9. รับฟังเหตุผล
  จำนวนคนเข้าชม  43928

 

9. รับฟังเหตุผล

          การยอมรับและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนับเป็นอีกหนึ่งลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะเมื่อผู้นำรับฟังความคิดของคนอื่น เขาก็จะสามารถคัดกรองเอาความคิดเห็นที่ดีที่สุดมาปฏิบัติซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกับตัวเองและประชาชน ในขณะเดียวกัน หากผู้นำหลงตัวเอง มองว่าความคิดตัวเองสมบูรณ์แบบเบ็ดเสร็จ เขาและสังคมก็ต้องพลอยหมดโอกาสจะได้รับพลอยเม็ดงามซึ่งบางทีอาจได้รับจากประชาชนชั้นต่ำสุดในสังคมก็เป็นได้

         เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้นแม้ว่ามีความโดดเด่นในฐานะผู้บุกเบิกความคิดใหม่ ๆ ตลอดจนเป็นผู้ยืนหยัดและมั่นคงในความคิดที่ตนเห็นชอบ แต่บ่อยครั้งที่ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่เกิดจากการเสนอแนะของคนอื่น และบ่อยครั้งที่ท่านยอมรับว่าตัวเองคิดผิดหลังจากที่ได้รับฟังเหตุผลของผู้อื่น เช่นกรณีการล้มเลิกความคิดที่จะออกไปทำสงครามนิฮาวันดฺด้วยตัวเองหลังจากได้รับฟังเหตุผลต่างๆ ซึ่งอิบนุลอะษีรได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

ท่านอุมัรฺได้ประชุมร่วมกับประชาชนและกล่าวแก่พวกเขาว่า

"วันนี้เป็นวันกำหนดอนาคตข้างหน้า ซึ่งฉันเห็นว่าฉันสมควรจะออกเดินทางไปพร้อมกับทหารของฉันและคนที่ฉันสามารถจะเกณฑ์พวกเขาได้ แล้วฉันก็ไปปักหลักอยู่ใจกลางระหว่างสองเมืองนี้แล้วก็เชิญชวนพวกเขาให้ออกไปทำสงครามด้วยกัน โดยฉันจะเป็นกองหลังให้กับพวกเขาจนกว่าอัลลอฮฺจะทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ และประทานสิ่งที่ฉันต้องการ ซึ่งหากอัลลอฮฺให้พวกเขาพ่ายแพ้ ฉันก็จะได้กวาดต้อนพวกเขาถึงในบ้านเมืองของพวกเขาเองเลยทีเดียว" (Ibn Athir, n.d.: 1/454)

อิบนุลเญาซียฺ (Ibn al-Jawziy) ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปว่า

ฏ็อลหะฮฺจึงลุกขึ้นกล่าวว่า "ท่านคือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ และท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์ ดังนั้น จงเรียกเถอะเราจะมา จงสั่งเถอะเราจะทำ เพราะท่านเป็นผู้นำที่จำเริญก้าวหน้า"

แล้วเขาก็นั่งลง ท่านอุมัรฺจึงกล่าวต่อว่า "ไหนคนอื่น จงพูดซิ"

แล้วอุษมานก็ลุกขึ้นพูดว่า "ฉันเห็นว่า ท่านควรมีหนังสือไปยังชาวเมืองชามแล้วก็ให้พวกเขายาตราออกไปจากเมืองชามของเขา มีหนังสือไปยังชาวเยเมนแล้วให้พวกเขายาตราออกไปจากเมืองเยเมนของเขา และท่านเองก็ออกจากสองเมืองทรงเกียรติแห่งนี้ไปยังสองเมืองนั้น คือกูฟะฮฺและบัศเราะฮฺ แล้วกองทัพผู้ปฏิเสธก็ประจันหน้ากับกองทัพชาวมุสลิม"

แล้วอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบก็ลุกขึ้นกล่าวว่า "ท่านนี่นะ หากว่าท่านเกณฑ์ชาวเมืองชาม พวกโรมันก็จะยกทัพไปจับลูกเมียพวกเขา หากท่านเกณฑ์ชาวเยเมน พวกเอธิโอเปียก็จะยกทัพไปจับลูกเมียพวกเขา และหากท่านเอง เมื่อใดที่ท่านออกไปจากสองเมืองที่ทรงเกียรติแห่งนี้ด้วยตัวเองแล้วละก็ แผ่นดินทั้งแผ่นดินก็จะทุกข์ระทม กระทั่งสิ่งที่ทิ้งไว้ข้างหลังจะกลายเป็นสิ่งที่ท่านต้องตระหนักมากกว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ฉันจึงเห็นว่า ท่านควรจะมีหนังสือไปยังชาวบัศเราะฮฺให้พวกเขาแยกออกเป็นพวกๆ โดยพวกหนึ่งเฝ้าระวังพรรคพวกของเขา ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินทางไปสบทบกับพี่น้องของพวกเขาที่เมืองกูฟะฮฺ สำหรับเรื่องที่ท่านพูดถึงการมีจำนวนมากมายของพวกนั้น ในอดีตที่ผ่านมา เราเองก็ไม่เคยรบกับพวกเขาด้วยจำนวนกองกำลัง แต่เรารบกับพวกเขาด้วยการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ"

ท่านอุมัรฺ จึงพูดว่า "จริงของท่าน อะบุลหะสัน นี่แหล่ะความเห็นที่ถูกต้อง” (Ibn al-Jawziy, n.d.: 2/23)

         นี่คือตัวอย่างของการรับฟังเหตุผลของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺในเรื่องใหญ่ที่มีผลในทางปฏิบัติต่อผู้คนและทรัพย์สินมากมาย แต่ในเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ท่านก็ไม่เคยใช้อำนาจบาตรใหญ่ของตัวเองในการตัดสินใดๆ ต่อประชาชนโดยพลการอย่างไม่ฟังเหตุผล

          อัล-เฏาะหาวียฺ (al-Tahawiy, n.d.: 7/167: 2665)ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่แสดงถึงการรับฟังเหตุผลของท่านว่า

ท่านอุมัรฺได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังตัดกิ่งไม้ในเขตอนุรักษ์อัล-หะร็อมและนำไปให้อูฐของเขากิน ท่านจึงกล่าวว่า "จงพาเขามาหาฉันซิ"

แล้วเขาก็ถูกนำตัวมาหาท่าน ท่านถามว่า "โอ้ อับดุลลอฮฺ ท่านไม่รู้หรือว่าเมืองมักกะฮฺนั้นเป็นเขตอนุรักษ์หวงห้าม ห้ามตัดกิ่งไม้ของมัน ห้ามขับไล่ตะเพิดสัตว์ของมัน และห้ามเก็บสิ่งของที่ตกหล่นใดๆ นอกจากผู้ที่ต้องการนำคืนให้กับเจ้าของ? "

เขาตอบว่า "โอ้ อะมีรุลมุมินีน ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ที่ฉันทำไปก็เพราะฉันมีอูฐที่อ่อนแอตัวหนึ่งซึ่งฉันเกรงว่ามันจะไม่สามารถจะพาฉันไปพบลูกเมียของฉันได้ และฉันเองก็หมดเสบียงและเงินเพื่อใช้จ่ายแล้ว"

ท่านจึงใจอ่อนหลังจากเดิมที่ต้องการลงโทษเขา แล้วท่านจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่นำอูฐจากคลังหลวงตัวหนึ่งซึ่งมีความแข็งแรงและสามารถบรรทุกสิ่งของมาให้เขา ท่านกล่าวว่า "ท่านจงอย่าหวนมาตัดกิ่งไม้ใด ๆในเขตอนุรักษ์อัล-หะร็อมนี้อีกเป็นอันขาด" (al-Tahawiy, n.d.: 7/167: 2665)

          อิหม่าม อัล-บุคอรียฺ ได้บันทึกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการรับฟังเหตุผลของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ กล่าวคือมีประชาชนจากต่างถิ่นมาส่งเสียงดังในบริเวณมัสยิดนบีที่มะดีนะฮฺ ซึ่งสำหรับคนเมืองมะดีนะฮฺถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติและต้องโดนลงโทษ แต่เมื่อเป็นคนจากต่างถิ่นท่านก็ให้อภัย อัล-บุคอรียฺรายงานว่า

อัส-สาอิบ อิบนฺ ยะซีด เล่าว่า ขณะที่ฉันกำลังยืนอยู่ในมัสยิดนบี มีชายคนหนึ่งปาลูกหินมาสะกิดฉัน ฉันจึงหันไปมองปรากฏว่าเป็นอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ

ท่านกล่าวว่า "ไปซิ ไปนำสองคนนั้นมาหาฉันหน่อย"

แล้วฉันก็นำเขาทั้งสองมาหาท่าน ท่านถามว่า "พวกท่านทั้งสองเป็นใคร  พวกท่านทั้งสองมาจากไหน?"

ทั้งสองตอบว่า "เป็นชาวเมืองฏออิฟ"

ท่านกล่าวว่า "หากท่านทั้งสองเป็นชาวเมืองนี้ แน่นอนฉันจะตีพวกท่านให้เจ็บแสบ พวกท่านส่งเสียงดังในมัสยิดเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้อย่างไรกัน? 

(al-Bukhayriy, 1987: 1/179: 458)