ผู้บังเกิดมนุษย์
  จำนวนคนเข้าชม  17297

 

ผู้บังเกิดมนุษย์


           เมื่อใดที่ทราบคำตอบว่าใครเป็นผู้บังเกิดและใครเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่งในโลกนี้แล้ว จะส่งผลให้คำตอบในประเด็นปัญหาต่างๆที่ตามมามากมาย ถูกต้องและเที่ยงตรงตามหลักวิชาการนั้นด้วย

 “ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด”

           ในบรรดาองค์ความรู้ที่มาจากการอ่านครั้งแรกในอิสลามคือ “อัลลอฮ์คือผู้ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด” โองการนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ

           1. อัลลอฮ์  ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์ ในที่นี้ให้ความหมายที่เจาะจงคำว่า “บังเกิด” ที่กล่าวถึงในครั้งแรก เพราะคำว่า “บังเกิด” ครั้งที่สองนี้ ได้เจาะจงผู้ถูกกำเนิด นั้นคือ “มนุษย์”  ซึ่งมีจุดประสงค์เฉพาะเพื่อตอบคำถามที่ว่า ใครคือผู้สร้างมนุษย์ ? โดยทั่วไปมนุษย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่รู้ว่าอัลลอฮ์  คือผู้ทรงบังเกิด ไม่รู้ว่าพระองค์คือผู้บริหารจัดการและดูแลชีวิตของเขา มนุษย์ส่วนใหญ่หลงทางไปกับกระแสที่มืดบอดและไร้ปัญญาที่จะตอบคำถามและความเป็นจริง การที่มนุษย์ไม่รู้จักอัลลอฮ์  และไม่รู้ว่าพระองค์คือใครแล้ว ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง 2 สถานะดังต่อไปนี้

           สถานะแรก  มนุษย์อาจเชื่อว่ามีสิ่งอื่นหรือบุคคลอื่นนอกจากอัลลอฮ์  ผู้ทรงบังเกิด  แนวคิดนี้ยังไม่เคยปรากฏและไม่มีการบันทึกในหลักคำสอนใดๆอันเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเขาคือผู้สร้างโลกและบังเกิดมนุษย์ ความเป็นจริงนี้เราจะพบจากคำสอนที่พระองค์ทรงตรัสว่า

“และบรรดาสิ่งที่พวกเขาวิงวอนอื่นจากอัลลอฮ์นั้น พวกมันไม่ได้สร้างสิ่งใดเลย แต่พวกมันถูกสร้าง” (อัลกุรอาน 16 : 20)

           หากสรรพสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์วิงวอนและกราบไหว้บูชา ไม่มีความสามารถสร้างมนุษย์ได้ แล้วจะหวังอะไรจากสิ่งที่พวกเขาวิงวอนหรือสักการะเหล่านั้นอีก ?

           สถานะที่สอง เชื่อว่ามนุษย์และทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดมาด้วยตัวมันเองหรือที่เรียกว่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ(Natural) แนวคิดนี้ ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลายไม่อาจยอมรับได้ เพราะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเองโดยปราศจากผู้สร้าง และขณะเดียวกันสิ่งใดก็ตามไม่อาจจะแปรเปลี่ยนสภาพของมันเองได้ เว้นแต่จะต้องมีผู้ที่ทำให้มันเปลี่ยนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บ้านที่สร้างขึ้นไม่ว่าจะสร้างด้วยไม้หรือหรือวัสดุใดก็ตาม โดยวิสัยของมนุษย์แล้วทุกคนย่อมเกิดคำถามว่า ใครคือช่างก่อสร้างบ้านหลังนั้น? เช่นเดียวกันผ้าที่ถูกถักทอขึ้นจากฝ้ายหรือวัสดุอื่นๆ ต้องมีคำถามว่ามันถูกผลิตมาจากโรงงานใด ? หรือใครเป็นผู้ทอผ้าผืนนั้น ? คำถามเหล่านี้เป็นสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญา  หากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้มนุษย์ยังถามถึงผู้กระทำหรือผู้อยู่เบื้องหลังแล้ว นับประสาอะไรกับสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นไปได้หรือที่ผู้มีสติปัญญาจะยอมรับแนวคิดหรือทฤษฏีการเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของสรรพสิ่ง ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบระบบจักรวาลที่มีระบบและโครงสร้างอันลึกลับสลับซับซ้อน เกินกว่าปัญญาของมนุษย์จะจินตนาการได้

          2. อัลลอฮ์  ทรงบังเกิดมนุษย์จาก “ก้อนเลือด” และพระองค์ได้เปิดเผยสัจธรรมหรือแก่นแท้แห่งความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุที่เป็นต้นกำเนิด พระองค์ทรงบังเกิดมนุษย์จาก “ก้อนเลือด” ที่ห่อหุ้มเมล็ดพันธุ์แห่งการก่อกำเนิด เป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างน้ำอสุจิของผู้เป็นพ่อกับไข่ที่ฝังตัวอยู่ในมดลูกของของผู้เป็นแม่  “ก้อนเลือด” นั่นคือแหล่งความรู้ที่อัลลอฮ์  ทรงเปิดเผย และมุสลิมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจมาเป็นเวลาพันกว่าปีแล้ว แต่ผู้ปฏิเสธที่อ้างตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบและสร้างทฤษฎีที่ว่าด้วยการกำเนิดมนุษย์เพียงแค่สองร้อยปีมานี้เอง ทั้งๆที่พระองค์ทรงบัญชาให้มนุษย์ใคร่ครวญและไตร่ตรองถึงความเป็นมาของตัวเขาเองมานานนับสิบศตวรรษแล้ว ดังเช่นอัลลอฮ์   ตรัสความว่า

“ดังนั้นมนุษย์จงไตร่ตรองดูซิว่าเขาถูกบังเกิดมาจากอะไร เขาถูกบังเกิดมาจากน้ำที่พุ่งออกมา มันออกมาจากกระดูกสันหลัง(ของชาย)และกระดูกหน้าอก(ของหญิง)” (อัลกุรอาน 86 : 5-6)

           โองการนี้ พอที่จะเข้าใจถึงความสำคัญของความต้องการแรกเริ่มและคำตอบสำหรับปัญหาของความเป็นมนุษย์อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

 “จงอ่านเถิด และพระผู้เป็นเจ้าของเจ้านั้นทรงกรุณายิ่ง”

           อัลลอฮ์  ทรงมีพระบัญชาให้อ่านครั้งที่สองเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในคำสั่งใช้ของพระองค์ พร้อมกันนี้พระองค์ยังได้ชี้แจงถึงคุณลักษณะของพระองค์คือทรงกรุณายิ่ง “จงอ่านและพระผู้เป็นเจ้าของเจ้านั้นทรงกรุณายิ่ง” ด้วยการประทานความสามารถเป็นของกำนัลแด่บ่าวของพระองค์ที่ชื่อว่า “มนุษย์” ซึ่งพระองค์ทรงบังเกิดมาจาก “ก้อนเลือด” ที่อ่อนแอและต่ำต้อย จนกระทั่งมีความสามารถในการอ่าน และเรียนรู้โองการและเข้าใจถึงหลักคำสอนศาสนาของพระองค์ที่ทรงเกียรติและสูงส่ง ได้ด้วยคุณลักษณะของพระองค์ที่ทรงเมตตาและกรุณา พระองค์จะไม่ลงโทษบ่าวที่ไม่รู้และปฏิเสธคำสอนของพระองค์เพราะความไม่รู้หนังสือ  นั่นหมายความว่า จงอ่านเถิดโอ้มุฮัมมัด ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าของเจ้านั้นทรงกรุณายิ่ง พระองค์จะช่วยเหลือเจ้าในการทำความเข้าใจ แม้นว่าจะไม่สามารถอ่านได้ก็ตาม  ทั้งหมดนี้คือความโปรดปรานของอัลลอฮ์   ที่ประทานแก่ท่านนะบีมุฮัมมัด  และปวงบ่าวของพระองค์ ให้ทำความรู้จักและเข้าใจวิธีปฏิบัติ ทำความเคารพ(อิบาดะฮ์)ต่อพระองค์อย่างถูกต้องโดยผ่านกระบวนการอ่านที่กำหนดกรอบโดยอิสลาม 

 “ผู้ทรงสอนด้วยปากกา”

          ในความเมตตาของอัลลอฮ์  คือการที่พระองค์ทรงสอนมนุษย์ใช้ปากกาหรือดินสอในการจดบันทึกความรู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะการที่โองการอัลกุรอานลงมาท่ามกลางชาวอาหรับซึ่งเป็นกลุ่มชนผู้ไม่รู้หนังสือ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ พระองค์ทรงสั่งใช้ให้พวกเขาอ่านและบันทึกเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่เที่ยงแท้ ได้เห็นถึงวิวัฒนาการของปากกาอย่างชัดเจนจากยุคหนึ่งมาสู่อีกยุคหนึ่ง เริ่มต้นจากการใช้วัสดุต่างๆสำหรับการขีดเขียนในแต่ละยุคสมัย จนกระทั่งถึงยุคคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้คือแก่นแท้ของ ”ปากกา” ที่สามารถบันทึกและเก็บรักษาซึ่งความรู้ต่างๆได้อย่างมากมาย

 ท่านเกาะตาดะฮ์ได้อรรถาธิบายโองการนี้ว่า “ปากกาเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์  เพราะศาสนาไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้และมนุษย์มิอาจค้นพบสิ่งที่ดีในชีวิตได้หากปราศจาก ปากกา"

           อัลลอฮ์  มิเพียงบังเกิดมนุษย์ขึ้นมาแล้วปล่อยให้ใช้ชีวิตโดยลำพังอย่างไร้จุดหมายและปราศจากการชี้นำ แต่พระองค์ทรงสอนและให้ความรู้แก่มนุษย์ ซึ่งการบังเกิดและการสอนนั้นเป็นสองภารกิจเริ่มแรก และบัญญัติไว้ถึงสองครั้งใน 5 โองการแรก

  “ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้”

           อัลลอฮ์  ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ และทรงสอนทุกอย่างที่เป็นความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตทั้งในโลกนี้และปรโลก(โลกอาคีเราะฮ์)

           องค์ความรู้ที่พระองค์ทรงสอนนั้นคือ ความรู้ที่มนุษย์ไม่รู้หรือยังไม่รู้ เป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่งสำหรับการได้เรียนรู้และเข้าใจ โดยเฉพาะความรู้ที่ไม่อาจเรียนรู้ได้ด้วยสติปัญญาและความสามารถของมนุษย์ เว้นแต่ผ่านการสอนจากพระองค์เท่านั้น “สิ่งที่พวกเขาไม่รู้” ในที่นี้คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งในโลกนี้ ในหลุมฝังศพและวันปรโลก(โลกอะคีเราะฮ์)และมวลความรู้ทั้งก่อนการกำเนิดมนุษย์จนกระทั่งวาระสุดท้ายของโลก ซึ่งประมวลคำสอนเหล่านี้คือ “ศาสนา” หรือ “อัลอิสลาม”

 ความรู้ในทัศนะอิสลามคือ

 1. การทำความเคารพ(อิบาดะฮ์) ความรู้ที่ช่วยให้มนุษย์ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวของอัลลอฮ์ เช่น การละหมาด การถือศีลอด เป็นต้น

 2. การอธิบาย(อัลคิลาฟะฮ์) ความรู้ที่ช่วยเสริมให้มนุษย์ปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนของอัลลอฮ์ เช่น ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนา เป็นต้น

 ความรู้ที่เข้าข่ายของคำว่า “สิ่งที่เขาไม่รู้” นั่นคือ

 1. ความรู้เกี่ยวกับอัลลอฮ์  ได้แก่ความรู้ในคุณลักษณะของพระองค์ และการกระทำของพระองค์

 2. ความรู้เกี่ยวกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์   ได้แก่ความรู้เกี่ยวกับบทบัญญัติและศาสนาของพระองค์

 3. ความรู้เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ได้แก่ความรู้ต่างๆที่มนุษย์ค้นพบ เช่นศาสตร์ต่างๆ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี การอยู่ร่วมกัน  การแสวงหาผลประโยชน์หรือการป้องกันภยันตรายจากสรรพสิ่งต่างๆ


           คำว่า “สิ่งที่พวกเขาไม่รู้” เป็นคำที่ครอบคลุมรากฐานและสาขาแห่งศาสตร์ต่างๆ แต่ความรู้ที่อัลลอฮ์  ทรงประทานมีเพียงเล็กน้อย ดังจะเห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้และเข้าใจตัวเองหรือสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้ทั้งหมด  และสิ่งที่อยู่นอกกายหรือสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยเช่นกัน ซึ่งการบังเกิดมนุษย์นั้นประกอบด้วยหลักสองส่วน คือจิตวิญญาณและเรือนร่าง แต่มนุษย์ยังไม่รู้จักจิตวิญญาณที่เป็นรากฐานของชีวิต อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า 

 “ และพวกเขา(คือบรรดาชาวยิว)จะถามเจ้า(โอ้มุฮัมมัด) เกี่ยวกับจิตวิญญาณ เจ้าจงกล่าวเถิดว่า เรื่องวิญญาณนั้นเป็นไปตามพระบัญชาของพระเจ้าของฉัน และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อัลกุรอาน 17 : 85)
 


 “ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้”

           อัลลอฮ์  ทรงสอนสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ยังไม่รู้ พระองค์ทรงสอนในฐานะบ่าวของพระองค์ อิสลามถือว่าทุกสรรพสิ่งถูกสร้างขึ้น และศาสตร์ทั้งมวลเป็นของพระองค์ที่ทรงสอนแก่มนุษย์ ไม่มีการยกเว้นว่ามนุษย์ผู้นั้นจะภักดีหรือปฏิเสธ  จงใคร่ครวญในดำรัสที่ว่า “ทรงบังเกิดมนุษย์” และ “ทรงสอนมนุษย์” คือทรงบังเกิดและทรงสอนมนุษย์โดยไม่เจาะจงเฉพาะมุสลิมเท่านั้น อัลลอฮ์  เป็นผู้ทรงบังเกิด ดังนั้นพระองค์จึงเป็นผู้ทรงสอนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงคุณลักษณะหรือสถานะของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง


  Next 3 >>>>Click

หนังสือวิถีชีวิตอิสลาม

الكاتب : مرسلان محمد

โดย อ.มัสลัน มาหะมะ