14. มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดี
  จำนวนคนเข้าชม  2393


14. มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดี


         การที่จะนำพาประชาชนนับล้านคนไปสู่การพัฒนาเพื่อให้มีสภาพ "อยู่ดี กินดี" ได้สำเร็จนั้น หากผู้ผลักดันและนำพามีเพียงผู้นำคนเดียว คงยากที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะแม้ว่าเขาจะมีคุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำที่สมบูรณ์ทุกประการรวมอยู่ในตัวเขา แต่มนุษย์ก็ย่อมมีขีดจำกัดในด้านเวลาและสังขารของร่างกาย ผู้นำจึงจำเป็นจะต้องมีผู้ช่วย ผู้รับสนองงานและนโยบายต่างๆ เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่วางไว้มากมายได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

          การมีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดีจึงถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะคนเหล่านี้คือผู้ช่วยงานของผู้นำ หากข้าหลวง ผู้พิพากษา อธิบดีกรมต่างๆ ตลอดจนคณะที่ปรึกษาเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบเหมือนตัวผู้นำเอง การงานของท่านก็จะดำเนินไปในทางที่ดี สร้างสรรค์ และมีความก้าวหน้า ต่ถ้าหากบุคคลเหล่านี้ ทำงานเพียงเพื่อเอาความดีความชอบในลักษณะ "ผักชีโรยหน้า" หรือทำงานแบบประจบสอพลอ มิได้ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง แน่นอนภารกิจของผู้นำจะต้องยุ่งเหยิง สับสน ไม่ราบรื่นและไม่ก้าวหน้า ทำให้พัฒนาการในด้านต่างๆ จะต้องหยุดชะงัก และถดถอยจนสังคมต้องพลอยเดือดร้อน และบ้านเมืองไม่มีความสงบสุข

          เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นับเป็นผู้นำที่มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดียิ่ง ท่านมีข้าหลวงที่ทรงคุณธรรมในทุกแคว้นทั่วภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอบู อุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรร็อหฺที่แคว้นชาม อบู มูซา อัล-อัชอะรียฺ ที่แคว้นอิรัก อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศที่อียิปต์ สะอีด อิบนฺ อุมัยรฺที่แคว้นหิมศฺ และข้าหลวงคนอื่นๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ประชาชนเชื่อถือและศรัทธา นอกจากนี้ ท่านยังมีคณะที่ปรึกษาที่สุขุมรอบคอบ อย่างอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบ ที่ปรึกษาในด้านกฎหมายและการวางแผน อุษมาน อิบนฺ อัฟฟาน และอับดุลร็อหมาน อิบนฺ เอาฟฺ ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง หรืออะดียฺ อิบนฺ อัล-หาติม, สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ และ กะอับ อัล-อะห์บารฺ ที่ปรึกษาด้านศาสนายิว คริสเตียน โซโรแอสเตอร์ และด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

          อัล-เราะฟิก อัล-ก็อยเราะวานียฺ (al-Rafiq al-Qayrawaniy) ได้กล่าวถึงการให้คำปรึกษาของอะลียฺในด้านกฎหมายเพื่อลงโทษผู้เสพสุราแก่ท่านอุมัรฺเมื่อตอนที่อบู อุบัยดะฮฺส่งตัวแทนมาจากแคว้นชามเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ฉันเห็นว่าบทลงโทษต่อผู้เสพสุรานั้นใกล้เคียงกับโทษของการกล่าวหาผู้อื่นมากที่สุด เพราะคนเมานั้นเมื่อเขาเมา เขาจะโลเล เมื่อโลเลก็เขาจะกล่าวหาผู้อื่น (ดังนั้นโทษของผู้ดื่มสุราจึงควรจะเหมือนกับโทษของผู้กล่าวเท็จต่อผู้อื่นนั่นคือต้องโดนเฆี่ยนแปดสิบครั้ง)

แล้วท่านอุมัรฺก็กล่าวกับตัวแทนของอบู อุบัยดะฮฺว่า "บัดนี้ ท่านก็ได้ยินสิ่งที่เขาบอกแล้ว ดังนั้นจงบอกให้อบู อุบัยดะฮฺเฆี่ยนตามนี้"

แล้วอบู อุบัยดะฮฺก็เฆี่ยนผู้เสพสุราที่เมืองชาม แปดสิบครั้ง ในขณะที่ท่านอุมัรฺก็เฆี่ยนจำนวนนี้ด้วยเช่นกันที่มะดีนะฮฺ (al-Rafiq al-Qayrawayniy, n.d.: 1/48)

          เช่นเดียวกับสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ ที่ให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมา เมื่อท่านอุมัรฺขอให้เขาช่วยประเมินตัวท่านว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺหรือเป็นราชา โดยท่านอุมัรฺถามเขาว่า"ฉันนี่เป็นราชาหรือเป็นเคาะลีฟะฮฺกันแน่?"

สัลมานตอบท่านว่า "หากท่านเก็บภาษีจากแผ่นดินชาวมุสลิมเพียงหนึ่งดิรฮัมหรือน้อยกว่าหรือมากกว่า แล้วท่านใช้จ่ายในทางที่ไม่ชอบ ท่านก็คือราชาไม่ใช่เคาะลีฟะฮฺ" แล้วท่านอุมัรฺ ก็ร้องไห้ (Ibn Athir, n.d.: 1/473)

ท่านกล่าวแก่กะอับ อัล-อะห์บารฺ ที่ปรึกษาด้านศาสนายูดายว่า

"นี่ กะอับ ท่านพบฉันในคัมภีร์โตราห์ว่าเป็นคนเช่นไร? เขาตอบว่า "เป็นเคาะลีฟะฮฺเหล็กที่ไม่เกรงกลัวการถูกประณามในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริตต่ออัลลอฮฺ และจะต้องกลายเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ถูกประชาชนฆ่าอย่างทารุน และหลังจากนั้นก็จะเกิดภัยพิบัติตามมา" (Abi Nua’im al-Asbahayniy, 1405 A.H.: 6/25)

          ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาแก่ท่าน ไม่เพียงแต่ทำกันต่อหน้าเท่านั้น แต่ในยามห่างไกล เหล่าคณะที่ปรึกษาก็ยังคงให้คำแนะนำปรึกษาผ่านหนังสือหรือจดหมายที่ต้องใช้เวลาในการส่งมาเป็นแรมเดือน ดังที่ อัล-เฏาะบาเราะนียฺได้กล่าวถึงจดหมายร่วมกันของอบู อุบัยดะฮฺและมุอาซ อิบนฺ ญะบัลที่ส่งมาจากแคว้นชามให้คำแนะนำตักเตือนสติท่านเคาะลีฟะฮฺที่มะดีนะฮฺว่า

จาก  อบูอุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรรอฮฺ และมุอาซ อิบนฺญะบัล

ถึง  ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ

ความสันติจงมีแด่ท่าน

          เราขอยืนยันต่อท่านว่า บัดนี้ การควบคุมตัวท่านเองนั้นสำคัญมาก เพราะท่านได้ปกครองประชาชาตินี้ทั้งชนผิวแดงและผิวดำ ผู้ที่นั่งตรงหน้าท่านนั้นมีทั้งคนสูงส่งและคนต่ำต้อย มีทั้งมิตรและศัตรู ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม ฉะนั้น ท่านจงไตร่ตรองเถิด โอ้ ท่านอุมัรฺ เรานี้ขอให้ท่านรำลึกถึงวันที่ดวงตาจะเบิกโพล่ง หัวใจจะแห้งเหี่ยว และไม่มีข้ออ้างใดๆ สำหรับคำตัดสินขององค์ราชันย์ที่ทรงควบคุมมนุษย์ด้วยความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระองค์ วันที่สรรพสิ่งทั้งหมดต่างสยบนอบน้อมต่อพระองค์และหวังในความเมตตาและเกรงกลัวโทษทัณฑ์ของพระองค์ ซึ่งเราคาดว่าสุดท้ายแล้วประชาชาตินี้จะหวนสู่การเป็นเพื่อนแบบหน้าไหว้หลังหลอก

          เราขอท่านจงอย่าได้แปรเจตนาของเราเป็นอย่างอื่น เพราะที่ส่งจดหมายมานี้ก็เพียงเพื่อเป็นคำตักเตือนแนะนำแก่ท่านเท่านั้น

วัสสลาม สุขสันติจงมีแด่ท่าน (al-Tabaraniy, 1983: 20/32)

         นี่คือตัวอย่างของสัมพันธภาพระหว่างตัวเคาะลีฟะฮฺกับคณะผู้ร่วมบริหารและที่ปรึกษา ซึ่งต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีการประจบสอพลอเพื่อเอาหน้า หรือยั่วยุผู้นำเพื่อดึงให้เป็นพวกฟ้องของตนเอง

         และทั้งหมดนี้ คือ บางตัวอย่างของการมีลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดีของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของเศาะเศาะอะฮฺเมื่อครั้งที่มุอาวิยะฮฺ อิบนฺ อบี สุฟยาน ขอให้เขาบอกคุณลักษณะของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ซึ่งเขาบอกว่า

          ท่านเป็นคนรอบรู้เรื่องประชาชน มีความยุติธรรมในตัวเอง ไม่หยิ่งผยอง รับฟังเหตุผล เข้าหาได้ง่าย ประตูบ้านเปิดตลอดเวลา เป็นคนเชิดชูความถูกต้อง ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นมิตรกับผู้อ่อนแอ ไม่ตวาดเสียงดัง เป็นคนเงียบขรึม และไร้สิ่งบกพร่อง (Ibn Manzur,n.d.: 6/46)

อับดุลลอฮฺ อัล-กอรี (2543 : 26) กล่าวว่า

         ท่านอุมัรฺเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมด้วยความเป็นผู้นำ มีความห้าวหาญเด็ดขาด มีความปรีชาสามารถฉลาดเฉลียว มีความรู้และประสบการณ์มาก แต่ท่านเป็นผู้สมถะเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย