ถามตอบปัญหา เกี่ยวกับการต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (ต่อ)
ผู้ที่เสียชีวิตขณะละหมาด เป็นชะฮีดหรือไม่?
ถาม : ชายคนหนึ่งเสียชีวิตขณะที่เขากำลังละหมาดอยู่ภายในมัสยิด อยากทราบว่า จะต้องอาบน้ำมัยยิตให้ชายผู้นี้หรือไม่?
ตอบ : จำเป็นที่จะต้องอาบน้ำมัยยิตให้ชายผู้นี้ เหมือนกับมัยยิตทั่วๆไป ผู้ตายที่ไม่ต้องทำการอาบน้ำให้แก่เขา คือผู้ที่ตายในสมรภูมิเท่านั้น สำหรับผู้ที่เสียชีวิตในขณะที่เขากำลังละหมาด ถือเป็นการจบชีวิตด้วยการงานที่ดีงาม เพราะเขาได้จบชีวิตลงไปพร้อมๆกับการทำความดี
เสียชีวิตเพราะปกป้องประเทศชาติ ถือเป็นชะฮีดหรือไม่ ?
ถาม : ข้าพเจ้าเป็นทหาร การออกรบในทุกๆครั้งนั้น ก็เพื่อป้องกันประเทศอย่างเดียว มิใช่เพื่อหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หากข้าพเจ้าตายในสนามรบ จะถือว่าตายชะฮีดหรือไม่? อัลกุรอาน และซุนนะห์ มีบทบัญญัติอย่างไรเกี่ยวกับการนี้? และในกรณีนี้ข้าพเจ้าจะตั้งเจตนารมณ์รบเพื่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และรอซูลได้หรือไม่?
ตอบ : ผู้ที่ทำการต่อสู้เพื่อพจนารถของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ปกป้องบ้านเมืองมุสลิมให้พ้นจากการข่มเหงของศัตรู คือผู้ที่อยู่ในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถ้าหากเขาเสียชีวิต ในขณะที่ต่อสู้ เขาคือผู้ที่ตายในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (ตายชะฮีด) เนื่องจากการงานนั้นพิจารณาตามเจตนารมณ์ และจุดมุ่งหมายภายในจิตใจ ดังนั้นผู้ที่ออกรบเพื่อป้องกันประเทศชาติ เขาก็สามารถมุ่งเจตนารมณ์ของเขาให้เป็นการต่อสู้เพื่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พร้อมกันไปได้ ถึงแม้ว่าคนอื่นๆจะไม่ได้มุ่งเจตนารมณ์เหมือนเขาก็ตาม
ผู้ที่เสียชีวิตขณะคลอดลูกถือเป็นการตายชะฮีดหรือไม่?
ถาม : ข้าพเจ้าได้แต่งงานกับสตรีที่ประเสริฐผู้หนึ่ง และมีบุตรพร้อมกับนาง 2 คน โดยที่คนแรกอายุประมาณ 5 ปี ขณะนี้อยู่กับข้าพเจ้า ส่วนคนที่ 2 เป็นผู้หญิงอายุ 3 ปี ภรรยาของข้าพเจ้าได้เสียชีวิตหลังจากคลอดบุตรสาวคนที่ 2 ประมาณ 2 ชั่วโมง และบุตรสาวคนนี้ ข้าพเจ้าได้ฝากให้ยายเลี้ยงดู ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินเดือนจากการทำงานราชการ ข้าพเจ้าอยากทราบว่า
1. ภรรยาของข้าพเจ้าได้เสียชีวิตขณะคลอดลูกสาว จะถือว่านางเสียชีวิตในฐานะชะฮีดหรือไม่?
2. ข้าพเจ้าจะถือว่าเป็นผู้ดูแลเด็กกำพร้าหรือไม่?ดังที่ท่านนบี กล่าวว่า :
ฉันกับผู้ที่ดูแลเด็กกำพร้าอยู่ใกล้กันมากในสวรรค์เหมือนกับนิ้วชี้และนิ้วกลาง
(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)3. ข้าพเจ้าจะสามารถปฏิบัติสิ่งใด ที่เป็นการส่งผลบุญถึงภรรยาของข้าพเจ้าที่เสียชีวิตไปแล้วได้บ้าง?
4. หน้าที่ที่ข้าพเจ้าพึงปฏิบัติต่อบุตรสาวที่อยู่กับยายของนางคืออะไร?ตอบ
1. ภรรยาของท่านอยู่ในฐานะผู้ตายชะฮีด ดังที่ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า :
สตรีที่เสียชีวิตภายหลังคลอดบุตร บุตรของนางจะนำพานางไปสู่สวรรค์
(บันทึกโดยอิมามอะห์หมัด)มีรายงานจากท่านอุบาดะห์ อิบนิ ซอมิต รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :
ใครคือผู้ที่ตายชะฮีดในความคิดเห็นของพวกท่าน?
บรรดาซอฮาบะห์ตอบว่า :
ผู้ที่ต่อสู้เพื่อหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และถูกฆ่า
ท่านรอซูล(ซ.ล.) กล่าวว่า :
ถ้าเช่นนั้น ผู้ที่ตายชะฮีดในประชาชาติของฉัน ก็คงน้อยนัก หากแต่ผู้ที่ถูกฆ่าในสนามรบเพื่อหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา คือชะฮีด ผู้ที่ตายด้วยโรคระบาด(กาฬโรค) เป็นชะฮีด ผู้ที่ตายด้วยโรคในท้องเป็นชะฮีด และสตรีที่เสียชีวิตขณะคลอดบุตร ก็เป็นชะฮีดเช่นกัน
(บันทึกโดยอิมามอะห์หมัด อิบนุมาญะห์ และอิบนุฮิบบาน)2. ท่านไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ดูแลเด็กกำพร้า ตามความหมายแห่งฮะดีษ เนื่องจากคำว่า กำพร้านั้นหมายถึง เด็กที่บิดาของเขาเสียชีวิต (หาใช่มารดาไม่) ก่อนจะบรรลุศาสนภาวะ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ส่วนคำว่า ผู้ดูแล ในฮะดีษ หมายถึง ญาติใกล้ชิดกับเด็ก เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ของเด็ก ไม่ใช่ตัวท่าน ซึ่งเป็นบิดา
3. ภรรยาของท่านจะได้รับผลบุญจากการขอดุอาอฺของท่าน ให้อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงอภัยโทษให้ความเมตตาแก่นาง
4. หน้าที่ของท่านคือ การอบรม ดูแล ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ให้เขาได้รับการศึกษาที่ดีงาม ปลูกฝังในเรื่องของหลักเชื่อมั่น(อะกีดะห์) ที่ถูกต้อง และให้ความสำคัญกับการทำให้ลูกได้ศึกษาศาสนาอิสลาม ให้รักษาการละหมาด และการปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ ให้ห่างไกลจากสิ่งต้องห้าม ให้มีจรรยามารยาทที่ดีงาม เป็นต้น
ผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมแล้วถูกฆ่า ถือเป็นชะฮีดหรือไม่?
ถาม : บุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม และเป็นผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อเขาถูกฆ่าตายในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ศาสนาจะอนุมัติให้เรียกบุคคลผู้นี้ว่า ชะฮีด หรือไม่?
ตอบ : ผู้ที่เสียชีวิตในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา คือผู้ที่ตายในสนามรบ ในสภาพที่อดทนบากบั่น และหวังผลตอบแทนจากอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้ที่ตายชะฮีดในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องกะฝั่น ให้ฝังเขาพร้อมกับชุดที่เขาสวมใส่ได้เลย สำหรับผู้ที่ถือว่าเป็น ชะฮีด ที่ไม่ได้ตายในสมรภูมิรบก็มีอยู่มากมาย ดังเช่นผู้ที่เสียชีวิตเพื่อปกป้องชื่อเสียง เกียรติยศ ชีวิต และทรัพย์สินของเขา รวมถึงผู้ที่เป็นโรคระบาดตาย หรือจมน้ำตาย ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ อยู่ในฐานะตายชะฮีด แต่จะต้องทำการอาบน้ำ กะฝั่น และละหมาดให้เหมือนปรกติทั่วไป
ผู้ที่จมน้ำตาย ถือว่าตายชะฮีดหรือไม่?
ถาม : มารดาของข้าพเจ้าเป็นสตรีที่มีคุณธรรม ท่านได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากตกบ่อน้ำ อยากทราบว่า มารดาของข้าพเจ้าเสียชีวิตในลักษณะ ชะฮีดหรือไม่?
ตอบ : ผู้ที่ตกน้ำตายคือผู้ที่ตายชะฮีด
ดังรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะห์ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ว่า :
ผู้ที่ตายชะฮีดนั้น มี 5 ประเภท คือ ผู้ที่ตายด้วยโรคระบาด(กาฬโรค) ผู้ที่ตายเนื่องจากเป็นโรคในท้อง ผู้ที่จมน้ำตาย ผู้ที่ตายเพราะโดนตึกหรืออาคารถล่มทับ และผู้ที่ตายในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (ออกสงคราม)
บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์
การปักหลักในหนทางของอัลเลาะห์
ถาม : การปักหลักเพื่อต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หมายความว่าอย่างไร? และมีความประเสริฐอย่างไร?
ตอบ : หมายถึง การประจำการปักหลักกองกำลังเพื่อป้องกันตามเขตแนวชายแดนประเทศมุสลิม หรือตามช่องทางที่ศัตรูจะสามารถเล็ดลอดเข้ามาทางนั้นได้
จากฮะดีษมากมาย ที่แจ้งถึงความประเสริฐของผู้ที่ปักหลักป้องกัน และเตรียมพร้อมที่จะทำการต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังรายงานจากท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์(ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) ว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า :
การปักหลักป้องกันแนวชายแดน 1 วัน 1 คืน ประเสริฐกว่าการถือศีลอด และการละหมาดในยามค่ำคืน(ตะฮัดญุด) 1 เดือน เสียอีก
(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)และรายงานจากท่านซะฮฺลิ อิบนุ ซะอฺดิ อัซซาอิดีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า :
การปักหลักเพียงหนึ่งวัน เพื่อทำสงครามในหนทางของอัลเลาะห์นั้น ประเสริฐกว่าการทำงานใดๆทั้งมวลในโลกดุนยา
(บันทึกโดยอิมามอะหมัด)และอีกรายงานหนึ่งจากท่านฟุฎอละห์ อิบนุอุบัยดฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านรอซูล กล่าวว่า :
การงานของมนุษย์ทุกๆคน จะจบสิ้นไปพร้อมกับการตายของเขา ยกเว้นผู้ที่ตายในสภาพที่ปักหลักในสมรภูมิเพื่อทำการต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะแท้จริงการงานของบุคคลนี้ จะงอกเงยไปจนถึงวันกิยามะห์ และเขาจะปลอดภัยจากความโกลาหล(ฟิตนะห์) ในหลุมฝังศพ
(บันทึกโดย อบูดาวู๊ด และอัตติรมิซีย์)
การแบ่งส่วนของทรัพย์สงคราม
ถาม : ศาสนามีข้อชี้ขาดอย่างไรกับทรัพย์สินที่ได้มาจากสงคราม โดยที่ผู้นำยังไม่ได้ทำการแบ่งส่วนของทรัพย์สินดังกล่าว ?
ตอบ : ไม่อนุญาตให้นำทรัพย์สินที่ได้มาจากสงคราม จนกว่าจะถูกแบ่งส่วนจากผู้นำเสียก่อน ในทำนองเดียวกัน ห้ามนำเอาทรัพย์สินจาก บัยตุ้ลมาล ผลประโยชน์ของสิ่งของที่ถูกวะกัฟ และทรัพย์สินของเด็กกำพร้า ออกมาใช้จ่ายโดยไม่ชอบธรรม
การรักษาสัญญากับคนต่างศาสนา
ถาม : ศาสนามีฮุก่มอย่างไร ในการรักษาสัญญากับพวกฮินดู ซึ่งการรักษาสัญญานี้ไม่มีเรื่องที่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม?
ตอบ : จำเป็นที่ต้องรักษาสัญญากับพวกเขา ตราบใดที่การทำสัญญานั้นไม่ขัดต่อหลักการศาสนา และเขาไม่ใช่เป็นคนที่คดโกง หรือเป็นคนที่ให้ร้ายต่ออิสลาม
ดังที่อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า :
และพวกเจ้าทั้งหลายจงรักษาสัญญาเอาไว้ แท้จริง สัญญานั้นคือสิ่งที่เจ้าจะถูกสอบสวน
(อัลอิสรออฺ : 31)
เผยแพร่โดย : สายสันพันธ์