนดไว้ในอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของนะบีมุฮัมมัด โดยทั่วไปจะบังคับใช้กับความผิดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า

          ความผิดกิศ๊อศ หมายถึงความผิดที่มีบทลงโทษสำหรับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาและทำร้ายร่างกายโดยเจตนา

          ความผิดตะอ์ซีร หมายถึงบทลงโทษที่อยู่ในดุลพินิจของศาลสำหรับความผิดซึ่งไม่มีบทลงโทษที่ถูกบัญญัติเอาไว้ ดังนั้นบทลงโทษตะอ์ซีร จึงไม่รวมความผิดที่มีบทลงโทษที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ดีบทลงโทษตะอ์ซีรอาจเป็นบทลงโทษเพิ่มเติมของความผิดหุดู๊ด แต่ไม่อาจไปทดแทนที่บทลงโทษที่ถูกกำหนดไว้แล้ว


ความผิดหุดู๊ด

           ความผิดหุดู๊ด ในกฏหมายอาญาอิสลามมี 6 ประเภท คือ 1) ความผิดฐานลักทรัพย์2) การปล้นทรัพย์ 3) ความผิดฐานดื่มสิ่งมึนเมา 4) ความผิดฐานพ้นศาสนา 5) การผิดประเวณี 6) การกล่าวหาผู้บริสุทธิ์ว่าผิดประเวณี


1. ความผิดฐานลักทรัพย์

           อัลกุรอานได้บัญญัติให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานลักทรัพย์ทั้งชายและหญิงด้วยการตัดมือทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษจากอัลลอฮ์

(อัลกุรอาน 5:38)

          เงื่อนไขของความผิดฐานลักทรัพย์ก็เหมือนกับความผิดฐานอื่นๆ คือผู้กระทำผิดต้องบรรลุศาสนภาวะแล้ว และเป็นบุคคลปกติในขณะที่กระทำความผิด ตลอดจนกระทำความผิดโดยเจตนาปราศจากการบังคับของบุคคลใด นอกจากนั้นทรัพย์สินที่ถูกลักมานั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์และมีค่าครบตามที่กำหนดไว้ (นิศอบ)

          นักกฏหมายอิสลามเห็นพ้องต้องกันว่า เงื่อนไขสำคัญของความผิดฐานลักทรัพย์ที่มีบทลงโทษหุดู๊ด นั้นมีดังต่อไปนี้

1. ผู้กระทำความผิดได้เอาทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างลับๆ จากสถานที่เก็บรักษาทรัพย์ (หิรซ์)

2. ทรัพย์สินที่ถูกลักต้องมีค่าครบตามที่ชะรีอะฮ์ได้กำหนดไว้ (นิศอบ)

3. ผู้กระทำผิดต้องไม่เป็นเจ้าของหรือเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ได้ลักมา และทรัพย์สินนั้นต้องเป็นของปัจเจกบุคคล

4. ผู้กระทำผิดลักทรัพย์โดยเจตนาปราศจากการบังคับของผู้อื่น

5. ทรัพย์สินที่ถูกลักต้องอยู่ในความครอบครองของบุคคล


2. ความผิดฐานปล้นทรัพย์ (หิรอบะฮ์)

           ความแตกต่างระหว่างความผิดลักทรัพย์และความผิดฐานหิรอบะฮ์ก็คือ การลักทรัพย์ หมายถึงการเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นอย่างลับๆ ในขณะที่ความผิดหิรอบะฮ์หมายถึงการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างเปิดเผยโดยใช้กำลัง ส่วนเงื่อนไขสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ที่มีบทลงโทษหุดู๊ด สามารถใช้กับความผิดหิรอบะฮ์ที่มีบทลงโทษหุดู๊ด ได้เช่นเดียวกัน เช่น ทรัพย์สินต้องอยู่ในความครอบครอง ต้องครบตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้ (นิศอบ) ผู้กระทำผิดแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินที่ลักมาอย่างเท่าเทียมกัน ทรัพย์สินที่ถูกลักต้องมีค่าในทัศนะของชะรีอะฮ์ ทรัพย์สินต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคล และผู้กระทำผิดไม่มีสิทธิหรือเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินดังกล่าว ส่วนบทลงโทษของความผิดฐานนี้มี 4 ชนิด ได้แก่

1) ประหารชีวิต 2) การตรึงบนไม้กางเขน 3) ตัดมือและเท้าสลับข้าง 4) เนรเทศ

(5:33-34)

     และการเลือกบทลงโทษที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิดเป็นดุลพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือศาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของความผิด


3. ความผิดฐานดื่มสิ่งมึนเมา

 อัล-กุรอานห้ามการดื่มสิ่งมึนเมาโดยบัญญัติมีใจความว่า

 “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าได้รับความสำเร็จ” (อัลกรอาน 5: 90)

           นอกจากนี้ นะบีมุฮัมมัด ยังได้กล่าวอีกว่า "สิ่งมึนเมาทุกชนิดเป็นสิ่งต้องห้าม" นักกฏหมายอิสลามส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่าเครื่องดื่มทุกชนิดที่ทำให้มึนเมาถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะดื่มมากน้อยเพียงไร และเกิดอาการมึนเมาหรือไม่ และไม่คำนึงว่าเครื่องดื่มนั้นจะทำมาจากสิ่งใด

           ส่วนบทลงโทษของความผิดฐานดื่มสิ่งมึนเมานั้นคือการโบยจำนวนแปดสิบที ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของของท่านอุมัร อิบนุ อัลค็อฏฏอบ เคาะลีฟะฮ์คนที่สอง เมื่อคอลิด อิบนุวะลีดได้รายงานให้แก่ท่านทราบว่าประชาชนกำลังหมกมุ่นกับการดื่มสิ่งต้องห้ามอย่างหนัก ดังนั้นท่านอุมัรจึงได้ปรึกษาหารือกับบรรดาเศาะฮาบะฮ์ และได้รับคำแนะนำว่าให้เพิ่มบทลงโทษโดยการโบยผู้กระทำผิดจำนวนแปดสิบที จากเดิมสี่สิบที


4. ความผิดฐานพ้นจากศาสนา

          เมื่อมุสลิมละทิ้งศาสนาอิสลามจะมีความผิดฐานพ้นจากศาสนา ความผิดฐานพ้นจากศาสนาจะเกิดขึ้นกับมุสลิมเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยการกระทำ เช่น การบูชาเจว็ด หรือดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ เป็นต้น หรือปฏิเสธความเชื่อ หรือไม่ยอมรับปฏิบัติตามหลักการอิสลาม เช่นความเชื่อในวันปรโลก (กิยามะฮ์) ไม่ยอมรับการละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือดูหมิ่นศาสนาอิสลามและหลักคำสอน หรือเชื่อในสิ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม เช่น เชื่อการเป็นนิรันดร์ของจักรวาลและเชื่อว่าจักรวาลนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

          แต่มุสลิมจะไม่พ้นจากศาสนาด้วยการปฏิบัติหรือมีความเชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญตามหลักคำสอนของอิสลาม และมุสลิมจะไม่พ้นจากศาสนาในกรณีที่ปฏิเสธหรือเชื่อในประเด็นที่บรรดามัซฮับหรือสำนักคิดทางกฏหมาย   อิสลามมีความเห็นแตกต่างกัน ดังนั้นนักกฏหมายอิสลามให้ทัศนะว่าจะต้องเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่พ้นจากศาสนาในการอธิบายความหมายของคำหรือประโยคที่เขาได้กล่าวออกมาและทำให้เขาพ้นจากศาสนาอิสลาม

          ส่วนบทลงโทษฮัดของความผิดฐานพ้นจากศาสนาคือการประหารชีวิตหลังจากที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้กระทำความผิดสำนึกบาป ดังที่นะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า "จงฆ่าผู้(มุสลิม) ที่ละทิ้งศาสนาของเขา" นักกฏหมายอิสลามส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่าการประหารชีวิตเป็นบทลงโทษของความผิดฐานพ้นจากศาสนาไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ส่วนนักกฏหมายอิสลามส่วนน้อยให้ทัศนะว่าผู้ที่พ้นจากศาสนาที่เป็นหญิงไม่ต้องรับโทษฮัด แต่นางจะถูกจำคุกหรือจนกว่าจะสำนึกผิด โดยอ้างหะดีษที่นะบีมุฮัมมัด สั่งมิให้ฆ่าหญิงที่มิใช่มุสลิมในระหว่างสงคราม


5.ผิดประเวณี (ซินา)

           “ซินา” หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วยความยินยอมระหว่างชายหญิงที่มิได้สมรสกันตามศาสนบัญญัติ นักกฏหมายในปัจจุบันให้คำจำกัดความของ “ซินา” ว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ไม่มีความสัมพันธ์สมรสตามกฏหมาย การซินาเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลาม ดังที่อัลลอฮ์ทรงห้ามมิให้เข้าใกล้การผิดประเวณีเพราะ แท้จริงมันเป็นการลามกและทางอันชั่วช้า

(อัลกุรอาน17: 32)

บทลงโทษของความผิดซินาเป็นไปตามอายะฮ์อัล-กุรอานที่มีใจความว่า

          “หญิงผิดประเวณี และชายผิดประเวณี พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนในสองคนนั้นคนละหนึ่งร้อยที และอย่าให้ความสงสารยับยั้งการกระทำของพวกเจ้าต่อคนทั้งสองนั้นในบัญญัติของอัลลอฮ์เป็นอันขาด หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และจงให้กลุ่มหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาเป็นพยานในการลงโทษเขาทั้งสอง”

(อัลกุรอาน 24: 2)

           อายะฮ์ข้างต้นเป็นคำสั่งสำหรับผู้กระทำผิดซินาทั้งที่แต่งงานแล้วและยังไม่แต่งงาน แต่ซุนนะฮ์ของนะบีมุฮัมมัด ได้แยกผู้กระทำผิดที่แต่งงานแล้วออกจากขอบเขตของอายะฮ์ดังกล่าว ดังนั้นอายะฮ์นี้จึงบังคับใช้แก่ผู้กระทำผิดซินาที่ยังไม่ได้แต่งงานเท่านั้น บทลงโทษฮัดของความผิดซินาสำหรับผู้ที่ยังมิได้แต่งงานคือ การโบยจำนวนหนึ่งร้อยที และเนรเทศเป็นเวลาหนึ่งปี นอกจากนั้น อิมามมาลิกได้ยกเว้นบทลงโทษของการเนรเทศสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นหญิง

          บทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดซินาซึ่งแต่งงานแล้ว คือร็อจม์ กล่าวคือการขว้างปาด้วยก้อนหินจนกระทั่งตาย ตามประวัติศาสตร์ นะบีมุฮัมมัด เคยลงโทษร็อจม์แก่บุคคลสามคนด้วยกัน เป็นบุรุษ 1 คน และสตรี 2 คน ซึ่งทั้งสาม คดี ได้มีการลงโทษตามคำสารภาพของผู้กระทำผิดด้วยความบริสุทธิ์ใจทั้งสิ้น และถือเป็นสุดยอดของการสารภาพผิดของประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ในสังคมที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมเท่านั้น


6. ความผิดฐานกล่าวหาเท็จผู้อื่นในความผิดซินา (ก็อซฟ์)

            ก็อซฟ์ ตามหลักภาษาหมายถึงการกล่าวหา การใส่ร้าย ส่วนความหมายของก็อซฟ์ตามหลักวิชาการคือ การกล่าวหาผู้อื่นที่เป็นมุสลิม บรรลุศาสนภาวะแล้ว และเป็นบุคคลปกติว่าได้กระทำความผิดซินา หรือการที่บิดาปฏิเสธไม่ยอมรับเด็กที่เกิดจากภรรยาว่าเป็นบุตรของตน ส่วนบทลงโทษของความผิดฐานก็อซฟ คือการโบยจำนวนแปดสิบที ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสมีใจความว่า

          “และบรรดาผู้กล่าวโทษบรรดาหญิงบริสุทธิ์ แล้วพวกเขามิได้นำพยานสี่คนมา พวกเจ้าจงโบยพวกเขาแปดสิบที และพวกเจ้าอย่ารับการเป็นพยานของพวกเขาเป็นอันขาด ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ฝ่าฝืน”

(อัลกุรอาน 24: 4)

          นอกจากการโบยแล้ว บทลงโทษสำหรับความผิดฐานก็อซฟฺคือการไม่ยอมรับการเป็นพยานของผู้กระทำผิด นักกฏหมายอิสลามส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่าการเป็นพยานของผู้กระทำผิดจะเป็นที่ยอมรับอีกครั้งถ้าหากเขาลุแก่โทษหรือสำนึกในบาป(เตาบะฮ์) และแก้ไขปรับปรุงตัวเองโดยอ้างหลักฐานอายะฮ์ อัลกุรอานที่บัญญัติมีใจความว่า

“นอกจากบรรดาผู้ลุแก่โทษหลังจากนั้น และพวกเขาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อัลกุรอาน 24: 5)

.

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ

 


 

ความผิดกิศ็อด<<<< Click 

ความผิดตะอ์ซีร >>>>Click