คุณค่าและอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ 2
  จำนวนคนเข้าชม  2449

อิสลาม คือคุณค่าและอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ 2

 


     • อิสลามได้กำหนดเป้าประสงค์อันสูงสุดของสาส์นแห่งการเผยแผ่อิสลาม มายังมนุษยชาตินั่นคือการแผ่ความเมตตาแก่เหล่าสมาชิกในโลก อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก” (อัลกุรอาน 21:107)

          อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่จำกัดความเมตตาเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น หากยังก้าวล้ำไปถึงบรรดาสัตว์ต่างๆ ซึ่งได้ปรากฏในคำสอนที่กำชับให้มีการอ่อนโยนแก่สัตว์  มีความปรานี  ให้การเยียวยารักษา และห้ามใช้งานสัตว์หนักจนเกินไป  นอกจากนี้ได้สอนให้มุสลิมรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดบทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยเปล่าประโยชน์ 

นะบีมุฮัมมัด  กล่าวไว้ ความว่า

 “หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรกด้วยความผิดที่นางได้จับขังแมวตัวหนึ่ง โดยที่นางไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยให้มันหาอาหารเอง  จนกระทั่งแมวนั้นตายเพราะความหิว”(รายงานโดย อัลบุคอรีย์/3482และมุสลิม/6915)

นะบีมุฮัมมัด  ได้เชิญชวนมนุษย์ให้มีความโอบอ้อมอารีแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยคำกล่าวว่า

 “แท้จริงท่านทั้งหลายจะได้รับผลบุญในทุกครั้งที่ท่านยื่นมือให้อาหารแก่ทุกกระเพาะที่เปียกชื้น (ทุกสิ่งที่มีชีวิต)(รายงานโดย อัลบุคอรีย์/2363และมุสลิม/2244)”

     • อิสลามได้ยอมรับการมีอยู่ของประชาคมอื่น  ทุกประชาคมในโลกย่อมมีสิทธิใช้ชีวิตพร้อมกับความเชื่อของตนได้อย่างอิสระเสรี  และถือว่าความหลากหลายของประชาคมเป็นกฏสามัญทั่วไปของสิ่งมีชีวิต  ความแตกต่างในสัจธรรมดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสู่การแข่งขัน และการเสริมสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

 “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์  แน่นอนพระองค์จะทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน  แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน” (อัลกุรอาน 11:118)

           อิสลามยึดหลักการสนทนาและเสวนา ด้วยวิธีการที่ดีกว่า และถือว่าวิธีการดังกล่าวคือหนทางสู่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับอันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือและจรรโลงสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงกับชาวยิวและคริสเตียน เว้นแต่ด้วยวิธีการที่ดีกว่า” (อัลกุรอาน 29:46)

และพระองค์ยังได้ตรัสอีกความว่า

“จงเผยแผ่สู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยวิธีการที่สุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงสานเสวนาพวกเขาด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ดีกว่า” (อัลกุรอาน 16:125)

     • อิสลามยอมรับสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลในสิ่งที่ดี ประสานความเข้าใจ มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน และกำชับให้มุสลิมยึดมั่นในความยุติธรรม ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี แม้แต่ต่อบรรดาชนต่างศาสนิก อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

 “อัลลอฮ์มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าให้พวกเจ้ากระทำความดี และให้ความยุติธรรมแก่บรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม” (อัลกุรอาน 60:8) 

          นะบีมุฮัมมัด  ได้เคยร่วมเป็นภาคีสัญญากับชาวกุร็อยช์ในสงครามหุดัยบียะฮ์ เช่นเดียวกันกับที่ท่านเคยร่วมลงนามในสัญญากับชาวยิว ณ นครมะดีนะฮ์

     • อิสลามยอมรับการให้ความช่วยเหลือในกิจการอันนำไปสู่การดำรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์และจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบร่มเย็น และมีความยุติธรรม นะบีมุฮัมมัด   ได้เคยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญายุคก่อนอิสลามที่บ้านของอับดุลลอฮ์ บิน ญัดอาน ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม และท่านได้กล่าวหลังจากที่อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับเพื่อเป็นการรำลึกถึงสนธิสัญญาดังกล่าวว่า “หากฉันได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาดังกล่าว ฉันยินดีเข้าร่วมอย่างแน่นอน”

     • อิสลามเชิญชวนและเรียกร้องให้มุสลิมยืนหยัดในกระบวนการยุติธรรมและดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้ต่อบรรดาศัตรูและกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อชาวมุสลิมก็ตาม อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า  

“และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า” (อัลกุรอาน 5:8)

     • อิสลามถือว่า ความสงบร่มเย็นเป็นสุขนับเป็นเสาหลักแห่งสันติภาพอันเป็นโอกาสดีที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและความมีประสิทธิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า
  
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เจ้าจงเข้าในกระบวนการสันติภาพโดยทั่วทั้งหมดด้วยเถิด” (อัลกุรอาน 2:208)

อัลลอฮ์  ยังตรัสอีกความว่า

“และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายกิจการทั้งปวงแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงนั้นพระองค์คือ ผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้ และถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า  แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว พระองค์คือ ผู้ที่ได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (อัลกุรอาน 8:61-62)

     • อีกประการหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันในความมุ่งมั่นของอิสลามต่อสันติภาพ คือ กว่า 1400 ปี มาแล้ว ที่ด้มีบทบัญญัติให้หยุดสงครามและไม่อนุญาตให้มีการรบฆ่าฟันในระยะเวลา 4 เดือนของทุกปีในระบบปฏิทินอิสลาม   มุสลิมจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำสงครามในช่วง 4 เดือนดังกล่าวที่เป็นที่รู้จักในเดือนหะรอม(เดือนที่ต้องห้าม) อันได้แก่ ซุลกออ์ดะฮ์ (เดือน11) ซุลฮิจญะฮ์ (เดือน12) มุหัรรอม (เดือนแรก) และเราะญับ (เดือน7) (3 เดือนติดต่อกันและอีก 1 เดือน เว้นช่วงต่างหาก) แต่เมื่อใดที่มุสลิมถูกโจมตีจากข้าศึกในช่วงเดือนที่ต้องห้าม  มุสลิมจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อปกป้องการรุกรานและให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิด จนกว่าพวกเขาจะไม่กล้าโจมตีในช่วงเดือนที่ต้องห้ามดังกล่าว

     •  ในขณะเดียวกัน อิสลามประกาศให้มหานครมักกะฮ์ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของอิสลามเป็นดินแดนแห่งความสงบสุข ผู้ใดก็ตามที่พำนักอยู่ในดินแดนอันจำเริญแห่งนี้ บุคคลผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย  อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“และเรามิได้ให้พักพิงแก่พวกเขาในเขตหวงห้ามอันปลอดภัยดอกหรือ ซึ่งผลไม้ทุกชนิดถูกนำมายังที่นั้น เพื่อเป็นเครื่องยังชีพที่มาจากเรา แต่ส่วนมากของพวกเขาไม่รู้” (อัลกุรอาน 28:57)

          ณ ดินแดนแห่งนี้ ห้ามมิให้มีการรบราฆ่าฟันและล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ และเป็นการปลูกฝังให้มุสลิมเป็นผู้ใฝ่สันติ อิสลามจึงบัญญัติให้มุสลิมทุกคนผินหน้าไปสู่มหานครอันประเสริฐในทุกที่ ที่มุสลิมประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงละหมาดและการขอพร

          อัลลอฮ์  ได้ทรงทำให้มหานครมักกะฮ์เป็นเมืองต้องห้ามที่มนุษย์จะได้หลักประกันในความปลอดภัย มหานครมักกะฮ์เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ ในขณะที่เดือนที่ต้องห้ามเป็นเรื่องของกาลเวลา ซึ่งทั้งสองประการถือเป็นสิ่งคุ้มครองชีวิตมนุษย์จากการถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทุกชีวิตจะปลอดภัยเมื่อพำนักอาศัยในบริเวณมหานครมักกะฮ์แม้นว่าจะอยู่นอกเหนือจากสี่เดือนที่ต้องห้าม และทุกชีวิตจะปลอดภัยเมื่อถึงช่วงสี่เดือนที่ต้องห้ามถึงแม้จะอยู่นอกบริเวณมหานครมักกะฮ์ก็ตาม  เป็นบทบัญญัติและมาตรการที่ส่งเสริมให้มนุษย์ชาติตระหนักและให้ความสำคัญในกระบวนการสันติภาพที่มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุมและครบวงจร

     • สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความมุ่งมั่นต่อสันติภาพคือภูมิหลังของการแผ่ขยายศาสนาอิสลามไปทั่วทุกมุมโลกมาจนถึงบัดนี้ เนื่องจากพวกเขาได้สัมผัสและลิ้มรสสัจธรรมแห่งอิสลามที่ว่าด้วยสันติภาพ ความยุติธรรม การสนทนา และเสวนาด้วยวิธีการที่ดีกว่า และการยอมรับสังคมอื่นด้วยใจที่เป็นมิตร เป็นเหตุให้สี่ในห้าส่วนของประชาคมโลกได้เข้ารับและศรัทธาอิสลามด้วยความสมัครใจโดยปราศจากการนองเลือดหรือการต่อสู้กัน สงครามในอิสลามเกิดขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น ด้วยสาเหตุที่มุสลิมถูกรังแก และเพื่อทำลายกำแพงของฝ่ายตรงกันข้ามที่พยายามสกัดและปิดกั้นมิให้สาส์นอิสลามแผ่ขยายไปอย่างเสรี

     • ทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอิสลามไม่ว่าหลักการ หลักปฏิบัติหรือคำสอน ล้วนยึดหลักสายกลางและความพอดี(ประชาชาติที่ได้รับการคัดเลือกและดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม) เป็นแนวทางอันเที่ยงตรง ไม่ใช่เป็นแนวทางที่สุดโต่งหรือหย่อนยานหละหลวมแต่อย่างใด อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

 “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง” (2:143)

     • อิสลามสั่งห้ามพฤติกรรมต่างๆที่นำไปสู่ความรุนแรง สร้างความเสียหายบนแผ่นดิน หรือสร้างอาณาจักรและปริมณฑลแห่งความหวาดกลัวแก่ชนในสังคม อิสลามถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาป   อันใหญ่หลวงและก่ออาชญากรรมทางสังคมที่ร้ายแรง อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ทำสงครามต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ และพยายามสร้างความเสียหายบนผืนแผ่นดินนั้นก็คือ พวกเขาจะถูกฆ่าหรือตรึงบนไม้กางเขนหรือมือพวกเขาและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้าง(คือมือขวาและเท้าซ้าย)หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน พวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้และจะได้รับโทษอันใหญ่หลวงในปรโลก” (อัลกุรอาน 5:32)

     • ในทุกมิติของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการ เจตนารมณ์และประวัติศาสตร์ ถือว่าการละเมิด การใช้ความรุนแรง การกระทำที่ไม่ชอบธรรมของมุสลิมส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จริงในแก่นแห่งศาสนา การแอบอ้างศาสนา การใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือการใช้สติที่วู่วามและโกรธแค้น เป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธโดยสิ้นเชิงและอิสลามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

     • เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรุนแรง และแนวคิดสุดโต่ง ถือเป็นปรากฏการณ์โลกปัจจุบัน หากมีการเปรียบเทียบโดยปราศจากความลำเอียงแล้ว จะพบว่าอารยธรรมของโลกตะวันตก มีสถิติของการใช้ความรุนแรงที่มากกว่าโลกอิสลามหลายเท่า มีตัวอย่างมากมายที่สามารถยืนยันในเรื่องดังกล่าว เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อินเดีย จีน ลาตินอเมริกาและอื่นๆ ทั่วโลก  ถึงแม้สื่อต่างๆ มักประโคมข่าวที่พยายามชี้ว่าชาวมุสลิมมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว  แต่อาจเป็นเพราะความมีอคติต่ออิสลามหรือเป็นเพียงกระบวนการใส่ร้ายที่ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้เท่านั้นเอง

     • เราจึงมีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาความรุนแรงได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาของมนุษยชาติ ประชาคมโลกจึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือ แก้ไข และเยียวยาปัญหานี้โดยด่วน การแก้ไขเพียงปลายเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่ยังไม่แก้โจทย์ที่ถูกต้องของปัญหา ไม่ว่ารากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมาของความคิดและปรัชญา ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและประมวลสภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง  และมีประสิทธิภาพ

 

الكاتب : مرسلان محمد

โดย อ.มัสลัน มาหะมะ

part 1 >>>>Click