อิกเราะฮ์ (จงอ่าน)
  จำนวนคนเข้าชม  33798

อิกเราะฮ์ (จงอ่าน)


 


          นับเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ยิ่งเมื่อพบว่าคำแรกในโองการที่ประทานลงมานั้นคือคำว่า “จงอ่านเถิด” และได้กล่าวซ้ำอีกครั้งในคำแรกของโองการที่สาม และที่สำคัญมีรายงานจากอัลบุคอรีย์ / 3 และมุสลิม /403 บันทึกว่า ก่อนที่โองการ “จงอ่าน” จะประทานลงมา ญิบรีลได้กำชับสั่งให้ท่านนะบีมุฮัมมัด  อ่านโดยรับสั่งว่า “จงอ่าน” ถึงสามครั้ง แต่ทุกครั้งท่านนะบีมุฮัมมัด ได้ตอบว่า “ฉันอ่านไม่เป็น”

          สิ่งที่ท่านนะบีมุฮัมมัด กล่าวนั้นเป็นความจริง(เพราะท่านไม่สามารถอ่านออกเขียนได้) แต่ที่ญิบรีลได้บอกให้ท่านอ่านนั้น เป็นการบอกอย่างมีนัยว่า อิสลามไม่อนุญาตให้มนุษย์อยู่ในสภาพของการไม่รู้หนังสืออย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าทุกครั้งที่ท่านนะบีมุฮัมมัด  ตอบว่า“ฉันอ่านไม่เป็น” ญิบรีลจะกอดรัดตัวท่าน การกระทำของญิบรีลชี้ให้เห็นว่าในฐานะนะบีของอัลลอฮ์ จำต้องเป็นต้นแบบและจุดประกายมนุษย์ให้หลุดพ้นจากการไม่รู้หนังสือสู่วัฒนธรรมแห่งการอ่านและการเรียนรู้  นี่คือแก่นแท้ของความรู้ในทัศนะอิสลาม

ญิบรีลได้บอกท่านนะบีมุฮัมมัด  ด้วย 5 โองการแรกในซูเราะฮ์อัลอะลัก นั่นคือ

“จงอ่านเถิด(โอ้มุฮัมมัด)ด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า พระผู้ทรงบังเกิด”

 


          ซึ่งทำให้ทราบว่า การสั่งด้วยคำว่า “จงอ่าน” ได้มีการทวนซ้ำในคำสอนแรกของอิสลาม เพื่อให้มนุษย์ได้อ่านจนกระทั่งถึงวันปรโลก(กิยามะฮ์)  จะมีศาสนาอื่นไหมในรูปแบบของคัมภีร์ ทฤษฎี ปรัชญาและแนวคิด ที่จะกำชับให้มนุษย์ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการอ่านเหมือนดังที่ปรากฏในโองการแรกของการประทานอัลกุรอาน

           “จงอ่าน” เป็นประโยคคำสั่งมีเนื้อหาครอบคลุมโดยไม่เจาะจงและปราศจากกรรมรองรับตามหลักการใช้ภาษา เราพอจะเข้าใจได้ในที่นี้ว่าเป็นการสั่งให้ท่านนะบีมุฮัมมัด  อ่านอัลกุรอาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสั่งนี้ได้รวมถึงการอ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏถึงความปรีชาสามารถของอัลลอฮ์ ที่เป็นลักษณะของการประทานคำบัญชา(วะฮีย์)และการบันทึกอัลกุรอานเป็นลายลักษณ์อักษร  และในรูปแบบของสรรพสิ่งที่สามารถมองเห็นด้วยสายตา เช่นท้องฟ้า,แผ่นดิน,ภูเขา,ทะเล, ดวงดาวรวมถึงกลางวันและกลางคืน ซึ่งล้วนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการมีอยู่ของอัลลอฮ์

  “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า พระผู้ทรงบังเกิด”

 


ความสำคัญของคำสั่งในโองการนี้ สรุปได้ดังนี้คือ

 


 1. รูปแบบหรือวิธีการอ่าน

           การอ่านเป็นบ่อเกิดและต้นกำเนิดแห่งความรู้ ความดีงาม แต่การอ่านในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์จะทำให้มนุษย์หลงทางหรืองมงายได้ ดังนั้นอิสลามจึงสอนว่า มนุษย์ต้องอ่านสิ่งที่เป็นพระบัญชาจากอัลลอฮ์ และอ่านด้วยพระนามแห่งพระองค์เท่านั้น ในขณะเดียวกันต้องมีความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการรำลึกหรือการกล่าวด้วยลิ้น การอ่านในลักษณะเช่นนี้จะทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ แต่การอ่านที่ปราศจากการรำลึกด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ แบบอย่างของการดำเนินชีวิตในโลกนี้และไม่อาจเข้าถึงแนวทางที่เที่ยงตรงได้ แม้นว่าจะสามารถเข้าถึงศาสตร์ดังกล่าวได้ แต่เพียงลำพังสติปัญญาของมนุษย์ไม่อาจสร้างความจำเริญให้กับชีวิตบนโลกนี้ และไม่สามารถนำชีวิตสู่ความสงบสุขในปรโลก(อาคิเราะฮ์)ได้เลย

 


2. เนื้อหาความรู้ที่อ่าน

           ประการแรกที่ต้องอ่านและเรียนรู้คือ “อัลลอฮ์ผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงบังเกิดเจ้า” ประเด็นผู้บังเกิดมนุษย์หรือผู้สร้าง เป็นประเด็นแรกที่ต้องการคำตอบและความจริง และต้องเป็นคำตอบที่มีการอ้างอิงตามหลักวิชาการที่เที่ยงตรง คำถามว่า “ใครเป็นผู้บังเกิดมนุษย์ และใครคือผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ?” คำตอบคือ “อัลลอฮ์"  ซึ่งเป็น “พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า” ที่ทรงบังเกิดเจ้าและทรงสร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง  เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์ดำรงอยู่ในโลกนี้โดยไม่รู้ว่าใครคือผู้สร้าง ไม่รู้ว่าใครคือพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง ? ในขณะที่พระองค์ทรงประกาศว่า พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงบังเกิด

 


           เป็นเวลา 1,400 กว่าปีที่อัลกุรอานประทานลงมา และกี่หมื่นศตวรรษผ่านคัมภีร์ที่ประทานแก่ศาสนทูตยุคก่อนๆ  ในขณะที่ไม่มีผู้ใด - นับตั้งแต่กำเนิดโลก- หาญกล้าประกาศว่าเขาคือผู้บังเกิดมนุษย์และเป็นผู้สร้างโลกนี้ นั่นหมายความว่าสิ่งที่อัลลอฮ์  ตรัสว่า “พระองค์คือผู้ทรงบังเกิด” เป็นความจริง ที่ไม่เคยมีการคัดค้านจากผู้ใด นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน และทุกวันนี้ยังไม่มีแนวคิดหรือคำสอนใดที่มาคัดค้านคำประกาศนี้ และจะเป็นเช่นนี้จนกระทั่งวันอาคิเราะฮ์ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ชาวกุร็อยช์ในนครมักกะฮ์ ที่ต่อต้านท่านนะบีมุฮัมมัด  ในยุคแรกของการเผยแผ่อิสลาม ยังยอมรับในคำประกาศของอัลลอฮ์

ดังที่พระองค์ตรัสไว้ ความว่า

“และถ้าเจ้าถามพวกเขาว่า ใครเป็นผู้สร้างพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า  อัลลอฮ์ แล้วทำไมเล่าพวกเขาจึงหันเหออกไปทางอื่น?”

(อัลกุรอาน 43: 87)

           อิสลามสอนว่าการรู้จักพระเจ้าผู้ทรงบังเกิดจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจด้วยการอ่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮ์  “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้า” โองการนี้ ทำให้เข้าใจว่าการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น ด้วยจากการอ่านหรือการปฏิบัติตามคำบัญชา ซึ่งเป็นความรู้ที่มีหลักฐาน ไม่ใช่ด้วยการรับจากสื่อที่ไม่มีหลักฐานและไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักการอัลอิสลาม ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า “พึงรู้เถิดว่า แท้จริงไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์” พระองค์ทรงตรัสว่า“พึงรู้เถิด” เป็นการย้ำคำว่า“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์” นั้น ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้หากปราศจากความรู้หรือการเรียนรู้

 


           ดังนั้นจงอ่านเถิดไม่ว่าจะเป็นการอ่านจากคัมภีร์ของอัลลอฮ์ (อัลกุรอาน)หรือจากสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง จงอ่านด้วยพระนามของพระองค์ พร้อมกับวิงวอนขอการชี้นำทางจากพระองค์ แล้วมนุษย์จะพบกับแก่นแท้แห่งความรู้ที่เป็นสัจธรรม หากผู้ใดอ่านด้วยพระนามของพระองค์ เจตนาเพื่อ ต้องการศึกษาเรียนรู้สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง แน่นอนความรู้นี้จะก่อเกิดประโยชน์ให้แก่เขาอย่างใหญ่หลวง แต่เมื่อใดที่มนุษย์ไม่มีเจตนาบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮ์  แล้ว จะก่อเกิดปัญหาที่ไม่จบสิ้นให้แก่ตนเอง และเป็นต้นกำเนิดแห่งความวุ่นวายของชีวิตมนุษย์ด้วย

 


Next 2 >>>>Click

 


หนังสือวิถีชีวิตอิสลาม

الكاتب : مرسلان محمد โดย อ.มัสลัน มาหะมะ