อย่ากินอุดมการณ์จนลืมศาสนา
โดย อ.มุนีร มูหะหมัด
ทุกกลุ่มชน ทุกองค์กร จะมีอุดมการณ์ของตนเอง และสมาชิกผู้สังกัดองค์กรเหล่านั้น มักจะยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคง จนสามารถที่จะสังเวยชีวิตเพื่อเชิดชูอุดมการณ์ไว้ ขณะเดียวกันมนุษย์ส่วนมากมักจะมีศาสนาไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวภายในจิตใจด้วย นอกจากจะมีบางคนที่ประกาศว่า ไม่มี ไม่ยึดถือศาสนา แต่เขาไม่ได้คิดว่าในบั้นปลายแห่งชีวิตของเขา เขาจะให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่จัดการกับเรือนร่างที่ไร้วิญญาณของเขาอย่างไร จะปล่อยไว้เฉยๆ ให้เน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา หรือให้หนอนชอนไชจนเป็นที่อุดจาดตา หรือให้นำไปฝัง ไปเผา หรือบรรจุโลงแก้วเพื่อให้ผู้นิยมเลื่อมใส มีความศรัทธา เคารพบูชา
ศาสนาในสายตาของคนทั่วไป คือสิ่งที่ทำให้คนเป็นคนดี ขณะเดียวกัน ศาสนาก็มีหลักที่จะรักษาชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศของมนุษย์ไว้ด้วย ไม่ว่า จะเป็นศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ฯลฯ ต่างบัญญัติพิทักษ์คุ้มครอง ชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศของบุคคลไว้ทั้งนั้น โดยมิให้ล่วงละเมิด ไม่ใช่เฉพาะแต่การล่วงละเมิดผู้อื่นเท่านั้น แม้กระทั่งสิทธิ์ตนเองก็ห้ามละเมิดด้วย เช่นว่า การทำร้ายตนเอง หรือการใช้ทรัพย์สินไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือการประพฤติตัวไม่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การตำหนิจากผู้อื่น
สรุปแล้วการยึดมั่นในอุดมการณ์อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นการละเมิดต่อบัญญัติศาสนา และศีลธรรมอันดีงามแล้วก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติ
จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า ผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ โดยอยู่ในสายเลือด มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ยอมสละชีวิต เพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ และเป็นวีรบุรุษที่ไม่มีตัวตน บางคนได้รับการแซ่ซร้องสรรเสริญ บางคนถูกสร้างเป็นอนุเสาวรีย์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และมีหลายคนที่เป็นเสมือนแพะบูชายันต์ โดยเปิดทางให้นักฉวยโอกาส ในการเสวยผลประโยชน์ อันจักทำให้พวกเขาเด่นดัง มีอำนาจ บารมี หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นักหากินกับซากศพนั่นเอง แต่ถ้าจะให้เขาเหล่าน้นยอมสละชีพดูบ้าง ก็คงจะนับนิ้วได้ถึงจำนวน ของผู้ที่จะกลั้นหายใจเสียสละเช่นนี้ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ ซึ่งก็เป็นเหมือนนกรู้ พอหตุการณ์สงบ หรือสบโอกาสเหมาะ ก็จะออกมาแสดงตัวว่าเป็นนักอุดมการณ์ ทุ่มเทชีวิตเพื่ออุดมการณ์ บริโภคอุดมการณ์ ประหนึ่งว่าเป็นภักษาหาร
คนเราจะรู้ถึงความเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือการรณรงค์โดยมิใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือได้แสดงพฤติการณ์เป็นนักฉวยโอกาส ก็ต่อเมื่อตกทุกข์ได้ยาก หรือในภาวะยากแค้น ซึ่งมีความต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น เฉพาะอย่างยิ่งเวลาเกิดอุทกภัย หรือ วาตะภัยที่ทำให้พี่น้องชาวไทยประสบความเดือดร้อน ปรากฏว่า ในหลวง ราชินี และบรมวงศ์สานุวงศ์ หน่วยงานของรัฐ องค์กร มูลนิธิ สมาคมภาคเอกชน ภาคประชาชน ออกมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง บรรดานักกินอุดมการณ์ทั้งหลายกลับเงียบหาย ไม่ออกมาแสดงบทบาท หรือว่า เวลาเสียผลประโยชน์จะหลบฉากไปก่อน ครั้นเมื่อสบโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ ก็ออกมาเขย่าเพื่อให้สังคมกระเพื่อมไหว ปั่นป่วน สับสน วุ่นวาย นี่หรือลักษณะของนักกินอุดมการณ์