ความผิดเพี้ยนของกลุ่มซูฟี (2)
  จำนวนคนเข้าชม  6217

 

ความผิดเพี้ยนของกลุ่มซูฟี (2)

 

อาบีดีณ  โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง  


 

หลักเกณฑ์ที่สอง การศรัทธาต่อกำหนดสภาวการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีว่ามาจากอัลลอฮฺ ตะอาลา 

 

        ในประเด็นนี้กลุ่ม อัลมัวะตะซิละฮฺ สายอัลก็อดดะรียะฮฺได้แตกแถวออกจากแนวทางของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺวลญะมาอะฮฺ โดยพวกเขาได้แบ่งแยกการกระทำของผู้เป็นบ่าวให้มีความเป็นเอกเทศจากพระปรีชาของอัลลอฮฺและพระประสงค์ของพระองค์ และพากันเชื่อว่าผู้เป็นบ่าวได้สร้างการกระทำของตนขึ้นมาเอง  โดยที่พระประสงค์ของอัลลอฮฺ ความต้องการของพระองค์ตลอดจนพระปรีชาญาณของพระองค์นั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในเรื่องนี้ด้วยเลย จึงเป็นเหตุทำให้อะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺตัดสินพวกเขาว่า พวกเขานั้น หลงผิด และอุตริ ในขณะที่อะลุ้ซซุนนะฮฺบางท่านได้ตัดสินพวกเขาว่า ปฏิเสธศรัทธาเลยทีเดียว ซึ่งพวกท่านต่างได้ชี้แจงคำตัดสินดังกล่าวนี้ด้วยตัวบทหลักฐานทั้งจากอั้ลกุรอ่านและจากซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล ไว้ด้วยแล้วทั้งสิ้น

 

          ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอั้ลญับรียะฮฺกลับกระทำการปฏิเสธความสามารถ การตัดสินใจเลือกและความต้องการของผู้เป็นบ่าว พวกเขาพูดกันว่า ผู้เป็นบ่าวนั้นถูกบังคับให้มีพฤติกรรมต่างๆ ของตนเกิดขึ้น โดยที่ตนไม่มีความสามารถ ไม่มีความต้องการ และไม่มีการตัดสินใจเลือกใดๆเลย เป็นเหมือนขนนกและเหมือนต้นไม้ที่ขยับเขยื่อนเพราะแรงลมโดยที่ไม่ได้มีความต้องการและความประสงค์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มซูฟีก็ได้ถลำตนลงสู้ความหลงผิดนี้ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าพวกเขาคือ พวกอุตริ จอมหลงทาง 

       ด้วยหลักความเชื่ออันโสมมทั้งสองนี่ ได้เข้ามาบ่อนทำลายบทบัญญัติอิสลามและเข้ามาทำให้ตัวบทที่กล่าวถึง ข้อใช้และข้อห้าม ตลอดจนที่พูดถึงสัญญาและการคาดโทษนั้น กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปในที่สุด


หลักเกณฑ์ที่สาม 

       อัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ ได้บ่งชี้ว่า การศรัทธานั้นคือ คำพูด คือ การกระทำและคือ การเชื่อมั่น จะเพิ่มพูนด้วยการเชื่อฟัง และลดหลั่นลงด้วยการฝ่าฝืน และยังบ่งชี้อีกว่า  บุคคลที่กระทำบาปใหญ่นั้น เขายังไม่ถูกขับออกจากการศรัทธาแต่ประการใด ซึ่งในประเด็นนี้ กลุ่มอัลค่อวาริจ กลุ่มอัลมั้วะตะซิละฮฺ และกลุ่มอัลมุรญิอะฮฺ ได้แตกแถวออกจากอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ 

        ♣ - โดยทางกลุ่มอัลค่อวาริจ ได้กล่าวกันว่า การศรัทธาคือ คำพูด คือ การกระทำ และคือ การเชื่อมั่น แต่บุคคลที่กระทำบาปใหญ่อย่างดื้อรั้นนั้น ถือว่าเขาได้ถูกขับให้หลุดพ้นออกจากการศรัทธา อีกทั้งทางกลุ่ม อั้ลค่อวาริจ ยังได้ตัดสินบุคคลดังกล่าวว่า ปฏิเสธศรัทธา และให้ถือว่าเลือดและทรัพย์สินของเขาผู้นี้เป็นที่อนุมัติ และยังตัดสินว่า เขาผู้นี้จะต้องตกนรกอย่างถาวรอีกด้วย 

         ♣ - ส่วนทางกลุ่ม อัลมัวะตะซิละฮฺ นั้น พวกเขาได้ขับบุคคลข้างต้นออกจากแวดวงของการศรัทธา แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังไม่ได้จัดให้บุคคลดังกล่าวนี้เข้าสู่ภาวะปฏิเสธศรัทธาแต่อย่างใด แต่พวกเขากลับจัดสรรให้บุคคลที่กล่าวถึงนี้อยู่ในสถานะกึ่งกลางระหว่างทั้งสองสถานภาพข้างต้น จากนั้นพวกเขาก็ได้ตัดสินกันว่า บุคคลคนนี้ เป็นหนึ่งจากพวกที่จะต้องอยู่ในนรกอย่างถาวร

       ♣ - ในอีกขั้วหนึ่ง ทางฝ่ายของกลุ่ม อัลมุรญิอะฮฺนั้น พวกเขาได้คัดให้การกระทำหลุดพ้นออกจากการศรัทธา โดยบางส่วนของพวกเขาได้กล่าวกันว่า การศรัทธานั้นคือ การรับรู้เท่านั้น หรือ คือความเชื่อถือแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

         ส่วนทางด้านกลุ่ม อั้ลมุรญิอะฮฺ ที่มาจากบรรดานักวิชาการทางฟิกฮฺนั้นได้พูดกันว่า การศรัทธาคือ การพูดออกมาด้วยลิ้น คือการเชื่อมั่นด้วยหัวใจ ส่วนการกระทำนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธาแต่ประการใด  บรรดาชาวสะลัฟ ได้คัดค้านวาทกรรมอันน่ารังเกียจเหล่านี้ และพวกท่านยังได้ตัดสินกลุ่มคนผู้เป็นเจ้าของวาทกรรมดังกล่าวว่า อุตริ ซึ่งกลุ่มซูฟี ก็ได้เข้าไปร่วมสังกัดตามชุดความคิดของกลุ่ม อัลมุรญิอะฮฺ ด้วยเช่นกัน


 

ส่วนหลักเกณฑ์ที่สี่  อัลกุรอานคือ คำพูดของอัลลอฮฺ 

       บรรดาสะลัฟต่างตัดสินว่า ผู้ที่พูดว่า อัลกุรอานเป็นสิ่งถูกสร้าง เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และตัดสินผู้ที่กล่าวว่า ส่วนที่เป็นถ้อยคำของอัลกุรอานนั้นคือ สิ่งถูกสร้าง หรือมีความก้ำกึ่งไม่ชัดเจนโดยพูดว่า อัลกุรอานคือคำพูดของอัลลอฮฺ แต่จะยังไม่ขอพูดว่าเป็นสิ่งถูกสร้างหรือไม่ใช่สิ่งถูกสร้างว่า อุตริ 

        ในขณะที่ทางกลุ่ม อั้ลอะชาอิเราะฮฺ ได้กล่าวกันว่า คำพูดของอัลลอฮฺนั้น เป็น จินตวาจา และอั้ลกุรอานที่อยู่ในมือของพวกเรานี้เป็น สิ่งถูกสร้าง ซึ่งกลุ่มซูฟีก็ได้ดำเนินตามความเชื่อนี้


หลักเกณฑ์ที่ห้า 

         อัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ ตลอดจนมติเอกฉันฑ์ของอะฮฺลุลซุนนะฮฺได้บ่งชี้ถึงสถานภาพของบรรดาศ่อฮาบะฮฺและฐานะของพวกท่าน ณ ที่อัลลอฮฺ พระองค์ได้ทรงให้การสรรเสริญและให้การรับรองพวกท่านเหล่านั้นและท่านร่อซู้ล  ก็เช่นเดียวกัน ท่านได้สรรเสริญและได้ให้การรับรองพวกท่านและท่านยังได้ชี้แจงว่า การรู้สึกรักพวกท่าน(ศอฮาบะฮ์)นั้นคือ ความศรัทธา และการรู้สึกโกรธเคืองพวกท่านคือ การกลับกลอก ทั้งนี้เป็นเพราะพวกท่านมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์อย่างถ่องแท้ และพวกท่านก็ยังพากันรุดหน้าสู่เส้นไชย ในแง่ของการปฏิบัติตามข้อใช้ของอัลลอฮฺ  และออกห่างจากข้อห้ามของพระองค์ อีกทั้ง พวกท่านยังได้ทุ่มเททั้งชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านเพื่อเทิดไท้ให้พระดำรัสของอัลลอฮฺ  มีความสูงตระหง่าน 

          นอกจากนี้พระองค์อัลลอฮฺ  ยังได้ทรงประทานแนวทางอันถูกต้องให้กับประชาชาติและหมู่ชนต่างๆมากมาย โดยผ่านมาทางน้ำมือของพวกท่านนี้เอง และอีกหลากหลายประการที่ถือได้ว่าเป็นคุณูปการของพวกท่านที่ไม่มีผู้ใดจะสามารถดีเด่นรุดหน้าพวกท่านไปได้ยกเว้นบรรดาผู้เป็นนบีเท่านั้น ตลอดจนไม่มีผู้ที่พยายามไล่ติดตามพวกท่านคนใดจะสามารถติดตามพวกท่านให้ทันได้เลย

          ดังนั้น ใครก็ตามที่โกรธเคืองบรรดาศอฮาบะฮ์ หรือด่าว่าพวกท่าน เขาผู้นั้นก็คือ ผู้หลงทาง และความรู้สึกโกรธเคืองที่มีต่อพวกท่านนั้นได้เป็นเครื่องหมายแห่งความกลับกลอกของเขา ส่วนผู้ใดที่กล่าวหาว่าพวกท่าน(บรรดาศอฮาบะฮ์)เป็นพวกที่ปฏิเสธศรัทธา เขาผู้นั้นก็คือ ผู้ปฏิเสธศรัทธา


          ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลโดยสรุปที่ถือได้ว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งในบริบทนี้คงไม่ใช่บริบทที่เหมาะสมที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆของชาวอะฮฺลุ้ซซนนะฮฺได้โดยละเอียด ทั้งนี้ หากผู้ใดได้แตกแถวออกจากหลักเกณฑ์เหล่านี้หรือแตกแถวออกจากบางส่วนหรือบางข้อของกฏเกณฑ์เหล่านี้ ชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺก็จะทำการตัดสินว่าบุคคลผู้นั้น อุตริ และพวกเขาก็จะทำการขับบุคคลดังกล่าวออกจากแวดวงของชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ แม้ว่า บุคคลข้างต้นจะสังกัดตนเข้ากับอะฮฺลุ้ลฮะดี้ษ หรือสังกัดตนเข้าร่วมอยู่ในมัซฮับทั้งสี่มัซฮับ หรืออยู่ในกลุ่มสังกัดอื่นใดก็ตาม 

        ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่ากลุ่มซูฟีนั้น มีส่วนเกี่ยวของอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกับประเด็นการอุตริ แม้ว่าพวกเขาจะพยายามซ่อนตัวอยู่ตามมัซฮับทั้งสี่ก็ตาม แต่นั้นก็ไม่อาจส่งผลดีใดๆให้แก่พวกเขาได้เลย 

        และส่วนหนึ่งจากความเลยเถิดของพวกซูฟีที่มีต่อผู้อาวุโสของพวกเขาก็คือ การที่พวกเขาทำการถ่ายทอดคำพูดของผู้อาวุโสเหล่านั้น เฉกเช่นกับว่ามันคือ วะฮีย์ที่ถูกประทานลงมาเลยทีเดียว พวกเขาจะไม่นำคำพูดดังกล่าวมาตรวจสอบกับข้อมูลจากอัลกุ้รอานและซุนนะฮฺ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งผลักดันให้พวกผู้อาวุโสเหล่านั้นนำเสนอคำพูดมากมายที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับอัลกุ้รอานและซุนนะฮฺออกมา

        ซึ่งดังกล่าวข้างต้นนี้ ผิดถนัดกับชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺและนักวิชาการของพวกเขา ชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺนั้นจะนำเอาคำพูดของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่บรรดาผู้เป็นนบี มาตรวจสอบกับข้อมูลจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านร่อซุ้ล  และเมื่อพวกเขาพบว่า ข้อมูลใดมีความสอดคล้องกับแหล่งข้อมูลทั้งสองแหล่งข้างต้นนี้ พวกเขาก็จะรับข้อมูลดังกล่าว แต่ถ้าข้อมูลใดก็ตามขัดแย้งกับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั้งสองที่กล่าวถึง พวกเขาก็จะไม่รับข้อมูลนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งจากหลักเกณฑ์พื้นฐานของชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺก็คือ พระดำรัสของพระองค์ พระผู้ทรงสูงส่งที่ว่า

﴿وإن تنازعتم في شيء فردوه إلى الله والرسول إن كنتم تؤمنون بالله واليوم الآخر ذلك خير وأحسن تأويلا﴾

“และหากพวกเจ้าโต้เถียงกันในเรื่องใดก็ตาม พวกเจ้าก็จงนำเรื่องดังกล่าวกลับเข้าสู่อัลลอฮฺและร่อซู้ล

หากว่าพวกเจ้าเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺและวันอาคิร นั่นคือ สิ่งที่ดี และคือการหาบทสรุปที่ยอดเยี่ยมที่สุด”

อีกส่วนหนึ่งจากหลักเกณฑ์พื้นฐานของพวกเขาซึ่งอ้างอิงมาจากอั้ลกุรอานและซุนนะฮฺ คือ 

“บุคคลทุกคน ย่อมได้รับการยอมรับและย่อมถูกปฏิเสธและถูกคัดค้านในคำพูดของตนได้ ยกเว้นท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ  เท่านั้น”



 

 

 

ที่มา : สารเปิดโปงความผิดเพี้ยนของกลุ่มซูฟี ชื่อ กั้ชฟุ ไซฟิ้ตตะเซาวุฟฯ หน้า ๖๑-๗๙