ทำความดีและห้ามปรามความชั่ว
  จำนวนคนเข้าชม  12904

หลักการเชิญชวนทำความดีและห้ามปรามความชั่ว

          ศาสนทูตได้เปรียบเปรยการอยู่ร่วมกันในสังคมประหนึ่งคนที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน คนที่ร่วมในชะตากรรมเดียวกันจะต้องช่วยกันรักษาเรือเพื่อให้ไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย แต่ความเป็นจริงในสังคมทุกวันนี้อยู่ในภาวะของการต่างคนต่างอยู่ และยังมีคนบางกลุ่มช่วยกันเจาะเรือโดยที่คนที่เหลือต่างเมินเฉยต่อพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ตระหนักว่าหากการเจาะเรือดำเนินไปโดยไม่มีการขัดขวางจากคนที่อยู่ในเรือลำเดียวกันแล้ว ท้ายที่สุดเรือทั้งลำก็ต้องจม และคนในเรือทั้งหมดต้องประสบกับความวิบัติ

           บทความของชีคซัลมาน อัลเอาดะฮ์ให้ชื่อในความหมายว่า “รักษาเรือไว้มิให้อับปาง” แม้จะเป็นบทความเพียงไม่กี่หน้า แต่ยิ่งใหญ่ในแง่เนื้อหาเพราะเป็นเสียงกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงเภทภัยที่รออยู่อันเนื่องจากความดีที่ค่อยๆ สูญหาย และความชั่วที่นับวันจะแพร่กระจายและกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของผู้คน

           ชีวิตอันรีบเร่งเพราะการงานที่บีบรัด เพื่อเป้าหมายที่จะครอบครองวัตถุ ทำให้มาตรฐานความดีความชั่วในปัจจุบันดูสับสนจนหลายคนไม่อาจแยกแยะ หลายสิ่งที่ผู้คนเห็นว่าดีแต่กลับถูกทิ้งร้าง จนกลายเป็นความว่างเปล่าไร้ความหมาย ขณะเดียวกับที่หลายอย่างซึ่งเคยเห็นกันว่าชั่วช้า วันนี้กลับกลายมาเป็นสิ่งที่คุ้นเคย จนดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่สังคมจะขาดเสียมิได้

           ความดีต้องมีมาตรฐานอันแน่นอนชัดเจน เช่นเดียวกับความชั่วที่ต้องมีเกณฑ์รองรับ ชีคซัลมาน อัลเอาดะฮ์ จึงนิยามความดีว่า เป็นคำที่รวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งอัลลอฮ์ ทรงพอพระทัยไว้ในตัว ทั้งการภักดีต่อพระองค์ และการสานสัมพันธภาพอันงดงามกับเพื่อนมนุษย์ ส่วนความชั่วเป็นคำที่รวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งโดยหลักศาสนาเห็นว่าเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการทรยศต่ออัลลอฮ์ หรือ การอยุติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์

            สังคมมุสลิมจึงต้องดำรงมาตรฐานแห่งความดีและความชั่วอย่างแน่วแน่มั่นคง และการจะดำรงมาตรฐานนี้ไว้ได้ จะต้องช่วยกันส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว หากพบว่าผู้คนต่างหลีกหนีและต่อต้านความชั่ว นั่นเป็นดัชนีชี้ว่าสังคมจะสงบในภาพรวม แต่หากพบว่าผู้คนต้อนรับและดื่มด่ำไปกับความชั่ว ต้องตระหนักว่านั่นคือสังคมที่กำลังล่มสลาย

           น่าเสียใจที่สังคมที่กำลังจะล่มสลายนี้ มีสังคมมุสลิมรวมอยู่ด้วย !  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นการเดินตามอย่างวิถีชีวิตแบบตะวันตกและละทิ้งมาตรฐานแห่งความดีความชั่วที่อิสลามกำหนดไว้

 อัลเอาดะฮ์แบ่งสังคมจากฐานของการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่วออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

      1. สังคมที่ผู้คนช่วยกันส่งเสริมความดี และช่วยกันยับยั้งความชั่ว ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนศรัทธาที่มีสภาพดังที่องค์อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

 “อันผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงนั้น ต่างก็เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน ต่างส่งเสริมกันในเรื่องความดี และช่วยกันยับยั้งความชั่ว” (อัลกุรอาน 9:71)

      2. สังคมที่ผู้คนส่งเสริมกันเรื่องความชั่ว และช่วยกันยับยั้งความดี ซึ่งเป็นสังคมกลับกลอกที่มีสภาพดังที่อัลลอฮ์ ทรงมีถ้อยดำรัสถึงไว้ใจความว่า

 “อันพวกกลับกลอกทั้งชายและหญิงนั้น ต่างเป็นผลสืบเนื่องของกันและกัน พวกเขาช่วยกันส่งเสริมเรื่องความชั่ว และช่วยกันยับยั้งความดี” (อัลกุรอาน 9 : 67)

      3. สังคมที่ผู้คนส่งเสริมทั้งความดีและความชั่ว และเมื่อยับยั้งก็ยับยั้งทั้งชั่วและดี  มักเป็นสังคมของคนที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนและหลงใหลความหรูหราฟุ้งเฟ้อ

          น่าสังเกตเกี่ยวกับพระดำรัสแห่งอัลลอฮ์ คือ ยามที่ตรัสถึงผู้ศรัทธาพระองค์ได้ตรัสว่า “พวกเขาต่างก็เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน” แต่ในยามที่ตรัสถึงผู้กลับกลอกได้ตรัสว่า “พวกเขาเป็นผลสืบเนื่องของกันและกัน” ทั้งนี้เป็นเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ศรัทธาผูกมั่นอยู่กับศาสนา การมีเป้าหมายร่วมกันทำให้แต่ละคนเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน ขณะที่สายสัมพันธ์บนความกลับกลอกไม่มีเป้าหมายเชิงสัจธรรมหรืออุดมการณ์ แต่ขึ้นอยู่กับวัตถุ อารมณ์ กิเลสและตัณหา ตราบเท่าที่ผลประโยชน์บนกองวัตถุและกิเลสยังลงตัวกันอยู่ แต่วันใดที่ผลประโยชน์ขัดแย้ง วันนั้นทุกคนก็พร้อมที่จะเข่นฆ่ากันเอง

 สังคมอิสลามในอุดมคติต้องปลอดจากความชั่วอย่างสิ้นเชิงหรือ?

           อัลเอาดะฮ์นำเสนอเรื่องราวของมาอิซ มาลิก และหญิงจากเผ่าฆอมิดียะฮ์ ที่ได้ล่วงไปในบาปด้วยการทำผิดประเวณีในสมัยของนะบีมุฮัมมัด เพื่อยืนยันว่าสังคมของมุสลิม มิได้เป็นสังคมที่ปราศจากความชั่วอย่างสิ้นเชิง อาจมีความชั่วร้ายเกิดขึ้น แต่ก็เป็นความชั่วของบุคคล ที่กระทำกันอย่างปกปิดซ่อนเร้น ยิ่งกว่านั้น สำนึกของผู้กระทำผิดเองยังเฝ้าเตือนและตอกย้ำให้ต้องรีบขอพระราชทานอภัยโทษจากอัลลอฮ์ อย่างจริงใจ ดังนั้นการมีความชั่วร้ายเกิดขึ้นในสังคมมุสลิมมิใช่สิ่งที่จะทำให้สังคมอุดมคติพังทลาย เปรียบดั่งการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขว่าสังคมหนึ่งเป็นสังคมสุขภาพดี ซึ่งมิได้หมายความว่าคนทุกคนในสังคมนั้นไม่มีใครเจ็บป่วยเลย นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ประกาศเช่นนั้นหมายความว่า สังคมปลอดจากเชื้อร้ายและโรคระบาดอันตราย

           เชื้อร้ายและโรคระบาดอันตรายไม่ต่างอะไรกับคนชั่วที่ทำชั่วได้อย่างเปิดเผยและไร้ความอับอาย การดำรงอยู่ของคนประเภทนี้สะท้อนถึงสุขภาพอันอ่อนแอของสังคม ความอ่อนแอของคนดีและชัยชนะของความชั่วและคนชั่ว

           หลายครั้งความชั่วจะถูกส่งเสริมโดยเจตนาและความดีจะถูกห้ามปรามยับยั้ง ด้วยแรงส่งของสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพส่วนบุคคล” ขณะที่คนเหล่านั้นเห็นการนุ่งน้อยห่มน้อยหรือแม้แต่การเปลือยกายของสตรีเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อหญิงสาวมุสลิมในฝรั่งเศสสามคนสวมฮิญาบไปโรงเรียน กลับถูกกีดกันมิให้เข้าไปจนกลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อหนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสเขียนเตือนให้ระวังปรากฏการณ์ฮิญาบ และความน่ากลัวของอิสลามต่อฝรั่งเศส ประเด็นถูกขยายออกไปจนใหญ่โต ผู้คนต่างหวาดกลัวการคลุมฮิญาบของผู้หญิงจนลืมประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยอ้างกัน

           ในสังคมที่มาตรฐานความดีความชั่วเบี่ยงเบนไป ผู้คนมักไม่ค่อยรู้ว่ากำลังถูกลงทัณฑ์จากอัลลอฮ์ ยิ่งกว่านั้นหลายคนยังหลงในมายาภาพที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่องค์อัลลอฮ์ ทรงผ่อนปรนยืดหยุ่นให้ พวกเขากลับไม่ตระหนักว่าปรากฏการณ์ในสังคมคือการลงทัณฑ์ เช่น


  1. การแผ่ลามของสิ่งชั่วร้ายในสังคม

           ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมหากไม่ยับยั้งขัดขวาง ย่อมทำให้ความชั่วนั้นขยายออกไปได้เรื่อย ๆ อำนาจและอิทธิพลของมันจะครอบงำ จนในที่สุดความชั่วกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาในสังคม เด็กๆเติบโตขึ้นอย่างคุ้นเคยกับความเลวร้าย ส่วนความดีกลายเป็นสิ่งแปลกประหลาด เมื่อความดีเป็นสิ่งที่อยู่ชายขอบและความชั่วเป็นแกนกลาง สังคมคงถึงกาลแห่งความล่มสลายแม้จะมีคนดีอยู่บ้างก็ตาม ท่านหญิงซัยนับ(รอฏิฯ) เคยถามนะบีมุฮัมมัด ว่า อัลลอฮ์ จะทำลายสังคมด้วยหรือขณะที่คนดียังมีอยู่ ? ท่านตอบว่า

 “ใช่ หากความชั่วช้าแผ่ลามมากมาย”

           อย่าได้คิดว่าการลงฑัณฑ์ของอัลลอฮ์ จะเกิดเฉพาะในโลกหลังความตาย เพราะในประมวลวจนะฉบับอบู ดาวูด บันทึกถ้อยคำแห่งศาสดาที่รายงานมาจากญารีร์ ใจความว่า

 “สำหรับคน ๆ หนึ่งที่อาศัยอยู่กับกลุ่มชนใดก็ตาม เขาประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นอบายมุขได้ง่ายดาย โดยไม่มีใครในกลุ่มชนนั้นมาช่วยเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของเขา ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นสามารถทำได้ อัลลอฮ์ จะให้พวกเขาได้ลิ้มรสโทษฑัณฑ์ของพระองค์ก่อนพวกเขาจะตาย”

           การดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลผู้กล้าลงมือแก้ไขเปลี่ยนแปลงและยับยั้งความชั่วร้ายในสังคมจึงเป็นแก่นแกนแห่งเสถียรภาพและความมั่นคงของสังคม

           แต่สภาพสังคมกลับเป็นด้านตรงข้าม คือ เปิดกว้างสำหรับการทำชั่ว แล้วปิดประตูมิให้คนที่ห่วงใยแก้ไขยับยั้งด้วยวิถีทางที่เหมาะสม ผลักดันให้คนเหล่านั้นยับยั้งด้วยความรุนแรง เช่น เหตุการณ์ระเบิดไนท์คลับที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย หรือการทำลายทรัพย์สินซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เตรียมไว้เพื่อการจัดงานรื่นเริงในมหาวิทยาลัยอัสยูตของอียิปต์เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นหากผู้หวงแหนศาสนามีช่องทางอันเหมาะสม ซึ่งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเปิดเพื่อการยับยั้งความชั่ว แต่เมื่อประตูทุกบานถูกปิดตาย คนเหล่านั้นจึงลงมือทำตามอย่างที่กวีท่านหนึ่งกล่าวว่า

 เมื่อชีวิตลอยคว้างกลางนที  หันหาก็ไม่มีสิ่งใดให้เกาะเกี่ยว

 เหลือเพียงคมดาบดายเดียว  ก็พร้อมยึดเหนี่ยว พยุงตัว

           นั่นเป็นประเทศมุสลิม แต่เหตุใดความรุนแรงจึงเกิดเยี่ยงนั้น ? ความเมตตาจากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทานให้กับบ่าวของพระองค์ที่ยังคงยกมือวิงวอนขอต่อพระองค์อยู่หรอกหรือ ?  เภทภัยที่เกิดขึ้นมิได้เกิดอย่างเลื่อนลอย เพราะองค์อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าทรงความบริสุทธิ์ยิ่ง แต่คนในสังคมที่ดูดายต่อความชั่ว หรือรู้เห็นเป็นใจกับความเลวต่างหากที่เป็นเหตุแห่งเภทภัย และเป็นเหตุให้การยกมือวิงวอนขอได้รับแต่ความว่างเปล่า

 หุซัยฟะฮ์ (รอฎิฯ) รายงานวจนะแห่งนะบีมุฮัมมัด ไว้ใจความว่า

 “ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของข้าอยู่ในอุ้งหัตถ์แห่งพระองค์ พวกท่านจะต้องช่วยกันส่งเสริมความดี  และต้องช่วยกันยับยั้งความชั่ว หาไม่แล้วอัลลอฮ์จะทรงส่งเพทภัยมาเกิดแก่พวกท่าน เมื่อนั้น แม้พวกท่านจะวิงวอนขอร้อง ก็จะไม่มีการตอบรับเลย” (ติรมิซีย์ 2169)


 2. วิกฤตทางเศรษฐกิจ

           อัลเอาดะฮ์เห็นว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤตทางเศรษฐกิจกับความชั่วร้ายที่เกิดในสังคม โดยชี้ว่าในขณะที่นักสังคมศาสตร์มักอธิบายปรากฏการณ์สงครามและความรุนแรงผ่านแง่มุมวัตถุนิยม นักเศรษฐศาสตร์มักอธิบายวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจด้วยมุมมองวัตถุล้วนๆ เช่นกัน แต่สำหรับผู้ศรัทธาต่อองค์อัลลอฮ์ เบื้องหลังความเป็นไปของวัตถุคือวิถีแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งทรงกำหนดให้สังคมที่ปล่อยความชั่วร้ายกลาดเกลื่อนโดยไม่มีใครลุกขึ้นขัดขวางต้องลิ้มรสของความหวาดกลัว อดอยาก ยากจน และอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ และทั้งหมดเป็นโทษทัณฑ์ที่ก่อโดยน้ำมือของคนในสังคมนั้นเอง

 ข้อบังคับว่าด้วยการส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่ว

           อัลเอาดะฮ์นำเสนอความเห็นของนักวิชาการอิสลามซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า การส่งเสริมความดี ยับยั้งความชั่วมีสภาพตามบัญญัติอิสลามเป็นข้อบังคับ(ฟัรฎู)อย่างหนึ่งเหนือมุสลิม บ้างเห็นว่าเป็นข้อบังคับรายตัว(ฟัรฎูอัยน์) และบ้างก็เห็นว่าบังคับเฉพาะกลุ่ม(ฟัรฎูกิฟายะฮ์)  แต่แม้ในกลุ่มหลังที่เห็นว่าเป็นข้อบังคับเฉพาะกลุ่ม ก็เห็นตรงกับกลุ่มแรกว่ามีบางกรณีที่การยับยั้งความชั่วถือเป็นข้อบังคับเหนือคนทุกคน กรณีดังกล่าวคือ

1. หากบุคคลนั้นเป็นคนเดียวที่รู้เรื่องความผิดหรือความชั่วที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ในสภาพเช่นนี้เขาต้องช่วยยับยั้งความชั่วนั้นเต็มที่ เพราะมันจะไม่ถูกขจัดออกไปหากเขาไม่ร่วมมือ

2. หากบุคคลนั้น เป็นคนเดียวที่ผู้ประพฤติชั่วยินยอมเชื่อฟัง

3. หากบุคคลนั้น ดำรงตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงต่ำสุด ทั้งนี้เพราะในอิสลาม การจัดวางตำแหน่งทางสังคมล้วนมีเป้าหมายให้เกิดสิ่งดีและมีประโยชน์ พร้อมกับการขจัดสิ่งเลวและเป็นโทษต่อสังคมออกไป  ถัดจากคนที่มีตำแหน่งแล้ว ปัจเจกชน ก็ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนตามบทบาทและสถานะด้วย

          การที่คนเรามักโยนความรับผิดชอบในการยับยั้งความชั่วให้เป็นหน้าที่ของผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออุละมาอ์ จนแม้แต่ความชั่วในบ้านของตนเองก็ดูเหมือนจะรอให้คนอื่นมาช่วยแก้ไข ความคิดเช่นนี้ อัลเอาดะฮ์เห็นว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเมื่อต่างคนต่างผลักภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นของผู้อื่น ความชั่วจะดำรงอยู่ต่อไป ตราบจนวันสิ้นโลก

           ในขณะที่หลายคนโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น อีกหลายคนกลับลงมือทำเกินหน้าที่ของตัวเองโดยลงมือยับยั้งความชั่วด้วยความรุนแรงจนสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ในความเห็นของอัลเอาดะฮ์ การที่ปัจเจกชนคนหนึ่ง จะลงมือยับยั้งความชั่วโดยใช้กำลังหรือความรุนแรงได้ต้องมีเงื่อนไขครบ 4 ประการคือ

     1. ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ยับยั้งความชั่วโดยตรง

     2. การยับยั้งความชั่วโดยใช้กำลังนั้น จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่หากการยับยั้งส่งผลให้เกิดความเสียหายเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เช่น ความชั่วขยายตัวมากขึ้นหรือทำให้คนดีที่ทำงานอยู่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ การยับยั้งความชั่วด้วยวิธีการใช้กำลังก็ต้องยุติ

     3. ความชั่วที่เกิดขึ้นไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการอื่นนอกจากการใช้กำลัง

    4. ต้องมีการหารืออย่างรอบคอบกับผู้ทรงคุณวุฒิเสียก่อน เพราะการปรึกษาหารือจะก่อเกิดคุณประโยชน์ แต่หากลงมือทำด้วยความแค้น คึกคะนองมักจะจบลงด้วยความล้มเหลว

          เสียงเตือนของอัลเอาดะฮ์นี้แม้จะก้องมาจากซาอุดิอารเบียแต่หลักการที่อ้างถึง เป็นหลักสากลที่ทุกสังคม ซึ่งกำลังประสบปัญหาการแพร่กระจายของความชั่วและการหดตัวของความดี สามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่ภายใต้สภาพที่เห็นจะมีสักกี่แห่งที่คิดนำหลักการไปใช้อย่างจริงจัง

          สังคมทั่วไปซึ่งตกอยู่ภายใต้กระแสการพัฒนาแบบแยกส่วน ที่แยกศาสนาไปจากชีวิต เหลือแต่เพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความว่างเปล่าเอาไว้ แค่เพียงได้ยินว่านี่คือหลักธรรมของศาสนา ผู้พัฒนาทั้งหลายก็พากันปฏิเสธ ด้วยว่าความคิดที่อยู่ในจิตใจของคนเหล่านั้น คือ การพัฒนาเป็นเรื่องที่พวกเขาจะคิดอ่านวางแผนกันเองไม่ใช่กิจของศาสนา ศาสนาเป็นเรื่องของวิญญาณซึ่งอยู่กันคนละมิติกับการพัฒนาทางโลก และการนำศาสนามาเป็นเครื่องบ่งชี้ จะทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก คงไม่แปลกซึ่งคนที่เป็นเหยื่อการพัฒนาแบบตะวันตกจะคิดเช่นนี้ แต่เป็นเรื่องแปลกหากผู้นำในสังคมมุสลิมจะคล้อยตามความคิดดังกล่าวไปด้วย

ที่ว่าแปลกเพราะมุสลิม หมายถึง ความศรัทธาและน้อมรับบทบัญญัติแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยไม่แยกส่วน ในขณะที่มองเห็นอยู่ถึงผลของการพัฒนาแบบวัตถุนิยม ซึ่งทำให้ความชั่วร้ายทั้งหลายไม่มีการแอบแฝงซ่อนเร้นกันอีกได้แพร่กระจายจนกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาของสังคม เช่นนี้แล้วผู้นำมุสลิมยังเฝ้าคอยโหยหาการช่วยเหลือจากบุคคลอื่นอีกหรือ ? เหตุใดจึงไม่คิดนำแนวทางการสร้างสังคมที่ดี ซึ่งบัญญัติโดยองค์อัลลอฮ์ มาใช้ให้สมกับที่อ้างตนเป็นผู้ศรัทธาต่อพระองค์เล่า ? ต้องรออำนาจการเมืองมาอยู่ในมือก่อนหรือ ? อาจเป็นเรื่องดีหากเราจะมีอำนาจตามกฏหมายในการบริหารจัดการสังคม แต่เราทำอะไรบ้างขณะที่ยังไม่มีอำนาจเช่นนั้น? ในสังคมประชาธิปไตยที่เรามีสิทธิเลือกผู้นำทางการเมืองด้วยตัวเอง เราเลือกคนแบบไหนเข้าสู่วงจรการเมือง? นอกจากอำนาจตามกฏหมายบ้านเมืองแล้ว ยังมีหนทางอีกมากมายที่ทำได้เพื่อช่วยกันส่งเสริมความดี และยับยั้งความชั่ว แล้วเราแต่ละคนลงมือทำอะไรกันบ้าง? 

          บางทีเสียงปืน เสียงระเบิด การบาดเจ็บล้มตายดั่งใบไม้ร่วง ความหวาดกลัว และหวั่นระแวงที่แทรกอยู่ในทุกสังคมชายแดนใต้ ขณะนี้คือคำตอบว่า เรายังไม่ได้ทำอะไร อย่างที่ควรทำกันเลย หรือจะรอให้เรืออับปางเสียก่อนจึงค่อยคิดทำกัน

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ