ความยุติธรรมในการให้สิ่งของแก่ลูกๆ
  จำนวนคนเข้าชม  6818

 

 

ความยุติธรรมในการให้สิ่งของแก่ลูกๆ

มีรายงานจากท่านนัวะอฺมาน อิบนิ บะชีร กล่าวว่า:

          บิดาของฉัน(ท่านบะชีร) ได้ให้ซอดะเกาะห์ทรัพย์สมบัติบางส่วนของเขาแก่ฉัน มารดาของฉัน(นางอัมเราะห์ บินติ ร่อวาฮะห์) ได้กล่าวว่า :

          ฉันจะไม่ยินยอมจนกว่าจะไปให้ท่านรอซูลเป็นพยาน

บิดาของฉันจึงออกไปหาท่านรอซูล เพื่อให้ท่านรอซูลเป็นพยานและท่านรอซูล ได้กล่าวแก่บิดาของฉันว่า :

          ท่านทำเช่นนี้กับลูกๆทุกคนของท่านหรือเปล่า?

บิดาของฉันตอบว่า :

          เปล่าครับ

ท่านรอซูลจึงกล่าวว่า :

          ท่านจงยำเกรงอัลเลาะห์เถิด และจงให้ความยุติธรรมแก่ลูกๆ

พ่อของฉันจึงได้กลับไป และเอาซอดะเกาะห์นั้นกลับคืนไป

บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์

คำอธิบาย

          ฮะดีษนี้ ท่านนัวะอฺมาน บุตรของท่านบะชีร อัลอันซอรีย์เล่าว่า :
          พ่อของท่านได้มอบทรัพย์สินบางส่วนของท่านให้แก่ท่านอันนัวะอฺมาน แต่ว่ามารดาของท่านอันนัวะอฺมาน ต้องการความมั่นใจ โดยจะให้ท่านรอซูล เป็นพยาน นางจึงขอให้สามีของนางไปหาท่านรอซูล เพื่อให้ท่านรอซูลได้เป็นพยาน ท่านรอซูลได้กล่าวถามท่านบะชีรว่า : ท่านได้ให้ซอดะเกาะห์เช่นนี้กับลูกๆของท่านทุกคนหรือเปล่า? ท่านบะชีรตอบว่า : เปล่าครับ ท่านรอซูล จึงได้กล่าวแก่ท่านบะชีรว่า : ท่านจงยำเกรงอัลเลาะห์ และจงให้ความยุติธรรมกับลูกหลานเถิด
          และในบันทึกของท่านอิมามมุสลิม ท่านรอซูล กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็อย่ามาให้ฉันเป็นพยาน เพราะว่าฉันจะไม่เป็นพยานในสิ่งที่เป็นการอธรรม
          และอีกสำนวนหนึ่ง ท่านรอซูล กล่าวว่า : ดังนั้นจงไปให้ผู้อื่นเป็นพยานเถิด

          การที่ท่านรอซูล ห้ามการกระทำดังกล่าวเนื่องจากการเจาะจงลูกคนหนึ่งคนใด หรือการให้ความสำคัญแก่ลูกคนหนึ่งคนใดมากกว่าลูกคนอื่นๆนั้น เป็นการกระทำที่ขัดและค้านกับคำว่า ตั๊กวา(ยำเกรง) เพราะการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการอธรรม เนื่องจากจะทำให้เกิดผลเสียต่างๆมากมาย เป็นต้นว่า ลูกคนที่บิดามารดาไม่ให้ความสนใจนั้น จะห่างเหินและปลีกตัวออกห่างจากเขาทั้งสอง หรืออาจจะทำให้ลูกๆนั้นมีความเกลียดชังซึ่งกันและกัน จนทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันในที่สุด

          ด้วยสาเหตุต่างๆเหล่านี้เอง ท่านบะชีรจึงได้เอาซอดะเกาะห์ชิ้นนั้นกลับคืนมาจากท่านนัวะอฺมานซึ่งเป็นเรื่องปรติของบรรดาซอฮาบะห์ที่จะไม่ละเมิดในสิ่งที่เป็นบทบัญญัติของอัลเลาะห์

ทรรศนะต่างๆของบรรดานักวิชาการ

          บรรดานักวิชาการ(อุละมาอฺ) ทั้งหมดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า มีบทบัญญัติระบุให้มีความเท่าเทียมกันในการให้สิ่งของแก่ลูกๆ ด้วยเหตุนี้ บรรดาชาวสลัฟถึงกับให้ความเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง แม้กระทั่งการหอมลูกๆ เพราะในการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นการแสดงออกถึงความยุติธรรม และความรัก อันจะเป็นสิ่งที่นำพาให้หัวใจของพวกเขาใสสะอาด บริสุทธิ์ และจะส่งผลให้บรรดาลูกๆห่างไกลจากการอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน

          แต่บรรดาอุละมาอฺมีความคิดเห็นแตกต่างกันตรงที่ว่า จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องให้ความเท่าเทียมกันในการให้สิ่งของแก่ลูกๆ

          ท่านอิมามอะหมัด อิมามอัลบุคอรีย์ อิมามอิสหาก อิมามเซารีย์ และอุละมาอฺอีกจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า : เป็นสิ่งที่จำเป็น และห้ามให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่คนหนึ่งคนใด

          และอุละมาอฺส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การให้ความเท่าเทียมนั้น เป็นเพียงสิ่งที่ชอบและส่งเสริมให้กระทำเท่านั้น โดยที่เขาเหล่านั้นได้นำเหตุผลต่างๆมาโต้แย้ง แต่ก็ไม่สามารถนำมาหักล้างฮะดีษบทนี้ของท่านรอซูล(ซ.ล.)บทนี้ได้

          ที่ชัดเจนที่สุดและไม่มีข้อสงสัยเลยก็คือ จำเป็นจะต้องให้ความเท่าเทียมตามตัวบทเนื้อหาของฮะดีษ เนื่องจากการให้ความเท่าเทียมนั้น จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่างๆมากมาย ในทางตรงกันข้าม การไม่ให้ความเท่าเทียมกันนั้น จะทำให้เกิดผลเสียต่างๆมากมาย

          และตามตัวบทฮะดีษเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความแตกต่างในการให้ความเท่าเทียมกันระหว่างลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง

          ดังที่ท่านรอซูล ได้กล่าวแก่ท่านบะชีรว่า :          

“จงให้ความเท่าเทียมกันในหมู่ลูกๆของพวกท่าน”

          ทรรศนะดังกล่าวเป็นทรรศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่ รวมถึงอิมามทั้งสาม(ท่านอิมามอบูฮะนีฟะห์ ท่านอิมามมาลิก และท่านอิมามชาฟีอีย์)

          ส่วนทรรศนะของท่านอิมามอะหมัดคือ ให้แบ่งตามจำนวนที่จะได้จากการแบ่งมรดก ก็คือผู้ชายได้ 2 ส่วน และผู้หญิงได้หนึ่งส่วน และท่านอิมามอิบนุตัยมียะห์ก็เห็นด้วยกับทรรศนะนี้

สาระที่ได้รับจากฮะดีส

1. จำเป็นจะต้องให้ความยุติธรรมกับบรรดาลูกๆ และห้ามมิให้เจาะจงแก่ผู้ใดเป็นพิเศษ
2. การไม่ให้ความเท่าเทียมและไม่ยุติธรรมแก่บรรดาลูกๆนั้น ถือเป็นการอธรรม
3. สมควรที่จะต้องนำของที่ให้แก่ลูกคนหนึ่งคนใด โดยมิได้ให้แก่คนอื่นๆกลับคืน


โดย : อาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์