แนวทางของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน)
ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ 2
รูปแบบต่างๆของชูซู๊ซในตัวบท
1. การเพิ่มในตัวบท (الزيادةفي المتن)
คือ การที่ผู้รายงานคนหนึ่งรายงานตัวบทเพิ่มจากผู้รายงานคนอื่นๆ ที่รายงานฮะดีษเดียวกัน ในเรื่องนี้นักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) มีทัศนะแตกต่างกัน*(ดูอัลฮากิม : มะอฺริฟัต อูลูมิลฮะดีษ หน้า 130 และอิบนุศอลาห์ มูก็อดดิมะห์ หน้า 185) ทัศนะที่ชัดเจนที่สุดคือ ทัศนะของ อิบนุศอลาห์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.643) โดยท่านได้แบ่งการเพิ่มในตัวบทออกเป็นสามประเภทคือ
ประเภทที่หนึ่ง : การเพิ่มที่ขัดแย้งกับรายงานต่างๆของผู้รายงานที่เชื่อถือได้ (อัซซิก็อต الثقات ) การเพิ่มประเภทนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ
ตัวอย่าง : ฮะดีษที่รายงานโดยอิมามบุคอรีย์ ด้วยสายสืบดังนี้ :
จากอับดุลเลาะห์กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ถามท่านนบี ว่า : การกระทำอย่างไหนเป็นที่รักยิ่งสำหรับอัลเลาะห์ ?
ท่านนบีตอบว่า : การละหมาดในเวลาของมัน *(อัลบุอคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมานเลข 527)
ท่านอัลฮาฟิซอิบนุหะญัร กล่าวว่า : ลูกศิษย์ทั้งหมดของ ชุอฺบะห์ (شعبة) รายงานฮะดีษบทนี้ตรงกันด้วยสำนวน الصلاةعلى وقتها ยกเว้นอะลี อิบนุ ฮัฟซฺ (على بن حفص) เพียงคนเดียวที่รายงานด้วยสำนวน الصلاةفى أول وقتها ซึ่งมีความหมายว่า การละหมาดในตอนเริ่มของเข้าเวลา *(อัลฮากิม : อัลมุสตัดร็อก เล่ม 1 หน้า 188-189 อัลฮากิมถือว่าฮะดีษนี้ซอฮีฮฺ และอัซซะฮะบีย์ เห็นด้วย และอัดดารุกุฏนีย์ได้รายงานไว้ในหนังสืออัสสุนัน เล่ม 1 หน้า 246 )
อัดดารุกุฏนีย์ได้วิจารณ์ว่า : ข้าพเจ้าไม่คิดว่าท่านอาลี จะจดจำฮะดีษนี้ดีพอ เนื่องจากเขาอายุมาก และความจำของเขาเปลี่ยนแปลง *(อิบนุฮะญัร : ฟัตฮุ้ลบารีย์ เล่ม 2 หน้า 10 )
ในที่นี้จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า การเพิ่มในตัวบทที่สองที่รายงานโดยอาลีนั้น ขัดแย้งกับตัวบทที่หนึ่งที่รายงานโดยผู้รายงานส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ท่านอิมาม อันนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตในปั ฮ.ศ.676) และนักฮะดีษท่านอื่นๆจึงได้ตัดสิน (ฮุก่ม) ตัวบทที่สองว่าเป็นรายงานฏ่ออี๊ฟ (อ่อน) *(ดูอันนะวะวีย์ : อัลมุจญ์มู๊อฺ เล่ม 3 หน้า 51)
ประเภทที่สอง : การเพิ่มที่ไม่ขัดแย้งกับรายงานของผู้อื่น การเพิ่มประเภทนี้ได้รับการยอมรับ
ตัวอย่าง : ฮะดีษที่ผู้รายงานจำนวนหนึ่งรายงานจาก อัลอะอฺมัช (الأعمش ) จากอะบีรอซีน (ابى رزين ) และ อะบีซอและห์ (ابى صالح ) และอบีฮุรอยเราะห์ (ابى هريرة ) จากท่านนบีกล่าวว่า :
ادا ولغ الكلب فى اناءأخدكم فليغسله سبع مرات เมื่อสุนัขเลียในภาชนะของท่าน ท่านจงล้างมันเจ็ดครั้ง
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 172 , มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 729 และมาลิก : อัลมูวัฏเฏาะห์ ฮะดีษ หมายเลข 35)
ลูกศิษย์ของอัลอะฮฺมัชทั้งหมดรายงานด้วยสำนวนนี้ตรงกัน ยกเว้นอาลี อิบนุ มุสฮิร (على بن مسهر ) เพียงคนเดียวที่รายงานฮะดีษนี้โดยเพิ่มคำว่า فليرقه แปลว่า จงเทมันทิ้งไป ก่อนคำคำว่า فليغسله *(มุสลิม อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 279 และอันนะซาอีย์ : อัสสุนัน เล่ม 1 หน้า 22,63) การเพิ่มในตัวบททั้งสองนี้ไม่ถือว่าขัดแย้งกับตัวบทที่หนึ่งแต่ประการใด การเพิ่มดังกล่าวจึงไม่ถือว่าฎ่ออีฟ ตราบใดที่ผู้รายงานเป็นผู้เชื่อถือได้ (ซิเกาะห์ ثقة)
ประเภทที่สาม : การเพิ่มที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สอง คือมีความเหมือนกับประเภทที่หนึ่งในด้านหนึ่ง และมีความเหมือนกับประเภทที่สองในอีกด้านหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น : ฮะดีษที่รายงานโดยอบูมาลิก อัลอัชญะอีย์ จากริบอีย์ จากฮุซัยฟะห์ จากท่านนบี ได้กล่าวว่า
وجعلت لناالأرض كلهامسجد وجعلت تربتهالناطهورا
และเขาได้ให้พื้นดินทั้งหมดเป็นมัสยิด (ที่ละหมาด) แก่เรา และเขาได้ให้ดินฝุ่นของมันสะอาดแก่เรา
*(มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 522 อะห์หมัด : อัลมุสนัด เล่ม 5 หน้า 383 และอัลบัยฮะกีย์ มะอฺริฟัต อัสสุนันวัลอาซ๊าร เล่ม 1 หน้า 213)
ฮะดีษบทนี้มีอบูมาลิกเพียงคนเดียวที่รายงานโดยเพิ่มคำว่า (تربتها) ในขณะที่ผู้รายงานคนอื่นๆไม่มี
สำหรับความก้ำกึ่งของตัวอย่างดังกล่าวอธิบายได้ดังนี้ คือ :
ก. การเพิ่มคำว่า (تربتها) เหมือนการเพิ่มในประเภทที่หนึ่ง กล่าวคือ คำว่า (تربة) ซึ่งมีความหมายว่าดินฝุ่น แตกต่างจากคำว่า (الأرض) ซึ่งแปลว่าพื้นดินทั่วไป ดังนั้น ตัวบทที่มีเพิ่มคำว่า (تربة) จึงมีความหมายว่าให้ทำความสะอาด (ตะยัมมุม) ด้วยดินฝุ่น ในขณะที่ตัวบทที่ผู้รายงานส่วนใหญ่รายงานมีความหมายว่า ให้ทำความสะอาด (ตะยัมมุม) ด้วยทุกส่วนของพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นดินฝุ่นหรืออื่นๆก็ตาม
ข. การเพิ่มคำว่า (تربتها) เหมือนการเพิ่มในประเภทที่สอง กล่าวคือ ไม่มีการขัดแย้งกันระหว่างสองความหมาย เพราะดินฝุ่นก็มาจากพื้นดิน หรือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดิน ท่านอิบนุซซอลาห์ มิได้ชี้ชัดถึงฮุก่มการเพิ่มในประเภทที่สามนี้ ว่ารับได้หรือไม่อย่างไร บรรดานักปราชญ์ก็มีทัศนะแตกต่างกัน เช่น ท่านอิมามมาลิก และท่านอิมามชาฟิอีย์ มีทัศนะยอมรับ ส่วนท่านอีมามอบูฮะนีฟะห์ และผู้ที่เห็นด้วยกลับไม่ยอมรับ ดังนั้นในตัวอย่างข้างต้น ท่านอิมามมาลิก และท่านอิมามชาฟีอีย์ จึงอนุญาตให้ตะยัมมุมด้วยฝุ่นดินเท่านั้น ในขณะที่ท่านอิมามอบูฮานีฟะห์ อนุญาตให้ตะยัมมุมด้วยทราย หิน ก้อนกรวด หรืออื่นๆที่มาจากพื้นดิน
จากการแบ่งข้างต้นทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มในตัวบทที่เข้าข่ายชูซู๊ซ คือการเพิ่มในประเภทที่หนึ่งเท่านั้น
2. การเปลี่ยนตัวบท (القلب في المتن)
คือการสับเปลี่ยนคำในตัวบทฮะดีษ *(ดู อิบนุศอลาห์ : อัลมุก็อดดิมะห์ หน้า 216 , อิบนุกาซีร : อิคติศอรอูลูมิลฮะดีษ หน้า 87 และอัสซูยูฏีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 1 หน้า 219 )
ตัวอย่างเช่น : ฮะดีษที่รายงานโดยมุสลิม จากอะบีฮุรอยเราะห์ในเรื่องเกี่ยวกับคนเจ็ดประเภทที่จะได้อยู่ใต้ร่มเงาของอัลเลาะห์ในวันกิยามะห์ หนึ่งในเจ็ดคนนั้น ท่านนบีบอกว่า :
คือชายคนหนึ่งที่เขาบริจาคทาน และเขาปกปิดการบริจาคจนกระทั่งมือขวาของเขาไม่รู้สิ่งที่มือซ้ายได้บริจาค
ورجل تصدق بصدقة فاخفاها حتى لاتعلم يمينه ماانفقت شمالها
*(มุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 1031)
ท่านยะห์ยา อิบนุซะอี๊ด อัลก็อฏฏอน ได้รายงานตัวบทนี้ โดยสับเปลี่ยนคำที่ขีดเส้นใต้ เพราะรายงานที่ถูกต้องคือ จนกระทั่งมือซ้ายของเขาไม่รู้สิ่งที่มือขวาของเขาบริจาค
حتى لاتعلم شماله ماتنفق يمينه
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 1423 ฮะดีษสำนวนดังกล่าวมีรายงานหลายกระแส)
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ฮะดีษของอบูฮุรอยเราะห์ รายงานจากท่านนบีว่า : เมื่อท่านจะสุญูด ท่านอย่าคุกเข่าเหมือนอูฐ ท่านจงวางมือทั้งสองก่อนหัวเข่าทั้งสอง
اداسخد أحدكم فلايبرك البعير وليصع يديه قبل ركبتين
*(อบูดาวูด : อัซสุนัน ฮะดีษหมายเลข 840 อันนะซาอีย์ : อัซสุนัน เล่ม 1 หน้า 149 และ อัดดารีมีย์ : อัซสุนัน เล่ม 1 หน้า 303)
อิบนุลกอยยิม (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.ที่ 751) กล่าวว่า :
"ฮะดีษบทนี้มีการสับเปลี่ยนคำที่มีขีดเส้นใต้ รายงานที่น่าจะถูกต้องคือ จงวางหัวเข่าทั้งสองก่อนวางมือ
وليصع ركبتيه قبل يديه *(ดูอิบนุลกอยยิม : ซาดุลมาอ๊าด เล่ม 1 หน้า 57)
อย่างไรก็ตาม ตัวบทที่นักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) พบว่ามีการสับเปลี่ยน ถือว่าเป็นตัวบทที่อ่อน (ฏ่ออีฟ) เพราะการสับเปลี่ยนย่อมเกิดขึ้นจากความจำที่บกพร่องของผู้รายงาน
3. การสับสนในตัวบท (الاضطراب في المتن)
หมายถึง ตัวบทที่รายงานขัดแย้งกันโดยไม่สามารถประสานกันได้ และแต่ละสายรายงานมีความเท่าเทียมกันในสถานภาพ *( ดู อัสสูยูฏีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 1 หน้า 262 และอิบนุสซอลาห์ : อัลมูก็อดดิมะห์ หน้า 204)
จากนิยามข้างต้น การสับสน(اضطراب) จะเกิดขึ้นได้ด้วยสองเงื่อนไข คือ :
ก. รายงานต่างๆที่ขัดแย้งกันนั้นมีความเท่าเทียมกันในสถานภาพ โดยที่ไม่สามารถให้น้ำหนัก (ตัรญีฮฺ ترجيح ) กระแสหนึ่งกระแสใดได้
ข. ไม่สามารถประสานรวมกันได้ (ญัมอฺ جمع ) ในระหว่างสายรายงานต่างๆ
หากไม่สามารถให้น้ำหนักได้ หรือประสานกันได้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง การสับสน(اضطراب) ก็ไม่เกิดขึ้น การสับสนในตัวบทฮะดีษทำให้ฮะดีษอยู่ในสถานภาพอ่อน (ฏ่ออีฟ) เพราะแสดงว่าผู้รายงานไม่มีความจำที่มั่นคง
ตัวอย่าง : ฮะดีษที่รายงานโดยอิบนิอับบาส กล่าวว่า *(ดูอิบนุ อับดิลบัร : อัตตัมฮีด เล่ม 9 หน้า 26) :
มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบีและกล่าวว่า
ชายคนหนึ่ง : ฉันมีแม่ที่เสียชีวิตแล้ว แม่ฉันขาดการถือศีลอด ฉันจะถือศีลอดให้แม่ของฉันได้หรือไม่
ท่านนบี : เธอจงตอบฉันซิว่า หากแม่ของเธอมีหนี้สินติดอยู่ เธอจะใช้แทนให้หรือไม่?
ชายคนหนึ่ง : ครับ ฉันจะใช้แทนให้
ท่านนบี : หนี้ของอัลเลาะห์มีสิทธิ์ยิ่ง (กว่าหนี้ของมนุษย์ ) ในการชดใช้
ฮะดีษบทนี้รายงานจากท่าน อัลอะอฺมัช(الأعمش ) ด้วยตัวบทที่ขัดแย้งกันดังนี้
1. ผู้รายงานหนึ่งรายงานด้วยสำนวนว่า : มีหญิงคนหนึ่งมาหาท่านนบี และกล่าวว่า : แท้จริงพี่สาวของฉันได้เสียชีวิตไป และเธอได้ขาดการถือศีลอด
*(อิบนุอับดิลบัร : อัตตัมฮีด เล่ม 9 หน้า 26 และอิบนุฮะญัร : ฟัตฮุลบารีย์ เล่ม 4 หน้า 195 ฮะดีษหมายเลข 1953)
2. ผู้รายงานอีกส่วนหนึ่งรายงานว่า : มีหญิงคนหนึ่งมาหาท่านนบีและกล่าวว่า : แท้จริงมาราดาของเธอขาดถือศีลอด ฉันจะถือศีลอดแทนเธอให้ได้หรือไม่?
*(อบูดาวูด : อัซสุนัน ฮะดีษหมายเลข 3310)
3. อีกรายงานหนึ่งบอกว่า ท่านสะอี๊ด อิบนุ อุบาดะห์ ได้ถามท่านนบีว่า : มารดาของฉันได้เสียชีวิต และเธอได้บนไว้ว่าจะถือศีลอด โดยยังไม่ได้ชดใช้ ท่านนบีกล่าวว่า : เธอจงชดใช้ให้มารดาของเธอ
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 6698)
4. อีกรายงานหนึ่ง เป็นรายงานของมาลิก จากอิบนุ อับบาส รายงานว่า : ท่านสอั๊ด อิบนุอุบาดะห์ ได้กล่าวถามท่านนบีว่า : โอ้ท่านรอซูลุลลอฮ์ จะมีประโยชน์ไหมที่ฉันจะบริจาคทานให้มารดาของฉันที่เสียชีวิตไปแล้ว ?
ท่านนบีตอบว่า : มี
ท่านสอั๊ดถามว่า : แล้วท่านจะใช้ให้ฉันทำอะไรบ้าง ?
ท่านนบีตอบว่า : จงให้น้ำดื่มแก่คนทั้งหลาย
*(อับนุอับดิลบัร : อัตตัมฮีด เล่ม 9 หน้า 24 และดูอัชเชากานีย์ : นัยลุลเอาฏ๊อร เล่ม 8 หน้า 264)
จะสังเกตได้ว่ารายงานทั้งหมดนี้มีความขัดแย้งกัน และรายงานจากซอฮาบะห์คนเดียวกันคือ อิบนุ อับบ๊าซ แต่ละสายรายงานก็มีสถานภาพไม่แตกต่างกัน ลักษณะดังกล่าวทำให้ฮะดีษเป็นมุฏฏอริบได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเงื่อนไขของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ที่ว่า ไม่สามารถให้น้ำหนักและไม่สามารถประสานระหว่างรายงานต่างๆ นั้นเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นยากในความเป็นจริง เนื่องจากไม่พบฮะดีษบทใดที่นักปราชญ์ (มุฮัดดิซีน) มีทัศนะตรงกันว่าเป็นฮะดีษมุฏฏอริบ แม้แต่ตัวอย่างข้างต้น กล่าวคือ ท่านอิบนุ อับดิลบัร (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.463) มีทัศนะว่าเป็นมุฏฏอริบ *(อิบนุ อับดิลบัร : อัตตัมฮีด เล่ม9 หน้ 27) ในขณะที่ท่านอิบนุฮะญัร (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ. 852) มีทัศนะว่าไม่เป็น เนื่องจากสามารถหาทางประสานกันได้*(อิบนุฮะญัร : ฟัตฮุลบารีย์ เล่ม7 หน้า 65 อธิบายฮะดีษหมายเลข 1852 และ 1953) และไม่มีฮะดีษบทใดที่ขัดแย้งกันนอกจากนักปราชญ์ (อุละมาอฺ) จะหาทางในการประสานความหมายหรือให้น้ำหนัก ด้วยเหตุนี้ นักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษบางคนจึงเห็นว่า ควรเปลี่ยนข้อความในเงื่อนไขใหม่จากคำว่า ไม่สามารถ เป็นคำว่า ยาก เพื่อจะได้มีตัวอย่างของฮะดีษในเรื่องดังกล่าว *(ดูอัดดะมีนีย์ : มากอยีซ นักดฺมูตูนิสซุนนะห์ หน้า 142-145)
โปรดติดตามตอนต่อไป
CLICK <<<< ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 >>>> CLICK
โดย ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข
د.عبدالله نومسوك