ประเด็นที่ 5 เกี่ยวกับสภาพสังคม
  จำนวนคนเข้าชม  31699

ประเด็นที่ห้า :
เกี่ยวกับสภาพสังคม


          อัลกุรอานอันทรงคุณค่าได้ปรับปรุงและแก้ไขสภาพสังคม และได้ให้แสงสว่างนำทางที่เที่ยงตรงกับมนุษย์ไว้อีกด้วย มนุษย์ที่มีฐานะ ตำแหน่งสูง ควรพิจารณาดูว่า อัลกุรอานได้ใช้ให้ผู้นำปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม    

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"และจงลดปีก (สุภาพอ่อนโยน) ของเจ้าต่อบรรดาผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติตามเจ้า" (อัชชุอะรออ์: 215)


อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"ดังนั้น เนื่องด้วยกับความกรุณาเมตตาจากอัลลอฮ์ นั่นเอง เจ้า(มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีจิตใจที่แข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบๆเจ้ากันแล้ว ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขา และจงขออภัยโทษให้แก่พวกเขาด้วย     และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย..."   (อาละอิมรอน : 159)


จงพิจารณาดูว่า อัลกุรอาน ได้สั่งใช้ให้ผู้ที่อยู่ในสังคมโดยรวมนั้นปฏิบัติต่อบรรดาผู้นำของพวกเขาอย่างไร?

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และ จงเชื่อฟังเราะซูลเถิด และ ผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย..."  (อันนิซาอ์:59)


จงดูเถิดว่าประชาชนถูกกำชับให้ปฏิบัติต่อสถาบันครอบครัวอย่างไรบ้าง ?โดยเฉพาะลูกๆ และบรรดาภรรยาของพวกเขา                                         

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงปกป้องคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก    ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน มีมลาอิกะฮ์    ผู้แข็งกร้าว ห้าวหาญ คอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ในสิ่งที่พระองค์ทรงมีบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามบัญชาอย่างเคร่งครัด”  (อัตตะฮห์รีม : 6)


จงพิจารณาดูว่า สังคมนั้นถูกเตือนให้ระมัดระวัง ปกป้องคุ้มกันเอาไว้โดยตรงอย่างไร หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่สมควรที่จะให้อภัยหรือยกโทษให้ ประการแรกคือ ให้ระมัดระวังป้องกันไว้ก่อน ประการที่สอง คือ การให้อภัยและการยกโทษให้              
 อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงในบรรดาคู่ครองของพวกเจ้าและบรรดาลูก หลานของพวกเจ้านั้น มีบางคนเป็นศัตรูกับพวกเจ้า ดังนั้นจงระวังพวกเขาให้ดี และหากพวกเจ้าอภัย และยกโทษให้พวกเขา    แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย เป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ"  (อัตตะฆอบุน : 14)


จงพิจารณาดูว่าแต่ละส่วนของสังคมนั้น อัลกุรอาน ได้ใช้ให้ปฏิบัติต่อกันอย่างไร?

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรม และทำดี และให้บริจาคแก่ญาติที่ใกล้ชิด และให้ละเว้นจากการทำสิ่งที่ลามก และการชั่วช้า และการอธรรม   พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้รำลึก"  (อันนะฮ์ลุ : 90) 


และอัลลอฮ์   ได้ตรัสว่า


"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงห่างไกลจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และพวกเจ้าจงอย่าสอดแนม และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน"   (อัลหุญุร็อต : 12)


อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า


"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีพวกที่ถูกเยาะเย้ยนั้นจะดีกว่าพวกที่เยาะเย้ยก็ได้ และสตรีอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่เจ้าตัวไม่ชอบ นามเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เลวเป็นการฝ่าฝืนหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว และผู้ใดที่ไม่สำนึกผิดชนเหล่านั้น คือ บรรดาผู้อธรรม"   (อัลหุญุร็อต : 11)


อัลลอฮ์   ได้ตรัสว่า


"…และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกัน ในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง  และจงอย่าช่วยกัน ในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน และพึงกลัวเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้รุนแรงในการลงโทษ" (อัลมาอิดะฮฺ :  2)


อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า

 
“แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธานั้น เป็นพี่น้องกัน...”    (อัลหุญุร็อต : 10)
 

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า

 
"...และกิจการของพวกเขา มีการปรึกษาหารือกันในระหว่างพวกเขา..." (อัชชูรอ : 38)


          ในเมื่อสังคมไม่มีทางที่จะรอดพ้นปลอดภัยไปจากการอิจฉาริษยา และการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน มีผู้จ้องจะรุกรานตั้งตนเป็นใหญ่และเป็นศัตรูกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นญินหรือมนุษย์ก็ตามที นักกวีได้กล่าวไว้ว่า

“อันบุคคลนั้นจะหนีให้พ้นไปจากฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ดอก แม้ว่าเขาจะพยายามหนีไปอยู่โดยลำพังบนยอดเขาก็ตาม”

         ในเมื่อสังคมต้องการรักษาโรคดังกล่าวนี้ และความอันตรายของมันได้แพร่กระจายไปทั่ว อัลลอฮ์   ได้ทรงแจกแจงวิธีการรักษาไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ 3 ขั้นตอนด้วยกันโดยแจ้งให้ทราบว่า วิธีรักษาการเป็นศัตรูจากมนุษย์คือ ด้วยการหลีกห่างจากความชั่วร้าย และให้ตอบโต้ความไม่ดีด้วยการกระทำที่ดีกว่า คือการใช้ความดีตอบโต้ความชั่ว มนุษย์จะไม่สามารถหนีรอดปลอดภัยจากญินและชัยฏอนได้ นอกจากการขอความคุ้มครองความช่วยเหลือจาก อัลลอฮ์   ให้พ้นจากความชั่วร้ายของมันเท่านั้น


วิธีที่หนึ่ง ดำรัสของอัลลอฮ์   เกี่ยวกับชัยฏอนที่เป็นมนุษย์ ในตอนท้ายของซูเราะฮ์อัลอะอ์รอฟ ที่ทรงตรัสว่า


"เจ้า (มุฮัมมัด) จงยึดถือไว้ซึ่งการอภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ดีงาม   และจงผินหลังให้กับบรรดาผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด"  (อัลอะอ์รอฟ : 199)


และเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับชัยฏอนที่เป็นญิน  ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
 

"และหากมีการยั่วยุใด ๆ จากชัยฏอนที่กำลังยั่วยุเจ้าอยู่ จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์เถิด แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินเป็นผู้ทรงรอบรู้"   (อัลอะอ์ร็อฟ : 200)


วิธีที่สอง ดำรัสของอัลลอฮ์   ในซูเราะฮฺ "อัล มุมินูน" ที่ว่า
     

"เจ้าจงโต้ตอบความชั่วด้วยสิ่งที่ดีกว่า  เรา (อัลลอฮ์) รู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเขากล่าวหา"    (อัลมุมินูน:  96)


และเช่นเดียวกัน ในตอนสุดท้ายที่ทรงตรัสว่า


"และจงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์  ให้พ้นจากเสียงกระซิบกระซาบของชัยฏอน และข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ให้พ้นจากการที่พวกมันจะนำความชั่วร้ายมาสู่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"    (อัลมุมินูน :  97-98)


วิธีที่สาม  ดำรัสของอัลลอฮ์   ในซูเราะฮฺ  "ฟุซซิลัต"  และ พระองค์ ยังทรงแจ้งเพิ่มเติมให้ทราบว่า ดังกล่าวนั้นเป็นการรักษาที่มาจากฟากฟ้า สามารถรักษาโรคที่มาจากชัยฏอนได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวนี้  ใช่ว่าจะหายจากโรคร้ายได้ทุกคน จะได้เฉพาะผู้ที่ได้รับเกียรติและผู้มีโชคลาภที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น


ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
 

"ความดีและความชั่วนั้น หาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงเอาชนะความชั่วด้วยความดี แล้วเมื่อนั้นผู้ที่เคยเป็นศัตรูระหว่างเจ้ากับเขา จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน และไม่มีผู้ใดจะได้รับความดีนอกจากบรรดาผู้ที่อดทน และจะไม่มีผู้ใดได้รับความดีนั้น นอกจากผู้ที่มีโชคลาภอันใหญ่หลวง"   (ฟุซซิลัต :  34-35)

 
และพระองค์ได้ตรัสในตอนอื่นว่า


"และหากมีการยั่วยุใด ๆ จากชัยฏอนที่กำลังยั่วยุเจ้าอยู่ จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์เถิด แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินเป็นผู้ทรงรอบรู้"  (อัลอะอ์ร็อฟ : 200)


และยังได้ทรงแจ้งให้ทราบอีกว่า ความสุภาพอ่อนน้อม และนุ่มนวลนั้น ให้ใช้เฉพาะกับมุสลิมเท่านั้น มิใช่กับผู้ปฏิเสธ ดังดำรัสของพระองค์ ที่ว่า


"บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับออกจากศาสนาของพวกขไป อัลลอฮ์จะทรงนำมาซึ่งชนกลุ่มหนึ่ง ที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดาผู้ศรัทธา เป็นผู้ทรงเกียรติเหนือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะเสียสละและต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ และไม่กลัวการตำหนิของผู้ตำหนิคนใด..." (อัลมาอิดะฮ์ : 54)


และอัลลอฮ์   ได้ตรัสว่า


"มุฮัมมัด คือศาสนทูตของอัลลอฮ์ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขานั้น ล้วนเป็นผู้เข้มแข็ง กล้าหาญ ปฏิบัติเฉียบขาดต่อพวกปฏิเสธศรัทธา แต่เป็นผู้เมตตาสงสาร อ่อนโยนแก่พวกเดียวกัน..."  (อัลฟัตฮ์: 29)


และพระองค์ยังตรัส อีกว่า


"โอ้นะบีเอ๋ย จงต่อสู้กับบรรดาพวกปฏิเสธศรัทธา  และบรรดาพวกมุนาฟิกีน(พวกกลับกลอก) และจงแข็งกร้าวกับพวกเขา เพราะที่พำนักของพวกเขาคือ นรก และมันเป็นทางกลับที่ชั่วช้ายิ่ง"  (อัตตะห์รีม : 9)


ดังนั้น เมื่อเอาความแข็งกร้าว รุนแรงไปใช้ ในที่ ๆ สมควรใช้ความนุ่มนวลอ่อนโยน เท่ากับเป็นการแสดงความโง่เขลาและทำให้เกิดความพินาศเสียหาย และการเอาความนุ่มนวล อ่อนโยนไปใช้ในที่ ๆ สมควรจะใช้ความแข็งกร้าว รุนแรง เท่ากับเป็นการแสดงความอ่อนแอ โง่เขลาเบาปัญญา นั่นเอง
 
"เมื่อมีผู้กล่าวว่า จงอดทน สุขุม ให้ตอบว่า สำหรับความสุขุม อดทนนั้น มีที่ของมัน คนหนุ่มที่สุขุมอดทนในที่ ๆ มิใช่ที่ของมันนั้น คือคนที่ไม่ใช้สติปัญญา"

ประเด็นที่ 6 >>>>Click