ความโกรธรวบรวมความชั่วร้าย
7) ความโกรธ
ความโกรธ ถูกกำหนดให้มีขึ้นในตัวมนุษย์เพื่อเป็นกลไกสำหรับป้องกันตนเอง แต่ถ้าหากไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการทำลาย ความโกรธเป็นอาการที่แสดงออกถึงการไร้ความยับยั้งสติอารมณ์ ชั่วครู่ขณะที่มีอาการโกรธอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ทันได้รู้สึกตัว เมื่อใดที่อาการโกรธหายไปและรู้สึกตัวอีกครั้ง ความเสียใจก็จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ยับยั้งตน แสดงความก้าวร้าวหรือก่อความเสียหายในขณะที่ตนมีอาการโมโหโกรธา ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า
“เมื่อเกิดความโกรธ ความโกรธนั้นจะรวบรวมความชั่วร้ายไว้ทั้งหมด”
(รายงานโดยอะหมัด)
ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงสั่งให้ระวังนิสัยชอบโกรธ เพราะมักจะเป็นภัยต่อมนุษย์มากกว่าให้คุณประโยชน์ การระงับความโกรธบางครั้งก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ดังนั้นผู้ที่สามารถยับยั้งตนและระงับความโกรธได้ จึงถือเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า
“ที่แข็งแกร่งนั้น มิใช่ผู้ที่สามารถล้มคู่ต่อสู้ได้ แต่ผู้ที่แข็งแกร่งคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ในยามโกรธ”
(รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)
การระงับความโกรธ
เป็นลักษณะของผู้ศรัทธาและผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระองค์ได้สาธยายถึงคุณลักษณะของบุคคลเหล่านี้ว่า
“คือบรรดาคนที่ใช้จ่ายให้ทานทั้งในยามสุขสบายและยามทุกข์ (เดือดร้อน) อีกทั้งระงับความโมโหโกรธาและให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์
แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ที่กระทำความดีงาม”
(ซูเราะฮฺอาละอิมรอน 3: 134)
อาการโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นจึงต้องระวังตนอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ซึ่งอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผล เป็นที่เข็ดขยาดของคนอื่น และไม่มีผู้ใดอยากใกล้ชิด
ครั้งหนึ่งได้มีผู้ชายคนหนึ่งมาขอให้ท่านนบีมุฮัมหมัด ตักเตือนเขา ท่านนบี ได้สั่งเขาว่า
“ท่านจงอย่าโกรธ ท่านได้ทวนเช่นนั้นหลายครั้งว่า อย่าโกรธ”
(รายงานโดยบุคอรี)
เพราะอาการโกรธเกือบจะไม่เป็นผลดีใดๆ เลยต่อตัวมนุษย์ เป็นอาการที่เกิดจากการยุแหย่ล่อลวงของซัยฎอน ผู้ที่มีอาการเช่นนั้นจึงต้องหาวิธีเพื่อระงับความโกรธ
ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้แนะนำวิธีการระงับความโกรธโดยให้กล่าวคำว่า
“อะอูซุ บิลลาฮฺ มินัซ ซัยฏอนิร รอญีม ความหมายคือ ข้าขอให้อัลลอฮฺช่วยคุ้มครองให้พ้นจากการล่อลวงของซัยฎอน”
(รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)
ท่านอบูซัรฺ ได้เล่าว่า แท้จริงท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวแก่พวกเราว่า
“เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเกิดอาการโกรธ ในขณะที่เขากำลังยืนอยู่ ให้เขาจงนั่ง เพื่อให้ความโกรธหายไปจากเขา
และถ้าไม่หายโกรธให้เขาจงนอนตะแคงลง”
(รายงานโดยอบูดาวูดและอะหมัด)
ในคำพูดของท่านนบีมุฮัมหมัด ความโกรธถูกเรียกว่า “ไฟ” ท่านนบี ได้กล่าวว่า
“เมื่อท่านรู้สึกโกรธ ให้เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตำแหน่ง และดื่มน้ำสักแก้ว”
ท่านนบีมุฮัมหมัด ยังได้กล่าวอีกว่า
“พึงรู้เถิดว่า ความโกรธคือถ่านไฟที่อยู่ในใจของมนุษย์ พวกท่านไม่เห็นดอกหรือว่า ตาของเขาแดงก่ำและกรามของเขาพองโต
เพราะฉะนั้น ใครที่มีอาการเช่นนั้นให้เขารีบไปอาบน้ำละหมาด”
(รายงานโดยอัตติรซีย์)
อิมามฆอซาลี ได้กล่าวว่า “ความรักพระเจ้าจะช่วยดับไฟแห่งความโกรธ”
นอกจากนี้ ผู้ที่สามารถระงับความโกรธ จะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัลลอฮฺในวันอาคิเราะฮฺ เช่นที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวไว้ความว่า
“ผู้ใดที่ระงับความโกรธไว้ในขณะที่เขาสามารถปะทุมันออกมาได้
ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะเรียกเขาท่ามกลางผู้คนมากมาย และให้เขาเลือกเอานางสวรรค์คนใดก็ได้ตามใจเขา”
(รายงานโดยอัตติรมีซีย์)
ข้อคิดสำหรับทุกคน จงระมัดระวังและระงับความโกรธให้ได้
♥ * ความโกรธเป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ เพราะแสดงออกถึงความไร้สติซึ่งสามารถสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นได้
♥ * การระงับความโกรธ เป็นบุคลิกลักษณะของผู้ศรัทธาและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺรักใคร่
♥ * ความโกรธเป็นการยุแหย่ล่อลวงของซัยฏอน ผู้ที่มีอาการโกรธจึงควรขอให้อัลลอฮฺคุ้มครองเขาให้พ้นจากความโกรธ
♥ * การระงับความโกรธได้ถือเป็นความแข็งแกร่งของจิตใจ
♥ * ถ้ามีอาการโกรธให้เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตำแหน่ง ดื่มน้ำสักแก้ว หากมีอาการโกรธอย่างถึงที่สุดให้แก้ด้วยการอาบน้ำละหมาด ถ้ายังไม่หมดอีกก็ให้รีบละหมาดเพื่อให้ใจสงบขึ้น
♥ * ผู้ที่สามารถระงับความโกรธจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัลลอฮฺในวันอาคิเราะฮฺ ในคัมภีร์อัลกุรอานมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ขอสาบานด้วยตัวตนของมนุษย์ที่พระองค์ได้ทรงทำให้มันสมดุล แล้วได้ทรงดลใจให้มันได้รู้ถึงความผิดและความถูกต้อง
แท้จริงผู้ประสบความสำเร็จคือผู้ขัดเกลาตนเองให้บริสุทธิ์ และผู้ทำให้มันเสียหาย (ด้วยการทำชั่ว) ย่อมได้รับความล้มเหลว”
(ซูเราะฮฺอัซชัมชฺ 91: 7-10)
มนุษย์มิได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแต่เพียงร่างกายและความคิดเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีวิญญาณเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย ชีวิตจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อร่างกายและวิญญาณได้รับการตอบสนองอย่างสมดุล บางครั้งวิญญาณยังถูกเรียกว่า “จิตใจหรือหัวใจ” เรารู้ว่าหัวใจมีหน้าที่ทางกายภาพ แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่ามันไม่มีหน้าที่ใดๆ ทางด้านจิตใจ วิญญาณอาจจะอาศัยอยู่ในหัวใจหรือเกาะติดอยู่กับมันก็ได้ วิญญาณเป็นมิติภายในของชีวิตเรา นอกจากนี้แล้ว มันยังมีความสัมพันธ์กับร่างกายและจิตใจของเราด้วย เพราะวิญญาณมีความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่ สุขภาพจิตมีความสำคัญสำหรับมนุษย์พอๆ กับสุขภาพกาย ชีวิตของเราจะมีความหมายและจะประสบความสำเร็จในโลกนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตและสุขภาพกาย แต่ความสำเร็จและความรอดพ้นของเราในโลกหน้านั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตใจล้วนๆ
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้จักโรคที่ทำให้หัวใจอ่อนแอและป่วยไข้ ในภาษาของคัมภีร์อัลกุรอาน ไม่เพียงแต่ตาเท่านั้นที่บอด หัวใจก็บอดได้เช่นกัน ดังอัลกุรอานได้กล่าวว่า
“พวกเขาไม่ได้เดินทางไปในแผ่นดิน เพื่อทำให้หัวใจของพวกเขาได้คิดและหูของพวกเขาได้ยินกระนั้นหรือ ?
ความจริงแล้ว หัวใจในทรวงอกต่างหาก มิใช่ดวงตาที่มืดบอด”
(ซูเราะฮฺอัลฮัจญ์ 22: 46)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถูกเรียกว่า “โรคของหัวใจ” ซึ่งนำไปสู่บาปใหญ่ ถ้าหากว่ามันไม่ถูกควบคุมและรักษาอย่างระมัดระวัง
ที่มา : การบูรณาการองค์ความรู้บทบัญญัติศาสนาอิสลามกับการสร้างเสริมสุขภาพ: สุขภาพจิต, โครงการสร้างเสริมสุขภาพตามวิถีมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2551 โดย คณะทำงานวิชาการและวิจัย สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข