สิทธิมนุษยชนในอิสลามยุคปัจจุบัน
ภายหลังจากกลุ่มประเทศอาหรับและประเทศมุสลิมได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับต่างๆและมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้มีข้อเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและได้มีการศึกษาถึงหลักการ แนวคิด ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในอิสลามอย่างกว้างขวางจนกระทั่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ในคราวประชุมครั้งที่ 19 เมื่อปี ค.ศ. 1989 ได้มีมติเห็นชอบปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย 25 มาตรา ซึ่งแม้จะมีการประกาศที่ล่าช้ากว่าปฏิญญาสากลถึง 41 ปี แต่ปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นการประยุกต์ใช้หลักการของบทบัญญัติอิสลามเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผลพวงหรือได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ใดเหมือนคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น หลังจากประชาคมโลกได้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสงครามโลกครั้งที่ 2
สรุปปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชนปฏิญญาอิสลามว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย 25 มาตราสรุปได้ดังนี้
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงไว้ซึ่งความกรุณาปรานี
โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้ทำความรู้จักกันและกัน แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า(อัลกุรอาน 49 : 13)
มาตราที่ 11.1 มนุษยชาติ คือ ครอบครัวเดียวกัน ทุกคนมีหน้าที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เป็นลูกหลานของอาดัม และมนุษย์มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีภาระหน้าที่ตามบทบัญญัติเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกเนื่องจากความแตกต่างด้านเลือดเนื้อ สีผิว ภาษา เชื้อชาติ ความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง ฐานะทางสังคม หรืออื่นๆ การศรัทธาที่ถูกต้องคือ หลักประกันและตัวบ่งชี้สถานภาพที่แท้จริงของมนุษย์
1.2 สิ่งถูกสร้างทั้งหมด คือ ครอบครัวที่เป็นสมาชิกของอัลลอฮ์ และผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ์ คือ ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สมาชิกของพระองค์ ไม่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เว้นแต่ความยำเกรงและคุณงามความดีเท่านั้น
มาตราที่ 22.1 ชีวิต คือ พรอันประเสริฐที่อัลลอฮ์ มอบไว้ให้กับมนุษย์ทุกคน ทั้งปัจเจกบุคคล สังคม และประชาชาติจะต้องปกป้องชีวิตจากการถูกรุกราน และทุกคนไม่มีสิทธิเหนือชีวิตผู้อื่นเว้นแต่ที่กำหนดใน ศาสนบัญญัติ
2.2 ห้ามมิให้มีกระทำการอันใดที่เป็นเหตุแห่งการทำลายล้างชีวิตมนุษย์
2.3 การรักษาชีวิตให้ดำรงคงอยู่ เป็นสิ่งที่วายิบ (ต้องกระทำละเว้นมิได้)
2.4 ศพมนุษย์จะต้องได้รับเกียรติ และล่วงละเมิดไม่ได้ยกเว้นในกรณีที่อนุโลมโดยศาสนบัญญัติ
มาตราที่ 3ในกรณีที่มีความขัดแย้งและมีการใช้กองกำลังและอาวุธ ไม่อนุญาตให้ฆ่าผู้หญิง คนแก่ เด็กเล็ก ผู้บาดเจ็บย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ต้องให้อาหารที่เพียงพอแก่เชลยศึกพร้อมทั้งน้ำดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม ห้ามทำร้ายศพ การแลกเปลี่ยนเชลยศึกย่อมกระทำได้
มาตราที่ 4มนุษย์ทุกคนย่อมมีเกียรติและศักดิ์ศรี ทั้งที่ขณะยังมีชีวิตหรือสิ้นชีวิตศพแล้ว รัฐและสังคมต้องมีมาตรการรักษาศพและจัดหาสถานที่ฝังศพ
มาตราที่ 55.1 ครอบครัว คือ เสาหลักที่ค้ำจุนการพัฒนาสังคม การแต่งงาน คือ มาตรการหลักในการเสริมสร้างครอบครัว ผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิเลือกคู่ครองได้
5.2 สังคมและรัฐต้องหามาตรการส่งเสริมการแต่งงาน พร้อมทั้งปกป้องครอบครัวจากภยันตรายทั้งปวง
มาตราที่ 66.1 สตรีมีฐานะที่เท่าเทียมกับบุรุษด้านศักดิ์ศรีและเกียรติยศ
6.2 บุรุษมีหน้าที่ให้การคุ้มครองและหาปัจจัยยังชีพแก่ครอบครัว
มาตราที่ 77.1 บิดามารดา สังคมและรัฐมีหน้าที่ให้การดูแลบุตร ตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งการให้การอบรม ส่งเสริมด้านกายภาพ การให้การศึกษาและการให้การอบรมทางจิตใจ
7.2 บิดามารดา เป็นผู้ที่มีสิทธิในการเลือกวิธีในการอบรมลูก รวมทั้งต้องคำนึงถึงอนาคตของลูกภายใต้กรอบของจริยธรรมอันดีงาม
7.3 บิดามารดามีสิทธิที่ลูกมอบให้ รวมทั้งสิทธิของญาติผู้ใกล้ชิดตามกรอบที่กำหนดในศาสนบัญญัติ
มาตราที่ 8มนุษย์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ที่พึงได้ ตราบใดที่คงสภาพความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ตามกฏหมาย
มาตราที่ 99.1 การแสวงหาความรู้ ถือเป็นข้อบังคับในศาสนา และถือเป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐในการส่งเสริมให้สมาชิกทุกคนในสังคมมีความรู้
9.2 องค์กรทางการศึกษา ต้องให้ความรู้แก่สมาชิกในสังคม และให้การอบรมด้วยวิธีการที่ครอบคลุม สมดุลทั้งโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์
มาตราที่ 10ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา และไม่มีการฉกฉวยโอกาสเพื่อเปลี่ยนแปลงศาสนาดั้งเดิมของแต่ละคน อันเนื่องมาจากความยากจน ความอ่อนแอหรือความไม่รู้ของเขา
มาตราที่ 1111.1 มนุษย์เกิดมาในสภาพที่เป็นอิสระ ทุกคนไม่มีสิทธิ์บังคับด้วยการให้เป็นทาส ไม่มีสิทธิเหยียดหยามผู้อื่น และไม่มีระบบการเป็นทาสนอกเหนือจากการเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ เท่านั้น
11.2 การยึดครองและการล่าอาณานิคมเป็นสิ่งต้องห้าม สังคมใดถูกยึดครองมีสิทธิที่จะประกาศตนเป็นอิสระพร้อมกำหนดทางเลือกสำหรับตนเอง ประชาคมโลกต้องปกป้องประเทศที่ถูกรุกราน และประชาคมโลกย่อมมีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองและจัดการทรัพยากรของตนเอง
มาตราที่ 12มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการอพยพและเลือกที่อยู่อาศัยทั้งในและต่างประเทศ และในกรณีที่มีความจำเป็น บุคคลย่อมมีสิทธิลี้ภัยยังประเทศอื่น ตราบใดที่อยู่ในกฏระเบียบที่ถูกต้อง
มาตราที่ 13การทำงานในสาขาอาชีพ เป็นสิทธิ์ที่รัฐและสังคมต้องให้การคุ้มครอง ประชาชนมีสิทธิ์ในการ ประกอบอาชีพ และผู้ประกอบอาชีพมีสิทธิได้รับความปลอดภัยและการคุ้มครองตามระเบียบการประกันสังคม
มาตราที่ 14มนุษย์ทุกคนมีสิทธิประกอบอาชีพที่สุจริต โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม
มาตราที่ 15มนุษย์มีสิทธิถือครองในทรัพย์สินด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนเองถือครองอยู่
มาตราที่ 16ห้ามมีการยับยั้งการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน เว้นแต่ด้วยการอนุโลมตามหลักศาสนบัญญัติเท่านั้น
มาตราที่ 1717.1 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลภาวะและสิ่งรบกวน
17.2 สังคมและรัฐต้องให้การคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์และต้องจัดการอำนวยความสะดวกที่เป็นปัจจัยความต้องการพื้นฐานของสังคม
17.3 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ มีเกียรติ มีความพอเพียงสำหรับตนเองและผู้ที่อยู่ภายใต้อุปการะ ซึ่งครอบคลุมด้านโภชนาการ เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย การศึกษา ยารักษาโรค และปัจจัยความต้องการพื้นฐานอื่นๆ
มาตราที่ 1818.1 มนุษย์มีสิทธิใช้ชีวิตอย่างปกติสุขทั้งต่อตนเอง ศาสนา ครอบครัว เกียรติยศและทรัพย์สมบัติ
18.2 มนุษย์มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวทั้งในบ้านตนเอง ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ การติดต่อสื่อสาร ไม่อนุญาตให้ติดตามบุคคลใดเพื่อสืบความลับส่วนตัวหรือยุ่งเกี่ยวชีวิตส่วนตัวของบุคคลอื่น
18.3 ที่อยู่อาศัยย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่มีใครสามารถเข้าบ้านผู้อื่นเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน ไม่อนุญาตให้ทำลายบ้านเรือนหรือขับไล่ผู้คนออกจากบ้านของตัวเอง
มาตราที่ 1919.1 มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันภายใต้หลักศาสนบัญญัติ ไม่ว่าในระดับผู้ปกครองหรือสามัญชน
19.2 ทุกคนย่อมได้รับความคุ้มครองภายใต้กฏหมาย
19.3 ภาระหน้าที่ถือเป็นส่วนบุคคล ถ่ายโอนหรือโยกย้ายไม่ได้
19.4 ไม่มีการลงโทษ หรือปรับยกเว้นตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในศาสนบัญญัติ
19.5 ผู้ถูกกล่าวหา ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด
มาตราที่ 20ไม่อนุญาตจับกุม กักขัง หน่วงเหนี่ยว หรือเนรเทศผู้ใด เว้นแต่ในกรณีที่อนุโลมโดยศาสนบัญญัติ ไม่อนุญาตกระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดทรมานด้านร่างกายและจิตใจไม่ว่าด้วยวิธีการใด ไม่อนุญาตให้มนุษย์เป็นสิ่งทดลองทางการแพทย์ และทางชีววิทยา
มาตราที่ 21การจับบุคคลเพื่อเป็นตัวประกันหรือเรียกค่าไถ่เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าในรูปแบบใดหรือมีวัตถุประสงค์อันใดก็ตาม
มาตราที่ 2222.1 บุคคลย่อมมีสิทธิ์แสดงความคิดของตนเอง ตราบใดที่ไม่กระทบกับบทบัญญัติทางศาสนา
22.2 บุคคลย่อมมีสิทธิ์ในการเผยแพร่ความดีงาม และยับยั้งความชั่วร้าย ตราบใดที่อยู่ในกรอบแห่ง ศาสนบัญญัติ
22.3 การเผยแพร่ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ แต่ต้องไม่กระทบกับศักดิ์ศรี และไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่นับถือตามความเชื่อในสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่กระทบกับเกียรติของบรรดาศาสนทูตและพฤติกรรมไร้ศีลธรรมทั้งปวง
22.4 ไม่อนุญาตให้เกิดการยุยงและการสร้างความแตกแยกในสังคม
มาตราที่ 2323.1 การบริหารการจัดการและการพัฒนาสังคม ถือเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากอัลลอฮ์ ไม่อนุญาตให้มีการผูกขาดอำนาจหรือการใช้อำนาจในทางที่ผิด
23.2 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการประเทศทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับตำแหน่งตามบทบัญญัติที่ถูกต้อง
มาตราที่ 24สิทธิและเสรีภาพที่ปรากฏในปฏิญญานี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฏกติกาของศาสนบัญญัติ
มาตราที่ 25ศาสนบัญญัติที่กำหนดโดยอิสลาม คือ แหล่งอ้างอิงเดียวที่สามารถนำมาอธิบายได้และให้คำชี้ชัดในทุกมาตราที่ปรากฏในคำปฏิญญานี้
สรุปการศึกษาวิจัย การสัมมนา การส่งเสริมและการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน จะไร้ซึ่งความหมาย และเป็นเพียงหยดน้ำหมึกบนเศษกระดาษ และคำพูดที่ไร้ค่า หากไม่ได้รับการขานรับในภาคปฏิบัติของประชาคมโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศมหาอำนาจ โดยหลักการแล้วประเทศต่างๆในโลกปัจจุบันล้วนแล้วแต่ยอมรับคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ในความจริงมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้กลายเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดที่รุนแรงและโหดร้าย บ่อยครั้งที่มีการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และหากศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งอดีตและปัจจุบัน สรุปได้ว่ากลุ่มที่มีศักยภาพในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและมีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ อำนาจรัฐและกลไกของรัฐนั่นเอง
ด้วยเหตุดังกล่าว สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นเพียงหัวข้อสัมมนาในเวทีโลกหรือเสียงเรียกร้องและอนุสัญญาระดับนานาชาติเท่านั้น หากเป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่มีเป้าประสงค์ให้การคุ้มครองมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คลอดออกมาใช้ชีวิตบนโลกนี้ในทุกช่วงอายุ จนกระทั่งชีวิตหลังจากความตาย ทุกขั้นตอนของชีวิตมนุษย์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามครรลองของศาสนาที่ได้วางกรอบและแนวทางอันเที่ยงตรง เพื่อมนุษย์จะได้ใช้ขีดความสามารถของตนเองสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมพัฒนาศักยภาพสู่เป้าประสงค์สูงสุดของชีวิตที่มีความสุขอย่างถาวรและยั่งยืน
เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ