แนวทางของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน)
ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ 3
รูปแบบต่างๆของชูซู๊ซในตัวบท หมายถึงการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในตัวบทฮะดีษจากรูปเดิมที่ทราบกันดี เป็นรูปอื่น *(ด.ร.นูรุดดีน อะดัร : มันฮะญุลนักดฺ ฟีอูลูมิลหะอีซ หน้า 44)
4. การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในตัวบท (التصحيف فى المتن)
สำหรับสาเหตุของการตัซฮีฟ นั้นเกิดขึ้นจากการเขียนผิด หรือฟังผิด *(อัลบัยฮะกีย์ : มะอฺริฟัต อัสซุนัน วัลอาซ๊าร เล่ม 1 หน้า 56) ซึ่งสองประการต่อไปนี้ หากเกิดขึ้นกับผู้รายงานบ่อยครั้ง เขาจะถูกตำหนิและกลายเป็นผู้รายงานที่อ่อน (ฎออีฟ) ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นบางครั้งก็ไม่ทำให้สถานภาพของเขาเสียหายแต่อย่างใด เพราะถือว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม รายงานของเขาที่มีตัซฮีฟถือเป็นรายงานที่อ่อนใช้ไม่ได้
ตัวอย่าง :
مارواه احمدعن شيخه اسحاق بن عيسى ثناابن لهيئة قال : كتب الي موسى بن عقبةيجبرنى عن بسر بن سعيدعن زيد بن ثابت ان رسول الله صلى الله عليه وسلم احتجم فى المسج
ฮะดีษรายงานโดยอะห์หมัด จากอิสหาก จากอิบนุลุฮัยอะห์ ว่า : แท้จริง ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้รับการกรอกเลือดในมัสยิด
*(อะห์หมัด : อัลมุสนัด เล่ม 5 หน้า 185 และดูอัสสูยูฎีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 2 หน้า 193)
คำว่า احتجمซึ่งแปลว่า รับการกรอกเลือด เป็นคำที่ อิบนุลุฮัยอะห์รายงานผิดพลาด เพราะคำเดิมที่ถูกต้องคือ احتجر ซึ่งแปลว่า ทำเป็นห้อง หรือกั้นเป็นห้อง คำสองคำนี้เขียนเหมือนกัน ต่างกันเพียงอักษรสุดท้าย ซึ่งที่ถูกต้องคือ อักษร ر (รออฺ) แต่ อิบนุ ลุฮัยอะห์ เขียนผิดเป็นอักษร م (มีม) ความหมายจึงเปลี่ยนไป
การตัซฮีฟในลักษณะดังกล่าวมักเกิดขึ้นบ่อย ในการรายงานฮะดีษยุคหลังที่นิยมคัดลอกต่อๆกันมา แต่ก็สามารถตรวจสอบได้ง่ายโดยวิธีกลับไปดูตัวบทเดิม สำหรับวิธีทั่วไปของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ มุฮัดดิซีน ในการตรวจสอบนั้น จะใช้วิธีนำสายรายงานต่างๆของฮะดีษมาเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับวิธีการหาอิลละห์ และจะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับภาษา และการใช้ภาษาอีกด้วย
สำหรับตัวอย่างข้างต้นนั้น พบว่า สายรายงานต่าง ๆที่รายงานมา ทั้งของท่านอิมามอะห์หมัด ท่านอิมามบุคอรีย์ และท่านอิมามมุสลิม นั้น รายงานจากคนเดียวกันคือ บิสรฺ อิบนฺ สะอี๊ด จากซัยดฺ อิบนุซาบิต ดังนี้
*(อะห์หมัด : อัลมุสนัด เล่ม 5 หน้า 187 และอัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 6113)
ان رسول الله صلى الله عليه وسلم احتجر فى المسجدحجرة
และบางรายงานมีตัวบทดังนี้
*(อะห์หมัด : อัลมุสนัด เล่ม 5 หน้า 182 ,อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 731 และมุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 781)
ان النبى الله صلى الله عليه وسلم اتخدحجرةفى المسجدمن حصير
ความว่า : ท่านนบีได้ทำห้องในมัสยิด จากเสื่อ
5. การแทรกในตัวบท (الادراج فى المتن)
หมายถึง การที่ผู้รายงานได้นำส่วนที่ไม่ใช่ฮะดีษมาแทรกในฮะดีษ โดยไม่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจว่าสำนวนทั้งหมดเป็นฮะดีษ
*(ดูอัลฮากิม : มะอฺริฟัต อูลูมิลฮะดีษ 39-41 และ 135-140 อิบนุสศอลาห์ : อัลมูก็อดดีมะห์ หน้า 208 และอัสสุยูฎีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 1 หน้า 268-274)
การแทรกในตัวบทฮะดีษนั้นมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น :
ก. การอธิบายศัพท์ กล่าวคือ ผู้รายงานต้องการอธิบายศัพท์ที่ปรากฏในตัวบทฮะดีษ แต่ผู้ฟังบางคนเข้าใจว่าเป็นฮะดีษและเล่าต่อยังผู้อื่นในฐานะเป็นฮะดีษ
ตัวอย่าง :
ฮะดีษของท่านหญิงอาอีชะห์ในเรื่องการเริ่มต้นของวะหฺยู โดยท่านหญิงอาอิชะห์เล่าว่า :
وكان صلى الله عليه وسلم يخلوبغارحراءفيتحنث وهوالتعبدالليالى دوات العددالحديث
คำว่า وهوالتعبد มิใช่เป็นคำพูดของท่านหญิงอาอิชะห์ แต่เป็นคำพูดของอัซซุฮฺรีย์ (ผู้รายงานฮะดีษคนหนึ่ง) ที่นำมาแทรกเพื่ออธิบายความหมายคำว่า فيتحنث
*(ดูอัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 3)
ข. การกล่าวถึงข้อบัญญัติศาสนาที่เกี่ยวข้องกับฮะดีษแล้วรายงานฮะดีษโดยไม่ได้แยกออกจากกัน
ตัวอย่าง :
ฮะดีษของอบูฮุรอยเราะห์รายงานจากท่านนบีว่า :
أسبغواالوضوءويل للأ عقاب من النار
ความว่า : ท่านทั้งหลายจงอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ ความวิบัติจากไฟนรกได้ประสบกับส้นเท้า (ที่ล้างไม่ทั่วถึง)
*(อัลคอฏีบ ได้รายงานจากอบีกอฎอนและชะมามะห์ จากชุอฺบะห์ จากมุฮัมหมัด อับนุ ซียาด จากอบูฮุรอยเราะห์ ดูอัสศูยูฎีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 1 หน้า 271)
คำว่า أسبغواالوضوء มิใช่เป็นคำพูดของท่านนบี แต่เป็นคำพูดของท่านอบูฮุรอยเราะห์ที่ต้องการบอกถึงข้อบัญญัติของฮะดีษ เพราะในรายงานของท่านอิมามบุคอรีย์ที่รายงานจากอาดัม (آدم) จากชัวอฺบะห์ (شعبة) จากมุฮัมหมัด อิบนุซิยาด (محمد بن زياد) จากอบูฮุรอยเราะห์ได้กล่าวว่า :
أسبغواالوضوء فان أبا القاسم صلى الله عليه وسلم قال : ويل للأ عقاب من النار
ความว่า : ท่านอบูฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า : ท่านทั้งหลายจงอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ เพราะท่านอบุล กอเซ็ม (หมายถึงท่านนบี) ได้กล่าวว่า : ความวิบัติจากไฟนรกจะประสบกับส้นเท้า (ที่ล้างไม่ทั่วถึง)
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 165)
ค. การรายงานฮะดีษแล้วกล่าวถึงข้อบัญญัติ หรือข้อวินิจฉัยของฮะดีษหลังจากนั้น โดยไม่ได้แยกออกจากกัน
ตัวอย่าง :
ฮะดีษที่รายงานจากอับดุลเลาะห์ อิบนุ มัสอู๊ด ว่า ท่านนบีได้จับมือเขา และได้สอนเขาอ่านตะชะห์ฮุด ในตอนท้ายของฮะดีษมีข้อความว่า :
اداقلت هدافقدقضيت صلاتك ان شئت أن تقوم فقم وان شئت ان تقعدفاقعد
มีความหมายว่า : เมื่อท่านอ่านเสร็จก็เท่ากับท่านได้ละหมาดเสร็จ หากท่านจะยืนก็จงยืน และหากท่านจะนั่งก็จงนั่ง
ท่านอิมามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.676) ได้กล่าวว่า : นักปราชญ์วิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ระดับฮุฟฟ๊าซ เห็นตรงกันว่า ข้อความดังกล่าวมิใช่เป็นคำพูดของท่านนบี แต่เป็นคำของอับดุลเลาะห์ อิบนุ มัสอู๊ด ที่แทรกเข้ามา เพราะมีสายรายงานอื่นๆที่ระบุไว้ชัดเจนเช่นนั้น
โดย ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข
د.عبدالله نومسوك
CLICK <<<< ตอนที่ 2 ตอนที่ 4 >>>> Click