หมู ค่านิยมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
  จำนวนคนเข้าชม  8965

หมู ค่านิยมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

โดย อ.สง่า วิไลวรรณ


 

         เมื่อพูดถึง “หมู” หรือ “สุกร” เชื่อว่าย่อมเป็นที่รู้จักกันได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเวลาสาธยายถึงอนาโตมี่ (กายวิภาค) ตามหลักสรีระวิทยาของมัน โดยทั่วๆไปแล้ว หมู นับเนื่องอยู่ในสารบบ ปศุสัตว์ด้วยชนิดหนึ่ง และ จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงไว้สำหรับบริโภค และกิจการค้า แต่บางขณะ มันก็เข้าไปมีส่วนทางการเมืองกับเขาด้วยเหมือนกัน  ถึงแม้ว่าบางคนจะไม่เคยพบเห็นหมู แต่มักได้ยินชื่อ เห็นรูปภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิติศัพท์ ในทางไม่เป็นศิริมงคลของมัน บ่อยครั้งและมากมายหลายประการ ค่านิยมดังกล่าวของมัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปในทางดีเลย แม้แต่น้อย

ลองพิจารณากันดูเอาเองเถิดว่า มีความเป็นจริงสักเพียงใด

1.อ้วนเหมือนหมู

          เป็นคำเปรียบเปรยสำหรับคนที่มีสภาพร่างกาย เลยขอบเขตสมบูรณ์ไป ทำให้ทราบว่า หมูมีร่างกายอ้วนจนน่าเกลียด ผู้ที่ถูกเทียบเคียงเช่นนี้ มักไม่สบอารมณ์นัก

2.สกปรกเหมือนหมู

          ใครทำตัวสกปรกจนเป็นนิสัย ย่อมเป็นที่รังเกียจของสังคม และถูกเทียบให้เหมือนหมู ที่มีชีวิตประจำวันคลุกเคล้าอยู่กับสิ่งปฏิกูล

3.ขี้เกลียดเหมือนหมู

นิสัยเกียจคร้านของหมูเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ใครที่ขาดความขยันก็ย่อมถูกเปรียบด้วยหมู

4.น่าเกลียดเหมือนหมู

          ลองทบทวนแล้ว พิจารณาดูเถิดว่า ในตัวของหมูมีอะไรน่ารัก-น่าชื่นใจบ้าง เล้าเป็ด-เล้าไก่ ถึงแม้จะเหม็น เพราะมูลมันบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงจนส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้และไกลได้มาก เหมือนคอกหมู ตลอดเรื่อนร่างของมัน มีตอนไหนบ้างที่มองแล้ว ทำให้นึกรัก-เจริญนัยน์ตาเสียงร้องอันแสนทรมานประสาทหู กลิ่นสาบสางที่เหลือทน การมักมากในกามารมณ์ตามธรรมชาติที่เกินพอดี ความใจเสาะ ตาขาวที่น่าหมั่นไส้ สารพัดความไม่ดีเหล่านี้ มีหมูเท่านั้นที่มีอยู่อย่างครบถ้วนในตัวมัน

5.กินดังเหมือนหมู

          เพราะกินเสียงดังจุ๊บจั๊บตลอดเวลา ผู้ที่กินเสียงดัง อันเป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างแรงจึงเปรียบเหมือนหมู

6.กินเก่งเหมือนหมู

         ใครที่กินเก่งและไม่เลือกอาหารทั้งชนิดและคุณภาพ ก็ต้องคล้ายหมู เพราะหมูเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่กินอาหารได้มากที่สุด แม้แต่อุจระและสิ่งเน่าเหม็น มันก็โปรดปรานยิ่งนัก

         นอกจากนี้ยังมีคุณทราม ความไม่ดี ของหมูอีกหลายต่อหลายอย่าง เป็นต้นว่า "ตะกละเหมือนหมู" "นอนเก่งเหมือนหมู" "ร้องเหมือนหมู"และ ฯลฯ  


          รวมความแล้ว คำเปรียบเปรยที่กล่าวถึงหมูนั้น ล้วนเป็น "อัปมงคล"ทั้งสิ้น เป็นค่านิยมที่ต่ำสุดในสังคมมนุษย์ และ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่บรรพกาล ปัจจุบันนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ เชื่อได้ว่าอนาคตก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงค่านิยมนี้ไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอีกกี่ร้อยกี่พันปี การกล่าวเช่นนี้-มิใช่เป็นการอคติต่อมันหรือเป็นคำกล่าวที่ผิดข้อเท็จจริงแต่ประการใด เพราะมีหลักฐานบางชิ้นที่หยิบยกนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้เพื่อประกอบการพิจารณา นั่นคือความมุ่งหมายในการเลี้ยงหมูของชาวจีนโบราณ บทความทางวิชาการสั้นๆ ซึ่งถึงอย่างไรก็สามารถให้อะไรๆมากพอควรทีเดียว

ที่มาจาก นิตยสารคุณธรรม
http://sordigeen.com/viewtopic.php?f=22&t=72