5. กล้าหาญและอดทน
  จำนวนคนเข้าชม  6430

5. กล้าหาญและอดทน

          ผู้นำจะต้องมีใจกล้าหาญและอดทนกับปัญหาและสิ่งยั่วยวนต่างๆ ทั้งจากภายในตัวเองและจากประชาชนรอบข้าง จะต้องตระหนักเสมอว่าในชุมชนของตนมีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนดีย่อมมีคนชั่วทดสอบและท้าทาย การพัฒนาสร้างความดีในสังคมย่อมทำให้คนคิดชั่วเสียผลประโยชน์ ผู้นำจึงต้องพร้อมที่จะเผชิญการท้าทายจากความชั่วทุกรูปแบบ หากไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งดีๆ ที่เขาจะสร้างสรรค์ให้กับสังคมก็คงเป็นเพียงความฝันหรือน้ำผึ้งหยดเดียวที่ประชาชนยังไม่ทันได้ลิ้มลองก็หมดสิ้นเสียแล้ว

         ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญและอดทนเป็นอย่างสูง ซึ่งหากดูประวัติของท่านแล้ว เราจะพบว่าท่านคือมุสลิมคนแรกลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองมักกะฮฺจนกระทั่งสามารถปลดปล่อยชาวมุสลิมให้มีอิสระในด้านศาสนา ดังที่อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัสอูด ได้กล่าวว่า

         การเข้ารับอิสลามของอุมัรฺเป็นการพิชิตที่ยิ่งใหญ่ การอพยพของท่านเป็นชัยชนะ และการปกครองของท่านเป็นความเมตตาปรานีจากอัลลอฮฺ เมื่อก่อนเราไม่สามารถละหมาด ณ บัยตุลลอฮฺอย่างโจ่งแจ้งได้ กระทั่งเมื่อท่านอุมัรฺเข้ารับอิสลาม ท่านได้ต่อสู้กับพวกเหล่านั้นจนพวกเราสามารถละหมาดที่นั่นได้ (Muhibb al-Din al-Tabariy, 1998: 1/244)

          เช่นเดียวกันกับตอนที่ท่านจะอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ในขณะที่มุสลิมทั่วไปต่างอพยพเป็นระลอกๆ อย่างเงียบๆ และต้องเก็บเป็นความลับ เพราะกลัวจะถูกพวกกุร็อยชฺสกัดกั้นและทำร้าย แต่ท่านกลับไปประกาศอย่างชัดเจนที่หน้าบัยตุลลอฮฺว่าท่านกำลังจะออกเดินทางเพื่ออพยพไปอยู่ที่มะดีนะฮฺในวันและเวลาที่ชัดเจน ซึ่งท่านอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้เล่าถึงภาพของความกล้าหาญของท่านอุมัรฺในเหตุการณ์นี้ว่า

          ทุกคนที่อพยพไปยังมะดีนะฮฺ เท่าที่ฉันทราบแล้ว ล้วนอพยพอย่างเงียบๆ กันทุกคน ยกเว้นแต่เพียงอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อท่านต้องการจะอพยพ ท่านถือดาบ ควบม้า และกุมลูกธนูจำนวนหนึ่งไว้ในอุ้งมือ แล้วตรงมายังกะอฺบะฮฺซึ่งมีหัวหน้าพวกกุร็อยชฺอยู่บริเวณลานรอบๆ แล้วท่านก็เฏาะวาฟเจ็ดรอบ เสร็จแล้วมาละหมาดหลังมะกอมสองเราะกะอัต จากนั้นท่านก็ได้มาที่วงล้อมของพวกเขา ทีละกลุ่มทีละกลุ่ม ท่านกล่าวว่า

"เสียหน้ากันแล้วล่ะทีนี้ ผู้ใดต้องการพลัดพรากจากแม่ ต้องการจะให้ลูกเป็นเด็กกำพร้า และให้ภรรยาเป็นหญิงหม้ายก็ขอเชิญเจอกับฉันที่หลังที่ลุ่มนี้ได้เลย"

ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครตามท่านไปเลย (al-Nawawiy,n.d.: 1/492)

         จากอุปนิสัยที่กล้าหาญอดทนนี่เอง ทำให้ในปี ฮ.ศ. 14 หลังจากได้ทราบข่าวการสิ้นชีวิตของแม่ทัพ อบู อุบัยดฺ อัล-ษะเกาะฟียฺ ในสงครามกอดิสียะฮฺ ท่านต้องการนำกองทัพออกไปต่อสู้กับข้าศึกด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากคณะที่ปรึกษาระดับสูงต่างไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าหากท่านเสียชีวิตในสนามรบจะเกิดความยุ่งเหยิงเต็มเมือง ท่านจึงไม่ออกไป (al-Tabariy, 1988: 2/382)