ใครคือ “อะฮฺลุลบัยติ” ?
  จำนวนคนเข้าชม  9552

ใครคือ “อะฮฺลุลบัยติ” ?

مَنْ هُمْ أَهْلُ البيتِ ؟

 

           ทัศนะที่ถูกต้องต่อความหมายของ “อะฮฺลุลบัยติ” (วงศ์วานหรือครอบครัว) ของท่านร่อซูล  นั้นคือ บุคคลที่ซอดะเกาะฮฺ (ซะกาต)เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขา บรรดาภรรยา และลูกหลานของท่านนบี  ตลอดจนมุสลิมชายและหญิงที่มาจากสายสกุลของอับดุลมุฏฏอลิบ อันได้แก่ ตระกูลฮาชิม บุตรของ อับดุมะนาฟ

          ท่านอิบนุ ฮัซมฺ ได้กล่าวไว้ในหนังือ “ญัมฮะเราะฮฺ อันซ๊าบ อัล-อรับ” (ในหน้า 14) มีความว่า :  “ชัยบะฮฺ เป็นบุตรของฮาชิม ท่านก็คือ อับดุลมุฏฏอลิบ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญ และมีชื่อเสียงที่น่าเคารพนับถือ สำหรับฮาชิมนั้น ไม่มีผู้สืบสกุลเลยนอกจาก อับดุลมุฏฏอลิบเท่านั้น”
 
          เมื่อได้ศึกษาถึงทายาทผู้สืบสกุลท่านอับดุลมุฏฏอลิบในหนังสือ “ญัมอะเราะฮฺ อับซ๊าบ อัล-อรับ” ของท่านอิบนุ ฮัซมิ (หน้าที่ 14-15) และในหนังสือ “อัตตับยีน ฟี อันซ๊าบ อัล- กุร่อชี่ยีน” ของท่าน อิบนุ กุดามะฮฺ (หน้า 76) และในหนังสือ “มินฮาจญุซ-ซุนนะฮฺ” ของท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ (เล่มที่ 7 หน้าที่ 304-305) และในหนังสือ “ฟัตฮุลบารีย์” ของท่าน อิบนุ ฮะญัร (เล่มที่ 7 หน้าที่ 78-79)

          และสิ่งที่บ่งชี้ถึงการที่วงศ์ตระกูลของบรรดาญาติพี่น้องของท่านนบี เข้ามาอยู่ในวงศ์วานของท่านด้วยนั่นคือ ฮะดีษที่ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ในซอเฮี๊ยะฮ์ของท่าน (หมายเลขฮะดีษที่ 1072) จากอับดุลมุฏฏอลิบ บุตรรอบีอะฮฺ บุตรอัลฮาริษ บุตรอับดุลมุฏฏอลิบ ระบุว่า 

           ตัวเขาและอัลฟัฎลุ บุตรของอับบ๊าส ได้ไปหาท่านรอซูล  ขอร้องให้ท่านแต่งตั้งเขาทั้งสองให้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้เก็บซอดะเกาะฮฺ (ซะกาต) เพื่อจะได้มีส่วนได้รับจากทรัพย์ที่เก็บมาจากซอดะเกาะฮฺ(ซะกาต)นั้น ทั้งนี้เพื่อนำไปเป็นทุนในการแต่งงานของทั้งสอง ท่านรอซูล  จึงได้กล่าวกับคนทั้งสองว่า :

          “ซอดะเกาะฮฺนั้นไม่คู่ควรกับวงศ์วานของมุฮัมมัดเลยแม้แต่น้อย อันที่จริงแล้ว ซอดะเกาะฮฺ(ซะกาต) นั้นมันเป็นเหงื่อไคลของผู้คนทั้งหลาย”

          แล้วท่านรอซูล  ก็ได้จัดให้ทั้งสองคนทำนิก๊าฮฺ(แต่งงาน)  และกำหนดเงินซอด๊าก(สินสอด) แก่ทั้งสองจากส่วนที่ได้มาจากหนึ่งในห้า(อัลคุมซฺ) ที่กำหนดให้กับท่านร่อซูลและวงศ์วานของท่าน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ยึดมาได้จากเชลยศึกและที่อื่นๆ

          นักวิชาการบางท่าน เช่น ท่านอิมามชาฟีอีย์ ท่านอิมามอะฮฺมัด ได้รวมวงศ์ตระกูลของอัล-มุฏฏอลิบ บุตรของอับดุลมะนาฟ ไว้ในส่วนเดียวกันกับตระกูลของฮาชิมในการห้ามมิให้รับซอดะเกาะฮฺ อันเนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมอยู่ด้วย จึงต้องให้พวกเขาได้รับจากจำนวนหนึ่งในห้าส่วน (อัลคุมซฺ) ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีฮะดีษ ซึ่งท่านอิมามอัลบุคอรีย์ ได้บันทึกไว้ในซอเฮี๊ยะฮ์ของท่าน (เลขที่ 3140) จาก ญุบัยริ บุตร มุตอัม ซึ่งในฮะดีษนั้นมีความว่า :

          “การที่ท่านนบี  ได้แบ่งบางส่วนให้แก่ตระกูลของฮาชิม และส่วนของตระกูลมุฏฏอลิบ โดยมิได้ให้แก่พี่น้องของพวกเขาที่มาจากตระกูลของอับดุชัมซิน และตระกูลของเนาว์ฟัลนั้น เป็นเพราะตระกูลของฮาชิม และตระกูลอัล-มุฏฏอลิบ นั้นเป็นตระกูลเดียวกัน”

          ส่วนการที่บรรดาภรรยาของท่านนบี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุนนะ เข้าไปรวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบี  นั้น เพราะมีดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่า :


            และพวกเธอจงอยู่ประจำในบ้านของพวกเธอ และอย่าได้ออกไปเพื่ออวดความงามของพวกเธออย่างกับการอวดความงามของยุคที่งมงาย(ญาฮิลียะฮฺ)สมัยแรก และจงทำการละหมาด และชำระซะกาต และจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์ แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการขจัดความสกปรกโสมมให้พ้นไปจากพวกเจ้า โอ้บรรดาวงศ์วานของนบี และทรงประสงค์ให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

 

        และพวกเธอจงกล่าวรำลึกถึงสิ่งที่ถูกนำมาอ่านภายในบ้านของพวกเธอ จากบรรดาอายาตของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และฮิกมะฮฺ (ซุนนะฮฺ) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้อย่างละเอียด ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง  

(ซูเราะฮฺอัลอะฮฺซ๊าบ 33 : 33-34)

           แท้จริงแล้ว อายะฮฺนี้ระบุไว้ชัดเจนว่าบรรดาภรรยาของท่านร่อซูลนั้น รวมอยู่ในวงศ์วานของท่านรอซูล   ด้วยอย่างแน่นอน เพราะความหมายของอายะฮฺก่อนและหลัง เป็นดำรัสเกี่ยวกับพวกนางโดยตรง อายะฮฺดังกล่าวนั้นไม่ขัดแย้งกับฮะดีษที่บันทึกอยู่ในซอฮี๊ฮฺมุสลิม (ฮะดีษเลขที่ 2424) รายงานจาก ท่านหญิง อาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ที่กล่าวว่า :

           “ท่านนบี    ได้ออกมานอกบ้านในตอนเช้า และท่านได้ห่มผ้าคลุมตัวสีดำมีลวดลายเป็นรูปของขบวนอูฐ ซึ่งทอมาจากขนสัตว์ ขณะนั้นอัลฮะซัน บุตรท่านอะลีย์ได้มาหาท่านนบี ท่านก็ให้อัลฮะซันเข้ามาอยู่กับท่าน ต่อมาท่านอัลฮุซัยนฺได้มาหาท่านนบี ท่านก็ให้เข้ามาอยู่กับท่าน หลังจากนั้นท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ก็ได้มาหาท่าน ท่านก็เรียกให้นางเข้ามาอยู่กับท่าน และต่อมาท่านอะลีย์ก็ตามมา ท่านได้เรียกให้อะลีย์เข้ามาอยู่กับท่านในผ้าห่มผืนนั้น”

แล้วท่านนบี ก็ได้อ่านอายะฮฺที่ว่า :

          ... แท้จริง อัลลอฮฺทรงต้องการขจัดความสกปรกโสมมให้พ้นไปจากพวกเจ้าโอ้บรรดาวงศ์วานของนบี และทรงประสงค์ให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง 

 
(ซูเราะฮฺอัลอะฮฺซ๊าบ : 33)


          ฉะนั้น อายะฮฺนี้จึงบ่งบอกถึงบรรดาภรรยาของท่านร่อซูลว่า รวมอยู่ในวงศ์วานของท่านด้วยเช่นกัน เนื่องจากดำรัสที่ปรากฏในอายะฮฺเหล่านั้น เกี่ยวข้องกับบรรดาภรรยาของท่านรอซูลทั้งสิ้น และการที่ ท่านอะลีย์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอัลฮะซัน และท่านฮุซัยนฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม เข้ารวมอยู่ในอายะฮฺนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งซุนนะฮฺได้บ่งบอกไว้ตามที่ปรากฏอยู่ในฮะดีษ และการที่ท่านนบี ได้เจาะจงเฉพาะสี่ท่าน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม ดังที่ปรากฏในฮะดีษนี้ มิได้บ่งบอกว่าท่านจำกัดวงศ์วานของท่านไว้เพียงแค่นั้น โดยมิได้รวมถึงเครือญาติใกล้ชิดคนอื่นๆด้วย ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงการบ่งบอกให้รู้ว่า บรรดาท่านเหล่านั้นเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดของท่านที่พิเศษกว่า

เปรียบเทียบความคล้ายคลึงของความหมายในอายะฮฺนี้ที่ระบุว่า บรรดาภรรยาของท่านนบี นั้น เข้ารวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบีด้วย และความหมายฮะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ที่ได้นำมาข้างต้นระบุว่า ท่านอะลีย์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอัลฮะซัน ท่านอัลฮุซัยนฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม ก็เข้ารวมอยู่ในวงศ์วานของท่านนบีด้วย ฉะนั้น ความคล้ายคลึงดังกล่าวจึงไม่ต่างไปจากความหมายในดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

          .... แน่นอน มัสญิดที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจากการตั๊กวา (เกรงกลัว) ตั้งแต่วันแรกนั้น... (อัตเตาบะฮฺ : 108)

           ตามความหมายนี้ หมายถึงมัสยิดกุบาอฺ และความหมายของซุนนะฮฺ ดังกล่าวที่ปรากฏในฮะดีษซึ่งท่านอิมามมุสลิม ได้บันทึกไว้ในซอเฮี๊ยะฮ์ของท่าน (ฮะดีษเลขที่ 1398 ) บ่งบอกความหมายของมัสยิดที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจากการกลัวเกรง (ตั๊กวา) นั้น คือมัสญิดของท่านนบี นั่นเอง

          ท่านเชค อิบนุ ตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ เป็นผู้ระบุตัวอย่างการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงนี้ไว้ในเอกสารที่มีชื่อว่า “ฟัฎลุ อะฮฺลิลบัยติ วะฮุกูกุฮุม” (ความประเสริฐของวงศ์วานของท่านร่อซูล และสิทธิของบรรดาท่านเหล่านั้น) (ในหน้าที่ 20 -21) และบรรดาภรรยาของท่านนบี  ก็เข้าอยู่ภายใต้ถ้อยคำที่ว่า “อัล-อาล” (วงศ์วาน) นี้ด้วย ตามคำกล่าวของท่านนบี  ที่ว่า “แท้จริง อัซซอดะเกาะฮฺ(ซะกาต) นั้น ไม่เป็นที่อนุมัติแก่มุฮัมมัด และวงศ์วานของมุฮัมมัด”

          ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการชี้ชัดว่า บรรดาภรรยาของท่านรอซูล  นั้นจะได้รับเพียงหนึ่งในห้าส่วน(อัลคุมซฺ) เท่านั้น ซึ่ง “เป็นส่วนที่ถูกกำหนดไว้จากทรัพย์เชลย” และเช่นเดียวกัน ฮะดีษที่ท่านอิบนุ อบีชัยบะอฺ ได้บันทึกไว้ใน “มุซอนนัฟ” ของท่าน (เล่มที่ 3 หน้าที่ 214) ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องจากท่านอิบนุ อบีมุลัยกะฮฺ ที่ว่า :

          “ท่านคอลิด บุตรท่านสะอี๊ด ได้ส่งวัวตัวหนึ่งซึ่งเป็นวัวซอดะเกาะฮฺ (ซะกาต) ไปให้แก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ แล้วท่านหญิงอาอิชะฮฺก็ได้ส่งวัวตัวนั้นกลับคืนมาพร้อมกับกล่าวว่า “แท้จริง พวกเราเป็นวงศ์วาน(อาล) ของท่านนบีมุฮัมมัด  ซึ่งซอดะเกาะฮฺนั้น ไม่เป็นที่อนุมัติแก่พวกเรา”

          และอีกส่วนหนึ่งที่ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้นำมระบุไว้ในหนังสือของท่านชื่อ “ญะลาอุลอัฟฮาม” (หน้าที่ 331-333) เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ที่กล่าวว่า “บรรดาภรรยาของท่านรอซูล  นั้น ร่วมอยู่ในวงศ์วานของท่านด้วย” นั้น ดังคำพูดของท่านอิบนุกอยยิม ที่ว่า

 “พวกเขาเหล่านั้นพูดว่า ที่จริงแล้วบรรดาภรรยาก็รวมอยู่ในวงศ์วานนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาภรรยาของท่านนบี  ก็เช่นเดียวกัน เปรียบเสมือนบุคคลในสายสกุลเดียวกัน เนื่องจากบรรดาท่านเหล่านั้นมีความผูกพันธ์กับท่านนบี  ในฐานะเป็นภรรยา มิใช่เป็นผู้ที่ถูกกุขึ้นมาลอยๆ โดยมิได้มีสิ่งใดผูกพันกัน และบรรดานางเหล่านั้นก็เป็นที่ต้องห้ามในการแต่งงานกับชายอื่นทั้งมวล ทั้งในขณะที่ท่านนบียังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ท่านนบีได้เสียชีวิตไปแล้วก็ตาม เพราะบรรดานางเหล่านั้นล้วนเป็นภรรยาของท่านนบี  ทั้งในโลกดุนยาและทั้งโลกอาคิเราะฮฺด้วย”

          ดังนั้น ด้วยสาเหตุที่ท่านเหล่านั้นมีความผูกพันอยู่กับท่านนบี นั่นเอง จึงทำให้อยู่ในฐานะของสายสกุล ท่านนบี  ได้กำหนดให้มีการขอพรสดุดีให้แก่บรรดาภรรยาของท่าน ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำพูดที่ซอเฮี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ซึ่งได้ถูกให้ความกระจ่างชัดโดยท่านอิมามอะฮฺมัด ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ว่า

“อัซซอดะเกาะฮฺไม่เป็นที่อนุมัติ(ต้องห้าม) แก่บรรดาท่านเหล่านั้น เนื่องจากซอดะเกาะฮฺนั้นเป็นเหงื่อไคลของผู้คนทั้งหลาย  และแท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงคุ้มครองรักษาเกียรติอันสูงส่งจากสิ่งดังกล่าว”

           “โอ้อัลลอฮฺ มันเป็นเรื่องแปลกที่บรรดาภรรยาของท่านรอซูลเข้าไปผนวกอยู่ได้อย่างไรในคำพูดของท่านนบี  ที่กล่าวว่า : โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงบันดาลให้สิ่งยังชีพของวงศ์วานมุฮัมมัดเป็นอาหารด้วยเถิด”

          และในคำพูดของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮาที่ว่า :

          “วงศ์วานของท่านร่อซูล ไม่เคยได้กินขนมปังที่ทำมากจากแป้งข้าวสาลีจนอิ่มเลย”

          และในคำกล่าวของผู้ที่ทำการละหมาดที่ว่า :

          “โอ้ อัลลอฮฺ ของพระองค์ได้ทรงประทานพรแก่ท่านนบีมุฮัมมัด และวงศ์วานของมุฮัมมัดด้วยเถิด”

          แต่พอมาในเรื่องของซอดะเกาะฮฺกลับบอกว่า “บรรดาภรรยาของท่านนบีไม่ได้รวมอยู่ในคำพูดของท่านนบี” ที่ได้กล่าวไว้มีความว่า “ซอดะเกาะฮฺ (ซะกาต) ไม่เป็นที่อนุมัติแก่มุฮัมมัด และวงศ์วานของมุฮัมมัด” ทั้งๆที่ซอดะเกาะฮฺนั้นเป็นเหงื่อไคลของผู้คน ดังนั้น บรรดาภรรยาของท่านรอซูล  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความคุ้มครองและให้ห่างไกลจากสิ่งนั้นมิใช่หรือ ?

          ถ้ามีผู้กล่าวว่า หากซอดะเกาะฮฺเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) แก่บรรดาภรรยาของท่านร่อซูลแล้ว แน่นอน มันก็จะต้องถูกห้ามแก่ผู้ที่เป็น “มะวาลีย์” ของคนเหล่านั้นด้วย (ทาสที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วใช้ชีวิตอยู่กับผู้ที่มีพระคุณที่ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นทาส) เหมือนกับที่ตระกูลฮาชิมถูกห้ามมิให้รับซอดะเกาฮฺ และ “มะวาลีย์” ของพวกเขาก็ถูกห้ามมิให้ได้รับด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในฮะดีษซอฮี๊ฮฺว่า :

          “มีผู้นำเนื้อ(วัว) มาซอดะเก๊าะฮฺให้แก่บุรอยเราะฮฺ แล้วนางก็รับประทานเนื้อวัวซอดะเก๊าะฮฺนั้น และท่านนบี  ก็มิได้ห้าม ทั้งๆที่นาง (บุรอยเราะฮฺ) เป็นบุคคลที่ถูกปลดปล่อย และอยู่ภายใต้การดูแลของท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา”

          มีผู้กล่าวว่า นี่แหละคือข้อสงสัยของผู้ที่บอกว่า “ซอดะเก๊าะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่อนุมัติแก่บรรดาภรรยาของท่านนบี

          คำตอบสำหรับข้อสงสัยนี้คือ ที่ซอดะเก๊าะฮฺ(ทาน)นั้น เป็นที่ต้องห้าม(ฮะรอม) แก่บรรดาภรรยาของท่านนบี นั้น มิใช่มาจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานเดิม แท้จริงแล้ว การที่ซอดะเก๊าะฮฺเป็นที่ต้องห้าม(ฮะรอม)นั้น เพราะเป็นไปตามคำสั่งของท่านนบี  โดยก่อนที่พวกนางจะมีความผูกพันกับท่านนบีนั้น ซอดะเกาะฮฺเคยเป็นที่อนุมัติ (ฮะล้าล) แก่พวกนางมาก่อน

          ดังนั้น ภรรยาของท่านรอซูล  จึงเป็นเพียงส่วนย่อยที่เข้ามาอยู่ภายใต้การห้ามมิให้รับ ซึ่งมิใช่เป็นที่ถูกห้ามรับมาตั้งแต่เดิม “อัสลุล” และการห้ามรับของที่มีต่อ “เมาลา” ทาสผู้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ก็เป็นเพียงส่วนย่อย “ฟัรอุน” ที่เป็นไปตามผู้เป็นนาย มิใช่ถูกห้ามรับมาตั้งแต่ดั้งเดิม ในขณะเดียวกันการห้ามรับซอดะเกาะฮฺของตระกูลบนีฮาชิมนั้น นับเป็นสิ่งดั้งเดิม (อัสลุล) และ “มะวาลีย์” ของพวกเขา(บ่าวที่ได้รับการปลดปล่อย) ก็ต้องเป็นไปตามเช่นนั้นด้วย ในขณะที่การห้ามมิให้รับซอดะเกาะฮฺเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นแก่บรรดาภรรยาของท่านนบี  เป็นไปตามคำสั่งของท่านนบี ฉะนั้น จึงไม่มีน้ำหนักใดๆที่ทำให้ “มะวาลีย์” ต้องเป็นไปตามนั้นด้วย เพราะ “มะวาลีย์” เป็นส่วนย่อยที่แตกแขนงออกมาจากส่วนย่อยอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น จะนำไปเปรียบเทียบกันไม่ได้กับกรณีแรก

          พวกเขากล่าวว่า : แท้จริง อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกล่าวไว้ว่า

           โอ้บรรดาภรรยาของผู้เป็นนบี ผู้ใดในหมู่พวกเธอกระทำสิ่งลามกอย่างชัดแจ้ง เธอผู้นั้นจะต้องถูกเพิ่มโทษเป็นเท่าทวีคูณถึงสองเท่า... (อัลอะฮฺซ๊าบ 33 : 30)

          และยังได้นำอายะฮฺเหล่านั้นมากล่าวต่อเนื่องจงถึงดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลาที่ว่า

           และพวกเธอจงกล่าวรำลึกถึงสิ่งที่ถูกนำมาอ่านภายในบ้านของพวกเธอ จากบรรดาอายาตของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และฮิกมะฮฺ (ซุนนะฮฺ)  (อัลอะฮฺซ๊าบ : 34)

          และกล่าวว่า “ดังนั้น บรรดาเธอเหล่านั้นจึงเข้าร่วมอยู่ในวงศ์วานนั้นด้วย เนื่องจากดำรัสทั้งหมดนี้เป็นสำนวนที่ระบุถึงพวกเธอทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงยอมไม่ได้ที่จะกันบรรดาเธอเหล่านั้นออกไปจากวงศ์วานของท่านนบี  แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ตาม"

          และเป็นการชี้ให้เห็นว่าห้ามมิให้ ให้ซอดะเก๊าะฮฺแก่ “มะวาลีย์” จากบนีฮาชิม ดังที่ปรากฏในฮะดีษซึ่งท่านอบูดาวู๊ดได้บันทึกไว้ในสุนันของท่าน (ฮะดีษเลขที่ 1650) ท่านติรมิซีย์ (เลขที่ 657) และท่านนะซาอีย์ (ฮะดีษเลขที่ 2611) ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะฮ์) และข้อความฮะดีษอยู่ในบันทึกท่านอบูดาวู๊ด จากท่าน อบูรอฟิอฺ มีความว่า :

          “ท่านนบี  ได้แต่งตั้งชายคนหนึ่งจากตระกูลมัคซูมไปทำหน้าที่เก็บซอดะเกาะฮฺ (ซะกาต) แล้วชายผู้นั้น ได้พูดกับอบีรอฟิอฺว่า “จงไปเป็นเพื่อนฉัน แล้วท่านจะได้รับส่วนจากซอดะเกาะฮฺนั้นด้วย” อบูรอฟิอฺกล่าวว่า “ฉันจะยังไม่ไปกับท่าน จนกว่าฉันจะไปถามท่านรอซูล  เสียก่อน”

แล้วอบีรอฟิอฺก็มาหาท่านรอซูลและได้ถามเรื่องนั้นกับท่าน ท่านรอซูล  กล่าวว่า “ทาส (เมาลา) ของคนกลุ่มนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา แท้จริง ตัวเรานั้น ซอดะเกาะฮฺ (ซะกาต) ไม่เป็นที่อนุมัติ(ฮะล้าล) สำหรับเรา”

 

 

  ประเด็นต่างๆในการศึกษา  ความประเสริฐ และฐานะอันสูงส่งของ “อะฮฺลุ้ลบัยติ”  ณ อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ