ฟัตวาของเชค อัล-อุษัยมีน
สนับสนุนอิคติลาฟ อัล-มะฏอลิอฺ
คำถาม :
เราควรถือศีลอด(ในเดือนรอมาฎอน)และเลิกถือศีลอดของเราตามการเห็นฮิลาล(จันทร์เสี้ยวของเดือนใหม่)ในซาอุดิอาระเบีย หรือเราควรจะถือศีลอดตามการเห็นฮิลาลในประเทศที่เราอาศัยอยู่?
คำตอบ :
ในหมู่อุละมาอฺมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกันออกไปมากมาย มีประมาณหกทัศนะที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีทัศนะหลักๆ อยู่สองทัศนะคือ
ทัศนะแรก คือทุกคนควรจะดูเดือนในประเทศของตนเอง และประเทศที่มีดวงจันทร์ขึ้นในเวลาเดียวกันก็ควรจะปฏิบัติตามประเทศของตน เหตุผลนั้นก็คือว่าเวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน
ทัศนะที่สอง นั้นก็คือ การเริ่มต้นเดือนใหม่จำเป็นต้องได้รับการยืนยันในประเทศมุสลิมประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ถ้าในประเทศมุสลิมประเทศใดประเทศหนึ่งยืนยันการเห็นฮิลาล เมื่อนั้น ถือเป็นข้อบังคับที่มุสลิมทุกคนจะต้องใช้การเห็นเดือนนั้นกำหนดการเริ่มต้นถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน หรือเลิกถือศีลอด(เมื่อสิ้นเดือนแล้ว)
ตามทัศนะที่สอง สำหรับในช่วงเริ่มต้นเดือนรอมาฎอน ถ้ามีการยืนยันว่าเห็นฮิลาลในซาอุดิอาระเบีย ก็บังคับให้มุสลิมทุกคนในทุกส่วนของโลกถือศีลอดตาม(ซาอุดิอาระเบีย)สำหรับในช่วงเริ่มต้นเดือนเชาวาล ก็บังคับให้มุสลิมทุกคนเลิกถือศีลอดตามเช่นกัน นี่คือทัศนะที่เกือบจะเป็นการยึดถือโดยทั่วไปของผู้สังกัดมัซฮับอิมามอะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบาล
อย่างไรก็ตาม ทัศนะแรกมีความถูกต้องมากกว่า เพราะพยานหลักฐานที่ปรากฏในอัล-กุรฺอาน, สุนนะฮฺ และเพราะการกิยาส(อนุมานเปรียบเทียบ) สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับอัล-กุรฺอานนั้น อัลลอฮ์ ตรัสว่า :
“เดือนรอมฎอนคือเดือนที่อัล-กุรฺอานถูกประทานลงมา เพื่อเป็นทางนำสำหรับมวลมนุษย์
เป็นหลักฐานอันชัดเจนให้กับทางนำนั้น และยังเป็นบรรทัดฐานสำหรับแยกแยะความจริงและความเท็จ
ดังนั้น พวกเจ้าคนใดเห็น(จันทร์เสี้ยวค่ำคืนแรกของ)เดือนนั้น ให้เขาถือศีลอดในเดือนนั้น”
(ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 185 )
ประโยคสุดท้ายเป็นประโยคเงื่อนไข และกฎซึ่งแฝงอยู่ในประโยคเงื่อนไขนั้นได้รับการบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่อยู่ในเงื่อนไข และไม่มีผลบังคับสำหรับบุคคลที่ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น ประโยคที่กล่าวว่า
“พวกเจ้าคนใดเห็น(จันทร์เสี้ยวค่ำคืนแรกของ)เดือนนั้น ให้เขาถือศีลอดในเดือนนั้น” จึงมีความหมายว่า บุคคลที่มิได้มองเห็นจันทร์เสี้ยวก็มิต้องถือศีลอด
เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีในหมู่นักดาราศาสตร์ว่า เวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นในแต่ละสถานที่นั้นแตกต่างกัน ณ สถานที่หนึ่ง อาจมีคนมองเห็นเดือน แต่อีกสถานที่หนึ่ง อาจไม่มีคนมองเห็นเดือน เพราะฉะนั้น ตามความหมายของอายะฮฺดังกล่าว (2:185) บุคคลที่มองไม่เห็นเดือน ก็ไม่เป็นที่บังคับให้ต้องถือศีลอด
ตามสุนนะฮฺ ท่านนบี กล่าวว่า
“ถ้าเจ้าเห็นมัน(ฮิลาลของเดือนรอมาฎอน) จงเริ่มถือศีลอด
และถ้าเจ้าเห็นมันอีกครั้ง(ฮิลาลของเดือนเชาวาล) จงเลิกถือศีลอด
และถ้ามีเมฆมาบดบังมิให้เจ้ามองเห็น ดังนั้น จงนับ(เดือนปัจจุบัน)ให้ครบสามสิบวัน”
ท่านนบี กล่าวว่า “ถ้าเจ้าเห็นมัน” เท่ากับว่าท่านนบี เชื่อมโยงกฎนั้นเข้ากับการดูเดือน และถ้ากฎนั้นเชื่อมโยงกับเหตุที่เป็นจริง เมื่อนั้นกฎดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ในกรณีที่เหตุนั้นไม่มีอยู่จริง
หากพิจารณาในมุมมองของการกิยาส(การอนุมานเปรียบเทียบ)นั้น เมื่อเรากล่าวว่าจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง เวลาเริ่มถือศีลอดและเวลาละศีลอดในแต่ละวันช่างแตกต่างกันจริงๆ ในทำนองเดียวกัน เวลาที่เริ่มต้นถือศีลอดเดือนรอมาฎอน และเวลาที่เลิกถือศีลอดเดือนรอมาฎอนย่อมจะแตกต่างกันฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น
ตัวอย่างเช่น เราอยู่ในริยาห์ด ทุกวันเราเริ่มถือศีลอดก่อนผู้คนในอัล-หิญาซ และเรายังละศีลอดก่อนพวกเขาเช่นกัน ฉะนั้น เราถูกบังคับให้ต้องเริ่มต้นถือศีลอดในขณะที่พวกเขายังคงรับประทานอาหารกันอยู่ตามปกติ ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงเวลาพลบค่ำเรารับประทานอาหารได้แล้ว ขณะที่พวกเขายังต้องถือศีลอดอยู่ เพราะเหตุดังกล่าว
ถ้าแต่ละสถานที่มีกฎของตัวเองเนื่องจากความแตกต่างทางด้านเวลาขึ้นและเวลาตกของดวงอาทิตย์แล้ว ในทำนองเดียวกัน แต่ละสถานที่ย่อมมีกฎของตัวเอง เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเวลาขึ้นและเวลาตกของดวงจันทร์เช่นกัน
เพราะฉะนั้น คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นเป็นที่ชัดเจนแล้ว เป็นวายิบ(บังคับ)สำหรับท่าน ท่านจะต้องปฏิบัติตามการเห็นฮิลาลในพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่
เชค อิบนฺ อุษัยมีน อ้างอิง : อัล-อฺะกอลลียาต อัล-มุสลิมะฮฺ หน้า 84 ฟัตวาหมายเลขที่ 23