ข้อบ่งชี้จริยธรรมในอิสลาม
โดย... อุมมุอุลยา
1. ความยุติธรรม
อิสลามเน้นและให้ความสำคัญในด้านความยุติธรรมเป็นอย่างมาก ยุติธรรมที่อิสลามหมายถึง คือ การให้สิทธิอันสมบูรณ์ต่อผู้ที่มีสิทธิในสิ่งนั้น การยืนหยัด ยึดมั่นอยู่บนความสัตย์ ความเที่ยงธรรม ในทุกเรื่องราวของการดำเนินชีวิต และออกห่างจากการอธรรม ในทุกรูปแบบ
ผู้ที่มีหนี้สินต้องใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ นี่คือความยุติธรรม ดังนั้น ผู้ลักขโมยจึงเท่ากับเป็นผู้อธรรม เพราะเอาสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของตนไป พ่อค้าที่ตวงหรือชั่งของให้ลูกค้าไม่ครบตามกำหนด ถือว่าเป็นผู้อธรรมเช่นกัน เพราะไม่ได้ให้สิทธิที่ครบถ้วยสมบูรณ์แก่ผู้ซื้อ เช่นเดียวกับผู้พิพากษา หากมีใจเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือรับสินบน ก็เท่ากับเป็นผู้อธรรม เพราะเอาสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของตนมาครอบครอง
อิสลามถือว่า ความยุติธรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้จริยธรรมอิสลามสมบูรณ์ เพราะความยุติธรรมจะนำมาซึ่ง การดำรงมั่นในความเป็นธรรมและรักในความสัตย์ ผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมจึงถือเป็นบุคคลที่มีจริยธรรมอันน่าสรรเสริญ เพราะเป็นผู้มีเกียรติอย่างแท้จริง มีความยืนหยัดในความถูกต้อง ปราณีและมีใจบริสุทธิ์ อัลลอฮ ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า
" แท้จริงอัลลอฮนั้น ทรงกำชับให้พวกเจ้า คงไว้ซึ่งความยุติธรรม และการทำดี"
( อันนะฮฺลฺ 16 / 90 )
"ผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม
และจงอย่าให้การเกลียดชังต่อพวกนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม
จงยุติธรรมเถิด เพราะมัน ( ความยุติธรรม ) นั้น ใกล้ชิดกับความยำเกรงที่สุด
แท้จริงอัลลอฮนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน"
( อัลมาอิดะฮฺ 5 / 8 )
กล่าวคือ อย่าให้ความเกลียดชังของพวกท่านที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง มาบีบบังคับให้ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความอธรรม มนุษย์ทุกคนต้องมีความยุติธรรมทัดเทียมกันทั้งกับคนที่เรารักและเกลียด ผู้ร่วมศาสนาหรือต่างศาสนา และมีระบุในฮะดีส ของท่านศาสดา ว่า
“ การให้ความยุติธรรม ระหว่างสองสิ่งนั้น ถือเป็นทานอย่างหนึ่ง”
การปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่สูงส่งยิ่งที่มนุษยชาติพึงปฏิบัติต่อกัน ในขณะเดียวกันอิสลามได้ประณามการอยุติธรรมและการอธรรมทั้งหลายไว้อย่างละเอียดและรัดกุม และมีระบุในฮะดีส ของท่านศาสดา
“ ท่านทั้งหลายพึงระวัง การอธรรมไว้ให้ดี แท้จริงการอธรรมนั้นเป็นความมืดมนในวันกิยามะฮฺ ( วันสิ้นโลก )”
ยุติธรรมในสิ่งใดบ้าง ?
1. ยุติธรรมต่อพระผู้เป็นเจ้า ด้วยการไม่ตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์ ยุติธรรมต่อพระองค์ด้วยการเชื่อฟังไม่ฝ่าฝืน รำลึกไม่หลงลืม และกตัญญูไม่เนรคุณ
2. ยุติธรรมในการตัดสิน โดยการให้สิทธิแก่ผู้สมควรได้รับสิทธิ
3. ยุติธรรมกับภรรยาและลูกๆ ให้ความเท่าเทียมโดยไม่ให้ความสำคัญกับคนหนึ่งเหนือกว่าอีกคนหนึ่ง
ดังที่มีปรากฏในฮะดีสว่า สาวกของท่านศาสดา ท่านหนึ่ง ได้มาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นพยานให้ ในการยกสวนแห่งหนึ่งให้บุตรชาย
ท่านศาสดา ถามสาวกท่านนั้นว่า “ ท่านได้ให้ลูกๆทุกคนของท่านเช่นนี้หรือไม่ ?”
สาวกท่านนั้นตอบว่า ไม่ครับ
ท่านศาสดา จึงกล่าวว่า “ ฉันจะไม่เป็นพยานให้กับการอธรรม”
4. ยุติธรรมต่อคำพูด โดยการไม่เป็นพยานเท็จ ไม่พูดโกหกหรือไร้สาระ
5. ยุติธรรมต่อความเชื่อมั่น โดยไม่เชื่อนอกจากสิ่งที่เป็นความสัจ เป็นข้อเท็จจริง และไม่ชื่นชมในสิ่งที่ขัดกับความจริง
ผลของการขาดความยุติธรรม
แน่นอนว่าความยุติธรรม ย่อมสร้างความเป็นปึกแผ่นในสังคม สร้างความสงบ ปลอดภัยและความเสมอภาคของทุกสังคมชนชั้น หากสังคมขาดความยุติธรรมเมื่อใด การละเมิดสิทธิบุคคลในสังคมจะเกิดขึ้นทันที ความสับสนวุ่นวายจะขยายวงกว้าง ไม่มีสิ่งใดจะระงับอาชญากรรมและความไม่ดีต่างๆไว้ได้อีก ทุกฝ่ายพร้อมที่จะตั้งตนเป็นศัตรู จิตใจจะต่ำทราม และ ความสงบสุข ความปลอดภัยในสังคมจะคงเหลือเพียงแต่ชื่อเท่านั้น
"และพวกเจ้าอย่าคิดว่าอัลลอฮทรงละเลยต่อสิ่งที่พวกอธรรมได้ปฏิบัติ
แท้จริง พระองค์ทรงประวิงเวลาให้พวกเขา จนถึงวันที่สายตาเงยจ้องไม่กระพริบ ( วันปรโลก )"
( อิบรอฮีม 14 / 42 )
2. ความละอาย
อิสลามถือว่าความละอายเป็นคุณลักษณะเฉพาะของจริยธรรมอิสลามอันสูงส่ง เมื่อมนุษย์มีความละอายเป็นสมบัติประจำตัว เขาจะมีความเกรงกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า ละอายต่อความผิด และละอายที่จะให้พระองค์เห็นเขาในฐานะผู้ฝ่าฝืน มีวจนะท่านศาสดา ที่กล่าวส่งเสริมความละอายอยู่มากมาย ดังเช่นวจนะของท่านศาสดา ที่ว่า
“ ความละอาย ล้วนแต่เป็นความดีทั้งสิ้น ”
( บันทึกโดย อิมามมุสลิม )
“ แท้จริง ทุกๆศาสนามีจริยธรรม และจริยธรรมของอิสลามนั้น คือ ความละอาย ”
( บันทึกโดย อิมามอิบนุมาญะฮฺและอิมามมาลิก )
“การอีมานนั้น มีเจ็ดสิบกว่าแขนง หรือ หกสิบกว่าแขนง ที่ประเสริฐสุดนั้น คือ(คำปฏิญาณ) ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์
และที่ต่ำสุดนั้น คือ การขจัดภยันตรายให้พ้นจากทางสัญจร และ ความละอายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีและมุสลิม )
“ ความละอาย กับ การศรัทธานั้น เป็นของคู่กันเสมอ หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกถอดทอน อีกสิ่งหนึ่งก็จะถูกถอดถอนไปด้วยเช่นกัน”
( บันทึก โดยอัลฮากิม )
“อัลลอฮ์ นั้น สมควรยิ่งที่ (มนุษย์)พึงละอาย มากกว่า ที่จะละอายต่อเพื่อนมนุษย์”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรี )
หากมนุษย์ไม่มีความละอายเป็นพื้นฐานทางจริยธรรมแล้ว ประตูแห่งความผิดบาปทั้งหลายก็พร้อมเปิดต้อนรับเขาอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีอะไรที่จะคอยฉุดรั้ง คอยเตือนสติเขาไว้ได้อีก ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ หากเจ้าไม่ละอาย ก็จงทำสิ่งที่เจ้าปรารถนาเถิด”
( บันทึกโดย อิหม่ามมาลิก และอบูดาวู๊ด )
เหตุผลที่ความละอายเป็นส่วนหนึ่งของการอีมานนั้น ก็เพราะ ทั้งความละอายและการอีมาน ล้วนแล้วแต่ชักนำสู้ความดี และ หลีกห่างจากความชั่ว อีมานเป็นแรงผลักดันให้ผู้ศรัทธา กระทำในสิ่งที่เป็นการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) และละทิ้งสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืน ส่วนความละอายนั้น จะหักห้ามไม่ให้ผู้ศรัทธาบกพร่องในการกตัญญู แก่ผู้ทรงประทาน หักห้ามไม่ให้ละเมิดสิทธิของคนหนึ่งคนใด ดังกล่าวจึงถือว่า ความละอายนับเป็นความดีประการหนึ่ง และเป็นประตูเปิดสู่ความดีงามทั้งหลาย
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ความละอายจะไม่นำสิ่งใดมานอกจากความดีเท่านั้น”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีและมุสลิม )
ความละอายในที่นี้หมายถึง สิ่งที่จะส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม และห่างไกลจากสิ่งที่ชั่วร้าย ตามแนวทางและกฎเกณฑ์ที่อิสลามให้ไว้ หากเป็นความละอายที่นำพาไปสู่การกระทำที่ผิดต่อหลักการแล้ว ก็หาใช่เป็นความละอายที่ถูกต้องตามบัญญัติอิสลามไม่ เช่น อายที่จะตักเตือนผู้กระทำผิด หรืออายที่จะปฏิบัติตามข้อใช้และข้อห้ามของอัลลอฮและศาสนทูตของพระองค์ เป็นต้น
เมื่อการละอายต่อเพื่อนมนุษย์นับเป็นความดีแล้ว การละอายต่อผู้สร้างมนุษย์จึงนับเป็นคุณธรรมที่ประเสริฐและสูงส่งยิ่งกว่า เพราะการละอายต่ออัลลอฮ เป็นเครื่องยับยั้งทีดีที่สุดจากความผิดทั้งมวล
ท่านศาสดา กล่าวว่า “ ท่านทั้งหลายจงละอายต่ออัลลอฮ์ ด้วยการละอายอย่างแท้จริงเถิด”
บรรดาสาวกกล่าวกับท่านว่า “ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ แน่นอน เราต่างก็ละอายต่ออัลลอฮ์และการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ”
ท่านศาสดา กล่าวว่า “หามิได้ หากแต่การละอายต่ออัลลอฮด้วยการละอายอย่างแท้จริงนั้นคือ การที่ท่านรักษา ศรีษะและสิ่งที่มันบรรจุไว้ รักษาท้องและสิ่งที่มันบรรจุไว้ และท่านรำลึกถึงความตายและความไม่จีรัง(อยู่เสมอ) ผู้ใดที่ปรารถนาอาคิเราะฮฺ เขาย่อมละทิ้งความเพริดแพร้วของดุนยา และใครที่กระทำได้เช่นนี้ แน่นอน เขาได้ละอายต่ออัลลอฮด้วยการละอายอย่างแท้จริงแล้ว”
( บันทึกโดย อัลมุนศิรียฺ -มัรฟูอัน - )
3. ความสุขุม
หมายถึงการสามารถระงับจิตใจเมื่อโกรธ และอดทน โดยไม่ย่อท้อ อ่อนแอต่ออุปสรรค การที่บุคคลมีความสุขุมเป็นนิสัย เขาจะไม่ใจร้อน ไม่โกรธง่าย และอดทนต่อทุกสิ่งที่ประสบ ความสุขุมยังเป็นคุณลักษณะสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการเป็นผู้นำ ดังตัวอย่างที่ท่าน มุอาวิยะฮฺ เคยถาม อะรอบะฮฺว่า ท่านใช้วิธีอะไรในการเป็นผู้นำกลุ่มชน ? อะรอบะฮ ตอบว่า
“ ฉันมีความสุขุม ใจเย็น กับคนเขลา ฉันให้กับผู้ที่ขอ และฉันช่วยเหลือตามความต้องการของพวกเขา ใครที่ทำได้เหมือนฉัน เขาก็จะเป็นอย่างฉัน ใครที่ทำได้มากกว่าฉัน เขาก็ประเสริฐกว่าฉัน และใครที่ทำได้น้อยกว่าฉัน ฉันก็ดีกว่าเขา”
ตัวอย่างความสุขุม ของท่าน ศาสดามุฮัมมัด
มีชายอาหรับชาวชนบทคนหนึ่งได้ปัสสาวะในมัสยิด บรราดาสาวกของท่านศาสดาต่างพากันตกตะลึงและโกรธมาก พวกเขาต่างหักห้ามและตะคอกใส่ชายผู้นั้น หากแต่ท่านศาสดาผู้ซึ่งได้รับความรู้อย่างรอบคอบในการเชิญชวนสู่อัลลอฮ กล่าวขึ้นว่า
“พวกท่านอย่าได้บังคับให้เขาต้องกลั้นปัสสาวะ”
พอชายผู้นั้นเสร็จธุระแล้ว ท่านศาสดาสั่งให้นำน้ำมาหนึ่งถังเพื่อราดบนรอยปัสสาวะ แล้วเรียกชายผู้นั้นเข้ามาหา และบอกกับชายผู้นั้นว่า
“ แท้จริง ที่นี่เป็นมัสยิด ซึ่งไม่เป็นการบังควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้มีสิ่งสกปรก
เพราะมัสยิดเป็นสถานที่สำหรับละหมาด อ่านอัลกุรอาน และรำลึกถึงอัลลอฮ ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร”
(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรี )
การตักเตือนของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด กับผู้ศรัทธา ท่านไม่เคยโต้ตอบด้วยความรุนแรง หยาบคาย ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังตอบกลับด้วยความละมุนละม่อม อ่อนโยน อดทนและให้อภัย ดังอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อครั้งที่พวกผู้ปฏิเสธศรัทธา ต้อนรับการเชิญชวนของท่าน ด้วยการกลั่นแกล้ง ทำร้ายท่านทุกวิถีทาง ท่านปาดคราบเลือดบนใบหน้าพร้อมวิงวอนขอต่ออัลลอฮว่า
“ โอ้อัลลอฮ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษแก่กลุ่มชนของข้าพระองค์ด้วยเถิด แท้จริงพวกเขาเป็นผู้ไม่รู้ ”
นี่คือจริยธรรมอันสูงส่งของท่านศาสดาผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างแห่งจริยธรรมที่สมบูรณ์ ดังที่อัลลอฮ ได้ตรัสยืนยันในเรื่องนี้ว่า
"แท้จริง ในตัวของศาสนฑูตของอัลลอฮ์นั้น มีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้า"
(อัลอะฮฺซาบ33/21 )
อัลลอฮ์ทรงใช้ให้ผู้ศรัทธาอดทนต่อกฎสภาวะการณ์ของพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
“และเจ้าจงอดทนเถิด เพราะแท้จริงอัลลอฮจะไม่ทรงทำให้ผลตอบแทนของผู้ทำความดีนั้นสูญหาย”
( ฮูด 11/115 )
ดังกล่าวคือความประเสริฐของความสุขุม ละมุนละม่อม อันเป็นจริยธรรมที่อิสลามส่งเสริม เพราะแน่นอนว่า ความสุขุม ใจเย็นนี่เอง ที่จะรักษาสัมพันธภาพอันดีงามของเพื่อนมนุษย์ให้คงอยู่และยืนยง
4. ความสัจจริง
ความสัจจริงเป็นลักษณะพิเศษของบรรดาศาสดา
" และจงรำลึกถึงเรื่องราวของท่านนบีอิบรอฮีมในคัมภีร์ แท้จริง เขาเป็นผู้สัจจริงและเป็นศาสดา "
( มัรยัม 19 /41 )
ชาวอาหรับชนบทคนหนึ่ง มองดูใบหน้าของท่านร่อซู้ล แล้วเขาก็เห็นสัญญาณการเป็นนบีประจักษ์บนใบหน้าของท่าน อาหรับชนบทผู้นั้นจึงกล่าวว่า “ แท้จริงใบหน้าเช่นนี้ ไม่ใช่ใบหน้าของคนโกหก ”
อิสลามกำชับให้ผู้ศรัทธายึดมั่นอยู่บนความสัจจริง ให้มีความยำเกรงและอยู่ร่วมกับผู้มีสัจจะ เพราะความสัจจริงนั้นเป็นเครื่องหมายของการศรัทธา และการเชื่อฟังในพระผู้เป็นเจ้า พระคัมภีร์ระบุว่า
" โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และจงอยู่พร้อมกับบรรดาผู้มีสัจจะ "
( อัตเตาบะฮฺ 9/ 119 )
สำหรับวันอาคิเราะห์นั้น ไม่มีสิ่งใดยังประโยชน์ นอกจากความสัจจริงในการศรัทธา ทั้งวาจาและการปฏิบัติ ดังที่อัลลอฮ ตรัสว่า
" อัลลอฮ์ตรัสว่า นี่แหละคือวันที่การพูดความจริงของพวกเขาจะอำนวยประโยชน์แก่บรรดาผู้ที่พูดจริง "
( อัลมาอิดะฮฺ 5 / 119 )
ความสัจจริงเป็นแหล่งของความดีและความประเสริฐทั้งหลาย และการมุสานั้นเป็นรากฐานแห่งความสูญเสียและความชั่วร้ายทั้งมวล ในฮะดีสระบุว่า
“ แท้จริงการมีสัจจะนั้น คือ คุณธรรม และแท้จริง คุณธรรมนั้น นำพาสู่สรวงสวรรค์”
(บันทึกโดยอิมามมุสลิม )
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ลักษณะ 2 ประการที่จะไม่รวมอยู่ในตัวผู้มีศรัทธา คือ ความตระหนี่ และ การโกหก”
มีผู้ถามท่านศาสดา ว่า ผู้ศรัทธาจะเป็นคนขี้ขลาดได้ไหม ?
ท่านตอบว่า “ ได้ ”
และมีผู้ถามท่านอีกว่า ผู้ศรัทธาจะเป็นคนตระหนี่ได้ไหม ?
ท่านตอบว่า “ ได้ ”
และมีผู้ถามท่านอีกว่า ผู้ศรัทธาจะเป็นคนโกหกได้ไหม ?
ท่านศาสดา ตอบว่า “ ไม่ได้ ”
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ ท่านทั้งหลายจงยึดความสัจจริงเถิด แท้จริง ความสัจจริงนั้นจะนำไปสู่ความดี และแท้จริงความดีนั้นจะนำไปสู่สวนสวรรค์
และบุคคลยังคงพูดจริง และพยายามแสวงหาความจริง จนกระทั่งเขาจะถูกจารึก ณ ที่อัลลอฮว่า เขาเป็นผู้สัจจริง
และท่านทั้งหลายจงห่างไกลจากการโกหก แท้จริง การโกหก จะนำไปสู่ความชั่ว และความชั่วนั้นจะนำไปสู่ขุมนรก
บุคคลยังคงโกหก และแสวงหาการโกหก จนกระทั่ง เขาจะถูกจารึก ณ ที่อัลลอฮว่าเป็นผู้โกหก”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม )
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ มีอยู่ 4 ประการ หากท่านมีอยู่ทั้ง 4 ประการนั้นแล้ว ท่านอย่าได้เสียดายสิ่งอำนวยสุขอื่นๆ ในดุนยาที่ท่านไม่ได้รับเลย นั่นคือ
1. การมีอมานะฮฺ รักษาของฝาก หรือ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ
2. การมีสัจจะ
3. การมีมารยาทดี
4. ความสงบเสงี่ยมพึงพอใจในสิ่งที่ท่านรับประทาน ”
( บันทึกโดยอัฏฏอบรอนียฺ และ อัลบัยฮะกียฺ )
ความสัจจริง คือรากฐานแห่งความดีงาม เป็นเป้าหมายของความเจริญก้าวหน้า และเป็นคุณลักษณะการกระทำที่สะอาดบริสุทธิ์ ความสัจจริงเป็นสิ่งที่ประกันสิทธิต่างๆให้กลับคืนสู่ผู้เป็นเจ้าของ และเสริมสร้างความเชื่อถือ และ ความไว้วางใจระหว่างบุคคลกับหมู่คณะ ความสัจจริงเป็นคุณลักษณะหนึ่งจากบรรดาคุณลักษณะของอัลลอฮ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
" และผู้ใดเล่าที่พูดจริงยิ่งกว่าอัลลอฮ "
( อันนิซาฮฺ 4 / 87 )
5. ความอ่อนโยน ละมุนละม่อม
อิสลามสนับสนุนให้ใช้ความอ่อนโยน ทั้งในคำพูดและการกระทำ เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกัน อิสลามไม่ส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ แท้จริง อัลลอฮ ทรงเป็นผู้มีความละมุนละม่อม อ่อนโยน พระองค์ทรงชอบความละมุนละม่อมอ่อนโยนในกิจการทั้งปวง”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ )
ท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า
“ แท้จริงความละมุนละม่อมอ่อนโยน เมื่ออยู่ในสิ่งใด จะทำให้สิ่งนั้นดีงามขึ้น
และความละมุนละม่อม อ่อนโยน เมื่อถูกถอนออกจากสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะทำให้สิ่งนั้นเลวลง ”
(บันทึกโดยอิมาม มุสลิม )
ความละมุนละม่อม อ่อนโยนนี้เอง ที่เป็นคุณลักษณะดึงดูดให้ผู้คนรักใคร่และเอ็นดูเมตตา สร้างสัมพันธไมตรีอันดีงามต่อกัน และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตัวอย่างชัดเจนในเรื่องนี้เห็นได้จากการที่ท่านศาสดามุฮัมมัด เป็นผู้ที่อ่อนโยนต่อมวลชน สุภาพ และมีไมตรี จึงทำให้ท่านเข้าไปอยู่ในใจสาวกและมิตรสหายของท่าน ตลอดจนทุกคนที่พบเห็นและรู้จักกับท่าน ต่างก็สัมผัสได้ถึงคุณธรรมอันประเสริฐของท่าน
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
"เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเอง เจ้า(มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา
และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีจิตใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอน พวกเขาย่อมกระเจิดกระเจิง แยกตัวออกไปจากเจ้ากันแล้ว"
(อาละอิมรอน 3/159)
พระผู้เป็นเจ้า ทรงแจ้งให้ท่านศาสดาทราบว่า ความเอ็นดูเมตตาที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ท่านนั้น นับเป็นสาเหตุแห่งการสุภาพอ่อนโยนต่อบรรดาผู้ศรัทธา ถ้าหากท่านมีลักษณะแข็งกระด้าง หยาบช้า แน่นอนประชาชาติของท่านย่อมเตลิดหนี กระเจิดกระเจิงไปจากท่าน
แม้ว่า คำสั่งดังกล่าวจะเจาะจงถึงท่านศาสดา แต่ในขณะเดียวกันก็รวมไปถึงประชาชาติของท่านด้วย สิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านศาสดาปฏิบัติ ย่อมหมายรวมถึงบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหมด ยกเว้นในสิ่งที่เป็นกรณีพิเศษ เฉพาะเจาะจงเท่านั้น อิสลามใช้ให้แสดงออกถึงความอ่อนโยนกับทุกคน ไม่ให้เลือกปฏิบัติ ทั้งกับคนใกล้ชิดและห่างไกล ทั้งแก่ผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธศรัทธา และทั้งแก่คนดีและคนชั่ว พระคัมภีร์ระบุว่า
" และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้าให้แก่ผู้คนอย่างยะโส และอย่าเดินไปตามแผ่นดินอย่างไร้มรรยาท
แท้จริง อัลลอฮ์ มิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด"
( ลุกมาน 31 / 18 )
ท่านศาสดา มุฮัมมัด ครองใจประชาชาติของท่าน ด้วยจริยธรรมและมารยาทอันงดงามของท่าน ท่านอ่อนโยนกับทุกคนแม้กระทั่ง สาวกรับใช้ ดังปรากฏใน คำบอกเล่าของท่านอนัส อิบนุ มาลิก ว่า
“ ฉันได้รับใช้ท่านนบี 10 ปี ตลอดระยะเวลานั้น ท่านไม่เคยบ่น หรือแสดงอาการไม่พอใจเลยแม้สักครั้งเดียว
ท่านไม่เคยกล่าวตำหนิฉันเลย ว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ทำไมถึงไม่ทำอย่างนี้ ”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม )
ท่านศาสดา มุฮัมมัด กล่าวว่า
“ แท้จริง อัลลอฮ ได้ประทานวะฮีย์ ( บัญชา ) ให้ฉันนอบน้อมถ่อมตน จนกระทั่ง ไม่ให้มีการโอ้อวด เหยียดหยามและ อธรรมต่อกัน ”
(บันทึกโดยอิมาม มุสลิม )
ส่วนหนึ่งจากวจนะศาสดา มุฮัมหมัด เกี่ยวกับจริยธรรมอิสลาม
1. ห้ามการประพฤติเลียนแบบผู้กลับกลอก
2. ห้ามการพูดจาหยาบคาย นินทา ใส่ร้าย
3. เกี่ยวกับการปฏิบัติตามในสิ่งที่ดีงาม
4. เกี่ยวกับความรักและมีเมตตาต่อกัน
5. เกี่ยวกับการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ ลักษณะของการเป็นมุนาฟิก (ผู้หน้าไหว้หลังหลอก) มี 3 ประการ คือ
เมื่อพูดก็จะโกหก เมื่อสัญญาก็บิดพลิ้ว และเมื่อได้รับความไว้วางใจก็ทรยศ หักหลัง”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม )
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ผู้ศรัทธานั้น ไม่ใช่เป็นผู้ชอบด่า ไม่ใช่เป็นผู้ชอบสาปแช่ง ไม่ใช่เป็นผู้ชอบพูดชั่ว และไม่ใช่เป็นผู้ชอบพูดจาหยาบคาย”
( บันทึกโดย อัตติรมีซีย์ )
ท่านศาสดา กล่าวว่า “ท่านทราบไหมว่า ใครคือผู้ล้มละลาย ?”
เหล่าสาวกกล่าวตอบว่า ผู้ล้มละลายในพวกเราก็คือ คนที่ไม่มีเงินทอง และไม่มีสมบัติอะไรเลย
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ ผู้ล้มละลายในประชาชาติของฉัน คือ คนที่นำเอาการละหมาด การบริจาคทาน การถือศีลอดมาในวันปรโลก ในสภาพที่เคยด่าทอคนนี้ ใส่ร้ายคนนั้น กินทรัพย์สมบัติของคนนั้น สังหารคนนี้ และทุบตีคนนั้น แล้วเขาก็จะให้ความดีของเขาแก่คนนั้น และให้ความดีของเขาแก่คนนี้ ดังนั้นหากความดีของเขาจะหมดสิ้นไปก่อนที่เขาจะใช้หนี้หมด ก็จะมีการเอาความผิดจากคนเหล่านั้นโยนใส่เขา จากนั้นเขาก็จะถูกโยนลงไปในไฟนรก ”
(บันทึกโดยอิมามมุสลิม )
ท่านศาสดา กล่าวว่า“คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านอย่าเป็นผู้มีลักษณะพวกมากลากไป กล่าวคือ หากเห็นคนอื่นทำดี ฉันก็ทำดีด้วย หากคนอื่นทำชั่ว ฉันก็ทำชั่วด้วย แต่พวกท่านจงเตรียมตัวของพวกท่าน หากคนอื่นทำดี พวกท่านก็จงทำดี และหากเขาทำชั่ว พวกท่านก็จงหลีกห่างจากความชั่วของพวกเขา”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม )
ท่านศาสดา กล่าวว่า
“ อุปมาความรัก ความเอ็นดูเมตตา ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันของผู้ศรัทธา อุปมัยดั่งเรือนร่างเดียวกัน เมื่ออวัยวะส่วนใดเจ็บปวด ส่วนอื่นของร่างกายก็พลอยไม่ได้หลับไม่ได้นอนและไม่สบายไปด้วย”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม )
“ พวกท่าน จะยังไม่มีศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าเขาจะรักที่จะให้ได้แก่พี่น้องของเขา ซึ่งสิ่งที่เขารักที่จะให้ได้แก่ตัวของเขาเอง”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม )
“แท้จริง อัลลอฮ์ ประทานวะฮีย์มายังฉัน ให้มีความถ่อมตนซึ่งกันและกัน ไม่ให้อหังการต่อกัน และไม่ละเมิดสิทธิของกันและกัน”
(บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ )
“ เป็นการเพียงพอแล้ว ที่จะเรียกบุคคลหนึ่ง ว่าเป็นคนชั่ว อันเนื่องมาจากการที่เขาเหยียดหยามพี่น้องของเขา”