ห้ามก่อความเดือดร้อน
  จำนวนคนเข้าชม  12232

ห้ามก่อความเดือดร้อน

โดย อ.มาลิก โยธาสมุทร

พี่น้องทั้งหลาย

          จงเกรงกลัวอัลลอฮ์  เถิด จงเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ที่เป็นพี่น้องกัน ดังที่พระองค์ทรงตั้งชื่อเรียกพวกเรา จงรัก ชอบ ที่จะให้พี่น้องของท่านได้รับคุณความดี เหมือนกับที่ท่านรัก ชอบจะให้ได้กับตัวท่านเอง จงแจกจ่ายกระจาย คุณความดีออกไปให้กับพี่น้องของท่าน จงปิดกั้นยับยั้งความไม่ดีไม่งาม ตลอดจนความเลวทราม ความชั่วร้ายทั้งมวลมิให้ไปโดน กระทบ หรือเป็นอันตรายต่อพี่น้องของท่าน ดังที่ท่านนะบี ได้กล่าวจากฮะดิษ บทหนึ่ง ซึ่งรายงานโดย อบูสะอี๊ด อัลคุดรีย์ แจ้งว่า ท่านนะบี กล่าวว่า

"อย่าก่อความเดือดร้อนเสียหายให้เพื่อมนุษย์ โดยไม่มีสิทธิ์ ทั้งในร่างกาย เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ลูกหลาน และทรัพย์สินของพวกเขา"

(ฮะดิษฮะซัน)

"ผู้ใดก่อความเดือดร้อน อัลลอฮ์ จะทรงให้เขาได้รับความเดือดร้อน

และผู้ใดทำความลำบากยุ่งยาก อัลลอฮ์ จะทรงให้เขาประสบกับความลำบากยุ่งยาก"

          การก่อความเดือดร้อนกับผู้อื่นนั้น มีอยู่สองอย่าง อย่างแรก คือ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน โดยมิได้มีผลดีแก่ตัวเอง ดังกล่าวนี้เป็นที่ต้องห้าม และเป็นที่น่ารังเกียจ โดยไม่ต้องสงสัย ดังปรากฏในอัลกุรอาน และฮะดิษ กรณีของการก่อความเดือดร้อน ในเรื่องของพินัยกรรม อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า

"ทั้งนี้ ภายหลังจากพินัยกรรม ที่พวกนางได้สั่งเสียไว้ หรือหลังจาก (หัก) หนี้สินนั้น"

(อันนิซาอ์ / 12)

          มีรายงานจาก อบูฮุรอยเราะฮ์ แจ้งว่า แท้จริง ผู้เป็นบ่าวที่ทำการงานด้วยความเชื่อฟัง ปฏิบัติตามอัลลอฮ์ (ฏออะฮ์) มากถึง 60 ปี เมื่อความตายมาถึงเขา แล้วได้ก่อความเดือดร้อนขึ้นในพินัยกรรม เขาจึงต้องเข้านรก แล้วท่านก็ยกอัลกุรอานที่ว่า

"นั่นแหละ คือ ขอบเขต ของอัลลอฮ์"  จนกระทั่งถึงดำรัสที่ว่า

"และผู้ใดฝ่าฝืนอัลลอฮ์ และเราะซูลของพระองค์ และละเมิดขอบเขตของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงให้เขาเข้าสู่นรก

โดยที่เขาจะอยู่ในนรกตลอดกาล และการลงโทษ อันอัปยศนั้นเป็นของเขา"

(อันนิซาอ์ / 13-14)

ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า

"การก่อความเดือดร้อนนั้น เป็นสาขาหนึ่งจากบาปใหญ่" แล้วท่านก็อ่านอายะฮ์ดังกล่าว

          ที่เป็นช่นนี้ ก็เพราะอัลลอฮ์  ทรงสำทับว่า เขาจะเข้านรกตลอดกาล ก็หมายถึงการทำบาปใหญ่นั่นเอง

 ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า

"การก่อความเดือดร้อนในพินัยกรรม เป็นส่วนหนึ่งของบาปใหญ่"

 

         การก่อความเดือดร้อนประการที่สอง คือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่มนุษย์ และเพื่อนบ้าน ฯลฯ เช่นต้นไม้ หรือใบไม้ โดยที่ทำความเดือดร้อน สร้างความรำคาญให้แก่เพื่อนบ้าน เช่น ฝุ่น หรือ ควัน ตลอดจนเสียงรบกวนต่างๆ หรืออาคารบ้านเรือน ที่ปิดบังลม บังแดด บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน ฯลฯ ดังกล่าวนี้ เป็นการสร้างความเดือดร้อน จำเป็นที่เราต้องหลีกเลี่ยงให้ไกล

          ในเรื่องสิทธิของเพื่อนบ้านต่อเพื่อนบ้านด้วยกันนั้น มีความสำคัญมาก การวางสิ่งของกีดขวาง หรือรุกล้ำบ้านเรือนของเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ มีปรากฏในซอเฮี๊ยะบุคอรีย์ และมุสลิม ในรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ แจ้งว่า ท่านนะบี  กล่าวว่า

"คนหนึ่งคนใดในพวกท่านอย่าได้หักห้าม ปิดกั้น เพื่อนบ้านของเขา ด้วยการเอาไม้ของเขาต่อติดกับกำแพง หรือรั้วของเพื่อนบ้าน"

 

         ท่านอุมัร อิบนุค็อฏฏ็อบ ได้ตัดสินให้มุฮัมมัด บิน สละมะฮ์ ให้เปิดทางน้ำไหลให้กับเพื่อนบ้านของเขา ในเขตที่ดินของเขา เมื่อเพื่อนบ้านมีความต้องการ และท่านกล่าวว่า

"จะต้องเปิดทางให้น้ำไหลผ่าน แม้ว่าจะต้องผ่านท้องของท่านก็ตาม"

 

         สิ่งที่เป็นความเดือดร้อน อันเป็นที่ต้องห้ามก็คือ การที่ห้ามผู้คนมิให้ได้รับประโยชน์ ในกรรมสิทธิ์ส่วนรวมที่เขามีสิทธิ์ที่จะได้รับ เช่น น้ำในแม่น้ำลำธาร จะไปเก็บกักเอาไว้ใช้คนเดียวไม่ได้  ดังปรากฏในฮะดิษ มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮ์ แจ้งว่าท่านนะบี กล่าวว่า

"ท่านทั้งหลายอย่าได้หักห้ามน้ำที่เหลือ เพื่อไม้ให้ไปหล่อเลี้ยงทุ่งไร่อื่น"

(บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม)