แนวทางของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน)
ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ 4
ขั้นตอนที่สอง : การพิจารณาอิลละห์ และรูปแบบต่างๆของอิลละห์
ความหมายของอิลละห์ในตัวบท อิลละห์ในตัวบทคือ สาเหตุที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวบทของฮะดีษและทำให้บกพร่องต่อสถานภาพซอฮีฮฺของฮะดีษ
อิลละห์ในตัวบทมีรูปแบบหมายรูปแบบ เช่น :
1. ตัวบทขัดกับอัลกุรอาน
2. ตัวบทขัดกับฮะดีษซอฮีฮฺ ที่ได้รับการปฏิบัติ
3. ตัวบทขัดกับประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน
4. ตัวบทขัดกับสติปัญญาที่บริสุทธิ์
5. ตัวบทขัดกับความรู้สึก
6. ตัวบทมีความหมายในแง่ของการตอบแทนผลบุญ และการลงโทษเกินความจริง
7. ตัวบทมีความหมายที่อ่อนไม่สมกับการเป็นฮะดีษ
รูปแบบของอิลละห์ทั้งหมดนี้ นักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาฮะดีษโดยทั่วไป กล่าวคือ ฮะดีษใดก็ตามที่พบตัวบทมี อิลละห์ ถึงแม้ว่าสายสืบจะซอฮีฮฺ แต่ฮะดีษนั้นจะถูกวิจารณ์ และจะไม่ได้รับการยอมรับ
อย่างไรก็ตาม พบว่าในหมู่นักปราชญ์ (มุฮัดดิซีน) นั้น มีท่านอิมามอิบนุลเญาว์ซีย์ (สิ้นชีวิตใน ฮ.ศ. 597) เจ้าของหนังสือชื่อ อัลเมาว์ฎูอ๊าต (الموضوعات) ได้ใช้บรรทัดฐานนี้เฉพาะในกรณีฮะดีษมีสายสืบฎออีฟ หรือ เมาว์ฎู๊อฺเท่านั้น ส่วนฮะดีษที่มีสายสืบซอฮีฮฺ ท่านไม่กล้าหาญที่จะใช้บรรทัดฐานดังกล่าว ซึ่งต่างกับท่านอิมาม อิบนุลกอยยิม (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.751) ที่กล้าใช้บรรทัดฐานนี้กับฮะดีษหลายบทที่มีสายสืบซอฮีฮฺ ในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า อัลมะนารุลมุนีฟฟิสซอฮีฮฺวัฎฎออีฟ (المنارالمنيف فى الصحيح والضعيف)
และต่อไปนี้คือรายละเอียดที่เกี่ยวกับรูปแบบต่างๆของอิลละห์ และตัวอย่าง
1. การขัดแย้งกับอัลกุรอาน
การที่ตัวบทขัดแย้งกับอัลกุรอานถือเป็นอิลละห์เพียงพอในการไม่ยอมรับฮะดีษ เพราะโดยหลักการแล้ว อัลกุรอานกับอัลฮะดีษจะไม่ขัดแย้งกัน มีซอฮาบะห์หลายท่านที่ใช้หลักเกณฑ์นี้ในการไม่ยอมรับฮะดีษ เช่น ท่านหญิงอาอีชะห์ ไม่ยอมรับฮะดีษดังต่อไปนี้
ان الميت يعذب ببكاء أهله عليه "คนตายจะถูกทรมานเพราะครอบครัวของเขาร้องไห้"
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 1286-1288 และมุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 79,80)
และฮะดีษ
ولد الزنا شرالثلاثة "คนที่เป็นลูกซินา (นอกสมรส) เป็นคนที่ชั่วที่สุดในสามคน"
*(อัลฮากิม : อัลมุสตัดร็อก เล่ม 4 หน้า 100)
เพราะฮะดีษนี้ขัดกับอัลกุรอานที่ อัลเลาะห์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า
وَلا تَزِرُ وَازِرَةٌ وِزْرَ أُخْرَى
"และไม่มีผู้แบกภาระใดที่จะแบกภาระของผู้อื่นได้" (หมายถึงแบกความผิดหรือโทษ) (อัลอิสรออฺ : 15)
และได้ปฏิเสธฮะดีษที่รายงานว่า ท่านนบี ได้พูดกับคนตายในสงครามบัดรฺ
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 3976 และหมายเลข 3978-3981 และอันนะซาอีย์ : อัสสุนัน เล่ม 4 หน้า 110 )
เพราะฮะดีษดังกล่าวขัดแย้งกับอัลกุรอานที่อัลเลาะห์ตาอาลา ได้ตรัสว่า
إِنَّكَ لا تُسْمِعُ الْمَوْتَى
แท้จริง เจ้า (มุฮัมหมัด) จะไม่ทำให้คนตายได้ยิน (อันนัมลฺ : 80)
และท่านอุมัรอิบนุลค๊อฏฏอบ ได้ปฏิเสธฮะดีษของท่านฟาฏิมะห์ บินตฺ ก็อยซฺ ที่รายงานว่า :
ท่านนบีไม่ได้ตัดสินให้ค่าเลี้ยงดูและที่อยู่อาศัยแก่นาง เมื่อนางถูกหย่าจากสามีครั้งสุดท้าย
*(มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 46)
โดยท่านอุมัรกล่าวว่า : เราจะไม่ทิ้งอัลกุรอาน และอัซซุนนะห์ เพียงเพราะคำพูดของหญิงคนหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ว่าเธอมีความจำหรือหลงลืม
อัลกุรอานที่ท่านอุมัรพูดถึง คือพระดำรัสของอัลเลาะหฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :
لا تُخْرِجُوهُنَّ مِنْ بُيُوتِهِنَّ وَلا يَخْرُجْنَ إِلا أَنْ يَأْتِينَ بِفَاحِشَةٍ مُبَيِّنَةٍ
พวกเจ้าอย่าได้ขับไล่พวกนางออกไปจากบ้านของพวกนาง และพวกนางจะต้องไม่ออกไป นอกจากเมื่อพวกนางได้นำมาซึ่งความชั่วอันชัดแจ้ง (อัฏฏอล๊าก : 1)
นักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) กลุ่มหนึ่งได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ตัดสินฮะดีษหลายบทว่าเป็นฮะดีษฎออีฟ ทั้งๆที่สายสืบของฮะดีษนั้นซอฮีฮฺ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว คือ
ฮะดีษของท่านอบูฮุรอยเราะห์ รายงานว่า : ท่านนบี ได้จับมือข้าพเจ้าและกล่าวว่า :
อัลเลาะห์ทรงสร้างดินในวันเสาร์ สร้างภูเขาในวันอาทิตย์ สร้างต้นไม้ในวันจันทร์ สร้างสิ่งที่น่ารังเกียจในวันอังคาร สร้างแสงสว่างในวันพุธ สร้างสิงสาราสัตว์ให้กระจัดกระจายในผืนแผ่นดินในวันพฤหัสบดี และสร้าง อาดัม อะลัยฮิสลาม ตอนหลังเวลาอัศรฺ (สายัณห์) ของวันศุกร์
*(มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 2789)
นัยของฮะดีษบทนี้ชี้ชัดว่า อัลเลาะห์ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ทรงสร้างสรรค์พสิ่งทั้งหลายในเจ็ดวัน นัยดังกล่าวขัดแย้งกับพระดำรัสแห่งอัลเลาะห์ ตะอาลาที่ว่า :
اللَّهُ الَّذِي خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالأرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ ثُمَّ اسْتَوَى عَلَى الْعَرْشِ
อัลเลาะห์ผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินภายในหกวัน แล้วทรงสถิตอยู่บนบัลลังก์ (อัลอะอฺรอฟ : 54)
ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษหลายคน จึงวิจารณ์และปฏิเสธฮะดีษดังกล่าว เช่น ท่านอิมามบุคอรีย์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.256) *(ดูอัลบุคอรีย์ : อัตตารีคุ้ลกะบี๊ร หน้า 412 อัลบุคอรีย์วิจารณ์ว่าเป็นคำพูดของท่านกะอ์บฺ อัลอะฮฺบาร และดู อิบนุลกอยยิม : อัลมานารุลมุนีฟ หน้า 84)
และท่านอิบนุกะซีร (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ. 774) *(ดู อิบนุกะซีร : ตัฟซีรกุรอานนิลอะซีม เล่ม 2 หน้า 220)
2.ขัดแย้งกับฮะดีษซอฮีฮฺ ที่ได้รับการปฏิบัติ
ท่านหญิงอาอิชะห์ ได้ปฏิเสธฮะดีษหลายบทเนื่องจากไปขัดแย้งกับฮะดีษที่ซอฮีฮฺและได้รับการปฏิบัติ เช่น ปฏิเสธฮะดีษที่รายงานว่า : ผู้หญิง ลา และสุนัข เมื่อเดินผ่านผู้ละหมาดจะทำให้เสียละหมาด
เพราะท่านหญิงอาอีชะห์เองเคยนอนขวางหน้าท่านนบี ขณะท่าน นบี กำลังละหมาด
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 514 และมุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 269)
และปฏิเสธฮะดีษที่บอกว่า الماءمن الماء น้ำนั้นจากน้ำ หมายถึงต้องอาบน้ำเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ
*(อัซซัรกะซีย์ : อัลอิยาบะห์ หน้า 145)
เพราะขัดกับฮะดีษอีกบทหนึ่งที่บอกว่า
اذاجاوزالختان فقد وجب الغسل
เมื่อองคชาติของชายล่วงล้ำของหญิงก็จำเป็นต้องอาบน้ำ หมายถึงไม่จำเป็นต้องมีการหลั่ง
*(มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 349)
การใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในการปฏิเสธฮะดีษ เป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับซอฮาบะห์อย่างท่านหญิงอาอีชะห์ หรือคนอื่นๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังฮะดีษโดยตรงจากท่านนบีมาแล้ว แล้วมาได้ฟังในสิ่งที่ขัดแย้งกันจากซอฮาบะห์ แต่สำหรับนักปราชญ์ (มูฮัดดิซีน) แล้วเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นทัศนะต่างๆที่ขัดแย้งกันในการใช้เงื่อนไขดังกล่าวเพื่อปฏิเสธหรือยอมรับฮะดีษ ดังตัวอย่างสองตัวอย่างต่อไปนี้คือ
ตัวอย่างที่หนึ่ง : ฮะดีษของท่านอิบนุ อับบาส รายงานว่า ท่านนบีได้ตัดสินคดีด้วยการสาบานและพยานหนึ่งคน
*(ฮะดีษหมายเลข 1712 ฮะดีษบทนี้อัตติรมีซีย์ได้รายงานจากอบีฮุรอยเราะห์ สะอี๊ด อิบนุอุบาดะห์ และญาบิร ฮะดีษหมายเลข 1343 และ 1344 อัตติรมิซีย์ วิจารณ์ว่า เป็นฮะดีษฮะซัน ฆอรีบ)
ท่านอิมามมาลิก (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.ที่ 179) ท่านอิมามชาฟิอีย์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.ที่ 204) และท่านอิมามอะห์หมัด (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ. 241) ได้ยึดถือฮะดีษบทนี้ แต่อบูฮะนีฟะห์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.150) ได้ปฏิเสธ เนื่องจากไปขัดกับฮะดีษของท่านอัลอัชอัต อิบนุ ก็อยซฺ (الأشعت بن قيس) ที่รายงานว่า ท่านนบี ได้ตัดสินกรณีพิพาทเรื่องบ่อน้ำ โดยกล่าวว่า : พยานสองคน (สำหรับโจทก์) หรือ (ให้จำเลย) สาบาน
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 2516 และมุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 220 อีกรายงานหนึ่งของมุสลิมมีสำนวนเพิ่ม ความว่า ไม่อนุญาตแก่เจ้านอกเหนือจากนั้น ดูฮะดีษหมายเลข 223)
ตัวอย่างที่สอง : ฮะดีษของท่านรอฟิอฺ อิบนุ คอดีจ (رافع بن خديج) ได้เล่าว่า : ฉันได้ยินท่านนบี กล่าวถึงรายได้ที่เลวที่สุด และหนึ่งในนั้นคือ รายได้ของผู้มีอาชีพกรอกเลือด (كسب الحجام)
*(มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 1568)
อีกรายงานหนึ่ง ท่านนบี กล่าวว่า รายได้ของผู้มีอาชีพกรอกเลือดเป็นสิ่งที่เลว (وكسب الحجام خبيث)
โดย ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข
د.عبدالله نومسوك