หลักนิติศาสตร์อิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  42179

 

 หลักนิติศาสตร์อิสลาม


          อิสลามเป็นศาสนาที่พระองค์อัลลอฮ์ ทรงคัดสรรให้แก่มวลมนุษยชาติ เป็นศาสนาแห่งความเมตตาปรานี ถูกส่งมาเพื่อจรรโลงโลกใบนี้ให้เกิดดุลยภาพในทุกๆด้านไม่ว่าจะด้านวัตถุหรือด้านจิตวิญญาณ อิสลามไม่ได้แยกระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร เป็นวิถีที่ครอบคลุมทั้งศาสนา การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การค้า การศึกษา จรรยามารยาท ฯลฯ ตั้งแต่การใช้ชีวิตในระดับบุคคลตลอดจนการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้เข็มแข็งหรือผู้อ่อนแอ ให้เกียรติผู้ใหญ่ เมตตาต่อเด็ก มีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง ให้เกียรติแก่ผู้รู้และส่งเสริมตักเตือนแก่ผู้ที่ไม่รู้ ไม่ด่าทอว่าร้ายผู้อื่นไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือคนต่างศาสนิก  ต้องร่วมกันหวงแหนปกปักษ์รักษาทรัพยากร ไม่ตัดต้นไม้ทำลายผืนป่า หรือฆ่าสัตว์เพียงเพื่อความสนุกสนาน หรือเป็นเพียงเกมส์กีฬา เอื้อเฟื้อเมตตาต่อสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง เช่นสุนัขหรือแมว และไม่ให้ละเลยต่อความดีงามที่ดูว่าเล็กน้อย แม้ว่าการยิ้มแย้มให้แก่พี่น้อง อิสลามมีคำตอบในทุกๆคำถาม  พูดตั้งแต่เรื่องเล็กสุดอย่าง อะตอม สสารจนกระทั่งไปถึงเรื่องใหญ่อย่างโลกและจักรวาล  ทุกบทบัญญัติเป็นเรื่องล้ำสมัยไม่มีล้าหลัง

           นะบีมุฮัมมัด ถูกส่งมาเพื่อเผยแผ่ความเมตตาแก่ชาวโลก และเชิญชวนมนุษย์สู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์แต่เพียงผู้เดียว เพราะการบังเกิดมนุษย์ขึ้นมาบนโลกนี้ คือการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์   ดังที่พระองค์ตรัสไว้

ความว่า “และฉันไม่ได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใดนอกจาการเคารพภักดีต่อฉัน” (อัลกุรอาน 51 : 56)

            ฉะนั้นการดำเนินชีวิตของมุสลิมย่อมมีขอบเขตหรือกรอบ  เขาจะไม่ปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปตามอำเภอใจหรือขึ้นอยู่กับอารมณ์แห่งตน สิทธิหน้าที่ที่เขาพึงมีต่อพระเจ้าผู้ทรงสร้าง สิทธิระหว่างตัวเขากับผู้ถูกสร้างด้วยกัน การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลทั่วไปที่ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกัน จะต้องไม่หลุดออกไปจากกรอบที่บทบัญญัติแห่งศาสนากำหนดไว้

บทบัญญัติตามหลักนิติศาสตร์อิสลามที่บรรดานักวิชาการได้ให้คำนิยามไว้พอสรุปได้ดังต่อไปนี้


 ความหมายของอัลอะห์กาม

           อัลอะห์กาม เป็นพหูพจน์ของอัลหุกมุ แปลว่า บทบัญญัติ นักวิชาการอุศูลุลฟิกฮ์ได้ให้คำนิยามของ  อัลหุกมุว่า : อัลหุกมุ คือ “โองการของอัลลอฮ์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของบรรดามุกัลลัฟ (ผู้บรรลุศาสนภาวะ) โดยการสั่งให้ทำ  ให้เลือกทำหรือโดยการวางกฏเกณฑ์ไว้”

  ดั่งเช่นคำดำรัสของอัลลอฮ์ ความว่า

“เจ้าทั้งหลายจงปฏิบัติตามสัญญาอย่างสมบูรณ์เถิด” (อัลกุรอาน 5 :1)

          อัลลอฮ์ ได้ตรัสเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาด้วยการสั่งให้ทำ คือการปฏิบัติตามสัญญาอย่างสมบูรณ์ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้

ความว่า “หากพวกเจ้าเกรงว่า เขาทั้งสอง (สามีภรรยา) ไม่สามารถยืนอยู่กับขอบเขตของอัลลอฮ์ได้ ก็ไม่เป็นบาปแก่เขาทั้งสอง ในสิ่งที่นางนำมาไถ่ตัวเอง” (อัลกุรอาน 2 :229)

อัลลอฮ์ ตรัสเกี่ยวกับการที่สามีจะเอาสิ่งตอบแทนจากการหย่า โดยการให้เลือกทำ

นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวไว้

ความว่า “ผู้ฆ่านั้นไม่มีสิทธิรับมรดก” (รายงานโดยติรมีซีย์และอิบนุมาญะฮ์)

นะบีมุฮัมมัด กล่าวเกี่ยวกับการฆ่าซึ่งเป็นการวางกฏเกณฑ์เพื่อตัดสิทธิ์ในการรับมรดก


ประเภทของหุกุม

หุกุมที่กล่าวมานั้นโดยลักษณะของนิติศาสตร์อิสลามแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 1.หุกุมตักลีฟีย์

 2.หุกุมวัฎอีย์

 ในที่นี้จะกล่าวเกี่ยวกับหุกุมตักลีฟีย์ เพียงอย่างเดียว

          หุกุมตักลีฟีย์ หมายถึง หุกุมที่สั่งให้บรรดาผู้ที่บรรลุศาสนภาวะกระทำหรืองดเว้นจากการกระทำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังต่อไปนี้


1.  อัลวายิบ

           คือสิ่งที่ศาสนาต้องให้กระทำ ซึ่งผู้กระทำจะได้รับผลบุญ และผู้ละทิ้งจะได้รับการลงโทษ

- ด้านอะกีดะฮ์ (ความเชื่อ)  อย่างเช่น ต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธาต่ออัลลอฮ์   ศรัทธาต่อบรรดามลาอีกะฮ์ (เทวทูตของพระองค์) ศรัทธาต่อคัมภีร์ที่อัลลอฮ์ ประทานลงมา ศรัทธาต่อบรรดาเราะซูล (ศาสนทูตของพระองค์) ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ (วันสิ้นโลก) และศรัทธาต่อกฏสภาวะกำหนด

- ด้านอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) อย่างเช่น ละหมาด 5 เวลาในแต่ละวัน ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน การจ่ายซะกาต การบำเพ็ญพิธีหัจญ์ ณ มักกะฮ์ และสิ่งที่ได้กล่าวนี้คือ ด้านอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์

- ด้านสังคม เช่น  การใส่ฮีญาบสำหรับบรรดาสตรีเพื่อเป็นการปกป้องสีรีระร่างกาย การรักษาซึ่งความซื่อสัตย์ การรีบเร่งจ่ายหนี้ และอื่นๆ

           นอกจากนั้นยังมีการให้คำนิยามศัพท์เฉพาะอีกคำ คือ “อัลฟัรฎู” ซึ่งมีความหมายเหมือนกับคำว่า “วายิบ” เช่น การถือศีลอด ซึ่งบทบัญญัติต้องการให้เรากระทำ เป็นความต้องการที่เด็ดขาด โดยที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้

ความว่า “การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของพวกสูเจ้า” (อัลกุรอาน 2 : 183)

           ตามทัศนะของมัซฮับชาฟีอีย์ วายิบนั้นมีความหมายเช่นเดียวกับฟัรฎู โดยไม่มีความแตกต่างกัน ยกเว้นในเรื่องหัจญ์เท่านั้น 

สำหรับฟัรฎูแบ่งออกเป็น  2  ประเภท

          ฟัรฎูอัยน์ คือ สิ่งที่ทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติโดยเด็ดขาด เป็นรายปัจเจกบุคคล เช่นการละหมาด การถือศีลอดและอิบาดะฮ์ เป็นต้น ซึ่งนี้เป็นบทบัญญัติศาสนาที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติโดยไม่มีการยกเว้น

         ฟัรฎูกิฟายะฮ์ คือ สิ่งที่ใช้บังคับให้มีการปฏิบัติโดยภาพรวม ไม่ได้มีการเจาะจงเป็นรายบุคคล หมายความว่า เมื่อมีคนหนึ่งคนใดได้ถือปฏิบัติถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว และเมื่อมีการปฏิบัติก็ถือว่าความผิดของผู้อื่นหมดไป แต่ถ้าหากไม่มีผู้ใดที่ปฏิบัติอยู่เลย ความผิดก็จะตกลงบนทุกคน เช่น การจัดการเรื่องศพ การห่อศพ การละหมาดให้แก่ศพ เป็นต้นซึ่งถ้าหากมีใครถือปฏิบัติก็ถือว่าทุกคนนั้นไม่มีความผิดใดๆ อันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติแต่ในทางกลับกันหากไม่มีใครปฏิบัติ ทุกคนจะบาปร่วมกัน


2.  อัลหะรอม

           คือสิ่งที่ศาสนาต้องการให้ละทิ้งอย่างเด็ดขาด โดยถือว่าการละทิ้งนั้นเป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง และถ้าหากมีการฝ่าฝืนต่อคำสั่งแล้วจะต้องถูกลงโทษ ดังเช่น

- ด้านความเชื่อ  โดยไม่ตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์อัลลอฮ์   ไม่บิดเบือนในเรื่องของศาสนา 

- ด้านสังคม   การลักขโมย การฆ่าเพื่อนมนุษย์ การฉ้อโกง การสร้างความเสียหายบนพื้นดิน การผิดประเวณี ดื่มสุรา การพนัน การบริโภคสัตว์ที่ห้ามรับประทาน เช่น สุกร สุนัข และซากสัตว์ (ยกเว้นปลา และตั๊กแตน) เป็นต้น

          ดังนั้นเมื่อมนุษย์ได้กระทำสิ่งที่ต้องห้าม  เขาจะมีบาปและสมควรที่จะต้องถูกลงโทษและเมื่อใดที่ละทิ้งโดยถือเป็นการกระทำที่อัลลอฮ์ ห้าม เขาจะได้รับผลบุญและหะรอมยังมีชื่อเรียกอีกว่า : มะฮ์ชูร์หรือมะอ์ซียะฮ์ เป็นต้น


3. อัลมันดูบ (มันดูบ)

         คือสิ่งที่ศาสนาสนับสนุนให้กระทำ แต่ไม่ถึงระดับบังคับให้ทำโดยที่เมื่อกระทำจะได้รับผลบุญ และเมื่อมีการละทิ้งจะไม่ถูกลงโทษ เช่น การละหมาดฎุฮา การละหมาดหลังเที่ยงคืน(กียามุลลัยล์) การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเรากระทำจะได้รับผลบุญและหากไม่กระทำก็จะไม่ถูกลงโทษ นอกจากการทำอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี)ต่ออัลลอฮ์ แล้ว ยังมีซุนนะฮ์ในด้านการคบหาสมาคม เช่น การทักทายด้วยการให้สลามและรอยยิ้ม การเยี่ยมผู้ป่วย การเยี่ยมญาติมิตร การเยี่ยมผู้เสียชีวิต การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้หรือคนยากจน หรือการขจัดสิ่งกีดขวางกลางทาง เป็นต้น หากกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ไม่ใช่เพียงได้บุญเท่านั้น หากยังสามารถสร้างความผูกพันและความใกล้ชิดในสังคมอีกด้วย


4. อัลมักรูฮ์

          คือ การสั่งให้ละเว้นการกระทำอย่างไม่เด็ดขาด ซึ่งมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับเรื่องมันดูบ ดังนั้นสำหรับมักรูฮ์ นั้นนักวิชาการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้คือ

1. มักรูฮ์ ตะห์รีม

2. มักรูฮ์ ตันซิฮ์

           มักรูฮ์ ตะห์รีม คือ สิ่งที่ศาสนาต้องการให้ละทิ้งโดยเด็ดขาดแต่ไม่ต้องการให้ละทิ้งสิ่งที่หะรอมโดยเมื่อมีการละทิ้งพร้อมกับถือเป็นคำบัญชาของอัลลอฮ์   จะได้รับผลบุญ และเมื่อมีการกระทำจะถูกลงโทษแต่ไม่ร้ายแรงเท่ากับโทษในเรื่องหะรอม เช่น การละหมาดสุนัตมุฎลักขณะตะวันขึ้น หรือขณะตะวันตก ซึ่งถือเป็นเวลาห้ามละหมาด ละหมาดนั้นถือว่าเป็นมักรูฮ์ตะรีม

          มักรูฮ์ ตันซีฮ์ คือ สิ่งที่ศาสนาต้องการให้มีการละทิ้งโดยไม่ถึงขั้นเด็ดขาด ซึ่งเมื่อมีการละทิ้งพร้อมกับถือเป็นคำบัญชา ก็จะได้รับผลบุญ แต่เมื่อมีการกระทำก็จะไม่ถูกลงโทษ เช่น การถือศีลอดในวันอารอฟะฮ์ สำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์ ดังนั้น ถ้าหากเขาละทิ้งการถือศีลอด โดยถือว่าเป็นคำบัญชา เขาจะได้รับผลบุญแต่ถ้าหากเขาถือศีลอด ก็จะไม่ถูกลงโทษแต่ประการใด


5. อัลมุบาห์

          คือสิ่งที่กระทำหรือการละทิ้งมีค่าเท่ากัน ทั้งนี้เพราะศาสนาไม่ได้ใช้ให้ละทิ้ง และไม่ได้ใช้ให้กระทำแต่ให้เรามีอิสระที่จะกระทำหรือการละทิ้งก็ได้ ด้วยเหตุนี้การกระทำสิ่งที่เป็นมุบาห์หรือละทิ้งจึงไม่ได้ผลบุญและไม่เกิดโทษ  ดั่งเช่นอัลลอฮ์ ได้ตรัสความว่า

  “เมื่อเสร็จจากการละหมาด ท่านทั้งหลายจงแยกย้ายกันไปในหน้าแผ่นดินและจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์เถิด” (อัลกุรอาน 62 : 10)

         อายะฮ์นี้ระบุว่าการทำงานภายหลังละหมาดวันศุกร์เป็นมุบาห์  ผู้ใดที่ประสงค์จะทำก็ทำได้และผู้ใดประสงค์จะไม่ทำก็ได้เช่นกัน  ยังมีตัวอย่างของมุบาห์อีกมากมาย เช่น การกิน การดื่ม การพักผ่อน เป็นต้น


บทส่งท้าย

          ตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม นับว่าเป็นกฏกติกาที่ครอบคลุม วิถีการดำเนินชีวิตมุสลิมทั้งหมด กฏนี้ไม่มีข้อแตกต่างไม่แบ่งชนชั้น ชาติพันธุ์ ประเทศ หรือภูมิประเทศ ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

          สำหรับกฏหมายอิสลามเป็นกฏสากล ผู้ใดที่ประกาศตนยอมจำนนภายใต้ “ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ์ มุฮัมมะดุรรอซูลุลลอฮ์” ความว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และนะบีมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์” ย่อมเป็นผู้อยู่ในศาสนาอิสลามโดยมีสิทธิเสรีภาพแห่งตนเท่าเทียมกับมุสลิมคนอื่นๆ กฏหมายอิสลามเป็นกฏคงไว้ถาวร อิสลามไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมหรือประเพณีของชนเพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด และมิได้กำหนดไว้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ ไม่มีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในยุคสมัยใด   เป็นกฏที่รับรองถึงความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า และสมบูรณ์เพียบพร้อมที่อัลลอฮ์ ทรงรับรอง อัลลอฮ์ ตรัสไว้ ความว่า

....

“วันนี้ข้าได้ให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว

และข้าได้ให้ความกรุณาเมตตาของข้าครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว

และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้า”

(อัลกุรอาน 5: 3)

.

.

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ