ครองใจคน ตามฉบับท่านเราะซูล 2
4. พูดจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพ และอ่อนโยน
การเจรจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะโสต และใช้คำพูดที่รื่นหู จริงใจ จะมีคนนิยมชมชอบ และประทับใจ ดังคำอาหรับที่ว่า
“ คำพูดที่ออกมาจากใจจะประทับใจผู้ฟังเสมอ และคำพูดที่ออกมาจากลิ้นก็ไม่ไปไกลเกินกว่าหู ”
อัลลอฮฺกำชับให้คัดสรรคำพูดที่ดี ที่ไพเราะพระองค์ตรัสกับท่านนบีว่า “และ(มูฮัมหมัด) จงกล่าวแก่บ่าวของข้าเถิดว่า ให้พูดจาแต่สิ่งที่ดี”
และพระองค์ตรัสว่า “ และพวกเจ้าทั้งหลายจงพูดจากับมนุษย์ด้วยดี ”
ท่านนบี ก็ได้ถ่ายทอดคำสอนของอัลลอฮฺโดยท่านได้กล่าวว่า“คำพูดที่ดี และไพเราะเป็นทาน ”
บันทึกโดยอิหม่ามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้เสียงดัง และการตะคอกและหากจะพูดก็ควรคิดก่อนพูด ควรใคร่ครวญ และไตร่ตรองให้รอบครอบถึงผลดีและผลเสียของคำพูดที่พูดออกไป ควรพูดน้อยแต่ได้ใจความ ดังคติพจน์อาหรับที่ว่า “คำพูดที่ดี คือคำพูดที่สั้นและได้ใจความ”
ท่านนบีกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“ท่านจงยึดมั่นในการมีมารยาทที่ดีงาม และการสงบนิ่งที่ยาวนาน ขอสาบานด้วยผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในอุ้งพระ หัตถ์ของพระองค์ว่า
ไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์จะประดับประดาตนเองได้ดีไปกว่าสองสิ่งนี้”
บันทึกโดยท่านอบูยะอฺลา บัชซาร และอัลบัยฮะกีย์
คำพูดไร้สาระที่พูดเอ่ยเอื้อนออกมาโดยไม่ตระหนักถึงผลร้ายของมันได้สร้างความแตกแยก ร้าวฉานให้กับผู้คนมากมายขนาดไหน เหตุการณ์ร้ายต่างๆนานที่เกิดขึ้นไม่ว่าโกรธกัน การแค้นเคืองซึ่งกันและกัน การทำสงครามระหว่างกันนั้น คำพูดที่มีบทบาทอยู่ไม่น้อยในการทำให้เหตุการณ์ณืนั้นเกิดขึ้น
ท่านร่อซู้ลกล่าวว่า “ แท้จริงบ่าวจะพูดเพียงคำเดียวโดยไม่ตระหนักถึงพิษภัยของมัน คำพูดนั้นๆจะพาให้เขาตกนรกซึ่งมีความลึกเท่ากับระยะทางระหว่างทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ”
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ดกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่สมควรจะถูกกักขังให้ยาวนานมากไปกว่าลิ้น จำไว้ว่าการพูดในสิ่งที่ดีงามทั้งมวลดีกว่าการเงียบ และการเงียบดีกว่าการพูดสิ่งที่ชั่วร้ายทั้งมวล ”
5. เป็นนักฟังที่ดี มีมารยาทในการฟัง
การตั้งใจฟังใครสักคน ก็เท่ากับเป็นความสำคัญ เอาใจใส่สนใจบุคคลที่เรากำลังสนทนาด้วย เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้พูด ทำให้เขารู้สึกถึงความสำคัญของตนเอง นั่นย่อมสร้างความประทับใจให้แก่เขา ท่านร่อซู้ลเป็นนักฟังที่ดีเยี่ยม ท่านจะสนใจฟังอย่างแท้จริง ท่านอิบนุกะซีร กล่าวว่า ท่านร่อซูล กล่าวว่า
“เมื่อมีคนใดสนทนากับท่านร่อซูลท่านจะหันหน้าและตัวของท่านมาหาผู้นั้น และจะตั้งออกตั้งใจฟังเขาเป็นพิเศษ
ท่านจะไม่ตัดบทพูดสนทนาของท่าน จนกว่าคู่สนทนาจะเป็นผู้ตัดบทเสียเอง ”
ท่านอะฏ็ออฺได้กล่าวว่า
“เมื่อคนใดสนทนากับฉันในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ฉันก็จะตั้งใจฟังเขาเหมือนกับว่า ฉันไม่เคยได้ยินเรื่องนั้นมาก่อนที่เขาจะเกิดเสียอีก
เพื่อให้เขาคิดว่าฉันเพิ่งได้ยินคำพูดดังกล่าวจากเขานั่นเอง ”
บันทึกโดยอิหม่ามท่านบุคคอรีย์
ควรพูดน้อยแต่ฟังให้มากเปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้ระบายความในใจ และรับฟังอย่างสนใจ เข้าใจ และเห็นใจ ท่านอัลฮะซัน อิบนุ อาลี ได้อบรมลูกหลานของท่านไว้ว่า
“ โอ้ ลูกเอ๋ย หากเจ้าคบค้าสมาคมกับผู้รู้แล้ว ขอให้เจ้าให้ความสำคัญกับการพูด และจงเรียนรู้ที่จะเป็นนักฟังที่ดีเช่นที่เจ้าจะต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นิ่งเงียบที่ดี และอย่าได้ตัดบทสนทนาของใคร แม้ว่าจะยาวนานขนาดไหน จนกว่าเขาจะเป็นผู้ตัดบทเสียเอง ”
6. ให้เกียรติและยกย่อง
ท่านร่อซู้ล ให้เกียรติและยกย่องทุกคนที่มาหาท่าน ต้อนรับขับสู่เป็นอย่างดีโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ บางครั้งท่านจะใช้เสื้อคลุมของท่านรองรับผู้มาเยือน หรือสละเบาะที่นั่งของท่านเพื่อให้เกียรติผู้มาเยือน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีฐานะหรือไม่มีฐานนะ จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ท่านกล่าวว่า
“ผู้ที่ไม่เคารพยกย่องผู้อาวุโสของเรา ไม่เอ็นดูเมตตาเด็กเล็กของเรา
ไม่ให้เกียรติและไม่รู้ถึงสิทธิที่พึงปฏิบัติต่อผู้รู้ของเรา ผู้นั้นก็ไม่ใช่พวกของเรา"
”บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัด
การให้ความเคารพยกย่องผู้อื่น หมายถึงเคารพความคิดเห็นของเขา แม้ว่าความคิดเห็นนั้นอาจจะขัดหรือตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของเรา ควรหลีกเลี่ยงการโต้แย้งและการดูหมิ่นความคิดเห็นของผู้อื่น อย่าได้คิดว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับท่านคือศัตรูของท่าน
7. เอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่น
โดยธรรมชาติแล้ว คนเราจะรู้สึกเอนเอียงและผูกพันกับคนที่เข้าอกเข้าใจ และมองเขาในแง่ดี ฉะนั้นการเอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่น การไถ่ถามถึงทุกข์สุขของเขา เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความประทับใจให้แก่เขา ซึ่งแน่นอนเขาจะตอบแทนเราด้วยความรักและความยกย่องนับถือ ท่านรอซู้ลเป็นผู้ที่เอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อทุกรายละเอียดของพี่น้องมุสลิม ท่านจะติดตามไถ่ถามถึงทุกขืสุขของพวกเขา แม้ว่าท่านจะมีภารกิจมากมายเพียงใดก็ตาม ท่านญาบิร อิบนิ อับดิลลาฮิ เล่าว่า ฉันแต่งงานกับหญิงม่ายคนหนึ่ง ต่อมาท่านรอซู้ลได้ถามฉันว่า
โอ้ญาบิร ท่านแต่งงานแล้วหรือ ฉันตอบว่า ใช่ครับ ท่านถามต่อไปอีกว่า เป็นสาวหรือเป็นม่าย
ฉันตอบว่า ม่ายครับ ท่านรอซู้ล จึงเอ่ยขึ้นว่า ท่านน่าจะเลือกสาวโสดเพื่อที่จะได้หยอกล้อกับนางได้ และนางก็จะได้หยอกล้อกับท่านได้
ฉันตอบว่า ท่านรอซู้ลครับ (ที่ผมไม่ทำเช่นนั้นก็เพราะว่า) อับดุลลอฮ์(บิดาของผม)ตายไป ทิ้งลูกสาวไว้เก้าคน บางรายงานระบุว่าเจ็ดคน ผมเลยไม่อยากที่จะเลือกหญิงที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ ผมเห็นว่าหากผมเลือกหญิงที่สามารถดูแล และอบรมพวกเธอได้น่าจะดีกว่า
ท่านรอซุ้ล จึงกล่าวว่า ท่านทำดีแล้ว ขออัลลอฮฺทรงให้ความจำเริญบารอกะฮฺแก่ท่าน ”
บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม
ท่านอัลดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด รายงานว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ ผู้ใดไม่ใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของมุสลิมทั้งหลายแล้ว เขาก็ไม่ได้เป็นมุสลิม ”
บันทึกโดยอิหม่ามท่านฮากิม
ท่านเราะซูล ยึดหลักเอาใจเขามาใส่ใจเราในการประพฤติปฏิบัติกับผู้อื่น อีกทั้งยังสั่งสอนสาวกของท่านเช่นนั้น
ท่านยาบิรเล่าว่า ท่านมุอ๊าซ จะละหมาดอิซาอฺกับท่านนบี แล้วท่านมุอ๊าซก็จะกลับมานำละหมาดให้กลุ่มชนของท่านโดยอ่านซูเราะฮฺอัลบากะเราะฮฺทั้งซูเราะฮฺในร็อกอะฮฺแรก เป็นสาเหตุให้ชายคนหนึ่งในแถงละจากการละหมาดญะมาอะฮฺ และปลีกตัวมาละหมาดคนเดียวจนกลุ่มชนของเขาประนามเขา และกล่าวหาว่าเขาเป็นมุนาฟิก ชายผู้นี้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันว่าจะร้องเรียนเรื่องนี้ให้ท่านรอซู้ล ทราบ เขาได้กล่าวแก่ท่านเราะซูล ว่า
“โอ้ร่อซูลุ้ลอฮ์ ครับ พวกเราทำอาชีพเลี้ยงอูฐเพื่อคอยขนส่งน้ำ เราทำงานเหน็ดเหนื่อยทั้งวัน ท่านมุอ๊าซได้เคยละหมาดอิชาอฺกับท่าน แล้วเขาก็กลับนำมาละหมาดเราด้วยการอ่านซูเราะฮฺอัลบากะเราะฮ์ ท่านรอซู้ลจึงหันไปหาท่านมุอ๊าซ ตำหนิท่านว่า ท่านจะสร้างฟิตนะฮฺด้วยการทำให้ผู้คนออกห่างจากอิสลามกระนั้นหรือ ท่านจงอ่านซูเราะนี่ซิ” “
และอีกรายงานระบุว่า ท่านอ่านซูเราะฮฺ อัชชัมชฺ อัฎฎุฮา และอัลอะอฺลา”
บันทึกโดยอิหม่ามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม
ท่านอบูก่อตาดะฮฺรายงานว่าท่านนบี กล่าวว่า
“แท้จริง ฉันได้นำละหมาดโดยตั้งใจว่าฉันจะละหมาดให้นาน แต่เมื่อได้ยินเสียงเด็กร้อง ฉันก็รีบละหมาด เพราะไม่ต้องการที่จสร้างความลำบากใจให้กับแม่ของเด็ก ”
บันทึกโดยอิหม่ามอัลบุคอรีย์
ท่านอบูฮุรอยเราะรายงานว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านนำละหมาดก็จงผ่อยปรนในการอ่าน ( หมายถึงอ่านให้สั้น ) เพราะแท้จริงในหมู่ผู้ละหมาดตามมีผู้อ่อนแอ ผู้ป่วย และผู้ชราแต่เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านละหมาดคนเดียวก็จงอ่านให้ยาวต่มที่ใจปรารถนา ”
บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิม
8. ละมุนละม่อม และอ่อนโยน
การปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความละมุนละม่อมและอ่อนโดนจะก็ให้เกิดความดีงาม จะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และจะช่วยสร้างไมตรีจิตแก่ผู้ที่เราต้องการจะสานสัมพันธ์ด้วย ท่านรอซู้ล กล่าวว่า
"แท้จริงความละมุนละม่อมอ่อนโยนเมื่ออยู่ในสิ่งใดจะทำให้สิ่งนั้นดีงามขึ้น
และความละมุนละม่อม อ่อนโยนนั้นเมื่อถูกถอนออกมาจากสิ่งใดจะทำให้สิ่งนั้นเลวลง”
บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ แท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นผู้มีความละมุนละม่อมอ่อนโยน พระองค์ทรงชอบความละมุนละม่อมอ่อนโยนในกิจการทั้งปวง ”
บันทึกโดยอิหม่ามท่านบุคอรีย์
และท่านยังกล่าวอีกว่า
“ ผู้ใดที่ขาดความละมุนละม่อมอ่อนโยนผู้นั้นก็ขาดคุณงามความดีทั้งปวง ”
บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม
เนื่องด้วยความโปรดปราน และความเอ็นดูเมตตาที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ท่านนบีเป็นคนสุภาพอ่อนโยนต่อมวลชน ทำให้ท่านสามารถครองใจกลุ่มชนที่ไม่เคยชินกับความละมุนละม่อม อ่อนโยน และทำให้พวกเขาหันมาห้อมล้อมท่าน พระองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“ด้วยความเมตตากรุณาของอัลลอฮฺนั่นเอง เจ้ามุฮัมหมัด จึงได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา
และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ที่มีมารายาททรามและมีจิตใจที่แข็งกระด้าง แน่นอนพวกเขาย่อมกระเจิดกระเจิงแยกตัวออกไปจากเจ้ากันหมดแล้ว ”
อาละอิมรอน 3. 159
ด้วยความอ่อนโยนและละมุนละม่อมที่จะหาใครเปรียบมิได้ ท่านนบี ได้ครองใจประชาชาติของท่านดังประจักษ์ชัดจากเหตุการณ์ณ์ดังต่อไปนี้
เมื่อชายอาหรับชนบทคนหนึ่ง ผู้ยังไม่มีประสีประสากับคำสอนของศาสนานัก ได้ปัสสาวะที่มุมหนึ่งในมัสยิด บรรดาผู้คนต่างรุมตำหนิและต่อว่าเขา ท่านรอซู้ลจึงห้ามพวกเขา และได้สั่งให้เดขาเอาน้ำมาราดปัสสาวะ และท่านได้กล่าวว่า
“ พวกท่านถูกส่งมาเพื่อนำความสะดวกง่ายดาย ใช่เพื่อนำความยากลำบากมา ( แก่ผู้คน ) ”
บันทึกโดยอิหม่ามอัลบุคอรีย์
ท่านอนัส อิบนุ มาลิกเล่าว่า
“ฉันได้รับใช้ท่านนบี 10 ปี ตลอดระยะเวลานั้น ท่านไม่เคยบ่นหรือแสดงอาการไม่พึงพอใจเลยแม้สักครั้งเดียว ท่านไม่เคยที่จะกล่าวตำหนิฉันเลยว่าเหตุใดถึงทำเช่นนั้น แล้วเหตุใดจึงไม่ยอมทำเช่นนี้ ”
บันทึกโดยอิหม่ามอัลบุคอรีย์
9. อ่อนน้อม และถ่อมตน
การอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นประตูอีกบานหนึ่งที่เปิดทางให้ครองใจคนรอบข้าง การฝึกฝนตนเองให้วาจาและการกระทำที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เราห่างไกลจากความแข็งกระด้าง เย็นชา หยิ่งผยอง และอหังการ ห่างไกลจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่ การจองหองลำพองตน ยิ่งเราอ่อนน้อมมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งรักใคร่และอยากจะเป็นมิตรด้วยมากเท่านั้น ผู้ที่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน คือผู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข และเข้ากับทุกคนได้อย่างง่ายดายแม้จะต่างสถานะกัน
ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนคือบ่าวของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง เป็นผู้ที่พระองค์ทรงยกย่อง ให้เกียรติและผู้ที่ยโสโอหังจะไม่ได้รับความดีใดๆเลย อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
“และบรรดาบ่าวของอัรเราะฮฺมาน(อัลลอฮ์) คือผู้ที่เดินบนหน้าแผ่นดินด้วยความนอบน้อมถ่อมตน (ไม่แสดงอาการยโสโอหัง)”
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ทรัพย์สมบัติใดที่ได้ถูกจ่ายเป็นทาน(ซอดะเกาะฮฺ)จะไม่ให้หายพร่องไปไหน
และอัลลอฮฺจะทรงเพิ่มพูนเกียรติอันสูงส่งให้แก่บ่าวที่ให้อภัย
และผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนเพื่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทรงยกย่องให้เกียรติเขา”
บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม อัตติรมิซีย์และอะหมัด
การอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นรากฐานสำคัญแห่งมิตรภาพ ความสุข ความอบอุ่นใจ ท่านรอซู้ล กล่าว่า
“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ประทานวะฮีย์ให้ฉันนอบน้อมถ่อมตน จนกระทั้งไม่ให้มีการโอ้อวดเหยียดหยาม และการอธรรมต่อกัน”
บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม
แม้อัลลอฮ์จะทรงให้ท่านร่อซูล อยู่ในฐานะสูงสุด มีความสมบูรณ์แบบทุกๆด้าน และพ้นจากความผิดและมลทินทั้งมวล แต่ท่านก็ยังมีความนอบน้อมถ่อมตนมากกว่าผู้คนทั้งหมด ท่านจะให้ผู้คนนั่งข้างหลังท่านเมื่อท่านอยู่บนพาหะนะ ท่านจะแบ่งเบาภาระของคนในครอบครัวด้วยการช่วยเหลืองานบ้าน เมื่อท่านหญิงอาอิซะฮฺถูกถามว่า
“ ท่านรอซู้ล ปฏิบัติเช่นไรขณะอยู่ในบ้านกับครอบครัวของท่าน
เธอตอบว่า ท่านจะร่วมช่วยเหลืองานบ้าน และเมื่อถึงเวลาละหมาดท่านก็จะไปทำละหมาด ”
บันทึกโดยอิหม่ามท่านบุคอรีย์
อีกรายงานหนึ่งมีผู้ถามเธอว่า “ ท่านรอซู้ล ร่วมทำงานบ้านบ้างหรือไม่
เธอตอบว่า ใช่ ท่านจะซ่อมรองเท้าของท่าน จะเย็บเสื้อผ้าของท่าน และจำทำงานบ้านเหมือนกับที่คนใดในพวกท่านทำ ”
บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัด
และเมื่อชายคนหนึ่งได้เผชิญหน้ากับท่านรอซู้ลในวันกลับสู่มักกะฮ์ เขารู้สึกตกใจมาก และกล่าวกับเขาว่า
“ ใจเย็นๆไม่ต้องตกใจ แท้จริงฉันเป็นเพียงลูกชายคนหนึ่งที่มาจาก ( เผ่า ) กุเรช
ที่เธอกินเนื้อเค็มหรือขนมปังแข็งเป็นอาหารเท่านั้น หมายถึงเป็นสามัญชนธรรมดา ”
ท่านเราะซูลจะทักทายและให้สลามแม้กระทั้งเด็กเล็กๆท่านอนัสเล่าว่า “ท่านรอซู้ลเคยมาเยี่ยมชาวอันศรและจะให้สลามแก่ลูกหลานของพวกเขาและลูกศรีษะเด็กๆเหล่านี้ ”
เมื่อท่านเราะซูลจับมือทักทายกับใครท่านจะไม่ปล่อยมือจนกว่าชายผู้นั้นจะจับมือด้วยจะปล่อยมือก่อนและเมื่อท่านสนทนากับผู้ใด ท่านจะมองหน้าชายผู้นั้นจนกว่าชายผู้นั้นจะหันมองไปทางอื่น
บรรดาซอฮาบะฮฺของท่านนบีก็เจริญรอยตามท่านในการอ่อนน้อมถ่อมตน ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้
1. ขณะที่ท่านซัยดฺ อิบนุ ซาบิตนั่งอยู่บนหลังม้า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาสได้เดินเข้ามาหาเพื่อที่จะจูงม้าให้ท่าน ท่านซัยดฺ บอกว่า อย่าเลยโอ้ผู้ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านรอซู้ลท่านอับดุลลอฮฺจึงตอบกลับไปว่า เราถูกใช้ให้ปฏิบัติเช่นนี้ ( ให้เกียรติ ยกย่อง ) แก่ผู้รู้ทั้งหลาย ท่านซัยดฺ อิบนุ ซาบิต จึงจับมือท่านอับดุลลอฮฺและจูบมือท่านพลางกล่าวว่า และเช่นกันเราถูกใช้ให้ยกย่องและให้เกียรติแก่วงค์วานของท่านรอซู้ล
2. ท่านอุรวะฮฺ อิบนุซ ซุบัยร เล่าว่าฉันเห็นท่านอุมัร อิบนุล คอฏฏ็อบ แบกน้ำบนบ่าของท่านฉันจึงถามท่านว่า ท่านไม่สมควรทำเช่นนั้น ( เพราะในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นอะมีรู้ลมุอฺมินีน ผู้นำสูงสุดของบันดามุมิน ) ท่านอุมัรกล่าวว่าเมื่อฉันเห็นคณะทูตานุทูตทั้งหลายต่างแหกันมาหาฉันด้วยความนอบน้อมและเชื่อฟัง ฉันรู้สึกลำพองตนขึ้นมาทันใด ด้วยเหตุนี้ฉันจึงต้องหักห้ามมันเสียก่อนที่มันจะทำให้ฉันหยิ่งผยอง แล้วท่านอุมัรก็เดินแบกน้ำไปยังหลังบ้านหนึ่งของหญิงสาวชาวอันศอร แล้วเทน้ำลงในโอ่งของบ้านหลังนั้น
3. มีผู้ที่เห็นท่านอบูฮุรอยเราะฮฺขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงของเมืองมาดีนะฮฺเดินแบกฝืนอยู่บนหลัง พลางเอ่ยว่า ขอทางให้ข้าหลวงหน่อย ท่านฮะซันอัลฮะซัน อัลบัศรีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ตาบิอีนผู้อาวุโสท่านหนึ่งกล่าวว่า
“พวกท่านทราบไหมว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนคืออะไร คือการที่ท่านมองว่าทุกคนที่ท่านพบนอกบ้านนั้นล้วนมีบุญคุณต่อท่าน”
ท่านอิหม่ามซาฟีอีย์กล่าวว่า
“ ผู้ที่มีเกียรติยิ่งคือ ผู้ที่ไม่เห็นตนสูงเกินกว่าผู้อื่น และผู้ที่ปฏิเสธยิ่ง คือผู้ที่ไม่เห็นว่าตนประเสริฐกว่าผู้อื่น”
จากหนังสืองานวะลีมะฮ์
ติดตาม ครองใจคน ตอนที่ 3 >>>>Click